ฮามาสบุกอิสราเอลกันอาหรับคืนดีอิสราเอล

ความจริงคือนานาชาติยอมรับอธิปไตยอิสราเอลมากขึ้น รวมทั้งจากพวกชาติอาหรับด้วย ทั้งๆ ที่ทุกคนรับรู้ว่าอิสราเอลยึดปาเลสไตน์ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกถกว่าอะไรคือเบื้องหลังกลุ่มฮามาสบุกโจมตีอิสราเอล คำตอบที่เป็นไปได้มีมากกว่าหนึ่งข้อ บทความนี้นำเสนอแนวคิด “ฮามาสบุกอิสราเอลเพื่อกันอาหรับคืนดีอิสราเอล” ดังนี้

บางคนคิดว่าฮามาสบุกอิสราเอลเพื่อระงับการฟื้นสัมพันธ์ระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอลที่นับวันจะไปด้วยกันได้ดี บางประเทศคืนความสัมพันธ์ระดับปกติแล้ว เช่น สิงหาคม 2020 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติตามข้อตกลง Abraham Accords Peace Agreement เดือนถัดมาบาห์เรนทำกับอิสราเอลเช่นกัน

ภาพ: องค์การความร่วมมืออิสลาม

เดรดิตภาพ: https://www.arabnews.com/node/1039946/%7B%7B

เนื้อหาตอนหนึ่งใน Abraham Accord ระบุว่า ทั้งอาหรับกับยิวต่างเป็นลูกหลานของอับราฮัม (Abraham) ความจริงแล้วในภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบด้วยมุสลิม ยิว พวกนับถือคริสต์ และผู้นับถือศาสนาความเชื่ออื่นๆ แม้แตกต่างแต่ปรารถนาอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน

ที่สำคัญคือ มีข่าวรัฐบาลซาอุฯ จะปรับสัมพันธ์กับอิสราเอล รัฐบาลไบเดนกำลังเจรจาให้ซาอุฯ เข้าร่วม Abraham Accord อันหมายถึง ยอมรับการมีอยู่ของประเทศอิสราเอล อาหรับกับยิวเป็นมิตร หากสำเร็จเท่ากับยุติความขัดแย้งระหว่างอาหรับกับยิวที่มีมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สถาปนารัฐอิสราเอลสมัยใหม่ และมีผลเท่ากับทอดทิ้งปาเลสไตน์ ละทิ้งจุดยืนเก่าแก่ที่การมีอยู่ของรัฐอิสราเอลเป็นความขมขื่นของโลกมุสลิม

อีกข้อคือ หากอาหรับคืนดีอิสราเอล ส่งผลต่อความโดดเด่นของรัฐบาลอิหร่านที่ชูนโยบายต่อต้านอิสราเอลอย่างเข้มข้นเรื่อยมา

ประเด็นหลังนี้สำคัญกว่าฮามาส ใหญ่กว่าฉนวนกาซา แม้กระทั่ง สำคัญกว่าชาวปาเลสไตน์ เพราะคือเรื่องราวระหว่างความสัมพันธ์ยิวกับชนชาติอาหรับทั้งมวล ระหว่างผู้นับถือ 2 ศาสนาที่ต่างกัน ดังจะเห็นว่ากลุ่มฮามาสใช้เหตุผลล่วงละเมิดมัสยิดอัล-อักซอร์ (Al-Aqsa Mosque) เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จำต้องทำอะไรสักอย่างตอบโต้อิสราเอล ข้อนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างศาสนาโดยแท้

กลุ่มฮามาสจึงเป็นผู้เสียสละ ทำสงครามกับกองทัพอิสราเอล (อาจขยายความว่าสู้กับสหรัฐด้วย)

ชาติอาหรับจะถือว่าอิสราเอลเป็นศัตรูหรือไม่:

ยามนี้รัฐบาลอาหรับต่างพากันแสดงตัวต่อต้านอิสราเอล ซาอุฯ ระงับเจรจาปรับสัมพันธ์กับอิสราเอล เรื่องนี้ต้องมองทั้งระยะสั้นกับระยะยาว ตอนนี้องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC) แถลงว่า อิสราเอลเป็นฝ่ายรุกรานก่อน ยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ ละเมิดข้อมติสหประชาชาติ ทำร้ายชาวปาเลสไตน์ทุกวัน เหล่านี้คือต้นเหตุของการปะทะระหว่างฮามาสกับอิสราเอลในขณะนี้ เรียกร้องคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติทำหน้าที่หยุดอิสราเอล ปกป้องปาเลสไตน์ ปฏิบัติตามข้อมติต่างๆ

