จีนกับบทบาท ‘คนกลาง’ ในสงครามยิว-ฮามาส

จุดยืนของอเมริกากับรัสเซียต่อสงครามอิสราเอล-ฮามาสค่อนชัดเจนว่ายืนอยู่คนละข้างโดยสิ้นเชิง

แต่บทบาทของจีนน่าสนใจมากกว่า...เพราะปักกิ่งพยายามจะวางตัวเป็น “คนกลาง” ที่พร้อมจะไกล่เกลี่ยให้ทุกฝ่ายบรรลุข้อตกลงเพื่อบรรลุการหยุดยิงให้ได้

ยืนยันยุทธศาสตร์ “การทูตแนวผู้ใหญ่ที่ใช้เหตุใช้ผล” อย่างต่อเนื่อง

ความจริงแนวทางนี้ไม่น่าแปลกใจหากมองย้อนกลับไปดูนโยบายของจีนในตะวันออกกลางนานกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

ชัดเจนว่าปักกิ่งพยายามแสดงตนว่า “เป็นมิตรต่อทุกฝ่าย” ในภูมิภาคนี้และไม่เป็นศัตรูกับใครเลย

แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าสงครามอิสราเอล-ฮามาสกำลังเป็นบททดสอบที่รุนแรงที่สุดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ตะวันออกกลางของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงว่าจะดำรงแนวทางนี้ต่อไปได้อีกนานเท่าไหร่

ถึงวันนี้ จีนยังพยายามใช้ “การทูตที่สมดุล” ในภาพรวม

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปักกิ่งสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในระดับที่เพิ่มขึ้น

ด้วยการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อประวัติศาสตร์ของประเทศในภูมิภาคนี้

ถึงขั้นที่มีคำถามว่าถ้าสี จิ้นผิงถูกบังคับให้ออกจากเส้นทางแห่งความเป็นกลาง เขาจะอยู่ข้างไหน

หากอ่านจากคำแถลงของนักการทูตจีนในเวทีสากล ก็พอจะสรุปได้ว่าน้ำหนักน่าจะไปทางปาเลสไตน์มากกว่าอิสราเอล

แต่เป็นทางเลือกที่ปักกิ่งไม่อยากจะต้องเผชิญ

เพราะจีนได้ประโยชน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการทูตที่คล่องตัวปักกิ่งพยายามจะหลีกเลี่ยงการที่จะต้องถูกกดดันให้ต้องเลือกข้าง

เพราะจีนสร้างอิทธิพลในภูมิภาคนี้ได้มายาวนานก็ด้วยการวางตำแหน่งตัวเองในฐานะ "ผู้ช่วยเหลือที่เป็นประโยชน์"

โดยวางตนเป็นมหาอำนาจภายนอกที่พยายามเป็นตัวกลางในข้อตกลงสันติภาพ และสร้างเศรษฐกิจในภูมิภาคที่ครอบคลุมอย่างแท้จริง

หากถามว่าอะไรคือเป้าหมายและยุทธศาสตร์ของปักกิ่งในกรณีนี้ก็คงจะบอกได้ว่าในหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ “ลงทุน” ทางด้านการทูตและเศรษฐกิจในตะวันออกกลางอย่างเหลือล้น

เป้าหมายคือต้องการสร้างอิทธิพลในภูมิภาคนี้เหนือสหรัฐฯ

เพราะจีนมองเห็นการหดตัวของอิทธิพลของสหรัฐฯ อย่างชัดเจนในขณะที่จีนได้รับการปรับปรุงจุดยืนในประเด็นสำคัญ ๆอย่างมีนัยสำคัญ

โดยมีเป็นการเดินทางแนวทาง “ชุดความริเริ่ม” ของจีนในเรื่องการสร้าง

 Community of Common Destiny,

Global Development Initiative,

Global Security Initiative และ Global Civilization Initiative

ทั้งหมดนี้ อย่างน้อยส่วนหนึ่งได้รับการออกแบบเพื่อดึงดูดประเทศต่างๆ ใน “โลกขั้วใต้” Global South ที่รู้สึกแปลกแยกมากขึ้นจากระเบียบระหว่างประเทศที่อิงกฎซึ่งนำโดยสหรัฐฯ

เป็นวิสัยทัศน์ที่มีพื้นฐานมาจากความหวั่นเกรงว่าการที่สหรัฐฯ มีอำนาจเหนืออย่างต่อเนื่องในตะวันออกกลางจะคุกคามการเข้าถึงการส่งออกน้ำมันและก๊าซในภูมิภาคของจีน

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าปักกิ่งกำลังพยายามแทนที่สหรัฐฯ ในฐานะมหาอำนาจที่ครอบงำในภูมิภาคนี้

เพราะจีนตระหนักว่าเป้าหมายนั้นยังเป็นไปไม่ได้ในระยะสั้นนี้

เพราะอำนาจของเงินดอลลาร์และความสัมพันธ์อันยาวนานของสหรัฐฯ กับประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดบางแห่งของภูมิภาคนั้นยังมีอิทธิพลเหนียวแน่นอยู่ไม่น้อย

แต่เส้นทางของจีนมุ่งไปทางส่งเสริมความสอดคล้องพหุภาคีระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

นั่นคือการสนับสนุนให้แต่ละประเทศมีส่วนร่วมกับจีนในด้านต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานและการค้า

แนวทางนี้ของปักกิ่งไม่เพียงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างจีนและผู้เล่นในภูมิภาคเท่านั้น

แต่ยังลดแรงจูงใจในการเข้าร่วมกลุ่มพิเศษที่นำโดยสหรัฐฯ พร้อม ๆ กันไปด้วย

ปักกิ่งพยายามส่งเสริมความสอดคล้องพหุภาคีผ่านสิ่งที่อธิบายไว้ในเอกสารของรัฐบาลจีนว่าเป็น “การทูตที่สมดุล” และ “สมดุลเชิงบวก”

“การทูตที่สมดุล” คืออะไร?

ในแง่ปฏิบัติจริง นั่นคือการแสดงตนจะแจ้งว่าไม่เข้าข้างฝ่ายใดในความขัดแย้งต่างๆ รวมถึงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

ส่วน “ความสมดุลเชิงบวก” มุ่งเน้นไปที่การแสวงหาความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับมหาอำนาจในภูมิภาคเช่นอิหร่าน

ซึ่งหวังว่าจะเป็นแรงจูงใจประเทศอื่นในอ่าวอาหรับให้เดินตามด้วย

จีน “ทำการบ้าน” เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมายาวนาน

ก่อนการโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสในวันที่ 7 ตุลาคม ยุทธศาสตร์ของปักกิ่งก่อนหน้านั้นก็เริ่ม “จ่ายเงินปันผล” มาอย่างเห็นได้ชัด

ในปี 2559 จีนตกลงร่วมมือเชิงกลยุทธ์อย่างครอบคลุมกับซาอุดีอาระเบีย

และในปี 2563 ปักกิ่งลงนามข้อตกลงความร่วมมือระยะเวลา 25 ปีกับอิหร่าน

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น จีนได้ขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศอ่าวอื่นๆ รวมถึงบาห์เรน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และโอมาน

นอกเหนือจากอ่าวเปอร์เซียแล้ว จีนยังได้กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอียิปต์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

จนถึงจุดที่วันนี้จีนได้กลายเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในโครงการพัฒนาพื้นที่คลองสุเอซ

นอกจากนี้ยังลงทุนในโครงการฟื้นฟูในอิรักและซีเรียอีกด้วย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา จีนได้เล่นบท “กาวใจ” ที่ชักจูงให้ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านกลับมามีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการอีกครั้ง

สะท้อนบทบาทการเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพเจ้าใหญ่ในภูมิภาคนี้

อะไรที่วอชิงตันทำไม่ได้ ปักกิ่งพิสูจน์ว่าทำได้

หลังจากความสำเร็จรอบนี้ ปักกิ่งก็เริ่มวางตำแหน่งตัวเองในฐานะตัวกลางแห่งสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์แต่ก็เกิดสงครามรอบใหม่เสียก่อน

ต้องยอมรับว่าสงครามอิสราเอล-ฮามาส ทำให้แนวทางของจีนต่อตะวันออกกลางมีความซับซ้อนมากขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้

ในเบื้องต้นจีนตอบสนองด้วยการใช้อาวุธ “การทูตที่สมดุลต่อไป” อีกครั้งหนึ่ง

แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ข้อจำกัดเสียเลยทีเดียว เพราะหลายปัจจัยอยู่นอกเหนือการควบคุมของมหาอำนาจทุกประเทศ

หวัง อี้ รมว.ต่างประเทศจีนคุยกับแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเด็นเรื่องสงครามตะวันออกกลางครั้งใหม่

ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดสงครามใหญ่ระดับภูมิภาค

อเมริการับปากจะทำงานร่วมกับจีนเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหา เพราะต่างฝ่ายต่างยอมรับว่าลำพังตนเองไม่อาจจะแก้ปัญหาที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนนี้ได้

หลังจากนั้น หวัง อี้พยายามจะยื่นมือถึงทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์

หลังจาก ไจ๋ จุน ผู้แทนพิเศษของจีนประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง บินไปพบกับผู้นำชาติอาหรับภายใต้แนวทาง “การทูตเดินสาย” ของจีน

จีนยังเป็นหนึ่งในชาติที่ส่งเสียงดังที่สุดที่การประกาศสนับสนุนให้อิสราเอลและฮามาสหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

มีการตั้งความหวังต่อมาว่าจีน ในฐานะที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิหร่านซึ่งให้การสนับสนุนกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาและฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน จะสามารถช่วยยับยั้งความรุนแรงของสถานการณ์ได้

ปัจจัยที่น่าติดตามคือจีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน

แต่บนเส้นทางของการทูตของจีนก็ใช่จะไม่มีขวากหนามกั้นขวางเสียเลยทีเดียว

แถลงการณ์ฉบับแรกของจีนเกี่ยวกับความขัดแย้งนี้ทำให้จีนกริ้วพอสมควร

อิสราเอลบอกว่า “ผิดหวังอย่างยิ่ง” ที่จีนไม่ประณามกลุ่มฮามาส หรือกล่าวถึงสิทธิในการป้องกันตนเองของอิสราเอล

รัฐมนตรีต่างประเทศจีนตอบอิสราเอลด้วยประโยคที่ว่า “ทุกประเทศมีสิทธิในการป้องกันตัวเอง”

แต่ก็ไม่เป็นความลับว่าหวัง อี้ได้ระบุในแถลงการณ์ทางการว่าการกระทำของอิสราเอลนั้น “เกินเลยของการป้องกันตนเอง”

นักประวัติศาสตร์วาดภาพย้อนกอดีตไปถึงสมัยจีนภายใต้การนำของ เหมา เจ๋อตง ที่เคยส่งอาวุธไปให้ชาวปาเลสไตน์เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า "การปลดแอกแห่งชาติ" ทั่วโลก

เหมาเคยเปรียบเทียบอิสราเอลว่าเป็นเหมือนไต้หวันเพราะได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ

ซึ่งในช่วงนั้นจีนถือว่าอิสราเอลเป็นเสมือนฐานของจักรวรรดินิยมตะวันตก

แต่หลังจากนั้น จีนก็เปิดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอิสราเอล

ถึงวันนี้มีการค้าขายระหว่างกันในระดับมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ต่อปี

ทางการจีนจะมีส่วนสนับสนุนทางตรงหรือทางอ้อมหรือไม่ไม่ชัดเจนแต่สื่อสังคมออนไลน์จีนบางส่วนเปรียบเทียบการกระทำของอิสราเอลกับลัทธินาซี

กล่าวหาอิสราเอลว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์

มีผลให้ทำให้สถานทูตเยอรมันในกรุงปักกิ่งต้องออกมาประณามสื่อออนไลน์ของจีนบางส่วน

นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุแทงสมาชิกในครอบครัวของเจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอลในกรุงปักกิ่งด้วย

ยิ่งก่อให้เกิดความอึดอัดในความสัมพันธ์ระหว่างจีนและอิสราเอลเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง

แต่จีนมองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเหนือสิ่งอื่นใด

ประมาณครึ่งหนึ่งของน้ำมันของจีนมาจากประเทศรอบ ๆ อ่าวเปอร์เซีย

และหลายประเทศในตะวันออกกลางยังได้กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในโครงการสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ของจีนมากขึ้นเรื่อย ๆ

นั่นเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับจีน เพราะ BRI เป็นเสาหลักของ

ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่ว่ามานี้ จีนจึงตกอยู่ที่นั่งลำบากเพื่อเกิดสงครามตะวันออกกลางรอบใหม่

แต่ในวิกฤตก็มีโอกาสสำหรับจีนที่จะใช้เมล็ดพันธุ์ที่หว่านเอาไว้ก่อนหน้านี้มาเสริมส่งบทบาททางการเมืองและการทูตที่พยายามรักษา “ดุลถ่วงอันเหมาะควร” ให้ได้มากที่สุด

ไม่ว่าจะยากเย็นและท้าทายเพียงใดก็ตาม!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