แนวทางสู่โลกแห่งสันติ

กรอบการนำเสนอในที่นี้เน้นสันติภาพโลกที่พูดถึงความขัดแย้งระหว่างรัฐหรือระหว่างประเทศ สัมพันธ์กับวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Relations) ไม่ใช่สันติภาพปัจเจก สันติสุขในส่วนลึกของจิต (inner peace) ดังนั้นสันติภาพโลกในที่นี้จึงเน้นโลกที่ประเทศอยู่ด้วยกันอย่างสงบ เป็นมิตรต่อกัน

ประวัติศาสตร์โลกเต็มไปด้วยสงคราม:

ถ้าสำรวจประวัติศาสตร์โลกย้อนหลัง 3-5 พันปี จะพบว่าโลกเต็มไปด้วยสงคราม อาจเป็นสงครามระหว่างนครรัฐ ระหว่างอาณาจักรหรือระหว่างประเทศ

สงครามเกิดในทุกทวีป ไม่ว่าจะเอเชีย แอฟริกา หรือทวีปอเมริกา เกิดกับชนทุกเชื้อชาติ ทุกสีผิว กล่าวได้ว่า สงครามเป็นส่วนหนึ่งของตำราประวัติศาสตร์ อารยธรรมหนึ่งเกิดขึ้น เจริญรุ่งเรือง ล่มสลาย ไม่แปลกที่อารยธรรมทำสงครามขยายความยิ่งใหญ่หรือปกป้องตัวเอง

ภาพ: ธงชาติอาเซียนกับสมาชิก

เดรดิตภาพ: https://asean.org/joint-ministerial-statement-on-the-interface-meeting-between-asean-tourism-ministers-and-asean-transport-ministers/

ตำราตะวันตกให้ความสำคัญกับกษัตริย์ผู้ปกครอง บรรยายเรื่องสำคัญที่พระองค์ทำ หนึ่งในนั้นคือการศึกสงคราม บางตำรายกย่องกษัตริย์นักรบ เช่น อเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์กรีกผู้ชนะศึกยึดครองดินแดนมากมายตั้งแต่ยุโรปจนถึงชมพูทวีปด้วยวัยเพียง 33 ปี เจงกิสข่านรวบรวมชนเผ่ามองโกล สร้างอาณาจักรมองโกล พิชิตจีน อินเดีย เปอร์เซีย อาหรับ ไกลไปจนถึงยุโรป ทุกวันนี้คนมองโกลยังคิดถึงท่าน อยากให้มองโกลกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

มองประวัติศาสตร์ใกล้ตัว ดินแดนสุวรรณภูมิหรือที่ตั้งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประวัติศาสตร์ 2 พันปีของสุวรรณภูมิเคยเป็นที่ตั้งของหลายนครรัฐหลายอาณาจักร จนมาถึงสมัยกรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ มีสงครามรบพุ่งเป็นระยะ เฉพาะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยในสมัยนั้นต้องรบกับพม่า ลาว เขมร เวียดนาม และทางภาคใต้ของไทย กล่าวได้ว่าสุวรรณภูมิเป็นดินแดนที่มีการศึกสงครามไม่ต่างจากที่อื่น

ดังนั้น ประวัติศาสตร์โลกไม่ว่าจะใกล้หรือไกลจึงเต็มไปด้วยสงคราม

ศาสนาสามารถสร้างสันติภาพได้หรือไม่:

ถามว่าเมื่อ 3-5 พันปีที่แล้วมีศาสนาความเชื่อ หรือสิ่งที่พอเทียบเคียงกับศาสนาความเชื่อหรือไม่ คำตอบคือมี และมีมากมาย ตั้งแต่ภูตผี เทพเจ้าระดับหมู่บ้าน ระดับชนเผ่า ระดับเมือง บางท้องถิ่นเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากกว่าหนึ่งองค์ ยกเว้นความเชื่อที่เป็นเอกเทวนิยม (Monotheism) ที่นับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียว บางศาสนาลัทธิเน้นความสำคัญของคำสอน เช่น เล่าจื๊อ เม่งจื๊อ แสวงหาสัจธรรม

