อิสราเอลอาจชนะศึก (ในสนามรบ) แต่แพ้สงคราม (การเมืองในบ้าน)

พอสงครามอิสราเอล-ฮามาสระเบิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา การเมืองภายในของอิสราเอลก็จำเป็นต้องปรับตัวครั้งสำคัญ

4 วันหลังการโจมตีหนักจากฮามาส นายกฯ เบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศตั้ง “ครม.ฉุกเฉิน” ด้วยการเชิญคู่ปรับทางการเมืองคนสำคัญคือ เบนนี แกนซ์ มาร่วมบริหารประเทศเพื่อทำสงครามกับศัตรู

คำถามแรกที่เห็นทั้ง 2 คนมานั่งแถลงข่าวร่วมกันคือ ทั้ง 2 คนจะทำงานร่วมกันได้จริงหรือ?

โพลล่าสุดบอกว่า คนอิสราเอลส่วนใหญ่ไม่ต้องการเนทันยาฮูเป็นนายกฯ เพื่อนำประเทศทำสงคราม

เพราะเขามีภาพลักษณ์ของ “ขวาสุดโต่ง” อีกทั้งยังมีประวัติที่ถูกสอบสวนเรื่องคอร์รัปชันจนมีการเดินขบวนขับไล่ครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้งหลายหน

ก่อนเกิดสงครามรอบนี้ มีการประท้วงลุกลามเกือบทั่วประเทศเป็นเวลาหลายเดือน

ตอกย้ำถึงร่องรอยปริแยกทางการเมืองครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อิสราเอล

คนอิสราเอลยอมลืมความขัดแย้งการเมืองในประเทศชั่วคราวเพื่อทำสงครามกับศัตรู

แต่จะถือว่านี่เป็น “ครม.แห่งความสมานฉันท์” ในยามวิกฤตก็ไม่ได้ เพราะไม่สามารถระดมเอาแกนนำฝ่ายค้านทั้งหมดมาอยู่ในรัฐบาลแห่งชาตินี้ได้

โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดอย่างนายยาอีร์ ลาพิด (Yair Lapid)

เพราะเขาไม่ยอมรับคำเชิญของนายเนทันยาฮูให้ฉีกตัวออกจากแนวร่วมอีก 2 พรรคที่มีแนวทางนิยมขวาจัด

คนที่ยืนอยู่คนละข้างกับนายกฯ คนปัจจุบันเห็นว่าเนทันยาฮูไม่เหมาะที่จะนำประเทศในช่วงสงครามอย่างนี้

ความคิดเห็นในสื่อโซเชียลมีเดียของอิสราเอลที่เห็นต่างชี้ไปในทางที่ควรจะต้องเปลี่ยนผู้นำด้วยซ้ำไป แม้จะถูกมองว่าเป็นความเสี่ยงที่จะ “เปลี่ยนม้ากลางลำธาร” ก็ตาม

 “เขาโทษทุกคน ยกเว้นตัวเอง" คือหนึ่งในข้อความที่วิพากษ์เนทันยาฮู

บางคนเห็นว่าที่คนอิสราเอลรวมตัวกันเป็นหนึ่งในยามสงครามนั้น เป็นเพราะการนำของกองทัพ ไม่ใช่ตัวนายกรัฐมนตรี

แต่ก็ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงว่าเนทันยาฮู (รู้จักกันในหมู่ผู้สนับสนุนว่า “ราชา บีบี") เป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดของอิสราเอล

ถือว่าเป็น “แมว 9 ชีวิต” ทางการเมืองของประเทศเลยทีเดียว

เพราะนั่งตำแหน่งนายกฯ ถึงครั้งนี้รวมแล้ว 6 ครั้ง

ครั้งล่าสุดคือการได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นผู้นำประเทศในเดือนพฤศจิกายนเมื่อปีที่แล้วนี่เอง

เพราะพรรคลิคุดของเขาจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคพันธมิตรฝ่ายขวาจัด

ผลก็คือรัฐบาลอิสราเอลชุดนี้เป็นรัฐบาลที่มีแนวความคิดทางการเมืองเอียงไปทางฝ่ายขวามากที่สุดในประวัติศาสตร์

ทำให้การเมืองของประเทศเริ่มเห็นรอยแยกที่ชัดเจนระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับอนุรักษ์สุดขั้ว

แม้แนวโน้มอย่างนี้จะไม่ใช่เรื่องใหม่เสียเลยทีเดียวสำหรับอิสราเอล และเนทันยาฮูดูเหมือนจะต้องการขับให้เห็นความแตกต่างเด่นชัดมากกว่าเดิม

เพราะเขาเชื่อว่าฐานเสียงสำคัญของเขาคือคนกลุ่มที่สนับสนุนแนวคิดขวาจัด

แต่เมื่อประเทศต้องเข้าสู่สงคราม และการได้เบนนี แกนซ์ ซึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบกมาก่อนมาร่วม ครม.ฉุกเฉินก็ดูเหมือนจะลดความเสี่ยงของแนวคิดแบบสุดโต่งของเนทันยาฮูได้บ้าง

บทวิเคราะห์ในบางสื่อของอิสราเอลบอกว่า เมื่อนักการเมืองอาวุโสจากฝ่ายค้านอย่าง เบนนี แกนซ์ และกาดิ ไอเซนคอตต์ ได้เข้ามาร่วม “ครม.ฉุกเฉิน” คนอิสราเอลบางส่วนก็ใจชื้นขึ้นมาบ้าง เพราะทั้ง 2 เคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพมาก่อนแล้ว

กรณีของแกนซ์นั้นมีแนวทางที่สามารถจะหาทางปรองดองกับฝ่ายปาเลสไตน์ได้ในระดับหนึ่ง

สมัยที่เขาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลของนายกฯ นาฟตาลี เบนเนตต์ แกนซ์ เปิดทางให้ชาวปาเลสไตน์จากกาซาเข้ามาทำงานในฟาร์มการเกษตรของอิสราเอลได้

แม้จะถูกกล่าวหาว่าบางคนแอบหาข่าวให้กับกลุ่มฮามาสด้วย

แต่ก็มองกันว่าเขาเป็น “มืออาชีพ” ด้านการทำสงคราม จึงอาจจะสามารถคานอำนาจกับนายกฯ เนทันยาฮูไม่ได้ทำอะไรที่เสี่ยงกับการเปิดทางให้สงครามขยายวงมากเกินไปได้

ล่าสุด สื่อมาริฟ (Maariv) ของอิสราเอลทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐบาลอิสราเอลต่อสงคราม

ผลการสอบถามความเห็นพบว่า 80% ของผู้สำรวจ เชื่อว่านายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูต้องรับผิดชอบต่อ “ความล้มเหลว” ในงานด้านความมั่นคงที่ปล่อยให้กลุ่มฮามาสโจมตีได้

ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ในการทำโพลครั้งนี้พบว่า ถ้ามีการเลือกตั้งในวันรุ่งขึ้น ก็คาดว่ากลุ่มพันธมิตรสายกลางของนายแกนซ์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน จะสามารถเอาชนะพรรคของเนทันยาฮูอย่างท่วมท้นเลยทีเดียว

มีสัญญาณว่า ครม.สงครามอาจจะกำลังเกิดรอยแตกแยกกันขึ้นแล้ว

ข้อความใน X (ทวิตเตอร์) ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาของเนทันยาฮูทำให้เกิดสิ่งที่หลายคนเชื่อว่าทำให้ ครม.ฉุกเฉินมองตากันไม่ติด

หลังเที่ยงคืนวันหนึ่งเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน เนทันยาฮูเขียนว่า เขาไม่เคยได้รับแจ้งคำเตือนเกี่ยวกับการโจมตีของฮามาสต่ออิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม

นั่นคือความพยายามจะโยนความผิดให้กับกองทัพและหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง

พอนายกฯ เล่นเกมโยนบาปใส่กองทัพก็เกิดความโกลาหลในแวดวงการเมืองทันที

ผู้นำทางการเมืองตำหนิเนทันยาฮูว่า การเขียนข้อความเช่นนี้เป็นการ “เล่นการเมือง”

ในขณะที่ประเทศตกอยู่ท่ามกลางการศึกสงครามที่ยากลำบากในฉนวนกาซา

เนทันยาฮูต้องลบข้อความนั้นและกล่าวขอโทษ และยอมรับว่า “ผมผิดเอง”

ทำให้เกิดการวิเคราะห์ว่านี่คือสัญญาณของความแตกแยกที่ขยายวงกว้างขึ้นภายในรัฐบาลและกองทัพ

ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเป็นผู้นำของเนทันยาฮู และความสามารถของเขาในการนำทางประเทศผ่านสงครามนี้ได้มากน้อยเพียงใด

ถึงกับมีเสียงวิจารณ์ว่า “เนทันยาฮูไม่สนใจเรื่องความมั่นคง ไม่สนใจเรื่องตัวประกัน สนใจแต่ผลประโยชน์ทางการเมืองของตัวเองเท่านั้น”

ท้ายที่สุดอิสราเอลอาจจะชนะศึก (การสู้รบในสมรภูมิ) แต่แพ้สงคราม (การเมืองในบ้าน) ก็เป็นไปได้!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