เทียบกับสิงคโปร์ เด็กไทยเรียน หนักไป? เงินเดือนครูน้อยไป?

ประเด็นเรื่องผลสอบ PISA ที่เด็กไทยตกต่ำจนเกิดความกังวลกันทั่วประเทศตามมาด้วยคำถามอื่น ๆ อีกมากมาย

ผมเชื่อว่าหากเราได้ระดมความคิดอย่างกว้างขวางในสังคมไทยก็จะสามารถนำไปสู่การช่วยหาสูตรแก้ปัญหาอย่างถาวรได้

มีคำถามอยู่ 2 ข้อที่ผมอ่านพบว่าคุณ “วินทร์ เลียววาริณ” นักเขียนคนดังได้แสดงความเห็นเอาไว้อย่างน่าสนใจคือ

  1. เด็กไทยเราเรียนหนักไปหรือเปล่า?
  2. เงินเดือนครูไทยน้อยเกินไปหรือเปล่า?

โดยเปรียบเทียบกับสิงคโปร์ที่ทำคะแนนได้ดีกว่าประเทศหลายเท่า

คุณวินทร์ย่อมอยู่ในฐานะที่วิเคราะห์เรื่องนี้ได้ดีเพราะลูกเรียนทั้งที่เมืองไทยและสิงคโปร์

คุณวินทร์เขียนในเพจ FB บางตอนว่า

เมื่อวานนี้มีข่าวประกาศผล PISA หรือโปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (ของเด็กวัย 15) ปี 2022 ผลคือไทยอยู่อันดับท้ายๆ ของโลก ส่วนสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 1 คะแนนสูงกว่ามาตรฐานโลก

อ่านข่าวแล้วก็ไม่มีอะไรจะเสริม จนกระทั่งได้ยินคนแสดงความเห็นว่าคะแนนเด็กไทยต่ำเพราะเด็กบ้านเราเรียนหนักเกินไป คือ 1,200 ชั่วโมงต่อปี ควรลดชั่วโมงเรียนลง ฯลฯ

ประเด็นนี้ทำให้ต้องเขียนถึงเรื่องนี้ ผมอยู่ในสถานะที่พูดเรื่องนี้ได้ เนื่องจากมีประสบการณ์ตรง ลูกผมเคยเรียนที่สิงคโปร์กับที่เมืองไทย

คำถามคือเด็กไทยเราเรียนหนักไปจริงหรือ?

ถ้าเทียบกับสิงคโปร์คือไม่จริง

โดยทั่วไป เด็กชั้นประถมสิงคโปร์เข้าเรียนราว 07.30 น. เลิกราวบ่ายโมงครึ่ง เพราะบางโรงเรียนต้องใช้ห้องเรียนสำหรับรอบบ่าย จึงจัดสรรเวลาให้ใช้โรงเรียนให้เต็มที่

เด็กชั้นมัธยมเรียนยาวกว่านั้น ค่าเฉลี่ยคือ 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ (28 ชั่วโมงในชั้นเรียน ที่เหลือนอกชั้นเรียน)

ภาคการศึกษาสิงคโปร์ยาวประมาณ 40 สัปดาห์ต่อปี ดังนั้นเด็กสิงคโปร์จึงเรียนประมาณ 2,000 ชั่วโมงต่อปี

เรียนมากกว่าเราเกือบสองเท่า

นี่ยังไม่นับชั่วโมงติววิชาต่างๆ นอกรอบ ซึ่งพ่อแม่เด็กต้องหาครูสอนพิเศษมาต่างหาก

ก็มาถึงเรื่องการบ้าน หลายปีนี้ผมได้ยินคนเสนอให้เด็กไทยทำการบ้านน้อยลง แต่ก่อนที่รัฐมนตรีหรือผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาฯจะแก้อะไร ลองดูตัวเลขของประเทศอื่นเทียบก่อนก็แล้วกัน

ค่าเฉลี่ยทำการบ้านของโลกคือ 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เด็กนักเรียนสิงคโปร์ทำการบ้าน 9.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เด็กจีนทำมากกว่านั้น คือ 13.8 ชั่วโมง

ในเรื่องภาษา เด็กสิงคโปร์เรียนภาษาหลักคืออังกฤษเป็นภาคบังคับ และต้องเรียนอีกหนึ่งภาษาด้วย ไม่จีนก็มาเลย์

อีกเรื่องคือกระเป๋านักเรียน บ้านเราบอกว่าเด็กไทยขนตำราหนักมาก แต่ผมเห็นจากความจริงว่าเด็กนักเรียนสิงคโปร์ขนตำราไปโรงเรียนมากกว่าเรา 2-3 เท่า (นี่ไม่ได้พูดในประเด็นเด็กแบกน้ำหนักมากๆ ไม่ดีต่อกระดูก)

ดังนั้น ถ้าเปรียบเทียบกันในภาพรวมแล้ว เด็กไทยเราเรียนน้อยกว่าเด็กนักเรียนสิงคโปร์มากๆ

มีอีกเกร็ดหนึ่งที่ขอเล่าเสริม ในโลกของการศึกษานานาชาติ มีมาตรฐานอีกระบบหนึ่งสำหรับนักเรียนชั้นเตรียมอุดม คือ IB (International Baccalaureate) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล วัดผลเหมือนกันทั้งโลก เมื่อได้รับผลคะแนน IB นักเรียนก็สามารถนำไปสมัครเรียนที่ต่างประเทศได้เลย ไม่ต้องสอบเข้าให้เสียเวลา

คะแนน IB สูงสุดคือ 45 ถ้าได้คะแนน 40 ขึ้นไป ก็สามารถเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ทั่วโลกได้แล้ว เด็กนักเรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯในไทยมักได้ 40-44 เพียงไม่กี่คนต่อชั้น แต่เด็กสิงคโปร์กวาด 45 เต็มเกือบยกชั้น

ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่ทำไมคะแนน PISA ของสิงคโปร์จึงสูงเกินมาตรฐาน

ถามว่าเราต้องเรียนหนักอย่างเขาหรือ?