เนื่องจากในที่นี้วางธงตั้งแต่ต้นว่าต้องการสันติภาพโลกที่ปราศจากสงคราม อยู่ร่วมกันอย่างสันติ คำถามจึงมีอยู่ว่า ย้อนทบทวนประวัติศาสตร์โลก 3-5 พันปี ศาสนาความเชื่อสามารถสร้างสันติภาพได้หรือไม่ คำตอบคือได้บางเวลาบางพื้นที่ แต่โดยรวมแล้วประวัติศาสตร์ให้ข้อสรุปแล้วว่าโลกเต็มไปด้วยสงคราม เป็นเช่นนี้เรื่อยมา

ถ้าเข้าใจลึกซึ้งขึ้น บางศาสนาความเชื่อบรรยายเรื่องสงคราม โลกมนุษย์ที่อยู่คู่สงคราม (บางศาสนามีสงครามระหว่างเทพ ระหว่างสวรรค์กับนรกด้วย) บางศาสนาสอนกฎการทำสงคราม การจัดการเชลยศึก ศาสนาไม่สอนให้ทำชั่วแต่ชี้ว่าสงครามคือส่วนหนึ่งของมนุษย์ เป็นกฎแห่งกรรมหรือแผนการพระเจ้าที่จะกวาดล้างความอสัตย์ อธรรม หรือนำเสนอความเป็นไปของโลกมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบ

มนุษย์มีแนวโน้มทำร้ายกัน ดังนั้นคำสอนบางศาสนาความเชื่อมีเรื่องการทำสงครามด้วย เป็นการดีที่โลกปราศจากสงคราม ส่วนสันติภาพแท้เป็นเรื่องความดี ความบริสุทธิ์ที่มุ่งเน้นสภาพนิรันดร์ เป็นสันติสุขถาวร หรือเป็นทางแห่งการดับทุกข์ ดังนั้นต้องจับหลักว่าในที่นี้เน้นสันติภาพโลก ณ เวลาปัจจุบัน มากกว่าเน้นโลกหน้าหรือการหลุดพ้น

อาเซียนตัวแบบการอยู่ร่วมโดยสันติ:

อาเซียนเป็นแบบอย่างสันติภาพระดับภูมิภาคที่น่าชมเชย ดังที่นำเสนอแล้วว่าก่อนหน้าอาเซียน รัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยทำสงครามรอบทิศ สงครามอินโดจีน สงครามเวียดนามเป็นที่เลื่องลือในสมัยสงครามเย็น สถานการณ์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงจุดเปลี่ยนเมื่อสงครามเย็นยุติ อาเซียนรับเวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน นับจากนั้นเป็นต้นมาไม่มีสงครามระหว่างชาติสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศอีกเลย

การเข้าร่วมของเวียดนามเมื่อปี 1995 ถือเป็นประเทศสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ประเทศแรกที่เข้าร่วมอาเซียน ณ เวลานั้นถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ เพราะอาเซียนยอมรับประเทศที่มีระบอบการปกครอง มีระบบเศรษฐกิจแตกต่างจากประเทศชาติสมาชิกอาเซียนโดยสิ้นเชิง เกิดคำถามวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุผลการรับเวียดนามหรือทำไมเวียดนามจึงอยากเข้ามาร่วมอาเซียน มีผู้อธิบายด้วยเหตุผลหลากหลาย

การรับเวียดนามเป็นสมาชิกเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งว่าความขัดแย้งเดิมได้หมดไป ไม่มีการแบ่งแยกตามขั้วการเมืองระหว่างประเทศอีก เป็นการแสดงความปรารถนาดีต่อกันและกัน เป็นจุดเริ่มของมิตรภาพ ไม่คิดรบกันอีกแล้ว เป็นกุศโลบายให้ทุกประเทศในภูมิภาคนี้เป็นพวกเดียวกัน ไม่อยู่ใต้บรรยากาศความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ สามารถใช้อาเซียนเป็นเวทีเพื่อเสริมสร้างมิตรภาพ ความไว้เนื้อเชื่อใจและความร่วมมือระหว่างกัน

เพราะอาเซียนวางหลักการ ให้สมาชิกอยู่ร่วมกันได้แม้ต่างระบอบการปกครอง ไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน แก้ปัญหาต่างๆ ด้วยการปรึกษาหารือ (principle of consultation หรือ musyawarah) ยึดสันติวิธี ไม่เผชิญหน้า ไม่นำเรื่องในองค์การสู่ภายนอกแต่ให้คุยกันภายใน หลักการนี้สัมพันธ์กับหลักฉันทามติ ทุกการตัดสินใจของอาเซียนมาจากการเห็นชอบร่วมกัน ไม่ใช้หลักเสียงข้างมาก

