Soft Power ในความหมาย ‘มานานุภาพ’ และ ‘พลังเย็น’

พอ “แพทองธาร ชินวัตร” ยกตัวอย่างว่าเครื่องดื่ม “ช็อกมินต์” เป็น Soft Power อย่างหนึ่ง ก็ทำให้มีผู้คนสงสัยว่าตกลงคำนี้มีนิยามอย่างไรกันแน่

เพราะรัฐบาลชุดนี้พยายามจะใช้ “ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นจุดขายอย่างมาก

ทั้งๆ ที่ไม่แน่ชัดว่ามันมีความหมายอย่างไร

แม้จะบอกว่ามี 11 อุตสาหกรรมในกรอบของนโยบายเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าคนรัฐบาลมีความเข้าใจเรื่องนี้ตรงกันหรือไม่

ยิ่งหากให้นักการเมืองในพรรครัฐบาลหรือข้าราชการกระทรวงทบวงกรมต่างๆ เป็นคนอธิบายหรือเดินนโยบายเรื่องนี้จะยิ่งทำให้เกิดความสับสนมากขึ้นอย่างไรหรือไม่

เพราะคำนี้มาพร้อมกับ One Family One Soft Power (OFOS) ที่จะทำให้ 20 ล้านครอบครัวสร้าง​ “ซอฟต์พาวเวอร์” ขึ้นมาด้วยการไปฝึกอาชีพในด้านที่ตนเองใฝ่ฝันอยากทำ ก็ยิ่งเกิดความงุนงงว่าตกลงการ “ฝึกอาชีพ” เป็นส่วนหนึ่งของ Soft Power หรือเปล่า

หรือการเพิ่มทักษะ, ปรับทักษะที่เรียกว่า Upskill, Reskill เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีนั้นมีอะไรเกี่ยวกับ Soft Power หรือ

พจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พ.ศ.2566 ให้ความหมายของ Soft Power ว่า

 “ซอฟต์พาวเวอร์, มานานุภาพ, พลังเย็น”

วันก่อนได้อ่านคำอธิบายของคำนี้จาก​​​​​ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุกัญญา สุดบรรทัด ราชบัณฑิต​​​​​​สำนักธรรมศาสตร์และการเมือง แล้วก็ขอแบ่งปันให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจจากแง่มุมของท่านอาจารย์ที่ได้ศึกษาประเด็นนี้จากหลายๆ แง่มุม

บางทีอาจจะช่วยให้คนในรัฐบาลและคนทั่วไปที่ยังมีความงงงันกับคำนี้ได้เริ่มเข้าใจอะไรที่ตรงกับความหมายได้มากขึ้นบ้าง

เพราะหากยังมีความสับสน นโยบายนี้ก็จะกลายเป็นป้ายติดหน้าบ้านที่ไม่มีใครเข้าใจ

อีกทั้งยังจะเสียงบประมาณที่ตั้งไว้ 7,000 ล้านบาท อย่างเปล่าประโยชน์อีกด้วย

ดร.สุกัญญาได้เขียนไว้อย่างนี้

เมื่อซอฟต์พาวเวอร์ถูกยกขึ้นมาเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ก็มีการถกเถียงกันอย่างมากตอนนี้ว่า ซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร

ในทัศนะของผู้เขียน อันที่จริงศัพท์นี้ไม่น่าจะแปลยากในแง่ตัวศัพท์ power ก็พลัง อำนาจ สื่อความหมายได้ง่ายๆ แต่ยากก็ตรงคำว่า soft เถียงกันมามากมายว่าจะแปลว่าอะไรดี

อ่อน ละมุน ละไม นุ่มนิ่ม ฟังดูแล้วก็ขัดๆ ไปหมด

ดังนั้นถ้าจะแปลทับศัพท์ว่า ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งก็ดูจะติดหูคนไทยอยู่แล้วก็เหมาะสมดี

แต่ว่าเราควรจะเข้าใจคำศัพท์นี้ให้ลึกลงไปอีกหน่อยดีไหม ไม่งั้นก็ตอบแบบกำปั้นทุบดิน

ซอฟต์พาวเวอร์ ก็คือซอฟต์พาวเวอร์ไง

อันที่จริง คำว่า soft power นี้ครอบคลุมหลายบริบท ไม่ใช่แต่เฉพาะวัฒนธรรม อะไรก็ตามที่มีพลังยิ่งใหญ่โดยไม่ใช้อาวุธที่เรียกกันว่า hard power ก็อาจจัดอยู่ในกลุ่มได้ทั้งสิ้น

คำว่า soft ในที่นี้จึงมีความหมายลึกกว่าคำแปลโดยทั่วไปในภาษาไทย จริงๆ แล้วก็มีศัพท์ภาษาอังกฤษหลายคำอยู่ที่แปลไทยตรงๆ ไม่ค่อยได้ เพราะไม่สามารถให้ความหมายอย่างที่เป็นอยู่จริงได้

