เมื่อวานได้อ่าน ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรม, อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, แสดงเหตุผลว่าแนวทางการ “กู้มาแจก” 5 แสนล้านบาทนั้นไม่ได้ผลแน่
แต่เห็นต่างอย่างเดียวไม่พอ ควรจะต้องเสนอทางเลือกให้รัฐบาลและประชาชนด้วย
ดร.พิสิฐ, ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ด้วย, บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อเพิ่ม GDP หรือผลผลิตมวลรวมของประเทศมีหลายประการ
นี่เป็นบางส่วนของข้อเสนอทางเลือกด้านนโยบายสำหรับรัฐบาลนายกฯเศรษฐา:
สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อเพิ่มตัวเลข GDP เฉพาะหน้าคือการเร่งรัดการใช้จ่ายของรัฐ
โดยเฉพาะงบประมาณรายจ่าย ที่ล่าช้าในปี 2567 เพราะเป็นตัวถ่วง GDPในปีนี้
หน่วยราชการมีการของบประมาณถึง 5.8 ล้านล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรในวงเงินเพียง 3.48 ล้านล้านบาท ยังมีอีก40% หรือ 2.32 ล้านล้านบาทที่ไม่ได้รับงบประมาณ
ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่ช่วยประชาชนเพิ่มคุณภาพชีวิต เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในการหารายได้
โดยเฉพาะเรื่องแหล่งน้ำในภาคเกษตร
การให้ความรู้แก่ประชาชนในการประกอบสัมมาชีพด้าน Digital Technology เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ
นอกจากนี้รัฐบาลควรเร่งรัดปรับแก้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารการเงินของประชาชน เช่น กฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกฎหมายสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารการเงินและหนี้สิน โดยไม่มีภาระใดๆต่องบประมาณแผ่นดิน
ในการบริหารเศรษฐกิจให้เติบโตต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและต่อเนื่อง
ลำพังแค่การใช้เงินหมื่นบาทให้หมดเปลืองไปไม่กี่วัน ย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างเรื้อรังที่เป็นความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่างๆที่ระบุไว้ข้างต้นทั้ง 8 ประการได้ การบริหารเศรษฐกิจโดยคิดแต่จะปั้นGDPเพื่อกดสัดส่วนหนี้ต่อGDPก็ไม่น่าใช่วิธีคิดที่รอบคอบ และเป็นการใช้เงินที่ไม่คุ้มค่า
อีกประเด็นหนึ่งที่มีการถกแถลงกันอย่างกว้างขวางคือ “แหล่งที่มาของเงิน”
ดร. พิสิฐวิเคราะห์อย่างนี้
รัฐบาลขาดความชัดเจนเรื่องการชดเชย เงิน DW ว่าจะมาจากแหล่งใดซึ่งสร้างความสับสนหรือความไม่เชื่อมั่นต่อการบริหารการเงินการคลังของรัฐ เพราะขัดแย้งกับกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
ก. ในช่วงการหาเสียง ได้แจ้ง กกต(คณะกรรมการการเลือกตั้งว่า จะอาศัยการตัดรายจ่ายในงบประมาณ และการเพิ่มรายได้ภาษีอากร โดยไม่มีการกู้เงินหรือก่อหนี้ใดๆ ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดี เพราะแสดงว่ามีความรับผิดชอบทางการคลัง มีการยืนยันว่าต้องการแสดงความโปร่งใสตรงไปตรงมา
ข. ภายหลังการเลือกตั้ง ได้ชี้แจงว่า จะอาศัยการจัดเก็บรายได้ที่จัดเก็บได้เกินเป้า 1-2 แสนล้านบาทมาใช้
ผมแย้งว่ารายได้ที่เก็บได้เกินหรือต่ำกว่าเป้าหรือประมาณการรายได้ ได้เป็นส่วนหนึ่งของเงินคงคลังแล้ว ไม่อาจจะนำมากล่าวอ้างเพื่อชดเชยการใช้จ่ายใหม่ของรัฐบาลได้ เว้นแต่จะระบุในกฎหมายรายจ่ายว่าเป็นการใช้เงินคงคลัง
ค. ต่อมามีการให้คำชี้แจงว่า จะอาศัย 1. เงินยืมจากธนาคารออมสิน 2. วงเงินที่เหลือไม่ได้ใช้ตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ วินัยการเงินการคลัง 3. เงินนอกงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ
ผมได้แย้งว่าเงินยืมจากธนาคารออมสิน ไม่น่าจะสมควรเพราะ เป็นสถาบันการเงินที่ตั้งมากว่า 100 ปีเพื่อสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้การออม การที่รัฐก่อหนี้โดยนำเงินนี้มาให้ใช้เพื่อบริโภคจึงเป็นการไม่สมควร ต่อมากฤษฎีกาก็ชี้ว่ามาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ. ออมสินไม่ได้เปิดช่องให้รัฐบาลใช้เงินออมสินเพื่อการบริโภค
