PISA ไม่ได้สอบ ‘ความรู้’ แต่ต้องการ ประเมินความสามารถในการวิเคราะห์

รายงานล่าสุด PISA สะท้อนถึง “วิกฤต” ของระบบการศึกษาของไทยอย่างชัดเจน แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลของนายกฯเศรษฐา ทวีสินยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร

นอกจากจะชี้ว่าอาการถดถอยของคุณภาพการศึกษาของไทยนั้นเริ่มต้นมายาวนานแล้ว

แต่นั่นไม่ได้แปลว่ารัฐบาลปัจจุบันจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจพอที่จะต้องประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” ด้านการศึกษาระดับชาติ

ที่ต้องเข้าใจคือ PISA ไม่ใช่การประเมิน “ความรู้” ตามหลักสูตร

แต่เป็นการประเมินความเข้าใจและความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้กับบริบทต่าง ๆ

ฝรั่งเรียกว่า “literacy” ซึ่งไม่ได้แปลว่า “รู้เท่าทัน” เท่านั้น หากแต่ยังรวมหมายถึงการ “คิดวิเคราะห์” หรือ critical thinking ซึ่งมีการสอนในโรงเรียนไทยน้อยมาก

การเรียนการสอนเพื่อให้มี mindset ที่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกจึงไม่เกิด

ดังนั้นการสอบ PISA จึงไม่ใช่แค่การทดสอบ “ความรู้” ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์

หากแต่เป็นการทดสอบ ความฉลาดและมี literacy

หัวข้อทดสอบจึงใช้คำว่า “Reading/Mathematical/Scientific Literacy”

เท่ากับเป็นการเน้นความเข้าใจในเชิงนามธรรม

และการรู้จักใช้ความรู้เพื่อแก้ปัญหาในบริบทที่แตกต่างกัน

ซึ่งก็ไม่มีการสอนเป็นอย่างกิจลักษณะในโรงเรียนของเราอีกเช่นกัน

เขาจึงไม่ได้ให้เด็กขีดถูกขีดผิดหรือเติมคำลงในช่องว่าง

และไม่ได้ให้เด็กบวกลบคูณหารเลขเพื่อใส่คำตอบที่ถูกต้อง

แต่ในโจทย์นี้ เด็กต้อง “วิเคราะห์” ข้อมูลในข้อสอบโดยใช้การคิดแบบวิเคราะห์

ซึ่งอาจจะไม่มีถูกผิด แต่ต้องการจะทดสอบว่าเด็กมีความรอบรู้และใช้วิจารณญาณได้คล่องแคล่วอย่างไร

จึงไม่ใช่เพียงแต่ทดสอง “ความรู้” แต่ต้องการทดสอบ “สติปัญญา”

ซึ่งจากนี้ไปจะมีความสำคัญสำหรับการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้มากขึ้นทุกวัน

ถ้าเทียบระหว่างอุดมศึกษาของไทยกับเวียดนามก็จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น

ดร.เมธี เวชารัตนา ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคฌนโลยรนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา และนายกสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐและแคนาดาเคยเขียนไว้ว่า

ข้อแตกต่างของสองประเทศอยู่ที่นโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัยและอุดมศึกษา

อาจารย์บอกว่าไทยเราเน้นเรื่อง ranking กับ ภาพลักษณ์เฉพาะหน้า วิ่งตาม trends มากกว่าการวางรากฐานการศึกษา และวิจัย ที่มีทิศทางระยะยาวอย่างชัดเจน และมั่นคงแบบของเวียดนาม

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลงทุนและทิศทางของงานวิจัย หรือของการศึกษา

ดร. เมธีบอกว่าไทยเราเน้น quick fix, quick return ที่ ขาดพื้นฐานที่แข็งแกร่งเพียงพอ

เพราะผู้บริหารแต่ละท่านมาเพียงสั้น ๆ 

เพราะสี่ปีนั้นสั้นเกินไปสำหรับการบริหารมหาวิทยาลัย

ยิ่งรัฐมนตรีศึกษาก็อยู่สั้นกว่านั้นอีก

ทำให้ไม่มีผู้บริหารที่สนใจการลงทุนระยะยาว หรือความมั่นคงระยะยาวของอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย และการวิจัย

