นักการทูตไทยยุคดิจิทัล ต้องสร้างใหม่อย่างเร่งรีบ

ต่อแต่นี้ไป นโยบายต่างประเทศจะต้องมองให้ครบทุกมิติของประเด็นการเมือง, เศรษฐกิจ, ความมั่นคงและสังคมที่กำลังปรับเปลี่ยนไปอย่างหนักหน่วงและรุนแรง

จากที่รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร มอบเป็นแนวทางและนโยบายแก่เหล่าบรรดาเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ ที่มารวมตัวกันที่กระทรวงการต่างประเทศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก็พอจะเห็นว่ามุมมองและวิถีปฏิบัติของนักการทูตไทยต่อไปนี้จะต้องเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

พอวางแนวทางหลักและเป้าหมายแล้ว คุณปานปรีย์ก็วางยุทธศาสตร์ว่าเพื่อบรรลุเป้าหมาย จะต้องให้นโยบายต่างประเทศมีลักษณะหลักๆ ต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 4 แนวทาง คือ

1.นโยบายต่างประเทศต้องเกิดขึ้นที่ “บ้าน" (begins at home)

นั่นแปลว่า จะต้องสอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาลที่มุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ คือสามารถตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถแสดงให้เห็นได้ว่า กระทรวงการต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ และสามารถทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีได้

2.นโยบายต่างประเทศต้องเป็น “เชิงรุก" (proactive) โดยกล้าคิดริเริ่ม และแสดงบทบาทนำที่เด่นชัดในประเด็นระหว่างประเทศที่เป็นผลประโยชน์หลักของไทย และการสร้างเสถียรภาพและความเข้มแข็งให้อาเซียน

3.นโยบายต่างประเทศต้อง “มองไปข้างหน้า" (forward-looking) โดยมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการกำหนดวาระของโลก โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นจุดแข็งของไทยและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น การสร้างเสริม SDGs การเจรจา Pandemic Treaty  การขยายผล Universal Health Coverage (UHC) และการเจรจา Convention on Cybercrime

4.นโยบายต่างประเทศต้อง “ขยายวงและเข้าถึง" (reach out) โดยเข้าถึงขั้วอำนาจและประเทศต่างๆ ทั้งใกล้และไกล และเข้าถึงบุคคลและองค์กรที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายของประเทศต่างๆ

รวมทั้งเราควรใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมือในระดับต่างๆ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ตลอดจนแสวงหาพันธมิตรใหม่ๆ รวมทั้งประเมินประโยชน์และโอกาสสำหรับไทยในการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือต่างๆ เพื่อขยายบทบาทและเชื่อมต่อความสนใจของไทย

แล้วรัฐมนตรีต่างประเทศคนนี้คาดหวังจากการทำงานของทูตอย่างไร?

คุณปานปรีย์บอกว่า ทูตไทยจะต้องมีความเข้าใจในประเด็นการต่างประเทศ ในบริบทโลกปัจจุบันที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี รวมทั้งห่วงโซ่อุปทาน

และต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในพื้นที่ที่ประจำการ และบ่งชี้ให้ได้ว่าประเทศใดเป็นประเทศยุทธศาสตร์ของไทย

รวมทั้งโอกาสและผลประโยชน์ของไทยที่มีกับประเทศนั้นๆ       

และต้องเข้าหาภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน  รวมทั้งเข้าถึงศูนย์กลางทางอำนาจและบุคคลที่เป็นกุญแจสำคัญในเรื่องที่เป็นประโยชน์ของไทย

อีกทั้งยังต้องสามารถเสนอจุดเด่นกับจุดแข็ง และความน่าสนใจของประเทศไทยเพื่อนำไปสู่แนวหน้าของประชาคมระหว่างประเทศ

ให้เขาเห็นว่าประเทศไทยมีความสำคัญ (Thailand Matters)

โดยเฉพาะในประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญและเป็นประโยชน์กับไทย เช่น การยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ เศรษฐกิจสีเขียว, เศรษฐกิจดิจิทัล, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, พลังงานสะอาด และการพัฒนาที่ยั่งยืน

การบริการสาธารณสุขและการรับมือกับโรคระบาด  การลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริม soft power ที่มีมากกว่าอาหารไทยและมวยไทย

แต่ยังรวมถึงความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของไทย รวมทั้งจะต้องสามารถมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในประเด็นสำคัญอื่นๆ ได้ เช่น การออกมาตรการลงโทษ (sanction) ที่มีต่อประเทศที่สาม (เช่น เมียนมาและรัสเซีย) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อไทยและห่วงโซ่อุปทาน

และต้องไม่ลืมประเด็นการดูแลและคุ้มครองคนไทย รวมถึงผลประโยชน์ประเทศไทยในต่างประเทศ

คุณปานปรีย์ไม่ลืมที่จะพูดถึงความสำคัญของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (social media) ที่กำลังแพร่หลายและมีผู้ติดตามในวงกว้างกว่าสื่อแบบดั้งเดิม

การทำงานของทูตและกงสุลใหญ่ในยุคนี้ จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว รวมทั้งต้องมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสื่อสารเผยแพร่ข้อมูล หรือในบางกรณีอาจะต้องทำการตอบโต้ที่เหมาะสมเช่น กรณีการช่วยเหลือและอพยพคนไทยท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับฮามาส ซึ่งประชาชนมีความสนใจ มีความคาดหวัง และแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายและแพร่หลาย

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าทั้งหมดนี้คือ การดำเนินนโยบายต่างประเทศยุคใหม่เชิงรุกนี้จะต้องช่วยสนับสนุน “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” (economic  diplomacy) ซึ่งเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลด้วย

โดยคุณปานปรีย์ย้ำว่า นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ได้เดินทางไปเยือนกว่า ๑๑ ประเทศ และ ๑ เขตเศรษฐกิจ  และได้พบบริษัทเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บิ๊กเทค” เพื่อดึงดูดการลงทุนมายังไทยแล้วกว่า ๖๐ บริษัท

นอกจากนี้ยังจัดการประชุมระหว่างเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ และผู้ช่วยทูตฝ่ายพาณิชย์และฝ่ายส่งเสริมการลงทุน เพื่อร่วมกันหารือและชี้ประเทศเป้าหมายของการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกด้วย

ซึ่งเชื่อมั่นว่า ทูตทั้งหลายในฐานะหัวหน้า “ทีมประเทศไทย”

ในประเทศและเมืองต่างๆ พร้อมกับทีมเศรษฐกิจจากทั้งกระทรวงพาณิชย์และ BOI จะสามารถร่วมกันกำหนด

๑๐ ประเทศหลักทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของโลกและผลประโยชน์ของไทย

นโยบายต่างประเทศเชิงรุก เพื่อเป็น “เข็มทิศ” ในการทำงานของพวกเราและทีมประเทศไทย เพื่อนำไทยกลับสู่

 “จอเรดาร์” ของโลกอย่างมีเกียรติภูมิ และตอบสนองผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนต่อไป

แนวทางทั้งหมดของรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่นี้จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่คุณภาพของคน

การสร้างนักการทูตยุคดิจิทัลเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีการ “ปฏิรูป” ครั้งใหญ่ เพื่อให้ได้คนมีคุณภาพที่มีคุณสมบัติแตกต่างไปจากนักการทูตรุ่นต่างๆ ที่ผ่านมา

เมื่อคุณปานปรีย์ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องนี้ ก็คงจะต้องคอยดูว่าจะมีแนวทางการ “สร้างนักการทูต” ยุคใหม่ที่ตอบโจทย์ยากๆ ของโลกยุคนี้ได้หรือไม่อย่างไร.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021