วิกฤตการศึกษากับ (การขาด) วิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของผู้นำ

ไม่ต้องสงสัยว่าผู้คนในแวดวงต่างๆ กำลังถกแถลงกันอย่างกว้างขวางว่าเราจะแก้ “วิกฤตการศึกษา” ของประเทศอย่างไร หลังจากได้เห็นคะแนน PISA 2023

หนึ่งในผู้รู้ที่ได้แสดงความเห็นอย่างน่าสนใจคือ คุณสุภาวดี หาญเมธี แนววิเคราะห์และข้อเสนอของท่านมาจากประสบการณ์ที่ทุ่มเทศึกษาเรื่องการศึกษามาอย่างยาวนาน

ท่านบอกว่าทุกคนตกใจกับผล PISA 2023 ของเด็กวัย 15 ปีของไทย ที่ลดลงเรื่อยๆ จากปีก่อนๆ แล้วทางออกต่างๆ ก็จะกระหน่ำเข้ามาเหมือนทุกครั้งที่ผล PISA ประกาศออกมา

คุณสุภาวดีบอกว่า ที่จริงความรู้ใหม่ด้าน Neuroscience เรื่อง Executive Functions อธิบายเรื่องนี้ได้ชัดมาก  

ถ้าเด็ก (ไทย) หมดไฟเรียนรู้ตั้งแต่อยู่อนุบาล จะไม่มีโอกาสพัฒนา "สันดานดี” หรือชิปของความสนุกกับการเรียนรู้ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ความมุมานะ ตั้งเป้าหมาย อดทน วางแผน คิดวิเคราะห์ กล้าคิดสร้างสรรค์ หรือควบคุมอารมณ์  ฯลฯ ซึ่งตามธรรมชาติพัฒนาการมนุษย์ คุณลักษณะเหล่านี้ต้องฝังให้ได้ในช่วงอนุบาล 

ถ้าไม่ได้ฝังไว้เพราะพ่อแม่ ครู และผู้บริหารการศึกษา มุ่งแต่จะปลุกปล้ำให้เด็กอนุบาลเร่งเรียนเขียนอ่าน จนไม่ได้พัฒนาตัวตน พัฒนาทักษะสมอง EF และพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน ซึ่งธรรมชาติกำหนดให้ต้องใส่ใจพัฒนาให้ได้เต็มที่ก่อนผ่านพ้นวัยอนุบาล 

ก็ยากที่จะมีสมรรถนะในช่วงประถมหรือมัธยมอย่างที่หวัง เพราะช่วงที่ดีที่สุดของการก่อรูปโครงสร้างวงจรประสาทของสมองได้ผ่านไปแล้ว

นอกจากนี้ พอขึ้นประถม มัธยม ประเทศไทยเราก็ยังสนุกกับการสอนแต่เรื่องวิชาการแบบท่องจำ เด็กทนทุกข์ยาวนาน 9-10 ปี ซึ่งไม่ทำให้เด็กรักและสนุกกับการเรียน 

ทั้งครู ผู้บริหารก็ไม่สนใจการส่งเสริมตัวตน และการฝึกทักษะสมอง EF ผ่านการเรียนรู้ที่ให้เด็กมีประสบการณ์ เด็กไม่ได้คิดไม่ได้ลงมือทำที่จะนำไปสู่การเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างแท้จริง

ผลมันก็เอวังแบบท่องมาสอบนั่นเอง ตอบโจทย์ชีวิตและโลกที่หมุนติ้วไม่ได้ ไม่เท่าทัน

คุณสุภาวดีบอกว่า เวลานี้เด็กไทยทั้งขาดแรงบันดาลใจ ขาดพลังในตัวตน ขาดทักษะการคิดและการทำ เด็กวัยรุ่นไทยส่วนหนึ่งอยู่ไม่ได้กับระบบ ก็หนีออกนอกระบบไปใช้ชีวิตแบบแว้นๆ อีกพวกหนี่งทนแบกกระเป๋าไปโรงเรียนทุกวัน แล้วก็ลงเอยที่โรคซึมเศร้า เป็นซอมบี้ที่ไม่มีเป้าหมายชีวิต 

แล้วพลังแบบนี้จะไปสู้เด็กชาติอื่นเขาได้อย่างไร

อาจารย์บอกว่าถ้าไม่แก้ให้ “ตลอดท่อ” โดยเฉพาะเน้นที่ปฐมวัย วางรากฐานให้ดี พอขึ้นประถมผลักดันหลักสูตรฐานสมรรถนะจริงจัง ฐานก็จะมั่นคงขึ้น ไปต่อในระดับมัธยมได้       