คำตอบอยู่ที่ว่าเราต้องการพัฒนาประเทศอย่างไร และทิศไหน ก็ตัดสินใจเองก็แล้วกัน

แต่ขอให้ข้อคิดหนึ่งจากอดีตนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลีกวนยู

ลีกวนยูบอกตอนก่อตั้งประเทศว่า เขาจะทำให้ประเทศที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติใดๆ เลยขึ้นเป็น first world country จะทำอย่างนั้นได้เขาต้องสร้างระบบการศึกษาแบบ first world country คือการศึกษาคุณภาพระดับสูงสุด หลักสูตรดีที่สุด เข้มข้นที่สุด และเรียนหนักที่สุด

และเขาก็ทำได้จริง

ส่วนไทยเราจะพึ่ง hard education power หรือ soft power ก็ตามสบาย

ส่วนเรื่องรายได้ของครูนั้น คุณวินทร์บอกว่ามีการแสดงความเห็นว่าเงินเดือนครูไทยต่ำมาก ครูจึงไม่ค่อยมีกำลังใจสอน หรือต้องเจียดเวลาไปทำงานพิเศษ

จึงสมควรที่เราจะสำรวจเงินเดือนครูสิงคโปร์บ้าง ว่าเงินเดือนพวกเขาสูงแค่ไหน จริงไหมที่เงินเดือนสูงมากจนทำให้มีแรงสร้างเด็กระดับคุณภาพ

เงินเดือนครูสิงคโปร์มีตั้งแต่หนึ่งพันเหรียญ จนถึงหมื่นเหรียญ แต่ตัวเลขทั้งสองนี้สุดโต่งเกินไป โดยทั่วไป ครูสิงคโปร์ส่วนใหญ่ได้เงินเดือน 3,000-6,000 เหรียญ

แล้วเงินเดือน 3,000 เหรียญ (ประมาณ 75,000 บาท) พอใช้ไหม?

คำตอบคือหืดขึ้นคอ

เงินเดือน 3,000 เหรียญนี้พอแค่ให้ตัวเองอยู่รอดเท่านั้น เลี้ยงลูกยังยาก เพราะค่าครองชีพที่นั่นแพงเป็นระดับต้นๆ ของโลก

ค่าเช่าบ้านก็อาจปาเข้าไป 1-2 พันแล้ว กินแบบประหยัดสุดๆ ในตลาด มื้อหนึ่งก็ราว 10 เหรียญ วันละ 30 เหรียญ รวมค่ารถเมล์ รถไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็หมด ไม่มีเงินเก็บ

ถ้าได้เงินเดือน 6,000 เหรียญ (ประมาณ 150,000 บาท) ค่อยยังชั่วหน่อย แต่ก็ไม่ถือว่ารวย เป็นแค่ปานกลาง

สรุปคือเงินเดือนครูสิงคโปร์โดยเฉลี่ยไม่ถือว่าสูง

แล้วงานครูหนักไหม? คำตอบคือหืดขึ้นคอเหมือนกัน

ครูสิงคโปร์ต้องเตรียมการสอน ต้องทำรายงานการสอน ฯลฯ ไม่ใช่ชีวิตสบายแน่นอน

ไม่ว่าครูชาติไหนก็ลำบากทั้งนั้น และส่วนใหญ่ได้รับผลตอบแทนน้อยเกินไป หากถามผมว่าอาชีพใดควรได้รับค่าตอบแทนสูงลำดับต้นๆ คำตอบของผมคืออาชีพครู  เพราะเป็นอาชีพสำคัญมาก

ไม่ใช่ ส.ส.

สืบเนื่องจากผล PISA ที่ทำให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองขายหน้า เช้านี้อ่านข่าวนายกฯประกาศจะพัฒนาระบบการศึกษาไทยให้ดีขึ้น ก็อนุโมทนา และขออนุญาตเสนอความคิดเห็นหนึ่งเสียง นั่นคือ

แทนที่จะเอาเงินภาษีประชาชนไปแจกแท็บเล็ตเด็ก หรือแจกดิจิตัล วอลเล็ต แบบเหวี่ยงแห เอาเงินไปพัฒนาคุณภาพครูก่อนดีกว่าดีไหม

สองประเด็นที่คุณวินทร์นำมาวิเคราะห์เปรียบไทยกับสิงคโปร์น่าจะช่วยทำให้เราเข้าใจอะไรดีขึ้น

ไม่ใช่ฟังกันต่อ ๆ มาแล้วก็เชื่อโดยไม่พินิจพิเคราะห์

เพราะถ้าทำเช่นนั้นก็จะหาทางออกให้บ้านเมืองไม่ได้เลย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