คิสซิงเจอร์: ‘นักการทูตอันปราดเปรื่อง’ หรือ‘อาชญกรสงครามผู้โหดเหี้ยม’

เฮนรี คิสซิงเจอร์ที่เพิ่งเสียชีวิตในวัย 100 ปีเมื่อวานเป็นนักการทูตและนักยุทธศาสตร์สหรัฐฯที่น่าทึ่ง, น่ากลัว, และน่าสนใจที่สุดคนหนึ่ง

บางคนเรียกเขาเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่

แต่ก็มีอีกหลายคนที่บอกว่าเขาเป็น “ฆาตกร” เพราะสนับสนุนนโยบายให้สหรัฐฯเข้าไปทำสงครามในหลาย ๆ ประเทศที่มีการเข่นฆ่าประชาชนในประเทศนั้น ๆ อย่างโหดร้าย

รวมถึงแนวทางนโยบายในสงครามเวียดนามและอินโดจีนใกล้ ๆ บ้านเรา

อีกทั้งไทยเราก็เป็นส่วนสำคัญของนโยบาย “สงครามเย็น” ระหว่างสหรัฐฯกับจีน เพราะเราเลือกข้างวอชิงตันเพื่อเผชิญหน้ากับจีน

และเมื่อคิสซิงเจอร์ใช้ “การทูตราชการลับ” เพื่อเปิดสัมพันธ์กับจีน, ไทยเราก็ต้องปรับตัวครั้งสำคัญเช่นกัน

ปี 1972, ประธานาธิบดีริชาร์ดนิกสันของสหรัฐฯไปจับมือกับประธานเหมาเจ๋อตงของจีนก่อนจะประกาศเปิดสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างเอิกเกริก

ปี 1975, นายกฯ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมชเดินทางปักกิ่งเพื่อเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเช่นกัน

คิสซิงเจอร์เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และผู้ทรงอิทธิพลด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ

เขาถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันพุธที่บ้านพักในรัฐคอนเนตทิคัต ด้วยวัย 100 ปี

โดยข่าวทางการมาจากบริษัทให้คำปรึกษา Kissinger Associates ของเขาเอง

ในฐานะนักยุทธศาสตร์ที่ผสมผสานการทูต, การทหารกับวัฒนธรรมมาเป็นแนวทางของสหรัฐฯนั้น คิสซิงเจอร์เป็นตัวละครโดดเด่นตลอดเกือบช่วงศตวรรษที่ผ่านมา

เขามีบทบาทอย่างคึกคักทั้งเป็นตัวละครเอกในทำเนียบขาว เขียนหนังสือและเป็นพยานต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาในประเด็นภัยคุกคามนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คิสซิงเจอร์ยังเดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง เพื่อพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

เป็นการเยือนที่ไม่ได้ออกข่าวล่วงหน้าด้วยซ้ำ

สี จิ้นผิงให้การต้อนรับคิสซิงเจอร์อย่างอบอุ่น สื่อทางการจีนออกข่าวอย่างเกรียวกราว เป็นการให้เกียรติชาวอเมริกันที่เปิดเผยที่สุดครั้งหนึ่ง

สี จิ้นผิงเรียกคิสซิงเจอร์ว่า “ท่านเป็นมิตรแท้ของจีนตลอดกาล”

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะคิสซิงเจอร์สนับสนุนให้สหรัฐฯเจรจากับจีนเพื่อสร้างสันติภาพ

และออกมาต่อต้านนโยบายของทำเนียบขาวที่มีลักษณะเผชิญหน้ากับปักกิ่งอย่างต่อเนื่อง

เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1970 คิสซิงเจอร์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในยุคของอดีตประธานาธิบดีนิกสัน จากพรรครีพับลิกัน ถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้นำสหรัฐฯอย่างมาก

นอกจากจะเป็นคนเปิดประตูทางการทูตของสหรัฐฯ กับจีนแล้ว คิสซิงเจอร์ยังผลักดันให้มีการเจรจาควบคุมอาวุธร้ายแรงระหว่างสหรัฐฯและอดีตสหภาพโซเวียต

ตามมาด้วยการขยายความสัมพันธ์กับอิสราเอลและกลุ่มประเทศอาหรับ

และทำสนธิสัญญาสันติภาพปารีสกับเวียดนามเหนือ

แต่เมื่อนิกสันถูกกรณีอื้อฉาววอเตอร์เก็ตกดดันจนต้องลาออกในปี 1974 ยุคเฟื่องฟูด้านนโยบายต่างประเทศของคิสซิงเจอร์ก็มีอันต้องแผ่วลง

แต่ความเป็น “แมวเก้าชีวิต” ของเขาก็ทำให้คิสซิงเจอร์ยังคงมีบทบาทด้านการทูตในยุคของประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด ที่รับช่วงต่อจากนิกสัน