มาว่ากันถึงตัวศัพท์ดีกว่า

ศัพท์ soft power นี้ โจเซฟ นาย (Joseph Nye) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ชาวอเมริกันเป็นผู้บัญญัติ มาจากคำว่า มานา (mana) ของชนเผ่าดั้งเดิมในนิวซีแลนด์ ซึ่งหมายถึง เวทมนตร์ที่สามารถใช้เพื่อครอบงำสังคมทั้งในและนอกอาณาจักรของตน 

ดังนั้นคำนี้ถ้าจะว่าไปแล้ว ตามรากเดิมหมายถึงพลังดึงดูดทางจิตวิญญาณ บ้างก็ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความสามารถในการรบของหัวหน้าเผ่า บ้างก็ด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของหมอผี หรือเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ที่เรียกว่า charisma

คำว่า มานา ดูแล้วใกล้กับศัพท์ที่ไทยเราไปขอแขกมาใช้ คือ มน (อ่าน-มะนะ) แปลว่า ใจ ดังนั้นถ้าจะแปลว่า soft power ว่า มานานุภาพ ก็ไม่น่าจะผิด คือมันมีผลในการชักจูงใจ

โดยส่วนใหญ่แล้ว เราจะเข้าใจว่า soft power หมายถึงพลังทางวัฒนธรรมที่การสื่อสารของมนุษย์ดูดดึงเข้าสู่ความสนใจของมหาชน เมื่อสามารถนำมาเป็นสินค้าหรือทุนมันก็เกิดอำนาจทางเศรษฐกิจ

สถาปัตยกรรม วิจิตรศิลป์ ดนตรี นาฏกรรมสื่อพื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น การแพทย์พื้นบ้านมวยไทย อาหารไทย ผ้าไทย ฯลฯ ล้วนอยู่ในวิถีชีวิตไทย เช่นเดียวกับป่าเขาลำเนาไพร และท้องทะเลอันสวยงาม                   พวกนี้เป็นทรัพย์แห่งแผ่นดินที่มีพลังดึงดูดทางจิตวิญญาณ

ทั้งยังแสดงอัตลักษณ์ของชาติ ว่านี่คือเรา

อาจมีการผสมกับของต่างชาติบ้าง แต่นี่ก็คือเรา

แม้กระทั่งสิ่งที่ชาวพุทธเราเชี่ยวชาญ คือ การนั่งสมาธิ (meditation) ก็เป็นทรัพย์แห่งชาวพุทธ ที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมานับได้เป็นพันปี จะมีกี่สายกี่สำนักไม่เป็นปัญหา

จะศาสนาใด ก็ล้วนสามารถนำไปปฏิบัติ สงบจิตสงบใจ

เหมาะสมแก่สังคมที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยกเรา-เขา ตัวกู-ของกู เหมาะแก่โลกที่กำลังเดือดด้วยพลังร้อนแห่งสงครามและภัยธรรมชาติ

ลองไปดูตามสำนักต่างๆ มีชาวต่างชาติ ต่างศาสนา เข้ามาฝึกสมาธิกันไม่น้อยเลย

กลับไปดูความหมายของโจเซฟ นาย อีกนิด

เขาอธิบายว่า Soft Power หมายถึงพลังอำนาจที่แผ่ออกไปผ่านกลไกทางวัฒนธรรม อุดมการณ์ และสถาบันต่างๆ โดยนัยนี้ อุดมการณ์ทางการเมือง ระบบการศึกษา ทุนนิยม จากประเทศตะวันตกจึงถูกจัดให้เป็น soft power ด้วย

เทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล โซเชียลมีเดียก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ด้วย

เป็นพลังมหาศาลที่สร้างพลโลกครึ่งดีครึ่งร้ายอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้

soft power ในความหมายที่แท้จริงของมันจึงมีความสัมพันธ์กับแรงดึงดูดทางจิตใจ มิใช่แต่เฉพาะการดึงดูดสตางค์ในกระเป๋าของนักท่องเที่ยว

และยังเกี่ยวพันกับการสร้างอัตลักษณ์และความยิ่งใหญ่ของชาติ

อีกทั้งเป็นพลังเย็น ที่ซ่อนความรุนแรงยิ่งกว่าพลังร้อน

นี่เป็นแง่มุมจากนักวิชาการอาวุโสที่น่าสนใจเพื่อประกอบการถกแถลงความหมายของคำนี้

เพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน ก่อนที่นโยบายเรื่องนี้จะออกทะเลไปไกล

ด้วยเหตุแห่งการตั้งการเมืองเป็นเป้า แทนที่จะสร้างคุณค่าของชาติให้เกิด “พลัง” ที่แท้จริงและยั่งยืนที่คนทั้งประเทศได้ประโยชน์อย่างแท้จริง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