ความจริงวันนี้ผมตั้งใจเขียนเรื่องสงครามในย่าน Gaza ต่อ ด้วยการเน้นกลุ่มกำลัง Hezbollah และอธิบายที่มาที่ไปของเขา บวกกับเปรียบเทียบ Hezbollah กับ Hamas แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมนัดสองคนคุยเรื่องงาน (นัดคนละวันกัน ไม่ใช่นัดร่วมกันครับ) ซึ่งสองคนนี้เป็นผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพของเขา แต่พูดเรื่องเดียวกันที่ตรงใจผมเป๊ะ
นั่นคือ….อะไรๆ ก็ Soft Power อยู่ได้!!!
ออกตัวเลยว่า ผมไม่ได้ลงคะแนนให้กับพรรครัฐบาลในการเลือกตั้งที่ผ่านมา (เพราะทุกท่านทราบดีอยู่ว่าผมสังกัดพรรคอะไร) ดังนั้นสิ่งที่ผมจะพูดออกไปไม่ได้หมายความว่า
ผมค้านเพื่อค้าน หรือต้องไม่เห็นชอบกับทุกอย่างที่รัฐบาลทำ/คิด เพียงเพราะใจผมอยู่กับพรรคฝ่ายค้าน แต่บางสิ่งบางอย่างมันต้องพูดออกมา ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย พรรค/รัฐบาลชุดไหนก็ตาม
ในทุกยุคทุกสมัยมักจะมีอยู่คำพูดบางอย่าง ที่สังคมเราจะแห่กันไปใช้ ซึ่งบางคำมาจากแฟชั่น เช่น หลายปีก่อน เวลาใครจะถามอะไรต่อมิอะไร ถ้าไม่รู้คำตอบ มักจะมีคนพูดว่า “ก็ไปถามอับดุลลาซิ” (พอจำกันได้ไหมครับ?) ส่วนใหญ่คำที่จะฮิตในสังคมมาจากข่าวหรือเหตุการณ์ในข่าว เช่น “จบแล้วครับนาย” “แม้” “ว้าวุ่น” “งานไม่ใหญ่แน่นะวิ” เป็นต้น ถือว่าเป็นเรื่องขำๆ สนุกๆ แล้วเป็นเรื่องเพลิดเพลินในสังคมช่วงระยะหนึ่ง
แต่บางครั้งมันจะมีคำบางคำหลุดเข้าไปในแวดวงราชการ และจะโผล่ทุกที่ เปรียบเสมือนเป็นนโยบาย แนวปฏิบัติ หรือจะทำอะไรก็ต้องอ้างอิงถึงคำนี้เสมอ เช่น “โลกาภิวัตน์” มีอยู่ช่วงหนึ่ง คำนี้ปรากฏตัวในทุกปาฐกถา เวทีเสวนา และรายงานการประชุมทุกหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม และแน่นอน พอใช้กันล้น คำนี้ปรากฏตามป้ายโฆษณาหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะระดับชาติหรือท้องถิ่น ช่วงนั้นหันไปทางไหน ฟังวิทยุคลื่นไหน หรือดูข่าวอะไรก็ตาม เจอคำว่า “โลกาภิวัตน์” ทั้งในแง่มุมที่ดี และในแง่มุมให้คนเราระแวงก็ยังมีครับ
เช่นเดียวกับคำว่า “New Normal” ที่ตอนนี้เหมือนจะใช้น้อยลงกว่าช่วงยอดฮิตคือยุคโควิด แต่ตอนนั้นใช้กันเพลินเหลือเกิน
ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา พวกเราหนีไม่พ้นคำว่า Soft Power ตั้งแต่แรปเปอร์สาวเอาข้าวเหนียวมะม่วงมากินบนเวที Coachella ทำให้คนไทยเราแห่กันปรบมือและเชียร์ดังๆ ว่า “ต้องอย่างนี้สิวะ เด็กรุ่นใหม่ ต้องภูมิใจในความเป็นไทย” เลยทำให้สาวแรปเปอร์คนนี้เป็นฮีโร่ในสายตาคนไทยหลายกลุ่ม จนกระทั่งสาวคนนี้แสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ไม่ตรงกับกลุ่มอนุรักษ์ เลยแห่กันด่าและต่อว่าสาวแรปเปอร์เป็น “เด็กวานซืน” ทั้งๆ ที่เป็นคนเดียวกับตอนที่เขากินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวที
เมื่อไม่นานมานี้ ผมเขียนเรื่อง Soft Power เล่าว่า เกิดขึ้นจากอะไร ด้วยเหตุผลอะไร แล้วผมก็เขียนว่าคนที่คิดค้นเรื่องนี้ (Joseph Nye) ในหลายปีตามมา แสดงความห่วงว่า คนกลับใช้คำนี้ผิดลักษณะจากความหมายและเจตนาเดิม (ลองเสิร์ชหาคอลัมน์ที่ผมเคยเขียน จาก FB ของไทยโพสต์ได้ ตาม #พูดจาภาษาโลก และ/หรือ #อิสราสุนทรวัฒน์)
เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน ผมขออ้างอิงความหมายที่ Nye เขียนเอง “The soft power of a country rests heavily on three basic resources: its culture (in places where it is attractive to others), its political values (when it lives up to them at home and abroad) and its foreign policies (when others see them as legitimate and having moral authority).
ซึ่งในประเทศที่จะใช้ Soft Power ให้มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องบวกกับการมี Hard Power ที่ประเทศอื่นยอมรับและเกรงกลัว (หรือถ้าไม่เกรงกลัวก็เกรงใจ) คำว่า Hard Power คือประสิทธิภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ บวกกับประสิทธิภาพกองกำลังและกองทหารของเขา ดังนั้นความเข้าใจของคนทั่วไป เมื่อเราแยก Soft กับ Hard Power ออกจากกันคือ Hard Power เป็นเงินและอาวุธ คือสิ่งที่เราสามารถข่มขู่ และทำให้เราเหนือกว่าประเทศอื่นได้ ถ้าพูดแบบหยาบๆ คือ “กูรวยกว่ามึง และกูแข็งแรงกว่ามึง” ส่วน Soft Power คือวิธีการโน้มน้าว เผยแพร่ เพื่อหวังแสดงอิทธิพลของเราผ่านวิธีการที่ “นุ่ม” และ “เนียน” กว่า เช่น เพลง หนัง แฟชั่น อาหาร เป็นต้นครับ
แต่มันซับซ้อนไปกว่านั้น มันไม่ได้แบ่งเส้นง่ายเหมือนที่ผมเพิ่งสรุปไป ขนาด Nye เองก็เขียนว่า “Over the years soft power’s wide usage has sometimes meant misuse of the concept as a synonym for anything other than military force.”
ความหมายของ Soft Power ดูเหมือนจะเข้าใจง่าย ดูเหมือนจะแบ่งเส้นชัดเจน ใช่ครับ มันจะเข้าใจง่าย และจะแบ่งเส้นชัดเจนระหว่าง Hard กับ Soft Power ได้ ถ้าเผื่อเราอยากจะเข้าใจ Soft Power แบบผิวเผิน (เหมือนที่เห็นทุกวันนี้ครับ) แต่มันลึกไปกว่าระดับผิวเผิน เอาง่ายๆ ครับ ถ้าจะเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน กลับไปที่เรื่องข้าวเหนียวมะม่วง ถ้าเป็นตัวมะม่วงเฉยๆ และพยายามผลักดัน Soft Power ให้กับประเทศอื่น ลำพังตัวมะม่วงเฉยๆ ไม่เข้าข่ายครับ แต่ถ้าเป็นการกินข้าวเหนียวมะม่วง อันนั้นล่ะเข้าข่าย Soft Power ได้ เพราะไม่มีที่ไหนในโลกจะกินมะม่วงพร้อมกับข้าวเหนียว และราดน้ำกะทิเหมือนบ้านเรา
