(ข้อเขียนนี้ เขียนขึ้นและเผยแพร่ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 หลังรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 และผู้เขียนอยากจะชวนให้คนอ่านในปัจจุบัน นึกย้อนมองไปในประวัติศาสตร์การเมืองเมื่อ 17 ปีที่แล้ว)
ประเด็นสำคัญที่เป็นทางเลือกที่ดีกว่าการยอมรับการรัฐประหารของธงชัย วินิจจกูล คือ
หนึ่ง ถ้าคิดว่ารัฐประหารช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือด คำถามมีว่าการนองเลือดเกิดจากอะไร คำตอบคือการนองเลือดเกิดจากการที่สองฝ่ายต่างไม่ถอยให้กัน และเมื่อเผชิญหน้ากัน ความรุนแรงย่อมเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเกิดจากความบังเอิญหรือจากความตั้งใจก็ตาม
ดังนั้น หนทางที่จะไม่ให้เกิดการนองเลือดคือ ไม่พยายามที่จะเผชิญหน้าในลักษณะของการชุมนุมใหญ่ในที่สาธารณะ และเมื่อไม่สามารถไปบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งถอย ธงชัยแนะว่าฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ควรที่จะถอย ต่อประเด็นนี้ธงชัยเห็นว่า ฝ่ายพันธมิตรกลับ ’ไม่ถอย’ ธงชัยยังอ้างถึงกรณี 6 ตุลาที่ตัวเขามักจะถูกตั้งคำถามว่า เมื่อรู้ว่าจะมีการนองเลือดเกิดขึ้นแล้วทำไม ‘ไม่ถอย’ ซึ่งคราวนี้ธงชัยตั้งคำถามเดียวกันกับฝ่ายพันธมิตร
สอง ในสายตาธงชัย ทักษิณมิได้เป็น ‘ผู้ร้าย’ สำหรับทุกคนในสังคมไทย อีกทั้งทักษิณยังขึ้นสู่อำนาจโดยการเลือกตั้ง ไม่ได้ใช้วิธีการยึดอำนาจรัฐประหารอย่างที่เผด็จการทหารกระทำในอดีต การยอมรับการใช้วิธีทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในการล้มทักษิณนั้น ถือว่าเป็นการกระทำจากสภาวะที่สิ้นคิดสิ้นหวัง ไร้ยางอายที่มาจากความอหังการและอคติแบบชนชั้นนำที่ไม่สามารถยอมรับในสิทธิของประชาชนที่เลือกทักษิณเข้ามา โดยไม่คิดว่าสิทธิเสียงของประชาชนส่วนใหญ่เหล่านั้นมีค่าความหมายแต่อย่างใด ทัศนะแบบนี้ต่างหากที่ไม่เป็นประชาธิปไตย
และถ้าจะถามว่า ทักษิณ เป็นวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดในโลกหรือไม่ ธงชัยเห็นว่าไม่มีใครสามารถบอกหรือพิสูจน์อย่างแน่ชัดได้ ข้อกล่าวหาร้ายแรงที่มีต่อทักษิณนี้ เป็นข้อกล่าวหาที่เป็นอัตวิสัยและเถียงกันไปก็ไม่มีข้อสรุป
ความคิดเห็นต่อประเด็นสองประเด็นข้างต้น คือ
หนึ่ง
การเปรียบเทียบเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 กับ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ของธงชัยนั้นน่ารับฟัง เพราะมีความคล้ายคลึงกัน นั่นคือการเผชิญหน้าระหว่างสองฝ่าย อันนำไปสู่การนองเลือด
แต่ความแตกต่างประการแรกคือ ในกรณี 6 ตุลา เกิดการนองเลือดเพราะไม่มีการถอย ทั้งๆ ที่รู้ว่าอาจจะ/เป็นไปได้สูงที่จะเกิดการนองเลือด ส่วนในกรณี 19 กันยา ยังไม่เกิดการนองเลือด แม้จะไม่มีทีท่าว่าฝ่ายใดจะถอย แต่ไม่เกิดการนองเลือดเพราะมีการรัฐประหารเสียก่อน
ความแตกต่างประการที่สองคือ ในกรณี 6 ตุลา คู่ขัดแย้งคือ ฝ่ายนิสิตนักศึกษา vs ฝ่ายขวาจัด อันได้แก่ กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง นวพล ฯลฯ ส่วนในกรณี 19 กันยา คู่ขัดแย้งคือฝ่ายพันธมิตรและประชาชนทั่วไปจำนวนหนึ่ง vs ฝ่ายรักษาการรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จะเห็นได้ว่า ในกรณี 6 ตุลา รัฐบาลเป็นตัวกลางที่อยู่ระหว่างคู่ขัดแย้ง ส่วนกรณี 19 กันยา รัฐบาลคือคู่ขัดแย้ง
เมื่อรัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้ง สิ่งที่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยควรกระทำก็คือ การอดทน ปล่อยให้การต่อต้านประท้วงดำเนินไปตามขอบเขตของกฎหมาย แต่ในกรณี 19 กันยา รัฐบาลกลับทำตัวเป็นกลุ่มการเมือง จากกรณีสยามพารากอนและเซ็นทรัลเวิลด์ ปล่อยให้เกิดการปลุกระดมจากรายการของสถานีโทรทัศน์ MVTVI และสถานีวิทยุ 93.25 (ซึ่งอยากจะถามว่า ปัญญาชนคนไหนติดตามดูบ้าง? และทราบหรือไม่ว่า มีคนที่ดูหรือฟังมีจำนวนมากน้อยแค่ไหน?) แม้ว่าฝ่ายพันธมิตรและประชาชนผู้สนับสนุนพันธมิตรจะล่าถอย แต่กระนั้นฝ่ายรัฐบาลที่ลดตัวลงมาเป็นเพียงกลุ่มการเมืองก็ยังคงจะดำเนินการรุกเพื่อที่จะสยบกระแสในที่สุดอยู่ดี เพราะเดิมพันสำคัญของฝ่ายรัฐบาลไม่เพียงแต่ต้องการจะหยุดกระแสต่อต้านเท่านั้น แต่รวมถึงการต่อสู้มิให้เกิดการตัดสินยุบพรรคฝ่ายตน หรือแม้ว่ามีการตัดสินยุบพรรคแล้ว ก็คงจะไม่ยอมรับ โดยปลุกกระแสประชาชนขึ้นมาให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในสังคม จนต้องล้มกระดานอยู่ดี ยิ่งเป็น ‘ขาลง’ เพียงไร ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า พวกเขาใช้วิธีการ ‘นอกระบบ’ มากขึ้นเท่านั้น
ถ้าหากธงชัยจะเรียกร้องให้ใครเป็นฝ่ายถอย ก็น่าจะเรียกร้องให้ฝ่ายทักษิณถอยมากกว่า การถอยที่ว่านี้ อาจจะไม่ขนาดต้องลาออก (เพราะธงชัยมิได้เห็นว่าทักษิณเลวร้ายขนาดต้องลาออก เพียงเพราะกระแสต่อต้านจากกลุ่มคนที่มีจำนวนน้อยกว่าคะแนนเลือกตั้งที่ทักษิณได้รับ)
แต่เรียกร้องให้รักษาการรัฐบาลดูแลให้การชุมนุมต่อต้านอย่างสันติสามารถดำเนินไปได้ โดยไม่มีการแทรกแซงจากมือที่สาม หรือละเว้นจากการเป็นมือที่สามเสียเอง การเรียกร้องให้กลุ่มต่อต้านรัฐบาลเป็นฝ่ายถอยเสียเอง ก็เท่ากับว่ามองไม่เห็นความแตกต่างระหว่างผู้เป็นรัฐบาลกับผู้เป็นประชาชน ไม่เห็นความแตกต่างในจริยธรรมความรับผิดชอบของผู้เป็นรัฐบาลที่มีหน้าที่ต้องปกป้องรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน แม้ว่าประชาชนคนใดจะไม่เห็นด้วยหรือต่อต้านขับไล่ตนก็ตาม
ในขณะที่รัฐบาลทักษิณไม่เคยตระหนักในความรับผิดชอบต่อสิทธิ เสรีภาพ ทรัพย์สินของประชาชน ด้วยการปล่อยข่าวลือประกาศเตือนถึงความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นแทบทุกครั้งที่จะมีการชุมนุม อีกทั้งตัว พ.ต.ท.ทักษิณเองก็ประกาศห้ามปรามการชุมนุมด้วยตัวเองผ่านรายการวิทยุของตนด้วยที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ฝ่ายต่อต้านทักษิณต่างหากกลับต้องมาแบกภาระรับผิดชอบต่อชีวิตผู้คน ฝ่ายต่อต้านกลับต้องคิดทุกครั้งในการชุมนุมประท้วง ต้องระมัดระวังทุกฝีก้าวเพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงจากมือที่สาม ไปๆ มาๆ ฝ่ายต่อต้านทักษิณดูเหมือนจะตระหนักในบทบาทหน้าที่และจริยธรรมของการเป็นรัฐบาลมากกว่ารัฐบาลจริงๆ เสียอีก
ในทางปฏิบัติ แน่นอนว่าการเรียกร้องจริยธรรมความรับผิดชอบจากคนใกล้ตัวหรือคนกันเอง ดูจะเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าการเรียกร้องจากคนไกลตัวหรือคนที่ไม่รู้จัก ขณะเดียวกัน คนที่เป็นเพื่อนกันและมีความเห็นสอดคล้องกับเพื่อนในสาเหตุของปัญหา ก็ย่อมจะเรียกร้องจริยธรรมความรับผิดชอบกับคนที่เป็นศัตรูของเพื่อนมากกว่าจะเรียกร้องจากเพื่อน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธงชัยจะเป็นมิตรกับฝ่ายพันธมิตร มากกว่าจะเป็นมิตรกับฝ่ายทักษิณ (ตรงนี้ อาจจะเป็นอัตวิสัยของผมเอง!) แต่ก็ไม่จำเป็นว่ามิตรจะต้องมีความเห็นสอดคล้องกับมิตรในสาเหตุของปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น โดยยอมละทิ้งหลักการมุมมองของตัวเองไปเพื่อเพื่อน
สอง
