เมื่อฟิลิปปินส์ขยับ ห่างจีนไปใกล้มะกัน

ฟิลิปปินส์กับจีนกำลังมีเรื่องระหองระแหงกันหลายประเด็น...นำไปสู่การประกาศยกเลิกโครงการรถไฟที่เคยลงนามกับจีน 3 โครงการ

เป็นจังหวะเดียวกับที่สองประเทศนี้มีความบาดหมางกันในทะเลจีนใต้

สำหรับไทย นี่คือ “กรณีศึกษา” ที่น่าสนใจ

โดยเฉพาะหากเราเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับเพื่อนของเราในอาเซียนอื่นๆ

ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย, สปป.ลาว,  กัมพูชาและเวียดนาม

กรณีนี้เกิดจากที่ฟิลิปปินส์ประกาศจะไม่ขอการสนับสนุนทางการเงินจากจีนสำหรับโครงการรถไฟ 3 โครงการ

ซึ่งเป็นโครงการที่ตกลงกันตั้งแต่ยุคอดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต

เจมี เบาติสตา รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของฟิลิปปินส์ กล่าวในที่ประชุมนักธุรกิจชาวเยอรมันและฟิลิปปินส์ในกรุงมะนิลาเมื่อเร็วๆ  นี้ว่า

 “เห็นได้ชัดว่าจีนหมดความสนใจในโครงการนี้”

 ซึ่งรวมถึงการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอดีตฐานทัพสหรัฐฯ ขนาดยักษ์สองแห่งบนเกาะลูซอน

 “เรามีสามโครงการที่จะไม่ได้รับทุนจากรัฐบาลจีนอีกต่อไป เรารอไปเรื่อยๆ ไม่ได้ และดูเหมือนว่าจีนจะไม่สนใจอีกต่อไปแล้ว” เบาติสตาบอกฟอรัมของนักธุรกิจชาวเยอรมันและฟิลิปปินส์ในย่านการเงินของมาคาติ

 “ดังนั้น รัฐบาลของเราจึงกำลังมองหาแหล่งเงินทุนอื่น”

โครงการแรกคือโครงการทางรถไฟมูลค่า 142 พันล้านเปโซ (ประมาณ 87,500 ล้านบาท) ซึ่งวิ่งเป็นระยะทาง 380 กิโลเมตรจากคาลัมบา เมืองทางใต้ของมะนิลา ไปยังจังหวัดบีโคล ทางตอนใต้สุดของเกาะลูซอน

และโครงการที่สองคือ 83 พันล้านเปโซ เส้นทางรถไฟโดยสารระยะทาง 100 กิโลเมตรในมินดาเนาทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์  (ประมาณ 50,000 ล้านบาท)

เส้นทางที่สามและเป็นสัญลักษณ์สำคัญที่สุดคือ ทางรถไฟบรรทุกสินค้าระยะทาง 71  กิโลเมตร ที่เชื่อมต่อเขต Subic Bay Freeport และเขต Clark Freeport

ซึ่งเดิมคือสถานีทหารเรือ Subic Bay และฐานทัพอากาศคลาร์ก

ซึ่งเป็นศูนย์กลางสองแห่งของอำนาจทางการทหารของสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิก

โครงการนี้กำหนดไว้ว่าจะมีมูลค่า 51 พันล้านเปโซ (ประมาณ 31,000 ล้านบาท)

โครงการรถไฟทั้งสามเป็นส่วนหนึ่งของ “Build, Build, Build” ของดูเตอร์เต ที่ทำท่าว่าจะได้เงินกู้และสนับสนุนภายใต้โครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีน

แต่ในสังคมฟิลิปปินส์ก็มีการถกเถียงกันอยู่เสมอ โดยนักวิจารณ์มุ่งเน้นไปที่อัตราดอกเบี้ยของเงินกู้ที่ค่อนข้างสูง                

และความตึงเครียดในความสัมพันธ์ของสองประเทศในทะเลจีนใต้

ไม่นานหลังจากประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์  มาร์กอส จูเนียร์ เข้ารับตำแหน่งว่าการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการเหล่านี้ “ถือว่าถูกยกเลิก” เมื่อจีนไม่ได้จัดทำรายชื่อผู้รับเหมาที่เสนอชื่อมาเข้าแข่งขันแม้ว่าได้ลงทุนศึกษาเบื้องต้นสำหรับโครงการต่างๆ

แม้ว่าจีนในเวลานั้นจะโทษว่าโควิด-19 เป็นสาเหตุให้เกิดความล่าช้า แต่ความคืบหน้าอื่นๆ ก็ดูเหมือนจะหยุดชะงัก

จะว่าไปแล้วเหตุผลที่จีน “หมดความสนใจ” ในโครงการรถไฟนี้ยังไม่ชัดเจนนัก

แน่นอนว่า ประเด็นความตึงเครียดในทะเลจีนใต้อาจจะไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นำคนใหม่ของฟิลิปปินส์ได้แสดงแนวโน้มที่จะกลับไปสนิทสนมกับสหรัฐฯ มากกว่ายุคก่อนก็ย่อมจะส่งสัญญาณไปที่ปักกิ่งที่จะทบทวนความสัมพันธ์กับมะนิลา

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษสำหรับผมคือ ในจังหวะเดียวกันนี้ ฟิลิปปินส์ก็ได้แสดงความใกล้ชิดสนิทสนมกับญี่ปุ่นอย่างออกนอกหน้าเลยทีเดียว

อาจจะพูดได้ว่าความสัมพันธ์ด้านการป้องกันของญี่ปุ่นถูกยกไปสู่ระดับใหม่แล้ว

โดยเฉพาะทางด้านการทหาร

เมื่อไม่นานมานี้เอง นายกฯ รัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ไปเยือนฟิลิปปินส์พร้อมลงนามในข้อตกลงที่จะอนุญาตให้ทั้งสองประเทศจัดการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันเป็นครั้งแรกบนชายฝั่งฟิลิปปินส์

ญี่ปุ่นยังมอบเงินสนับสนุนแก่กองทัพเรือฟิลิปปินส์จำนวน 600 ล้านเยนสำหรับระบบเรดาร์ชายฝั่งเพื่อเสริมขีดความสามารถในการรับรู้โดเมนทางทะเล

แม้คิชิดะและนายมาร์กอสจะไม่ได้ระบุถึงจีนอย่างชัดเจนในระหว่างการแถลงข่าวร่วมกันเมื่อเร็วๆ นี้ แต่เนื้อหาสาระของการแถลงก็ไม่ต้องมีอะไรสงสัยว่าหมายถึงปักกิ่ง

 “เรามีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ และความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่ด้วยกำลังเพียงฝ่ายเดียวนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” นายคิชิดะกล่าว

ไม่กี่นาทีหลังจากประกาศความช่วยเหลือด้านความมั่นคงอย่างเป็นทางการ (OSA) ครั้งแรกของญี่ปุ่นแก่ฟิลิปปินส์

การเยือนมะนิลาเป็นเวลา 2 วันของเขาเกิดขึ้นหลังจากการเผชิญหน้าอันตึงเครียดหลายสัปดาห์ระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์และจีน และกองกำลังรักษาชายฝั่งในทะเลจีนใต้ ซึ่งมะนิลาและปักกิ่งต่างก็อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกันอยู่

ญี่ปุ่นมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับปักกิ่งเกี่ยวกับทะเลจีนตะวันออก

ที่สำคัญคือทั้งฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นตั้งอยู่ใกล้กับไต้หวัน

ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของฟิลิปปินส์ทำให้ประเทศนี้เป็นพันธมิตรทางทหารเชิงยุทธศาสตร์สำหรับมหาอำนาจญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

ในกรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างไต้หวันกับจีน หรือมีการโจมตีด้วยอาวุธโดยปักกิ่งในทะเลตะวันออกและทะเลจีนใต้

การที่จีนมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้ผลักดันสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ไปสู่ความร่วมมือด้านความมั่นคงไตรภาคี

ทั้งสามประเทศออกมาเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำอีกถึงพฤติกรรม "ก้าวร้าว" ของปักกิ่งในน่านน้ำที่เป็นข้อพิพาท

ในแถลงการณ์ร่วม คิชิดะและมาร์กอสเห็นพ้องที่จะกระชับความร่วมมือไตรภาคีกับสหรัฐฯ เพิ่มเติม แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

ความจริง ญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือฟิลิปปินส์มาโดยตลอดในแง่ของการให้ความช่วยเหลือโครงการพัฒนาและการเพิ่มขีดความสามารถทางทะเลพลเรือน

ญี่ปุ่นได้มอบเรือลาดตระเวน 12 ลำให้แก่หน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในต่างประเทศด้วยความเมตตา

ซึ่งรวมถึงเรือ BRP Teresa Magbanua ยาว 97 เมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือที่ใหญ่ที่สุดในกรุงมะนิลาที่ลาดตระเวนทะเลจีนใต้ นายคิชิดะได้เยี่ยมชมเรือลำดังกล่าวก่อนจะเดินทางกลับโตเกียวอีกด้วย

พอจะเห็นภาพของสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ผนึกกำลังเพื่อคานอิทธิพลจีนในย่านนี้อีกกลุ่มหนึ่ง

นอกเหนือไปจากที่มีการตั้งกลุ่ม Quad (สหรัฐฯ, อินเดีย, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และ AUKUS (ออสเตรเลีย, สหรัฐฯ, อังกฤษ) ที่จีนมองว่าเป็นกลุ่มทางความมั่นคงที่มุ่งปิดล้อมจีนอย่างต่อเนื่อง

มีหรือที่ปักกิ่งจะไม่หาทางตอบโต้ทั้งด้านการทหาร, การทูต, การเมืองและเศรษฐกิจอย่างคึกคักจากนี้ไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