ที่ผมติดตามคือหนังสือของคิสซิงเจอร์หลายเล่มที่เกี่ยวกับระเบียบโลกและประเทศจีน

ซึ่งสะท้อนว่าเขาทำการบ้านและติดตามศึกษาการเมืองระหว่างประเทศและสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายสาธารณะ” หรือ public policy อย่างต่อเนื่องจริงจังจนวันท้าย ๆ ของชีวิตทีเดียว

แต่เขาก็มีความย้อนแย้งอยู่ในตัวอย่างน่าพิศวงเช่นกัน

คนชื่นชมคิสซิงเจอร์ยกย่องเขาเพราะมีความชำนาญและลุ่มลึกในประสบการณ์หลาย ๆ ด้าน

แต่เขาก็ถูกตีตราว่าเป็น “อาชญากรสงคราม” เพราะสนับสนุนเผด็จการที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศละตินอเมริกาในหลาย ๆ กรณี

เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นว่าเขาเชื่อในแนวทางใด ๆ ก็ตามแต่ที่มีความสอดคล้องกับผลประโยชน์ของสหรัฐฯ

โดยไม่สนใจว่านโยบายเหล่านั้นจะมีผลกระทบต่อประเทศอื่น ๆ ที่ยืนอยู่คนละข้างกับแนวทางของวอชิงตันหรือไม่

ที่ถกแถลงกันอย่างกว้างขวางอีกเรื่องหนึ่งสำหรับคิสซิงเจอร์คือการมอบรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแก่เขาเมื่อปี 1973 ร่วมกับ เล ดึ๊ก เถาะ นักเจรจาเวียดนามเหนือที่ปฏิเสธรางวัลนี้เพราะไม่ต้องการจะได้ชื่อว่ามีส่วนร่วมในแนวคิดกับคิสซิงเจอร์

ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงกันอย่างรุนแรงถึงความเหมาะสมของการให้รางวัลแด่ผู้มีส่วนสำคัญในการทำสงครามเวียดนาม แม้ภายหลังจะเป็นคนเสนอให้มีการเจรจาสันติภาพก็ตาม

เรื่องนั้นร้อนแรงถึงขั้นที่คณะกรรมการโนเบลสองคนลาออกเพื่อประท้วงการตัดสินรางวัลครั้งนั้น

คิสซิงเจอร์ถูกซักถามอย่างหนักในประเด็นที่เขามีส่วนในการวางกับระเบิดลับในกัมพูชาของสหรัฐฯ ด้วย

คิสซิงเจอร์ไม่ใช่เป็นคนอเมริกันโดยกำเนิด จึงไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีที่หลายคนเคยคิดว่าอาจจะเป็นเป้าหมายในชีวิตของเขา

แรกเริ่มนั้นเขามีชื่อว่า ไฮนซ์อัลเฟรด คิสซิงเตอร์ เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 1923 ที่เมืองเฟิร์ธ ประเทศเยอรมนี

และอพยพพร้อมครอบครัวมายังสหรัฐฯ เมื่อปี 1938 ก่อนที่นาซีเยอรมนีจะเริ่มกวาดล้างชาวยิวในยุโรป

เรียกได้ว่าเขาและครอบครัวเป็นหนึ่งในกลุ่มชาวยิวที่หนีการกวาดล้างของฮิตเลอร์ในยุคนั้นเลยทีเดียว

เมื่ออพยพมาอยู่สหรัฐฯ เขาเปลี่ยนชื่อจากภาษาฮีบรูเป็นภาษาอังกฤษว่า เฮนรี และได้สัญชาติอเมริกันเมื่อปี 1943

และเข้ารับราชการในกองทัพบกสหรัฐฯ ที่ยุโรปในสงครามโลกครั้งที่สอง

จากนั้นก็ได้รับทุนการศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

คิสซิงเจอร์ได้ปริญญาโทเมื่อปี 1952 และปริญญาเอกในปี 1954

จากนั้นก็ทำงานเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอีก 17 ปีก่อนจะเข้าไปโลดแล่นบนเวทีการเมืองสหรัฐฯอย่างคึกคัก

เริ่มด้วยการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้องค์กรรัฐบางแห่ง

ก่อนจะก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของริชาร์ดนิกสัน ในปี 1968

และควบตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศในปี 1973

ทำให้คิสซิงเจอร์เป็น “ผู้ทรงอิทธิพลสูงสุดคนหนึ่ง” ของอเมริกาในยุคสงครามเย็นเข้าสู่ภาวะร้อนแรงที่สุด

น้อยคนในโลกที่จะได้สมญาว่าเป็น “นักการทูตสุดปราดเปรื่อง” และ “อาชญกรสงครามผู้เหี้ยมโหด”พร้อม ๆ กัน!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