สูตรแต่งตั้ง 'นายพัน'

ไม่ต้องรอ ไม่ต้องลุ้น ไม่ต้องเดาให้เสียงานเสียการ ผบ.ต่อ-พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. เคาะระฆังสัญญาณเริ่มต้นกระบวนการแต่งตั้งตำรวจระดับ "นายพัน" ตำแหน่ง รองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) ลงไปถึง สารวัตร (สว.) วาระประจำปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังการแต่งตั้งระดับ "นายพล" เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 26 ต.ค. รอเสนอโปรดเกล้าฯ ตามกฎหมาย ก็มาถึงคิว "นายพัน" ที่ตอนนี้ทุกกองบัญชาการ และหน่วยขึ้นตรงได้นับหนึ่งตามระเบียบการแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ด้วยการประกาศลำดับอาวุโสตำแหน่ง รอง สว.ถึง ผกก.

เพื่อให้ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ตรวจสอบความเรียบร้อยภายใน 7 วัน จากนั้นก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการจัดทำบัญชีเสนอบอร์ดระดับกองบังคับการ และบอร์ดกองบัญชาการ ซึ่งระดับ "นายพัน" ในแต่ละกองบัญชาการ ผู้บัญชาการ (ผบช.) มีอำนาจในการแต่งตั้ง ส่วนหน่วยขึ้นตรง ตร.เป็นอำนาจของ ผบ.ตร. จากนั้นทุกหน่วยก็ส่งบัญชีรายชื่อมาให้ ตร.ตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนที่ทุกกองบัญชาการและหน่วยขึ้นตรง สนง.ผบ.ตร. จะประกาศคำสั่งแต่งตั้งตำรวจระดับ รอง ผบก.-สว.วาระประจำปี 2566 ก็จะเสร็จสิ้นทุกขั้นตอน ซึ่งแนวโน้มหากไม่มีอะไรมากระทบ ไม่มีอะไรมากระเทือน ภายในสิ้นเดือน พ.ย.ทุกอย่างน่าจะจบ

จับกระแสฝุ่นควัน "นักวิ่ง" ในยุค "ผบ.ต่อ" ต้องบอกว่าเที่ยวนี้ไม่คละคลุ้งเหมือนหลายปีที่ผ่านมา ด้วยเพราะหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 และข้อกำหนด ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2566 ที่ถูกนำมาใช้บังคับในการแต่งตั้ง ทั้งการเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นให้พิจารณาแต่งตั้งได้เฉพาะผู้ที่ดำรงตำแหน่งภายในส่วนราชการนั้น การย้ายต้องดำรงตำแหน่ง 2 ปีขึ้นไป เว้นแต่มีเหตุตามที่กำหนดไว้ ย้ายออกนอกหน่วยต้องเป็นไปโดยสมัครใจ ฯลฯ ทำให้ "ผบช." ต่างไม่กล้าขยับ ไม่กล้าฝืน ที่สำคัญ "ผบ.ต่อ" กำชับห้ามแตกแถว ห้ามฝ่าฝืนระเบียบ ข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ตำรวจ และข้อกำหนด ก.ตร. รวมทั้ง "ก.ตร.ตัวตึง" อย่าง บิ๊กเอก-พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ ยังออกมาสะกิดเตือนบอก "หากผู้มีอำนาจแต่งตั้งดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมสามารถร้องทุกข์ต่อ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ทราบคำสั่งแต่งตั้ง" ก็ยิ่งทำให้ "ผบช." ต่างแถวตรง ไม่มีใครกล้าลองของ พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ ที่ใช้แต่งตั้ง "นายพัน" เป็นปีแรก

ย้อนไปพลิกหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง "นายพัน" ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 หมวด 3 การบรรจุ การแต่งตั้ง และการเลื่อนขั้นเงินเดือน ตามมาตรา 77 การแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ให้แต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ (7) ตำแหน่ง รองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) ให้แต่งตั้งตำรวจยศ พ.ต.อ. และเคยดำรงตำแหน่ง ผู้กำกับการ (ผกก.) มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี (8) ตำแหน่ง ผกก.ให้แต่งตั้งตำรวจยศ พ.ต.ท. และเคยดำรงตำแหน่ง รองผู้กำกับการ (รอง ผกก.) มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี (9) ตำแหน่ง รอง ผกก.หรือสารวัตรใหญ่ ให้แต่งตั้งตำรวจยศ พ.ต.ท. และเคยดำรงตำแหน่งระดับ สารวัตร (สว.) มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี (10) ตำแหน่ง สว.ให้แต่งตั้งตำรวจยศ ร.ต.อ.ขึ้นไป แต่ไม่สูงกว่า พ.ต.ท. และเคยดำรงตำแหน่งระดับ รองสารวัตร (รอง สว.) มาแล้วไม่น้อยกว่า 7 ปี ซึ่งตามสูตร "4-4-5-7" ถือเป็นมาตรฐาน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แต่มาตรฐานจาก "ผบ.ต่อ" จะตัดเพิ่มขึ้นจากตะกร้ามาตรฐานหรือไม่ ก็คงต้องดูกัน

ทำดีต้องชื่นชม บิ๊กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. เดินทางไปยัง สภ.เมืองนนทบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมอย่างไม่เป็นทางการ และมอบรางวัลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ ด.ต.พิเชษฐ จำปาทอง และ ส.ต.ต.นัธทวัฒน์ เกตุแก้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ สภ.เมืองนนทบุรี จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2566 เวลาประมาณ 03.40 น. ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ จนนำไปสู่การจับกุมคนร้ายและตรวจยึดอาวุธปืนได้ ป้องกันไม่ให้มีการก่อเหตุในพื้นที่ได้ต่อไป ซึ่ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ได้กล่าวชื่นชมในความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจทั้ง 2 นาย โดยการมอบรางวัลครั้งนี้เป็นไปตามแนวความคิดของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ที่ต้องการให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงานที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ตามนโยบาย “ดีเด่น ต่อเนื่อง”

แค่เกือบ 2 เดือนในเก้าอี้ รมว.กลาโหม ของ “สุทิน คลังแสง” ก็กลายเป็นขวัญใจของเหล่าทัพไปเสียแล้ว จนทำให้แฟนคลับที่เคยชอบลีลาอภิปรายตรวจสอบของ สส.สุทิน เมื่อครั้งที่เป็นฝ่ายค้านถึงขนาดออกอาการ “ผิดหวัง” เพราะบทบาทที่รุกรบเมื่อก่อนพลิกมาเป็น ความกลมกลืน กลมกล่อม เข้ากันได้ดีกับทหาร จนถูกมองว่าเป็นโฆษกของกองทัพไปเสียแล้ว แต่เจ้าตัวใช้เหตุผลอธิบายว่า หลังจากเข้ามารับฟังและทำงานด้วยจึงรู้ว่าสิ่งไหนทำได้ และทำไม่ได้ และต้องค่อยปรับแก้ไข พัฒนาในสิ่งที่เป็นจุดอ่อน พร้อมมุ่งเน้นผลของงานตามนโยบายของรัฐบาล และข้อสั่งการของนายกฯ ซึ่งกำกับดูแลฝ่ายความมั่นคงด้วยตนเอง โดยมี "บิ๊กเล็" พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมต.เป็น “มือขวา" ที่ถูกส่งมาช่วยงาน ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด และยังได้รับมอบหมายงานจาก “บิ๊กทิน” ให้ไปหารือร่วมกับกองทัพเรือ ในการแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ให้ได้ข้อยุติภายในเดือนธันวาคม ช่วงเวลาหมดสัญญากับจีน

