รัฐบาลเงาเมียนมาลั่น 'กองทัพใกล้จุดล่มสลาย'

ถ้าฟังจากด้านกองกำลังฝ่ายต่อต้านในเมียนมา เราจะได้ยินเสียงที่แสดงความมั่นใจมากขึ้นทุกวัน ว่าฝ่ายรัฐบาลทหารกำลังเข้าสู่โหมด “ล่มสลาย”

แต่ก็ไม่ใช่ว่าฝ่ายต่อต้านจะได้รับ “ชัยชนะ” ในเร็ววัน

เพราะสถานการณ์บนภาคพื้นดินและการเมืองระหว่างประเทศยังมีความซับซ้อนไม่น้อย

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รมว.ต่างประเทศของรัฐบาลคู่ขนานของฝ่ายประชาธิปไตยหรือ NUG คาดการณ์ว่าฝ่ายต่อต้านจะมีการโหมโจมตีระลอกใหม่ "ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า"

Zin Mar Aung ให้สัมภาษณ์ Nikkei Asia  ว่าเธอเชื่อว่าระบอบทหารของเมียนมาใกล้จะถึง “จุดพังทลาย” แล้ว

สงครามกลางเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างกะทันหัน อันเกิดจากกองกำลังฝ่ายค้านที่เรียกกันว่า “ปฏิบัติการ 1027” ซึ่งตั้งชื่อตามวันที่เริ่มปฏิบัติการเมื่อปลายเดือนตุลาคม ทำให้ระบอบการปกครองสั่นคลอน

ซิน มาร์ ออง เป็น “รัฐมนตรีต่างประเทศเงา” จากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ให้สัมภาษณ์ที่กรุงโตเกียวอันเป็นที่ตั้งของสำนักงานรัฐบาลคู่ขนาน

นี่แสดงว่ารัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างเปิดเผยแล้ว             

การโจมตีระลอกนี้เกิดจากการจับมือกันแบบที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักโดยกลุ่มต่อต้านหลักๆ

ทำให้สามารถยึดจุดค้าขายชายแดน 4 แห่งกับจีนได้

และฝ่ายต่อต้านอ้างว่าสามารถยึดฐานทัพทหารได้มากถึง 160 แห่ง รวมถึงด่านเล็กๆ ด้วย

 “ขณะนี้ขวัญกำลังใจของรัฐบาลเผด็จการทหารและทหารต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะสูญเสียความชอบธรรมในการมีอำนาจปกครองแล้ว” เธอกล่าวที่สำนักงานใหญ่ของ NUG ในญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ใกล้เขตอิเคบุคุโระของโตเกียว

 “เราได้รับผู้แปรพักตร์จำนวนมาก และค่ายทหารส่วนใหญ่พร้อมที่จะมอบตัวแล้ว”

หากเชื่อข่าวของฝ่ายตรงกันข้ามกับกองทัพทหาร กองกำลังป้องกันประชาชน (People’s Defence Forces) ได้ทำการรุกหนักขึ้น และกองทัพของมิน อ่อง หล่าย กำลังอยู่ในสภาพที่ “พร้อมที่จะล่มสลาย” ในเร็ววันนี้

รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลคู่ขนานให้คำมั่นที่จะเปลี่ยนกองทัพที่ "ไม่เป็นมืออาชีพ" ของประเทศ ให้เป็นกองทัพที่จะ "ปกป้องประชาชนและสถาบันต่างๆ"

เธอบอกว่า ฝ่ายต่อต้านไม่ได้พยายามสลายกองทัพทั้งหมด แต่มุ่งมั่นที่จะพยายามเปลี่ยนแปลงกองทัพให้เป็นมืออาชีพ

 “เราต้องการวีรบุรุษและนักปฏิรูปในกองทัพ”

เมื่อต้นเดือนนี้ มิน อ่อง หล่าย ที่มีตำแหน่งทางการเป็นประธานรัฐบาลทหารเมียนมา หรือสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) อ้างว่ากองทัพ “สามารถควบคุมสถานการณ์กลับคืนมาได้สำเร็จ” แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อยืนยันคำกล่าวอ้างนั้น

ฝ่ายต่อต้านเชื่อว่าการรุกคืบจะหนักและรุนแรงขึ้น  

การสู้รบรอบใหม่นี้จะไม่เพียงแต่เป็นการโจมตีทางทหารต่อเนื่องเท่านั้น แต่เกิดจากกิจกรรมอารยะขัดขืนของพลเมืองด้วย เช่นการนัดหยุดงาน และการชุมนุมเพื่อกดดันระดับสูงสุดต่อรัฐบาลเผด็จการทหาร

เจสัน ทาวเวอร์ ผู้อำนวยการประจำประเทศเมียนมา ของสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกาในวอชิงตัน ที่ทำงานเกี่ยวกับสันติภาพและการป้องกันความรุนแรง เชื่อเหมือนกันว่ารัฐบาลทหารกำลังเผชิญกับวิกฤตจริง

เขาเชื่อว่าฝ่ายต่อต้านมีอาวุธและขวัญกำลังใจที่ดีกว่าฝ่ายกองทัพแล้ว

เพราะเป็นการรวมพลังของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บวกกับ PDFs และ NUG

และเชื่อว่าจะเห็นปฏิบัติการรุกหนักที่มีการประสานงานกันมากขึ้น ในช่วงสองสามสัปดาห์หรืออาจจะสองสามเดือนข้างหน้า

มีคำถามใหญ่ว่า แล้วยุทธศาสตร์สุดท้ายของ NUG คืออะไร?

