ตารางล่าสุดนี้บอกเราว่า ประเทศไทยกำลังจะกลายเป็น “สังคมสูงวัยสมบูรณ์เต็มที่” แล้ว
และจะหนักขึ้นในปีต่อๆ ไป
คำถามใหญ่คือ รัฐบาลและสังคมไทยพร้อมสำหรับโครงสร้างประชากรเช่นนี้มากน้อยเพียงใด
ภาระของคนทำงานจะหนักขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากผู้บริหารประเทศไม่ศึกษาปัญหานี้ให้ถ่องแท้ และลงมือหามาตรการป้องกันและแก้ปัญหาที่มากับสังคมคนสูงวัยเช่นนี้ เราอาจจะเผชิญกับวิกฤตทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่รุนแรงกว่าที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ค่อนข้างแน่นอน
สถิติล่าสุดบอกว่า ในปี 2040 หรือจากนี้ไปอีกเพียง 16 ปี เราจะมีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปีถึง 26%
หรือประชากรไทยเกิน 1 ในจะมีอายุเกิน 65 คือถ้าให้เห็นภาพ อีกประมาณ 16 ปีเราจะมีประชากรสูงอายุเกือบเท่าญี่ปุ่นตอน 2020
ญี่ปุ่นกำลังเป็นภาพสะท้อนสังคม Hyper-Aged ทำให้เราพอจะเห็นภาพว่าเรากำลังต้องเจอกับปัญหาอะไรบ้าง
ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ กับสิงคโปร์ที่เข้าสู่ Hyper-Aged Society ก่อนเรา เขาร่ำรวยกว่าเราเยอะ จึงหาทางดูแลสังคมได้ไม่ยากเกินไป
แต่ไทยเราขาดทรัพยากรด้านงบประมาณและแผนงานที่ชัดเจน จึงต้องตั้งหลักให้ดี
มิฉะนั้นจะต้องเจอศึกหนักกว่าที่เราคิดแน่นอน
อีกด้านหนึ่ง คนญี่ปุ่นมีเงินออมมากกว่าเรา อีกทั้งยังเป็นหนี้น้อยกว่าเราอย่างมาก
วิกฤตที่เรากำลังเจอคือ “แก่ก่อนรวย” และหนี้ครัวเรือนสูงมาก อีกทั้งเงินออมก็น้อย แก่ตัวแล้วดูแลตัวเองไม่ได้ ลูกหลานก็เผชิญกับรายได้ไม่เพียงพอ
ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไม่ทำเรื่องสวัสดิการต่างๆ ให้รอบด้านและมีประสิทธิภาพ นี่คือระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่รอเราอยู่ในอนาคตอันใกล้นี้
ความจริงก่อนหน้านี้ก็มีคำเตือนแล้วว่า ไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 ที่ผ่านมา
ส่วนวิจัยของธนาคารกสิกรไทยวิเคราะห์ไว้ว่า จากนี้อีก 8 ปีจะกลายเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper-Aged Society) ซึ่งเป็นอัตราที่เร็วกว่าญี่ปุ่น
80% ของประชากรสูงอายุ จะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีระดับกลางลงล่าง
แต่ค่าใช้จ่ายจะมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยมากกว่า 5% ต่อปี หรือไม่ต่ำกว่า 350,000 บาทต่อคนต่อปี
ซึ่งประเด็นปลายเปิดอยู่ที่ค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลที่เชื่อมโยงกับความเจ็บป่วย
สุดท้ายเราอาจต้องเตรียมทำงานนานขึ้น...หากออมไม่พอใช้
ไทย...กับการก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสุดยอดในอัตราที่เร็วกว่าญี่ปุ่น
รายงานนี้บอกว่า นับตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2564 เรียกได้ว่าประเทศไทยเป็นสังคมสูงอายุ (Aging Society)
หรือมีสัดส่วนจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า 7% เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดของประเทศ ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ (UN)
โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ประชากรไทยที่อายุ 65 ปีขึ้นไปมีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 12.8%
เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนแล้ว ไทยมีสัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมด มากเป็นอันดับ 2 เป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น
มองไปข้างหน้า ไทยถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society) หรือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นแตะ 14% ของประชากรทั้งหมดในปี 2565 เป็นอย่างเร็ว
เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10 ของประชากร 1,000 คน หรือมีจำนวนการเกิดเพียงประมาณ 6 แสนคนต่อปี
ด้วยเหตุผลเพราะการแต่งงานที่ช้าและความไม่ต้องการมีบุตรที่เพิ่มขึ้น
อีกทั้งเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จำนวนการเกิดก็เริ่มมีอัตราที่ติดลบหรือหดตัวลงแล้ว
หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป นอกจากจำนวนประชากรไทยจะเริ่มลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้ว ไทยน่าจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper Aged Society) หรือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเข้าหา 20% โดยใช้เวลาเพียง 9 ปีหลังการเป็นสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่รวดเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่นที่ใช้ระยะเวลา 11 ปี
ปัญหาใหญ่คือ ประชากรสูงอายุส่วนใหญ่...ไม่รวย ขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มปีละไม่ต่ำกว่า 5%
ท่ามกลางสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์และแบบสุดยอด ประกอบกับภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวหลังโควิด-19 ในกรอบ 2.5-4.0% ต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จำนวนประชากรสูงอายุไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีในระดับปานกลางขึ้นบน น่าจะมีสัดส่วนไม่ถึง 20% ของจำนวนประชากรสูงอายุทั้งหมด
ส่วนที่เหลืออีกกว่า 80% อาจมีรายได้เฉลี่ยต่อปีในระดับปานกลางลงล่าง
ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยมากกว่า 5% ต่อปี หรืออาจอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 350,000 บาทต่อคนต่อปี
โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจน
สาเหตุจากการเสื่อมสมรรถภาพของร่างกายและความเจ็บป่วยจากโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs: Non-Communicable Diseases)
เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง หลอดเลือดหัวใจ ปอดอักเสบ เป็นต้น ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และในบางคนก็อาจเจ็บป่วยหลายๆ โรคพร้อมกันด้วย
จากการประเมินมิติด้านจำนวน รายได้ และค่าใช้จ่ายข้างต้น ไม่เพียงสะท้อนว่าในที่สุดแล้วอัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีขึ้นไป) ต่อประชากรวัยทำงาน (อายุ 15-64 ปี) 100 คนของไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยขยับเข้าหาระดับ 30 สำหรับการเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด
เทียบกับที่อยู่ที่ระดับใกล้ 20 ในช่วงของการเป็นสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์
และหากเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียนที่ยังมีระดับที่ต่ำกว่าไทยอยู่มาก ก็นับว่าเป็นแรงกดดันพอสมควรสำหรับเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทย
เพราะหมายความว่า ครอบครัวลูกหลานหรือผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุอาจเผชิญความท้าทายด้านกำลังซื้อที่มีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนกรณีผู้สูงอายุบางส่วนที่อาจจะไม่มีครอบครัวลูกหลานหรือผู้ดูแล ก็คงจำเป็นต้องพึ่งพาสวัสดิการหรืองบประมาณของภาครัฐในการบริหารจัดการเพื่อให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้สามารถดำรงชีพได้ จึงอาจกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณเพื่อการอื่นๆ
ปัญหาก็คือ ทางเลือกมีจำกัด ถ้าไม่ทำงานนานขึ้น...ก็ต้องเก็บออมล่วงหน้าให้พอ
รายงานนี้บอกว่า จากทิศทางดังกล่าวเป็นไปได้ว่าหลังจากนี้อายุการทำงานของประชากรไทยอาจมีแนวโน้มที่จะมากกว่า 65 ปี เพราะจำเป็นที่จะต้องมีรายได้มากพอสำหรับการยังชีพหลังเกษียณ
ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อวิวัฒนาการและเทคโนโลยีอาจทำให้อายุขัยของคนยาวนานขึ้นกว่าอดีต
เพียงแต่ว่า การที่จะหางานที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงเมื่อเวลาผ่านไปคงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยเช่นกัน
การหางานในวัยเกษียณคงยาก...
สิ่งที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่วันนี้คือ สะสมเงินออมให้เพียงพอ ซึ่งแต่ละเดือนจะต้องเตรียมมากน้อยแค่ไหนสำหรับแต่ละคนนั้น ก็ขึ้นกับว่าเราอยากใช้ชีวิตสุขสบายเพียงใด
โดยขั้นต่ำที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ที่ 350,000 บาทต่อคนต่อปี ทอนมาเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ประมาณ 29,000 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งถือว่าไม่มากนักสำหรับการใช้ชีวิตในเมืองหลวง
ขณะที่หากต้องการความมั่นคงและการใช้ชีวิตที่สุขสบายเพิ่มขึ้น อาทิ รองรับค่าใช้จ่ายด้านความเจ็บป่วยโรคร้ายแรง (กรณีที่ไม่ได้มีสวัสดิการอื่นๆ ครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้) ใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทาง ทานข้าวนอกบ้านได้บ่อยๆ รวมถึงมีการท่องเที่ยวตามที่ต้องการนั้น คงต้องจบลงด้วยการเพิ่มเงินออมล่วงหน้า ขณะที่อย่าลืมว่า...การเก็บสะสมเงินออมเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนสูง (แต่ยังปลอดภัยต่อเงินต้น) ก็ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละบุคคลด้วย
ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นเลยแม้แต่น้อย!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว