แม้จะแจกเงินหมื่นปีหน้า เศรษฐกิจไทยก็โตไม่ถึง 4%

ใกล้สิ้นปีต้องส่องดูเศรษฐกิจของทั้งปีนี้กับปีหน้า...และต้องเล็งไปข้างหน้าด้วยว่ารัฐบาลเศรษฐาจะสามารถ “กู้มาแจก” ในปีหน้าได้หรือไม่

และจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2567 อย่างไร ฟังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมครั้งล่าสุด และ KKP Research ที่เพิ่งออกรายงานมา ประเด็นเรื่องการแจกเงินหมื่นผ่าน  Digital Wallet ก็ยังเป็น “ปัจจัยของความไม่แน่นอน” ค่อนข้างสูง

คุณปิติ ดิษยทัต เลขานุการ กนง. แถลงผลการประชุมว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50 ต่อปี

เมื่อถามว่า เศรษฐกิจในเวลานี้มีความจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่

คำตอบคือ “ตอนนี้เข้าใจว่ามาตรการที่พิจารณาอยู่ คือ ดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นมาตรการที่รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ แต่ยังมีความไม่แน่นอนทั้งในแง่กระบวนการและรูปแบบ...”

หากพิจารณาถึงศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัว 3% บวกลบแล้ว ตอนนี้ก็ถือว่าการขยายตัวเศรษฐกิจในปีหน้าใกล้เคียงหรือสูงกว่าศักยภาพเศรษฐกิจไทยเล็กน้อย และฟื้นตัวต่อเนื่อง

ส่วน KKP Research นั้นปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2566 เหลือ 2.4% และประมาณการปี 2567 เป็น 3.7% หาก Digital Wallet ผ่าน และ 2.9% กรณีไม่รวม Digital Wallet

แม้ KKP Research จะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงอ่อนแอ และไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีมากนัก อย่างไรก็ตามได้ปรับ GDP เพิ่มขึ้นเป็น 3.7% จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ (Digital Wallet) ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้ 0.8% ของ GDP โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีหน้า

2) การท่องเที่ยวที่ยังคงฟื้นตัวได้ โดยคาดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ 35 ล้านคนในปี 2567 และ

3) การส่งออกที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวตามวัฏจักรการผลิตและการส่งออกโลก

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่ายังมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่รัฐบาลอาจจะไม่สามารถผลักดันมาตรการ Digital Wallet เพราะข้อจำกัดด้านการคลังและกฎหมาย

ในกรณีที่ไม่รวมผลจากมาตรการนี้ คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะชะลอลงเหลือ 2.9% ในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่กดดันการเติบโตในระยะยาวมาอย่างต่อเนื่อง          

KKP Research ประเมินว่าหากนโยบาย Digital Wallet สามารถออกใช้ได้ตามที่รัฐบาลแถลง จะมีต้นทุนสูงถึง 5 แสนล้านบาท

ในขณะที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น แต่ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะมีค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับต้นทุน

โดยประเมินตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ที่ 0.3 เท่า ซึ่งจะส่งผลบวกต่อ GDP ประมาณ 0.8% ในปีหน้า

โดยผลดังกล่าวจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีหน้าหากมีการออกใช้จริง

และเศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวลงอย่างมากหลังจากนั้น เนื่องจากสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ไทยแข่งขันในเวทีโลกได้ยากขึ้น มากกว่าประเด็นการลดลงของรายได้ชั่วคราว

นอกจากนี้ ผลกระทบด้านลบยังรวมไปถึงต้นทุนทางอ้อมต่อเศรษฐกิจที่จะเพิ่มขึ้น

จากการที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นจากการที่รัฐบาลจำเป็นต้องกู้เพิ่มอีกด้วย

ส่วน กนง.คาดว่า "เงินเฟ้อ" อยู่ในกรอบเป้าหมาย หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 66 เหลือ 2.4% ส่วนปีหน้าโต 3.8%

โดยยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอยู่ในทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ภาคการส่งออกและการผลิตที่เกี่ยวข้องชะลอลง โดยในปี 2567 และ 2568 เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวอย่างสมดุลขึ้น จากอุปสงค์ในประเทศ การท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านอุปทานจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

               เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 3.2 ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

ทั้งนี้ หากรวมผลของโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล  อัตราการขยายตัวในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ลดลงจากร้อยละ 4.4 ที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน

ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว โดยได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีตามการใช้จ่ายในหมวดบริการ รวมทั้งแรงสนับสนุนจากการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น

ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ส่วนหนึ่งจากเศรษฐกิจจีนและวัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

ในระยะต่อไป เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวสมดุลมากขึ้น ภายใต้บริบทที่ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่องและภาคการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัว แต่มีความเสี่ยงที่อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเท่าที่คาด เนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป

ด้านการท่องเที่ยวมีประเด็นนักท่องเที่ยวจีนมาน้อยกว่าที่เราคาดไว้ จากปัญหาต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนด้วย รวมทั้งมีความเป็นไปได้ว่า ในระยะยาวอาจมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ว่า  จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะมีสัดส่วนน้อยกว่า

แต่ในขณะเดียวกัน จะมีนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่มาจากจีนเข้ามาทดแทน ส่วนตัวที่ยังมีความแผ่วอยู่คือ การส่งออก ซึ่งสะท้อนไปยังดัชนีการผลิตของผู้ประกอบการที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการส่งออกค่อนข้างเยอะ” คุณปิติบอก

คุณปิติกล่าวว่า กนง.ได้ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยใหม่ โดยในปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ส่วนปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3.2%

แต่ถ้ารวมผลจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตแล้ว เศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 3.8% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 4.4% เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม และการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

 “เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีหน้าลดลง ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมาน้อยลงเมื่อเทียบกับที่ได้คาดไว้ในคราวที่แล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเงื่อนเวลาอาจมาช้ากว่าที่เราตั้งสมมติฐานไว้ รวมทั้งรูปแบบและเม็ดเงินก็เปลี่ยนไปด้วย แต่โดยภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ส่วนปี 2568 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 3% บวกลบ ใกล้เคียงกับศักยภาพของเรา” นายปิติกล่าว              

คำถามอีกข้อหนึ่งคือ เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะ “วิกฤต” อย่างที่รัฐบาลบอกหรือไม่

คำตอบคือ: อยู่ที่การตีความ

คุณปิติบอกว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด เศรษฐกิจไทยเดินมาไกลพอสมควร โดยผู้มีงานทำทุกสาขาการผลิตเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว ระดับจีดีพีก็กลับสู่ระดับเหนือก่อนโควิด เงินเฟ้อที่เคยสูงถึง 8% ในปีที่แล้ว ลดลงสู่ระดับ 1% ในปีนี้ และเศรษฐกิจไทยก็ทยอยขึ้นไป

ดังนั้น น่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมในการเข้ามาดูเรื่องการพลิกฟื้นศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว และศักยภาพการแข่งขันของภาคส่งออก ซึ่งคณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญในเรื่องนี้

 “ถ้ามองในแง่การขยายตัว แม้ว่าปีนี้อาจจะน้อยกว่าที่เรามองไว้ระดับหนึ่ง แต่ถ้ามองไปข้างหน้า การกลับมาของภาคการส่งออกที่คิดว่าจะขยายตัว และมาเพิ่มสมดุลให้กับการขยายตัว เงินเฟ้อที่อยู่ในกรอบ เสถียรภาพการเงินก็โน้มเข้าสู่ในกรอบ กรรมการฯ จึงคิดว่าจุดยืนนโยบายเหมาะสมอยู่ และคงขึ้นอยู่กับจะตีความว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต แต่ภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้จริงๆ” คุณปิติสรุป

นั่นแปลว่าใครจะตีความว่าเศรษฐกิจ “วิกฤต” หรือไม่อย่างไร รัฐบาลก็ไม่อาจจะปฏิเสธว่าถ้าไม่ลงมือแก้ปัญหาที่โครงสร้างพื้นฐาน หากแต่จะทำเรื่อง Quick Win  อย่างเดียว เราก็ไม่อาจจะออกจากกับดักแห่งปัญหาเดิมๆ  ได้

และนั่นคือ “วิกฤต” ถาวรของจริง!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021