ซิน มาร์ ออง บอกว่ารัฐบาลคู่ขนานของเธอไม่ได้ปฏิเสธการเจรจากับรัฐบาลทหาร

แต่วันนี้สภาพแวดล้อมยังไม่เอื้อต่อการเจรจาเพื่อยุติการสู้รบ

 “เรากำลังเตรียมการเจรจาทางการเมืองทีละขั้นตอน”               โดยการพัฒนา “กฎพื้นฐาน” สำหรับการเจรจา เธอเล่าเงื่อนไขเบื้องต้นของฝ่ายต่อต้าน คือรัฐบาลทหารจะต้องปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน

นั่นหมายถึงข้อตกลงของผู้นำอาเซียนเมื่อปี 2564 (รวมถึงมิน อ่อง หล่าย ที่ไปร่วมประชุมที่อินโดนีเซียด้วย)             5 ประการเพื่อเป็นหลักการนำสันติภาพสู่เมียนมา

นั่นหมายถึง การยุติความรุนแรงทันที การเจรจาระหว่างทุกฝ่าย การแต่งตั้งทูตพิเศษ ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยอาเซียน และผู้แทนพิเศษอาเซียนเยือนเมียนมาเพื่อพบปะทุกฝ่าย

ฝ่าย NUG ยังยืนกรานที่จะให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนประมาณ 20,000 คน

NUG ระบุในแถลงการณ์เมื่อเดือนที่แล้วว่า จะไม่ร่วมสังฆกรรมกับรัฐบาลทหาร “หากปราศจากหลักประกันว่าจะยุติเผด็จการทหาร และสถาปนาสหภาพประชาธิปไตยของรัฐบาลกลาง”

แต่เธอก็ยอมรับว่า ไม่ได้ตั้งความคาดหวังไว้สูงสำหรับอาเซียนในการแก้ไขสถานการณ์ หรือสำหรับ สปป.ลาวซึ่งเป็นประธานกลุ่มภูมิภาคในปีหน้านี้

 “ฉันคิดว่าลาวอยากจะสานต่อความก้าวหน้าที่เกิดขึ้น ภายใต้การเป็นประธานของอินโดนีเซีย แต่บางทีลาวอาจมีวิธีคิดของตัวเอง” เธอกล่าว

 “เราจะมีส่วนร่วมให้มากที่สุด (กับอาเซียน) ประเทศเพื่อนบ้านในสมาคมของเราจำเป็นต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ และความตั้งใจของประชาชนเมียนมาคืออะไร”

เว็บไซต์ข่าวอิรวดีรายงานว่า ผู้สนับสนุนระบอบการปกครองของทหารได้จัดการประท้วงจีนเป็นครั้งแรกนอกศาลาว่าการย่างกุ้งและสถานทูตจีนในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 19  พ.ย. โดยกล่าวหาว่าปักกิ่งสนับสนุนการโจมตีที่มีการประสานงานกับกองทัพ

สื่อที่สนับสนุนรัฐบาลยังอ้างว่า จีนสนับสนุนกลุ่ม “พันธมิตรภราดรภาพ” ซึ่งเป็นความร่วมมือขององค์กรชาติพันธุ์ติดอาวุธ 3 กลุ่ม

น่าสังเกตว่า จีนซึ่งสนับสนุนระบอบการปกครองหลังการปฏิวัติเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 กำลังแสดงท่าทีอึดอัดต่อรัฐบาลของมิน อ่อง หล่าย

สื่อจีนวาดภาพเมียนมาว่าเป็น ศูนย์กลางของเครือข่ายอาชญากรที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการหลอกลวง การผลิตยาเสพติด และการค้ามนุษย์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เอกอัครราชทูตจีน เฉิน ไห่ กับ ตัน  ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารเมียนมา หารือเกี่ยวกับความขัดแย้งที่ชายแดน

โดยบอกว่ามีการพูดคุยเกี่ยวกับ “ความร่วมมือในสันติภาพและเสถียรภาพ และหลักนิติธรรมตามแนวชายแดน”         

นั่นเป็นรายงานของ Global New Light of Myanmar รายวัน อันเป็นกระบอกเสียงทางการของรัฐบาลทหาร

ฝ่ายต่อต้านอ้างว่า จีนไม่พอใจกับการดำเนินการของรัฐบาลทหาร เพราะ SAC ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ตรงชายแดนได้

 “ถ้าไม่มีความมั่นคง จีนจะทำธุรกิจได้อย่างไร” เธอถาม และตอกย้ำว่า “ไม่ช้าก็เร็วประเทศต่างๆ จะตระหนักได้ว่า กองทัพไม่สามารถนำเสถียรภาพและการพัฒนามาสู่ประเทศของเราได้ วิธีเดียวคือนำประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่ประเทศของเรา”

ทุกอย่างกำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยกำลังได้เปรียบ...แต่กว่าจะถึงวันนั่งลงเจรจาคงจะไม่เร็วนัก

เพราะสงครามกลางเมืองยืดเยื้อมาหลายสิบปี การจะปิดฉากการสู้รบเพื่อต่อรองสร้างประเทศใหม่จึงยังไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021