แต่ถ้ารากฐานหรือเสาเข็มอ่อนแอง่อนแง่น จะเปลี่ยนหลักสูตรสักกี่แบบก็ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น

มีแต่ตำแหน่งและผลประโยชน์ผู้ใหญ่ที่สูงขึ้น แต่ความสุข พลังจิตใจและสติปัญญาเด็กลดลง

อีกท่านหนึ่งคือ ศ.พิเศษ เภสัชกร ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ, อดีตนายกสภา และอธิการบดีหลายแห่ง และอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

สำรวจนโยบายการศึกษาเมื่อเลือกตั้งคราวที่ผ่านมาแล้ว ไม่ว่าจะสีแดง สีแสด ฟ้า น้ำเงิน ทุกสีออกมาแนวนี้หมด

เสนอการแก้ปัญหาการศึกษาแค่ในระดับห้องเรียน  กระเป๋านักเรียน กระเป๋าครู โดยไม่ลงไปถึงแก่นของปัญหาการศึกษาจริงๆ 

แต่ที่จริงที่นักวิชาการเสนอลงไปช่วยทำเท่าที่ผ่านมา ก็แค่ยังสนุกกันอยู่ในกระบะทราย โดยไม่สะท้อนภาพจริงว่า ในกระบะทรายกับความเป็นจริงจะยึดโยงกันได้อย่างไร

ผมติดตามความเห็นของ อ.ภาวิช มายาวนานเพราะท่านเกาะติดเรื่องการศึกษามาอย่างต่อเนื่องจนถึงวันนี้

ท่านบอกว่า “จะเปลี่ยนปราสาททรายในกระบะมาสู่โลกภายนอกได้อย่างไร รวมทั้งดูเหมือนสนุกกันในกระบะ โดยไม่มองประเด็นความเร่งด่วน ว่าข้างนอกในชีวิตจริงนั้น มันแย่จนไปไม่ไหวแล้ว”

อีกเรื่องสั้นๆ เพื่อการวิเคราะห์ และเพื่ออนาคตของการศึกษา วิจัย กับการสร้างคนของไทยเรา

สังคมไทยเราและสังคมโลกทั่วไปนิยมของใหม่ ของฟรี ทันสมัย อย่างเช่น AI กับ Chat-GPT

ทำไมวงการวิจัย วงการศึกษา วงการอุตสาหกรรม ของไทยเราไม่คิด AI ที่สามารถผลิต Advanced  Technology สำหรับ Chip Industry ในรูปแบบของ Chat-GPT บ้าง ให้ AI ผลิต chip  1 nm หรือ 0.5 nm เป็นต้น

ปัญหาก็จะกลับไปที่ เรามีผู้บริหารที่มองเห็นและมีวิสัยทัศน์ หรือฝันไปไกลขนาดนั้นบ้างไหม เรามี facilities พวกนี้ ที่จะเปิดทางให้งานวิจัยเพื่ออนาคตอย่างนี้เริ่มต้นได้ยังไง

งานวิจัยทุกชิ้นที่สร้างของใหม่ๆ ในโลก ที่เราเห็นล้วนมาจากความฝันบ้าๆ ทั้งสิ้น

แต่จะไปถึงจุดนั้น Foundational Supports มีไหม อยู่ที่ไหนบ้าง และผู้นำที่จะเริ่มอยู่ที่ไหนในประเทศไทยของเรา

มาถึงตรงนี้คงจะหาได้ยากมากๆ

ถ้าไม่มี จะเริ่มกันเมื่อไหร่ ที่ไหน และเริ่มยังไง

นี่แหละวิสัยทัศน์ที่ผมมองไม่เห็นในระบบของไทยเรา

คุยถึงเรื่องวิสัยทัศน์ของการศึกษาและวิจัย ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวกับการสร้างคน เพื่อการแข่งขันในอนาคตไม่ว่าจะเป็นช่วงสั้นหรือยาว

ที่น่าเป็นห่วงคือ การขาดวิส้ยทัศน์ของผู้นำประเทศ นักการเมือง และผู้บริหารสถาบันการศึกษาและวิจัย

นี่คือความเห็นจากผู้รู้ในแวดวงนี้ ที่ส่งข้อความมาแลกเปลี่ยนกันอย่างคึกคักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

เป็นประเด็นที่ผมอยากเห็นนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และคนในรัฐบาลทุกคนที่ต้องการจะทำงานเพื่อสร้างอนาคตของประเทศชาติ ได้สำเหนียกและลงมือแก้วิกฤตการศึกษาของชาติอย่างจริงจังเสียที.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