ธงชัยแสดงความคิดเห็นของตนออกมาอย่างชัดเจนว่า ทักษิณไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น และการประเมินว่าทักษิณเลวร้ายขนาดนั้นเป็นเรื่องอัตวิสัยและสามารถถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ ธงชัยเห็นว่า การยอมรับวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในการต่อสู้โค่นล้มทักษิณ เท่ากับการไม่ยอมรับสิทธิเสียงข้างมากของประชาชนในสังคมไทย เป็นการละเลยดูแคลนสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะการมองว่า ประชาชนเหล่านั้นโง่ ไร้การศึกษา เห็นแต่ประโยชน์ระยะสั้น ซึ่งมุมมองเช่นนี้เป็นมุมมองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การยอมรับวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและการไม่เคารพเสียงข้างมากต่างหากที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เป็นศัตรูต่อระบอบประชาธิปไตยเสียยิ่งกว่าตัวทักษิณเสียอีก
ถ้าธงชัยมองว่า การมองว่าทักษิณเป็นวิกฤติเลวร้ายเป็นการมองที่เป็นอัตวิสัยและถกเถียงกันได้ไม่รู้จบ ธงชัยก็น่าจะยอมรับว่ามุมมองของเขาก็เป็นอัตวิสัยด้วย และจะว่าไปแล้ว ภายใต้ประชาธิปไตย ทุกความเห็นโดยเฉพาะเรื่องดี-เลวล้วนเป็นอัตวิสัยทั้งสิ้น ยากที่จะตัดสินยกให้ความเห็นใดเป็นสภาวะวิสัยได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะชื่นชมหรือต่อต้านรัฐบาลได้เสมอกัน แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นสภาวะวิสัยอยู่อย่างหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยก็คือ รัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะเป็นฝ่ายรุก-บ่อนทำลายหรือสร้างสถานการณ์เพื่อความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงเข้าตอบโต้หรือสยบกระแสต่อต้านตน
การต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านทักษิณเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของฝ่ายเสียงข้างน้อย หาใช่การละเลยเสียงข้างมาก ธงชัยเรียกร้องให้เสียงข้างน้อยแบกความรับผิดชอบ เสียสละ ต้องเป็นฝ่ายถอย ตั้งรับ เพราะธงชัยเห็นว่าคนในฝ่ายนี้มีการศึกษาดีกว่า มีฐานะดีกว่า เป็นชนชั้นนำ (elite) เป็นคนเดือนตุลา (เก่า) ธงชัยไม่ได้มองคนทั้งสองฝ่ายนี้อย่างเท่าเทียมเสมอภาคกัน แต่ธงชัยมองคนฝ่ายต่อต้านทักษิณในฐานะคนรู้จัก ในฐานะมิตร โดยลืมไปว่า ทั้งฝ่ายต่อต้านและฝ่ายสนับสนุนนั้นมีคนทุกระดับปะปนกันอยู่
ไม่ทราบเหมือนกันว่า ในที่สุดแล้ว นิยามประชาธิปไตยก็คงเป็นเรื่องอัตวิสัยด้วยกระมัง ประชาธิปไตยมิได้มีไว้เพื่อคนจนส่วนใหญ่ที่ถูกปั่นหัวโดยชนชั้นนำ หรือประชาธิปไตยมีไว้เพื่อคนทุกคน
อย่างไรก็ตาม ในที่สุด กล่าวได้ว่า สำหรับธงชัยการไม่ถอยของพันธมิตรทำให้รัฐประหารครั้งนี้กลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องยอมรับไปในที่สุด
ในอีกด้านหนึ่ง คำถามต่อไปนี้ที่ว่า ทำไมทักษิณไม่แถลงในสภา ทำไมทักษิณยุบสภา ทำไมทักษิณไม่เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ทำไมตำรวจไม่เร่งดำเนินคดีทักษิณที่มีการฟ้องร้องไว้มากมาย ทำไมทักษิณไม่เว้นวรรค ไม่ลาออก ทำไมทักษิณปล่อยให้มีการใช้กำลังรุนแรงทำร้ายฝ่ายต่อต้าน ทำไมทักษิณปล่อยให้มีการปลุกระดมทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ ธงชัยน่าจะตั้งคำถามเหล่านี้กับฝ่ายที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘รัฐบาล’ บ้าง ไม่ใช่หรือ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ
'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง