ดูเหมือนจริงจัง
แต่ไม่จริงใจ
นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตหัวละหมื่นบาท วันนี้รู้สึกได้ว่า เพื่อไทยการละคร น้ำเน่าไปหน่อย แถมบทก็ไม่แน่น
มีแนวโน้มว่าอยากจะจบก็จบเอาดื้อๆ
วานนี้ (๑๕ พฤศจิกายน) นักข่าวถาม "ช่วยคลัง" จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ว่ามีแผนสำรองหรือเปล่า หากร่างพระราชบัญญัติกู้เงินมาแจกประชาชนไม่ผ่านสภา
คำตอบคือ...
"ไม่มี"
ส่วน นายกฯ เศรษฐา ก็พูดไปในทิศทางเดียวกัน
"...ไม่อยากจะบอกว่ามีแผนสำรองอย่างไร แต่รัฐบาลเราทำงานโดยมีหลายมาตรการที่กระตุ้นเศรษฐกิจออกมา วันนี้โฟกัสเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต และที่ผ่านมารัฐบาลแสดงจุดยืนชัดเจนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีขั้นตอนชัดเจน อีกทั้งต้องคอยฟังทางคณะกรรมการกฤษฎีกา และขออนุมัติจากรัฐสภา ที่ชัดเจนออกมาด้วย..."
ที่จริงไม่ผ่านก็ดีครับ เพราะนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตหัวละหมื่นบาทนี้ จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ งบประมาณแผ่นดิน ระเบียบวินัยการเงินการคลัง มากกว่าที่ประเทศจะได้ประโยชน์
แต่ในมุมของรัฐบาลเพื่อไทย ดูจะปล่อยนโยบายนี้ง่ายไปหน่อย เมื่อเทียบกับการกระเหี้ยนกระหือรือที่จะแจกมาโดยตลอด
อีกทั้งข้ออ้างที่่ว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังย่ำแย่อย่างหนัก หากไม่มีการกระตุ้นแบบกระชาก ก็ยากที่จะกลับมาได้
ฉะนั้นการบอกว่า ไม่มีแผนสำรองใดๆ ทั้งสิ้น ก็เท่ากับว่ารัฐบาลปล่อยให้ประเทศต้องเผชิญกับภาวะทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำสุดขีดนี้ต่อไป
ก็น่าแปลกใจนะครับ รัฐบาลที่เชื่้อว่าประเทศไปไม่ไหวแล้ว กลับไม่มีแผนสำรองใดๆ ที่จะกอบกู้ แต่จะนั่งดูประเทศฉิบหาย!
หรือแท้ที่จริงแล้วรัฐบาลก็รู้ว่าเศรษฐกิจไทย กำลังอยู่ในขั้นพื้นตัว ไม่จำเป็นต้องอัดฉีดเศรษฐกิจขนานใหญ่ด้วยการทุ่มงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาทเข้าไปในระบบ
แต่ที่ต้องทำเพราะได้เอาไปหาเสียงเลือกตั้งไว้
อีกทั้งพรรคเพื่อไทยมิได้ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ตามที่คาดหมาย ความฮึกเหิมในการทำนโยบายจึงมีน้อยกว่าความกังวลเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล
แน่นอนครับ รัฐบาลคงตระหนักแล้วว่า หากนโยบายกู้มาแจกมีปัญหากลางทางจนไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ ก็ควรจะปล่อยไป
เพราะการดื้อรั้นจะทำให้รัฐบาลอายุสั้นได้!
ที่จริงนโยบายแจกเงินนี้ ยังมีทางออกอีกมากมาย อยู่ที่รัฐบาลปรารถนาที่จะทำหรือไม่
อย่างเช่นโครงการคนละครึ่ง ซึ่งใช้งบประมาณไม่มากนัก สามารถใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินได้เลย ไม่ต้องกู้
วิธีการนี้ คือสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยการกระตุ้นและรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ เพื่อรักษาระดับและทิศทางของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่องตลอด ซึ่งรัฐบาลลุงตู่ทำแล้วประสบความสำเร็จอย่างมาก
กระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานรากได้จริง
ปัจจุบันต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่หรือไม่ คำตอบคือ ยังมีความจำเป็นอยู่
แต่ถึงขั้นต้องนำเงินกว่า ๕ แสนล้านบาทมาละเลงให้หมดภายใน ๖ เดือนหรือไม่
คำตอบจากกูรูเศรษฐกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ รวมทั้งผู้ว่าแบงก์ชาติคนปัจจุบัน ก็พูดตรงกันว่า ไม่จำเป็น
จะกลายเป็นการขี่ช้างไล่จับตั๊กแตนไป
อันที่จริงการที่รัฐบาลตัดสินใจออกเป็นพระราชบัญญัติแทนที่จะเป็นพระราชกำหนดนั้น อาจมีเจตนาบางอย่างซ่อนอยู่เหมือนกัน
ไปดูที่ สำนักข่าวอิศรา รายงานเอาไว้ก่อน
“…นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ จนถึงวิกฤตโควิด-๑๙ พบว่า
ระหว่างปี ๒๕๔๑-๒๕๖๔ รัฐบาล ๕ ชุด (รัฐบาลชวน หลีกภัย, รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร, รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
ได้ออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ หรือ ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ วงเงินกู้ตั้งแต่ ๓ แสนล้านบาทขึ้นไป อย่างน้อย ๙ ฉบับ…”
ใน ๙ ฉบับดังกล่าว ที่ออกเป็นกฎหมายได้สำเร็จ ก็คือออกในรูปของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ทั้งสิ้น เพราะมีกรณีจำเป็นเร่งด่วน
สำหรับ ๒ ฉบับที่ออกไม่สำเร็จ คือ
"ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ๔ แสนล้านบาท" โดยที่ประชุม ครม. ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อวันที่ ๖ พ.ค. ๒๕๕๒
แต่ต่อมา ครม.ตัดสินใจยกเลิกเอง
"ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ๒ ล้านล้านบาท" โดยที่ประชุม ครม. ในสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติอนุมัติหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เมื่อวันที่ ๑๙ มี.ค. ๒๕๕๖
แต่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่า "มิใช่กรณีจำเป็นเร่งด่วน"
ครับ...หากรัฐบาลจริงจังกับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต น่าจะฉุกคิดสักนิดว่า โอกาสกู้สำเร็จต้องทำอย่างไร
สถิติมันมีให้เห็นอยู่แล้ว
อีกทั้งการออกเป็นพระราชกำหนด มันยิ่งตอกย้ำว่า มีความจำเป็นเร่งด่วน
แต่รัฐบาลเลือกที่จะจำเป็นเร่งด่วนด้วยการออกเป็นพระราชบัญญัติที่มีขั้นตอนยุ่งยากและยาวนานกว่า
แถมยังบอกว่าไม่มีแผนสำรองอะไรเลย
ถ้าจบก็คือจบ
กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนาครับ
ดูเหมือนรัฐบาลพยายามอย่างแสนสาหัสที่จะกู้มาแจก แต่ในความพยายามนั้นรัฐบาลไม่อยากแลกกับเสถียรภาพของรัฐบาล
ฉะนั้้นโชคดีสุดของรัฐบาลคือ ตกในชั้นกฤษฎีกา และรัฐบาลก็คงอยากให้เป็นเช่นนั้น
แล้วจะจบหรือเปล่า
อย่าประมาทเชียวครับ เพราะ "ศรีสุวรรณ จรรยา" นักร้องขวัญใจแม่ยก ไปร้องให้ กกต.ตรวจสอบแล้วว่า โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต เข้าข่ายหลอกลวงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง หรือไม่
พร้อมแนบโทษจำคุกตั้งแต่ ๑ ถึง ๑๐ ปี ปรับตั้งแต่ ๒๐,๐๐๐ ถึง ๒๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนด ๒๐ ปี ไปด้วย
เนื้อหาคำร้องบอกว่าช่วงหาเสียง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ที่ชื่อ "เศรษฐา ทวีสิน" ไปปราศรัยกับชาวบ้านว่า จะไม่มีการกู้เงินมาใช้กับโครงการนี้ แต่จะใช้การบริหารงบประมาณปกติ
เมื่อทำหนังสือที่ลงนามโดยหัวหน้าพรรคเพื่อไทยชี้แจงมายัง กกต. ตามมาตรา ๕๗ ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองถึงที่มาของเงินที่จะใช้ ว่าใช้งบประมาณปกติ
จู่ๆ นายกฯ กลับบอกว่า ต้องกู้มาแจก
ก็ไม่ทราบครับว่า กกต.จะวินิจฉัยอย่างไร
แต่เรื่อง กู้ เรื่อง โกง นี้ พรรคเพื่อไทยนี่แหละไปเป่าหูให้มวลชนเกลียดรัฐบาลลุงตู่ ว่าดีแต่กู้ กู้มาโกง
จึงเกิดภาพจำ การกู้ ก็คือ การโกง
ดังนั้นเมื่อ นายกฯ เศรษฐา ยืนยันกับประชาชนบนเวทีปราศรัยว่า ไม่กู้เด็ดขาด มันก็มีผลต่อคะแนนนิยมอย่างแน่นอน
แต่อย่างว่าหาก นโยบายนี้ตกในชั้นกฤษฎีกา คำร้องของนักร้องหมายเลข ๑ ก็ตกไป แต่ถ้าผ่านทะลุสภาฯ อาจได้ลุ้นกันถึงขั้นต้องชิงดำ
เห็นกันอยู่หลัดๆ...อ้าว...คุกซะแล้ว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี