ถ้ารัฐบาลจะทำ Digital Transformation จริง...

ถ้านักการเมืองและ สส. จะพูดเรื่อง digital transformation ในที่สาธารณะต่อไปนี้ต้องทำการบ้านมากกว่านี้

วันก่อน ฟัง สส. รัฐบาลคนหนึ่งไปออกรายการทีวีกับ สส. รุ่นใหม่อีกคนหนึ่งก็เห็นภาพชัดเจนว่านักการเมืองรุ่นเก่าเจอนักการเมืองรุ่นใหม่มีสิทธิ “หน้าหงาย” หน้าจอได้ทันที

เพราะ สส. คนนั้นบอกว่ารัฐบาลแจกเงินหมื่นผ่าน digital wallet เพราะต้องการจะทำตามนโยบาย digital transformation

พอนักการเมืองรุ่นใหม่ถามว่า “Digital Transformation” คืออะไรครับ?

ก็ออกอาการ “ไปไม่ถูก” ขึ้นมาฉับพลัน!

ดังนั้น พรรคการเมืองทั้งหลายพึงสำเหนียกว่าต่อแต่นี้ไปจะให้คนของตนพูดอะไรแบบนกแก้วนกขุนทองโดยคิดเอาเองว่าประชาชนจะหลงชื่นชมความเก่งกล้าสามารถเพราะใช้ศัพท์แสงฝรั่งมาสร้างความประทับใจนั้นหมดสมัยแล้ว

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Digital Transformation

หรือเรื่อง Soft Power หรือ Land Bridge ก็ตาม

เรื่องจะสร้างรัฐบาลที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะต้องฟังคนที่เขาใช้ชีวิตอยู่กับของจริงอย่างคุณ “สมคิด จิรานันตรัตน์”ที่เป็นที่ปรึกษาของธนาคารกรุงไทยที่เคยอยู่เบื้องหลังหลายโครงการรวมถึง “เป๋าตัง”

ผมสัมภาษณ์คุณสมคิดมาหลายครั้งและได้ความรู้ความเข้าใจในหลายเรื่องที่เกี่ยวโยงกัน

วันก่อน ผมอ่านเจอที่คุณสมคิดเขียนประเด็นนี้ในเฟซบุ๊กของท่านที่พยายามจะชี้ชวนให้รัฐบาลเข้าใจว่าจะต้องทำอะไรบ้าง

จึงขอนำบางส่วนมาให้ได้อ่านเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

คุณสมคิดบอกว่า

“เราพูดกันเสมอว่าเราจะเข้าสู่สังคมและเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยมาเป็นเวลานับสิบปี  ในทุกวันนี้ สิ่งที่เราเห็นว่าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยไปสู่ยุคดิจิทัล

ส่วนใหญ่แล้วยังเป็นการที่เราอาศัยแพลทฟอร์มของต่างประเทศ เช่น การใช้ social media การดูข้อมูลข่าวสาร การใช้แผนที่การเดินทาง การเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ ผ่าน line facebookinstagramyoutubegooglemapgooglesearchและ chatgptเป็นต้น

จะมีบ้างที่เป็นแพลทฟอร์มของคนไทยที่ทำได้ดีจนมีคนใช้จำนวนมากนั่นคือ เรื่องที่เกี่ยวกับการเงิน การธนาคาร ผ่าน mobile banking และ บริการของโครงการภาครัฐผ่านแอ๊ปเป๋าตัง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าแต่ละเรื่องที่ให้บริการ ยังแยกส่วนกันอยู่เป็นส่วนใหญ่ และต่างคนต่างทำ ยังไม่ได้มีการอาศัยพลังซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดระบบนิเวศน์ทางด้านดิจิทัลอย่างแท้จริง

ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้มีการร่วมมือกันอย่างที่ควรจะเป็น เพราะต่างคนต่างอยากที่จะทำเอง และไม่ได้มีการคิดแบบองค์รวมที่ทำให้เกิดความร่วมมือที่ดีต่อกันได้ หรือบางหน่วยงานที่มีความสามารถทำแอ๊ปขนาดใหญ่ มีผู้ใช้จำนวนมาก ก็อาจไม่ได้ต้องการแบ่งปันผู้ใช้งานให้กับผู้อื่น เราจึงเป็นแบบต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่

หน่วยงานต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ ต่างต้องการที่จะสร้างแอ๊ปของตัวเอง เพราะอยากสร้างแบรนด์ อยากสร้างชื่อ อยากได้งบประมาณ และอยากอีกหลายๆอย่าง อาจเป็นได้ทั้งเหตุผลส่วนตัว และเหตุผลทางการเมืองอื่นๆ

แต่การที่จะทำเองทั้งหมดให้ได้ดีนั้น จะต้องใช้บุคลากร ทรัพยากร และความรู้ ความเชี่ยวชาญอีกมากที่จะทำให้สำเร็จได้

ตั้งแต่เรื่องการออกแบบสถาปัตยกรรมให้รองรับผู้ใช้งานพร้อมกันจำนวนมากๆได้

การทำ KYC เพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้งาน การพัฒนาที่ต่อเนื่องเพื่อให้ทันกับความต้องการของผู้ใช้

การบริหารดูแลและจัดการทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์ให้มีจำนวนเพียงพอและทำงานให้ได้ดี ซึ่งต้องอาศัยบุคลากรที่มีประสบการณ์ และความรู้ ที่ต้องผ่านร้อน ผ่านหนาวมาก่อน

หลายๆ หน่วยงานมีงบประมาณในการจ้างทำ แต่คนในองค์กรมีความรู้ และความสามารถไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องได้ ทำให้ระบบที่จ้างเค้ามาทำ มีอายุค่อนข้างสั้น และจบตัวเองลงไปในที่สุด

ดังนั้น การที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ สร้างระบบนิเวศน์ที่ดี มีการอาศัยพึ่งพิงซึ่งกันและกันได้ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ คิดแบบที่เป็นระบบเปิด และออกแบบวิธีการเชื่อมต่อแบบเป็นมาตรฐาน จึงจะทำให้เราอาศัยซึ่งกันและกันได้ และเราสามารถเลือกทำเฉพาะส่วนที่ต้องการให้ความสำคัญ

ในที่นี้จึงมีข้อเสนอว่าหากเราแบ่งระบบ โดยคิดใหม่ให้เป็นระบบ 3 ชั้น

เราอาจไม่จำเป็นต้องทำแอ๊ปเองทุกส่วนด้วยตัวเอง แต่เลือกทำเฉพาะชั้นหรือ layer ที่เราถนัด โดยอาศัยการเติมเต็มชั้นอื่นๆจากผู้ให้บริการรายอื่นได้ ซึ่งเป็นการคิดแบบระบบเปิด โดยอาศัยการเชื่อมต่อระหว่างชั้นต่างๆที่เป็นระบบมาตรฐานเดียวกัน (open API)  ซึ่ง ระบบ 3ชั้นที่ว่านี้ ขอเสนอดังนี้คือ

1.ชั้นที่รองรับผู้ใช้งาน (platform layer) คือส่วนที่ต้องทำการพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้ เก็บข้อมูลผู้ใช้ และมีระบบการยืนยันตัวตนผู้ใช้เมื่อมีการใช้งาน ผู้ที่จะทำชั้นนี้ได้ ควรเป็นแอ๊ปที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากอยู่แล้ว

และมีการออกแบบวิธีการใช้งาน และการเข้าถึงผู้ใช้ที่ดี ง่ายต่อการใช้งาน โดยหลังจากที่ผู้ใช้บริการพิสูจน์ตัวตนและได้รับการยอมรับแล้ว platform layerจะเก็บข้อมูลผู้ใช้พร้อมทั้งขอให้ผู้ใช้ให้ความยินยอม ผู้ใช้งานเองจะได้รับรหัสและวิธีการอื่นๆที่จำเป็น เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนเมื่อมีการใช้งานครั้งต่อๆไป

และเมื่อยืนยันตัวตนแล้ว ผู้ใช้งานจะสามารถเห็นบริการต่างๆ ที่เป็นของแอ๊ปนี้เอง หรือเป็นของผู้อื่นก็ได้ หากเป็นของผู้อื่น platform layerจะต้องส่งข้อมูลที่จำเป็นของผู้ใช้ไปให้กับผู้ให้บริการที่ผู้ใช้เลือก เพื่อที่จะสามารถให้บริการต่อไปได้ถูกคน ผู้ให้บริการรายนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนผู้ใช้ แต่สามารถอาศัย platform layer ที่น่าเชื่อถือทำหน้าที่นี้แทน

ตัวอย่างของแอ๊ปที่อาจทำหน้าที่เป็น platform layer ที่น่าเชื่อถือในประเทศไทยได้แก่ เป๋าตัง Kplusเป็นต้น

2.ชั้นที่ให้บริการ (service layer) คือส่วนที่ผลิตและดูแลบริการที่ต้องการให้ผู้ใช้ใช้งาน ผู้ให้บริการในชั้นนี้อาจไม่จำเป็นต้องตรวจสอบผู้ใช้งานเอง แต่ได้รับข้อมูลมาจากชั้น platform layer

โดยผู้ให้บริการอาจเลือกที่จะอาศัยอยู่ใน platform layer ที่เชื่อถือได้มากกว่าหนึ่งแห่งก็ได้ เมื่อได้รับข้อมูลผู้ใช้งานแล้ว ผู้ให้บริการสามารถให้บริการของตนเองแก่ผู้ใช้รายนั้น โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การกำกับของ platform layer โดยสามารถเก็บข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้ และดูแลระบบบริการของตนเอง โดยที่ platform layer ไม่ต้องรับรู้เลยก็ได้

service layer อาจไม่จำเป็นต้องทำ services เองทั้งหมดก็ได้ อาจเลือกใช้บริการจากโครงสร้างพื้นฐานบริการบางตัวได้

เช่น สมมติว่าเป็น service layer ที่ให้บริการของภาครัฐ ที่ผลิตโดย Digital Government Agency (DGA) และเลือกไปอยู่ใน platform layer ที่มีอยู่แล้ว โดย DGA จะเลือกบริการของรัฐที่จำเป็นมาอยู่ในบริการนี้ บางส่วน DGA อาจจะพัฒนาเอง บางส่วน DGA อาจจะไปเรียกใช้บริการของภาครัฐที่มีอยู่แล้วและสร้างให้เป็นมาตรฐานการต่อเชื่อม(open API) ที่DGA ไปเรียกใช้ได้ และอาจเรียกใช้ระบบการชำระเงินที่เป็นระบบเปิดอื่นๆได้อีก

หากเป็นดังนี้ DGA ก็ไม่จำเป็นต้องทำ platform layer เอง แต่สามารถเลือกที่จะไปอาศัย platform layer ที่มีขนาดใหญ่และน่าเชื่อถือ ซึ่งอาจเลือกที่จะไปอยู่ใน platform layer มากกว่าหนึ่งแห่งได้เช่นกัน

ผู้ให้บริการอื่นๆ ก็สามารถมาอยู่ใน service layer ของ platform layerได้ เพื่อที่จะเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมากได้ง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสการเติบโตและสามารถลดความยุ่งยากต่างๆในการบริหารจัดการและเข้าถึงผู้ใช้งานได้

 3.ชั้นโครงสร้างพื้นฐานบริการ (service infrastructure layer) เป็นชั้นที่ต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานบริการเฉพาะเรื่อง เช่น cbdc, digital assets, digital paper, government digital services เป็นต้น ชั้นนี้ต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานบริการที่คนอื่นๆสามารถนำไปต่อยอด ให้กับบริการของตัวเองได้ โดยผ่านการต่อเชื่อมที่เป็นมาตรฐาน (open API) เป็นการส่งเสริมเรื่องการใช้ทรัพยากรร่วมกัน การส่งเสริมเรื่องนวัตกรรม และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคต เป็นต้น

ในมุมของผู้ใช้งานอาจจะรู้สึกว่าอยู่ใน platform เดียว และมีบริการที่หลากหลายอำนวยความสะดวกให้ ในมุมของผู้ให้บริการคือ การเข้าถึงผู้ใช้งานจำนวนมากโดยไม่ต้องออกแรงเองทั้งหมด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