อาจารย์บอกว่าในเรื่องของความสามารถนั้น อาจารย์ไทยไม่แพ้ใครในโลก

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือการขาดวิสัยทัศน์ในการบริหาร ที่จะนำพามหาวิทยาลัยและอุดมศึกษาไทยไปสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขันระดับโลก

“ดูจากห้องแลปทางด้านวิศวกรรมที่ใช้สอนนักศึกษาระดับ ป.ตรี จะเห็นถึงความล้าหลังอย่างไม่น่าเชื่อ มีใครจำได้บ้างว่า ครั้งสุดท้ายที่รัฐบาลไทยกับมหาวิทยาลัยไทยลงทุนเรื่องเครื่องมือสำหรับการเรียนการสอนทางด้านวิศวกรรม และเทคโนโลยี ของมหาวิทยาลัยไทยไทยอย่างจริงจังคือปีไหน”

ส่วนคุณพริษฐ์ (ไอติม) วัชรสินธุแห่งพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอที่น่าสนใจหลายประเด็น

เมื่อคะแนน PISA การศึกษาไทย ลดลงทั้งกระดานก็ถึงเวลาจัดทำหลักสูตรการศึกษาใหม่อย่างจริงจัง

คะแนนของเด็กไทยลดลงมาอยู่ในจุดที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี ในทักษะทั้ง 3 ด้านที่มีการประเมิน โดยมีอันดับอยู่ในครึ่งล่างของตารางทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคอาเซียน:

  1. คณิตศาสตร์: คะแนนลดลง 6% (อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม)
  2. การอ่าน: คะแนนลดลง 4% (อันดับ 64 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม)
  3. วิทยาศาสตร์: คะแนนลดลง 4% (อันดับ 58 จาก 81 ประเทศ-พื้นที่ที่เข้าร่วม)

ผลลัพธ์นี้เป็นสิ่งที่หลายคนคาดการณ์ได้เนื่องจากคุณภาพของระบบการศึกษาไทยมีแนวโน้มถดถอยมาอย่างต่อเนื่องตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมา

แต่หวังว่าผลลัพธ์นี้จะเป็นอีก “สัญญาณเตือนภัย” ที่ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นชัดว่าการศึกษาไทยกำลังอยู่ในขั้น “วิกฤต”

พริษฐ์บอกว่าการที่เด็กไทยเรียนหนักเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่กลับมีทักษะที่ตามหลังหลายประเทศ สะท้อนให้เห็นชัดว่าปัญหาของการศึกษาไทย ไม่ใช่เพราะเด็กไทยไม่ “ขยัน” แต่เป็นเพราะ “ระบบการศึกษา” ไม่สามารถแปรชั่วโมงเรียนและความขยันของนักเรียนให้ออกมาเป็นทักษะได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับระบบการศึกษาของประเทศอื่น

แม้การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยจำเป็นต้องอาศัยหลายมาตรการ แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือการ “จัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่” มาแทนที่หลักสูตรปัจจุบันที่ไม่ได้มีการเขียนใหม่หรือปรับปรุงขนานใหญ่มาหลายปี

คุณ “ไอติม” บอกว่าหากก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะชวนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง (เช่น ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ครู นักเรียน ผู้ปกครอง) มาร่วมออกแบบหลักสูตรให้เสร็จภายใน 1 ปี (เนื่องจากหลายภาคส่วนมีการพัฒนาข้อเสนอเรื่องหลักสูตรใหม่มาสักพักแล้ว) เพื่อเริ่มทยอยนำมาใช้ในแต่ละระดับชั้นให้ครบทั้งหมดภายในวาระของรัฐบาล

“เป้าหมายหลัก” ของหลักสูตรใหม่ ควรเป็นการเน้นพัฒนาทักษะ-สมรรถนะที่นำไปใช้ได้จริงในอาชีพการงานและในชีวิต โดยผมขอเสนอกรอบเบื้องต้นสำหรับการแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมเช่น:

  1. ปรับวิชาหรือเป้าหมายของวิชาให้สอดคล้องกับเป้าหมายหลักเรื่องทักษะ-สมรรถนะ - ทบทวนวิชาที่ควรมีหรือไม่มี รวมถึงการปรับเป้าหมายของแต่ละวิชาให้เน้นทักษะที่สำคัญ มากกว่าแค่การอัดฉีดเนื้อหาหรือข้อมูลให้กับผู้เรียนเป็นหลัก (เช่น ภาษาอังกฤษที่เน้นการสื่อสาร / วิชาประวัติศาสตร์ที่เน้นการวิเคราะห์-ถกเถียง-แลกเปลี่ยน)
  2. ปรับวิธีการสอน - เสริมทักษะให้ครูสามารถพลิกบทบาทจาก “ครูหน้าห้อง” ที่เน้นถ่ายทอดความรู้หรือข้อมูลผ่านการบรรยายทางเดียว มาเป็น “ครูหลังห้อง” ที่เน้นสร้างบรรยากาศและจัดสรรเวลาในห้องเรียนให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากขึ้น
  3. ลดจำนวนชั่วโมงเรียนและคาบเรียน - ปรับจาก 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือประมาณ 800-1,000 ชั่วโมงต่อปีตามมาตรฐานสากล โดยลดเนื้อหาการเรียนหรือกิจกรรมในส่วนที่จำเป็นลง เพื่อเน้นที่คุณภาพของชั่วโมงเรียน และให้นักเรียนเหลือเวลาเพียงพอสำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการพักผ่อน
  4. ลดภาระการบ้านและการสอบแข่งขันที่หนักเกินไป - ปรับใช้วิธีประเมินผลรูปแบบอื่น (เช่น การบูรณาการการบ้านหลายวิชา การทำกิจกรรมในเวลาเรียน การทำโครงการกลุ่ม) เพื่อลดภาระและความเครียดที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเยาวชนไทย
  5. เพิ่มเสรีภาพในการเรียนรู้ - ลดวิชาบังคับ และเพิ่มวิชาทางเลือก ให้นักเรียนได้มีอิสรภาพและส่วนร่วมในการออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ของตนเอง เพื่อโอบรับความหลากหลายของผู้เรียนที่มีความถนัดและความชอบที่แตกต่างกัน
  6. เพิ่มการตรวจสอบโดยประชาชน - เพิ่มกลไกในการทำให้หนังสือเรียนและข้อสอบปรับตามและสอดรับกับหลักสูตรใหม่ ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มให้ประชาชนตรวจสอบเนื้อหาหนังสือเรียน และการเปิดข้อสอบ TCAS ย้อนหลังทั้งหมดพร้อมเฉลย
  7. 7. กระจายอำนาจด้านการออกแบบหลักสูตร - วางระบบให้มีหลักสูตร 3 ระดับ (แกนกลาง-จังหวัด-สถานศึกษา) ควบคู่กับการลดกลไกควบคุมจากส่วนกลาง เพื่อให้โรงเรียนมีอำนาจมากขึ้นในการออกแบบหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของผู้เรียนในแต่ละโรงเรียน
  8. วางกลไกสำหรับการพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง - กำหนดให้ทบทวนหลักสูตรแกนกลางทุก 4 ปี เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและทักษะที่จำเป็นในแต่ละยุคสมัย
  9. ส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการเรียนรู้ตลอดชีวิต - ออกแบบสภาพแวดล้อมและการเรียนการสอนในห้องเรียนที่เอื้อต่อการ “เติมไฟ” ให้นักเรียนมีความพร้อมในการตั้งคำถามและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยความตระหนักดีว่าการเรียนรู้ไม่ควรจำกัดอยู่ที่โรงเรียนหรือแค่ในช่วงวัยเรียน

ยังมีข้อเสนอจากผู้รู้ในแวดวงต่าง ๆ เรื่องนี้ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกันต่อไป

เพราะผมเห็นว่านี่คือ “วิกฤต” ของจริงของบ้านเมืองที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแก้ไขให้จงได้!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