ส่วนสภากลาโหม เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมายังตั้งอีก 5 คณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นมาขับเคลื่อนงานที่รัฐบาลสั่งการ เพื่อให้เห็นผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.คณะทำงานขับเคลื่อนปรับปรุงโครงสร้างหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ มี พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม เป็นหน้าคณะทำงาน 2.คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาตรวจเลือกทหารกองประจำการและฝึกนักศึกษาวิชาทหาร มี พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ.เป็นหัวหน้า 3.คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสวัสดิการและกำลังพล ให้ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด เป็นหัวหน้า 4.คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มี พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด เป็นหัวหน้า 5.คณะกรรมการการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ที่ดินในความครอบครองของกระทรวงกลาโหม มี พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ.เป็นหัวหน้า 6.คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ มี พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม เป็นหัวหน้า

หลังจากนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในฯ ไปประชุมคณะกรรมการ ได้แถลงยืนยันไม่มีการยุบ กอ.รมน.และไม่มีอยู่ในนโยบายของพรรคเพื่อไทย ทำให้ฝ่ายที่ต้องการให้มีการแก้ไขกฎหมายและปรับภารกิจให้เหมาะสมออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ในทำนองว่าผู้นำกลายเป็นนายกฯ หุ่นเชิดไปเสียแล้ว พร้อมตั้งโจทย์เป็นข้อๆ ในเรื่องของงานที่ซ้ำซ้อน การใช้งบลับที่ปราศจากการตรวจสอบ ทำให้ กอ.รมน.ต้องเปิดโต๊ะแถลงข่าว โดยมี พล.อ.นพนันต์ ชั้นประดับ อดีตผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กอ.รมน. พร้อมด้วย พล.ท.ดนัยวัฒนา รุ่งอุทัย อดีตรองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง กอ.รมน. และ พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษก กอ.รมน. เป็นผู้ชี้แจง โดยเฉพาะเรื่องงบลับนั้น มีการชี้แจงว่าในงบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาทของ กอ.รมน.นั้น เป็นงบประมาณในระบบงบประมาณปกติ ไม่ใช่งบลับ โดยส่วนใหญ่จะใช้ในภารกิจแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดนใต้อยู่ประมาณกว่า 6,000 กว่าล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นค่าใช้จ่ายตอบแทนในด้านกำลังพล รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ของพลเรือน ตำรวจ และทหารจำนวน เกือบ 5,000 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายที่ถูกจัดไว้ในหมวดรายจ่าย “งบลับ” ของ กอ.รมน.นั้นอาจมีเพียงราวๆ 10 ล้านบาทเท่านั้น โดยเงื่อนไขการใช้จ่ายยังคงต้องเป็นไปตามระเบียบทางราชการทุกประการ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบราชการ แต่ในระยะหลังงบส่วนนี้จะไม่มีแล้ว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘บิ๊กต่าย’ ลั่นแต่งตั้ง ‘นายพล’ ยึดหลักเกณฑ์-ข้อกฎหมาย หลังลือสะพัดตั๋วเด็กฝากอื้อ

รั้วปทุมวันฝุ่นตลบหนัก หลังลือโผนายพลรอบสุดท้าย140 ตำแหน่ง สารพัดตั๋วลุ้นวิ่งเข้าวิน รอนายกฯอิงค์-ก.ตร.ไฟเขียว 9 ม.ค.

เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง

เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้

แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ

ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

นครบาล ระดมตำรวจ 4 พันนาย ดูแลความปลอดภัย 6 จุดเคาท์ดาวน์ทั่วกรุง

บช.น.มีความห่วงใยประชาชนจัดกำลังตำรวจ กว่า 4,000 นาย พร้อมติดตั้งกล้อง Face Recognition Camera 30 ตัว ดูแลความปลอดภัย ใน 6 จุดสำคัญจัดงานเคาท์ดาวน์ทั่วกรุงเทพฯ

สตม. เร่งตรวจสอบ 2 คนไทย บนเครื่องบินเจจูแอร์ หลังประสบอุบัติเหตุที่เกาหลีใต้

จากกรณี เครื่องบินเจจู แอร์ ที่บินออกจากไทยเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.67 เวลา 01.30 ตามเวลาประเทศไทย ประสบอุบัติเหตุขณะลงจอดที่เกาหลีใต้ ผู้โดยสาร 175 ราย