หรือจะเห็นชัดเจนกว่านั้น วัดธรรมกายเป็นตัวอย่างของ Soft Power ที่จะเห็นชัดเจน อำนาจเงินของเขามีสูง พลังของเขาก็มีสูงพอๆ กัน (ตีความคำว่า “พลัง” เอาเองก็แล้วกันนะครับ) ดังนั้นในด้านนั้นเขามีครบเรื่อง Hard Power แต่ในด้าน Soft Power คือการออกค่าใช้จ่าย งานบวช งานกฐิน และงานบุญต่างๆ ให้กับชุมชนหรือวัดอื่นๆ ที่มีรายได้น้อย คือพูดง่ายๆ ครับ เขามีกำลังและพลังสนับสนุนงานที่ได้ใจและกินใจคนได้ดีกว่าวัดอื่นๆ
ผมไม่ได้ต้านการผลักดันเรื่อง Soft Power แต่อย่างใดครับ เพียงแต่ว่าผมอยากให้ทุกคนสร้างความเข้าใจตรงกันว่า Soft Power คืออะไรกันแน่ และสิ่งที่พวกเราเข้าใจถูกต้องหรือไม่ ไม่งั้นจะกลับกลายเป็นคำที่ใช้ผิดๆ ถูกๆ แต่ใช้เพราะเห็นคนอื่นใช้ เลยต้องใช้กับเขาบ้าง
พี่ที่ผมเจอเมื่อวันก่อนเล่าให้ฟังว่า เขาขับรถกลับมาจากหัวหิน (ผ่านจังหวัดที่ผมไม่เอ่ยชื่อ แต่ลองเดาเอาเองกันและกัน) ระหว่างทางมีป้ายเบ้อเริ่มเทิ่มโฆษณาชักชวนให้…“กินปลาทู (ชื่อจังหวัด) ดัน Soft Power ของ (ชื่อจังหวัด)!!!”…(ทำนองนี้) (ขอถอนหายใจแรงๆ ครับ) ก่อนจะมีป้ายโฆษณา (แบบนี้) ปรากฏมากกว่านี้ ขอร้องเถอะครับ ตกลงความเข้าใจคำนี้ให้ตรงกันก่อนดีกว่า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'BRO!!!!!'
เกือบ 2 สัปดาห์กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วไป เว้นบรรดานักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมา พวกนี้ยังพูดเต็มปากเต็มคำว่า
“ถ้าไม่เลือกเรา...เขามาแน่”...ทำให้เขาชนะขาดลอย
ผมไม่แน่ใจว่ากว่าแฟนคอลัมน์จะได้อ่านบทความนี้ เรื่องที่ผมจะเขียนนั้นมันแห้งเกินไปหรือเปล่า เพราะกว่าจะถึงวันที่ได้อ่านบทความนี้ เรื่องนี้อาจจะเก่าไปแล้วก็ได้
ผมจะไม่แปลกใจถ้าTrumpชนะ….แต่ผมจะแปลกใจถ้าHarrisแพ้
อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะได้รู้กันว่าใครจะเป็นผู้นำ “The Free World” ระหว่างอดีตประธานาธิบดี กับอดีตรองประธานาธิบดี
Thank you, Fernando
โค้งสุดท้ายในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐมาถึงแล้ว ผมขอประกาศตัวว่า ผมไม่ใช่นักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมาครับ บ้านเมืองเราเต็มไปด้วยนักวิเคราะห์ที่จะฟันธงและวิเคราะห์อย่างหนึ่ง….
28 ยังแจ๋ว!!!!
ผมขออนุญาตเขียนเรื่องเบาๆ อีกสักครั้งหนึ่งครับ ไม่เขียนวันนี้ผมไม่รู้จะเขียนตอนไหน และเอาเข้าจริงผมอยากพาแฟนๆ ทั้งหลายออกจากโลกข่าวดิไอคอนกรุ๊ปครับ
8ปีที่แล้ว….ที่ไม่มีวันลืม
ในชีวิตทุกคนมักจะมีอยู่ไม่กี่เหตุการณ์ที่ทำให้เราจำบรรยากาศ จำบริบท จำความรู้สึก และจำทุกรายละเอียด เมื่อเรารำลึกถึง หรือนึกถึงอีกที