สำหรับการอ้างอิงมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ วินัยการเงินการคลัง เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ
เพราะ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังมีไว้เพื่อตีกรอบไม่ให้รัฐบาลใช้เงินเกินตัว
ถ้อยคำในมาตรา 28 จึงไม่ได้ให้อำนาจรัฐบาลกู้เงิน
หากจะกู้เงินต้องไปดูมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ. หนี้สาธารณะซึ่งอนุญาตให้กู้เงินด้วยวัตถุประสงค์ 5 ประการ
แต่การกู้มาแจกหรือบริโภคไม่อยู่ในเงื่อนไขในการกู้เงินตามมาตรา 28 สำหรับการใช้เงินนอกงบประมาณนั้นก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบ เพราะบางส่วนรัฐอาจเรียกมาได้
แต่ถ้ามีจำนวนมากก็จะมีผลเสียต่อตลาดเงินตลาดทุนที่เงินเหล่านี้ไปลงทุนไว้
ง. เมื่อปลายเดือนตุลาคม มีการจัดสัมนาเรื่องนี้ที่วุฒิสภา ซึ่งมีที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีมาชี้แจงซึ่งได้ให้ข้อสรุปทิ้งท้ายว่าจะชดเชยการใช้เงิน DW ด้วยงบประมาณรายจ่าย 2567 แต่จะไปจ่ายเดือนกันยายน 2567 ไม่ใช่ กุมภาพันธ์ 2567 ตามที่เคยประกาศไว้
จ. ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะประกาศวิธีการชดเชยการใช้เงิน DW ก็มีการให้ข่าวจากรัฐบาลว่าจะอาศัยการผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะกระทำเป็นรายปี
ผมก็ได้ให้ความเห็นในงานเสวนาเรื่องนี้ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคมว่าเท่าที่ผ่านมารัฐบาลมีการดำเนินโครงการใหญ่ที่ต้องใช้เงินหลายปี
เช่น การก่อสร้างทางมอเตอร์เวย์ จึงมีการผูกพันงบประมาณปีต่อๆไป โดยมีข่าวว่าปีแรก 2567 จะใช้ 130,000 ล้านบาท (ซึ่งเท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่เพิ่มจากเดิมที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์เคยมีมติไว้ โดยรัฐบาลเศรษฐาให้เพิ่มยอดการขาดดุลอีก 100,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 30,000 ล้านบาทจะมาจากการปรับประมาณการรายได้ที่สูงขึ้นเพราะฐานรายได้ปี 2566 เก็บได้สูงกว่า)
แต่คราวนี้จะมีการผูกพันงบเพื่อการบริโภคซึ่งจะไม่มีข้อสัญญารองรับเฉกเช่นงบลงทุน เพราะเป็นการแจกเพื่อบริโภค รัฐบาลที่รับช่วงต่ออาจปฏิเสธไม่จัดงบให้ได้
ฉ. ล่าสุด นายกรัฐมนตรีก็ประกาศว่า จะตรา พ.ร.บ กู้เงิน 500,000 ล้านบาท โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง ทำให้เกิดข้อเป็นห่วงใยหลายประการ
เช่น มาตรา 53 มีถ้อยคำระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นกรณีเร่งด่วนฉุกเฉินและวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ
หากไม่เข้าเกณฑ์นี้ก็จะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 140 เกี่ยวกับการใช้เงินแผ่นดิน นอกจากนี้ การขาดดุลภาครัฐที่เคยลดลงภายหลังจากที่ covid เบาบางลง จะกระโดดสูงเป็น 1.3 ล้านล้านบาท เทียบกับเมื่อก่อนเกิด covid ที่สูง 2-4 แสนล้านบาท
ดังนั้นหนี้สาธารณะในปี 2567 ย่อมขยายสูงขึ้นอึกเป็น 64% ของ GDP เทียบกับ 40% เมื่อก่อนเกิด covid
ถึงแม้ว่าสัดส่วนนี้ของไทยจะดูไม่มากใกล้กับประเทศในยุโรป แต่อย่าลืมว่ารายได้รัฐบาล ของชาวยุโรปมีสัดส่วนที่สูงมากถึง 30-40% ของ GDP เพราะมีอัตราภาษี VAT กว่าร้อยละ 20%
และอัตราภาษีเงินได้จะสูงและเป็นแบบขั้นบันได
ดังนั้นกำลังในการหารายได้ของรัฐบาลไทยที่ต่ำย่อมเป็นข้อจำกัดต่อการก่อหนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะไทยต่อรายได้รัฐบาลไทยจึงอยู่ในเกณฑ์สูงมาก
นี่คือแนวทางวิเคราะห์อย่างรอบด้านของหนึ่งในนักการเงินการคลังของประเทศที่รัฐบาลควรจะนำไปพิจารณา...แม้ว่าทางการจะตัดสินใจเดินบนเส้นทางแห่งความเสี่ยงอย่างยิ่งแล้วก็ตาม
การถอยเพื่อรักษาวินัยการคลังและการลด “ความไม่แน่นอนของแนวทางนโยบาย” ต้องเป็นแนวปฏิบัติของรัฐบาลที่รับผิดชอบ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