ถ้ามีความเข้าใจสักนิดจะรู้ว่า OIC ทำเหมือนเดิมเช่นที่ทำมาแล้วหลายสิบปี คือเน้น “ประณาม” ผลคือตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาแผ่นดินปาเลสไตน์หดเหลือน้อยลงทุกที ครั้งนี้คงเช่นกันที่ฉนวนกาซา (ส่วนหนึ่งของปาเลสไตน์) กำลังถูกทำลาย นำความทุกข์ยากแก่ประชาชน 2.3 ล้านคนให้หนักและยืดยาวกว่าเดิม

รอบนี้ขยับอีกนิด สันนิบาตอาหรับ (Arab League) กับองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ร่วมกันมีมติคว่ำบาตรห้ามขายอาวุธกับกระสุนแก่อิสราเอล ชี้อาวุธเหล่านี้สังหารพลเรือน ทำลายบ้านเรือน โรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ทางศาสนา

จะเห็นว่ามติคว่ำบาตรห้ามขายอาวุธกับกระสุนแก่อิสราเอล ตั้งใจกดดันรัฐบาลสหรัฐกับยุโรป เพราะ 1) อาวุธอิสราเอลส่วนใหญ่มาจากสหรัฐ ถ้าไม่มีกระสุนลูกจรวดเพิ่ม อาวุธที่มีก็ไร้ประโยชน์ 2) ชาติอาหรับกำลังกดดันว่าพวกตนอาจระงับหรือลดการซื้อใช้อาวุธสหรัฐกับยุโรป โดยเฉพาะซาอุฯ ที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐผู้หนุนหลังอิสราเอลต้องคิดหนัก งานนี้ไม่สหรัฐก็อิสราเอลต้องรับความเสียหาย

แม้ยังไม่ใช่การคว่ำบาตรน้ำมันกับอาหารตามความต้องการอิหร่าน การคว่ำบาตรคือแนวทางที่รัฐบาลอิหร่านเรียกร้องตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นความคืบหน้าว่ารัฐบาลสหรัฐจะไม่ขายอาวุธแก่อิสราเอล

ความจริงที่อยู่เหนือกฎหมาย:

ตามกฎหมายระหว่างประเทศ อิสราเอลยึดครองดินแดนปาเลสไตน์นั้นผิดแน่นอน สหประชาชาติยืนยันเรื่องนี้เรื่อยมา แทบไม่ต้องถกกันว่าใครถูกใครผิด ประเด็นเหล่านี้ถกกันมาหลายสิบปีแล้ว มีข้อสรุปชัดเจนอยู่แล้ว ทุกปีสหประชาชาติยังคงกล่าวโทษอิสราเอลเรื่องดินแดนปาเลสไตน์

ประเด็นสำคัญคือ ไม่ว่าใครจะอ้างเหตุผลความชอบธรรมอย่างไร อิสราเอลยังคงตั้งมั่นและขยายดินแดนมากขึ้น นานาชาติยอมรับรัฐอธิปไตยอิสราเอลมากขึ้น รวมทั้งพวกชาติอาหรับด้วย ทั้งๆ ที่ทุกคนรับรู้ว่าอิสราเอลยึดปาเลสไตน์ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ

นี่คือ “ความจริงที่อยู่เหนือกฎหมาย”

เป็นไปได้ว่าในอีกหลายปีข้างหน้าพวกชาติอาหรับที่ตอนนี้ต่อต้านอิสราเอลจะกลับไปคืนดีอิสราเอลอีกครั้ง (หลังฮามาสถูกไล่ล่ากวาดล้างหลายปี) น่าติดตามว่าท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลซาอุฯ จะยอมรับรัฐอธิปไตยอิสราเอล ชาติอาหรับทั้งหลายจะเป็นมิตรกับอิสราเอลหรือไม่

ดังที่มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด (Mohammad bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) กล่าวเมื่อปี 2018 ว่า อิสราเอลมี “สิทธิ” เหนือดินแดนมาตุภูมิของตน คนยิวมีสิทธิแห่งการเป็นรัฐชาติ (nation-state) ที่อยู่ร่วมกับชนชาติอื่นโดยสันติ ทั้งยังเสนอข้อตกลงสันติภาพเพื่อนำสู่ความสัมพันธ์ตามปกติ ซาอุฯ “ไม่มีปัญหาคนยิว” ทั้งยัง “มีผลประโยชน์ร่วมกันหลายอย่าง”

คำพูดนี้เท่ากับยอมรับอิสราเอลปัจจุบัน ต่างจากอดีตที่เห็นว่าอาหรับกับยิวอยู่ร่วมโลกไม่ได้

มกุฎราชกุมารอธิบายเพิ่มว่า “ประเทศของเราไม่มีปัญหากับคนยิว ศาสดามุฮัมมัด (Muhammad) ของเราแต่งงานกับหญิงยิว ไม่ใช่เพียงเป็นเพื่อนแต่แต่งงานกัน เพื่อนบ้านของศาสดาก็เป็นพวกยิว ซาอุฯ ในปัจจุบันมีชาวยิวไม่น้อยทั้งจากอเมริกา ยุโรป”

แต่ไหนแต่ไรตำราเรียนกระแสหลักจะสอนว่ารัฐบาลซาอุฯ เป็นศัตรูกับอิสราเอลตั้งแต่ก่อตั้งรัฐอิสราเอลหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ค.ศ.1948 ชาวอาหรับเห็นว่าปาเลสไตน์เป็นพื้นที่ที่บรรพบุรุษของพวกเขาอาศัยมานานแล้ว การก่อตั้งรัฐอิสราเอลสมัยใหม่เป็นชนวนขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอาหรับอย่างรุนแรง บรรดารัฐอาหรับต่างไม่ยอมรับรัฐอิสราเอล แสดงความเป็นศัตรูอย่างรุนแรงชนิดอยู่ร่วมโลกไม่ได้ ทำสงครามถึง 5 ครั้ง จนกระทั่งปี 1993 ทุกฝ่ายหันหน้าเจรจา แม้ความขัดแย้งทุเลาลงบ้างแต่แสดงอาการเป็นระยะๆ หนักบ้างเบาบ้าง

การมีอยู่ของรัฐอิสราเอลเป็นความขมขื่นของโลกมุสลิม คนมุสลิมจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ ส่งต่อความเกลียดชังอิสราเอล เรื่องราวในอดีตคือส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ส่วนเรื่องราววันนี้คือหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม ที่บัดนี้ดูเหมือนว่ามกุฎราชกุมารซัลมานกำลังลบล้างและ/หรือเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ รัฐอิสราเอลกับอาหรับจะเป็นมิตร ละทิ้งความเป็นศัตรูคู่อาฆาต

มีนาคม 2022 มกุฎราชกุมารซัลมาน (ปัจจุบันเป็นนายกรัฐมนตรี) กล่าวว่า ตนหวังว่าความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะหมดไป ซาอุฯ ไม่มองว่าอิสราเอลเป็นศัตรู ตรงกันข้ามคาดหวังว่าจะเป็นพันธมิตรต่อกัน มีผลประโยชน์หลายอย่างที่ร่วมมือกันได้ จะเห็นว่าท่าทีของมกุฎราชกุมารซัลมานต่างจากกษัตริย์ซาอุฯ ในอดีต เป็นจุดยืนใหม่ในศตวรรษที่ 21 หลังขับเคี่ยวหลายสิบปีนับตั้งแต่เกิดรัฐอิสราเอลสมัยใหม่

ที่กล่าวมาข้างต้นคือความเป็นไปอย่างหนึ่งของโลก ยามนี้ที่ฮามาสทำสงครามกับอิสราเอลสามารถกีดกันอาหรับคืนดีอิสราเอล แต่จะกีดกันได้นานเพียงไรเวลาจะให้คำตอบ แล้วจะพบว่านั่นคืออีกความจริงของโลก เหมือนที่รัฐอาหรับทยอยคืนดีอิสราเอลทั้งๆ ที่รู้ว่าอิสราเอลยึดครองปาเลสไตน์ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21

BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ

ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)

เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง

เลือกตั้งสหรัฐ2024เลือกสังคมนิยมหรือฟาสซิสต์

ทรัมป์ชี้ว่าแฮร์ริสเป็นพวกสังคมนิยม ส่วนแฮร์ริสชี้ว่าทรัมป์เป็นเผด็จการ สหรัฐกำลังเข้าสู่การเลือกระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “ฟาสซิสต์”

ทรัมป์คุกคามโลกเสรีประชาธิปไตย?

การที่ทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรต่อรัสเซีย จีน อาจไม่ปกป้องสมาชิกนาโต ชวนให้ตั้งคำถามว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามโลกเสรีประชาธิปไตยหรือไม่