ทุกวันนี้ปัญหาเขตแดนระหว่างชาติสมาชิกยังมีอยู่ในหลายพื้นที่ การเจรจาแก้ไขยังทำงาน และอยู่ร่วมกันได้ทั้งที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ตีความว่าส่วนที่แก้ได้ก็แก้ไปแล้ว ส่วนที่บริหารจัดการได้ก็ทำไป ส่วนที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ก็ทิ้งไว้อย่างนั้น รอเจรจาหาทางออกต่อไป

อาเซียนเลือกที่จะบริหารจัดการความขัดแย้ง ปัญหายังอยู่แต่ทุกฝ่ายอยู่ได้ ไม่เป็นเหตุขยายความขัดแย้งให้ลุกลามใหญ่โต (จนเป็นเหตุให้ต่างชาติแทรกแซง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย)

อาจอธิบายว่าอาเซียนคือชุมชน ถ้าคนหนึ่งลำบากจะกระทบคนอื่นๆ ดังนั้นต้องช่วยให้ทุกคนอยู่ได้ตามอัตภาพ ผลคือชุมชนเข้มแข็ง

ความสำเร็จในอดีตของวิถีอาเซียนยิ่งทำให้แนวทางนี้แข็งแกร่ง ทุกชาติสมาชิกเห็นพ้องต้องกันว่าจะยึดแนวทางดังกล่าว

เกือบ 6 ทศวรรษแล้วที่พวกเขาอยู่ร่วมกันได้ แม้มีข้อขัดแย้งบ้างแต่สามารถแก้ไขหรือบรรเทาไม่ให้บานปลาย ทั้ง 10 ประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านจึงอยู่ร่วมกันอย่างสงบ ต่างเร่งพัฒนาตนเอง ทุ่มเททรัพยากรให้กับประชาชนตัวเอง เป็นประโยชน์ที่ชัดเจนของการมีอาเซียน และองค์การนี้กำลังพัฒนาต่อไป เผชิญความท้าทายใหม่ในโลกที่ไม่หยุดนิ่ง

ใช้ความเชื่อร่วมกับความรู้แขนงอื่น:

เป็นความจริงที่น่าเศร้าว่า ประวัติศาสตร์โลกเต็มไปด้วยสงคราม ศาสนาความเชื่อไม่สามารถห้ามสงครามได้ทั้งหมด บทบาทของความเชื่อคือช่วยยับยั้งชั่งใจ ทำสงครามในกรอบที่ศาสนาอนุญาต

ในโลกแห่งความจริง ลำพังความเชื่ออย่างเดียวไม่เกิดผลเร็ว (และควรพูดว่านับวันศาสนามีบทบาทลดน้อยถอยลง) การใช้หลักวิชาอื่นๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ทางสังคมเศรษฐกิจช่วยได้ เป็นวิถีมองโลกตามความจริง (นอกเหนือจากการยึดถืออุดมคติ) มีอุดมคติพร้อมกับปฏิบัติโดยเข้าใจโลกแห่งความจริง ที่มนุษย์ไม่สมบูรณ์ หลายคนเห็นแก่ตัว บางคนพร้อมทำชั่ว จึงกำหนดแนวทางให้โลกมีสันติเท่าที่น่าจะเป็นไปได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21

BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ

ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)

เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง

เลือกตั้งสหรัฐ2024เลือกสังคมนิยมหรือฟาสซิสต์

ทรัมป์ชี้ว่าแฮร์ริสเป็นพวกสังคมนิยม ส่วนแฮร์ริสชี้ว่าทรัมป์เป็นเผด็จการ สหรัฐกำลังเข้าสู่การเลือกระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “ฟาสซิสต์”

ทรัมป์คุกคามโลกเสรีประชาธิปไตย?

การที่ทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรต่อรัสเซีย จีน อาจไม่ปกป้องสมาชิกนาโต ชวนให้ตั้งคำถามว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามโลกเสรีประชาธิปไตยหรือไม่