กาตาร์ในฐานะ ‘ผู้ไกล่เกลี่ย’ ในสงครามอิสราเอล-ฮามาส

มีคำถามที่น่าสนใจในการเกาะติดข่าวคราวสงครามอิสราเอลกับฮามาส ว่าไฉนประเทศเล็กๆ แต่ร่ำรวยอย่างกาตาร์ จึงกลายเป็น “ผู้ไกล่เกลี่ย” ที่มีบทบาทสำคัญในการหาทางลดความรุนแรงของสงคราม

ถ้าติดตามข่าวจะสังเกตว่า คนที่กุมกุญแจเพื่อคลายวิกฤตตัวประกันที่ไม่ธรรมดาในตะวันออกกลางนั้น ไม่ใช่ทั้งชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์  

หากแต่เป็นผู้ปกครองกาตาร์ที่อายุน้อยและค่อนข้างจะเงียบขรึม

นับตั้งแต่ขึ้นครองอำนาจเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ชีค ทามิม บิน ฮาหมัด อัลธานี วัย 43 ปี ประกาศนโยบายที่สำคัญคือ ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะวางตำแหน่งประเทศเล็กๆ ของเขาให้มีบทบาททางการทูตระดับนานาชาติที่มีคุณค่า

กาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก

แม้จะมีประชากรเพียง 2.7 ล้านคน แต่ประเทศนี้มีปริมาณสำรองก๊าซที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีรายได้ต่อหัวสูงสุดเป็นอันดับ 6

แม้จะพยายามยกระดับตนเองขึ้นมาเป็น “ผู้เล่นในภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบความสำเร็จได้ในเวลาอันรวดเร็วนัก

จะว่าไปแล้ว ความพยายามส่วนใหญ่ที่ผ่านมาก็ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จมากนัก

ตอนที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ผู้นำกาตาร์ก็คาดว่าจะสามารถยกระดับประเทศขึ้นเป็น “ผู้เล่นแถวหน้า” ของการทูตระหว่างประเทศได้

แต่พอเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสรอบใหม่ คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายของสงครามก็ให้ความไว้วางใจในบทบาทของกาตาร์

เพราะเคยมีการช่วยเหลือเกื้อกูลที่เป็นหนี้บุญคุณกันมาก่อน

ทำให้ผู้นำกาตาร์มีโอกาสได้แสดงบทบาทการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยเหนือกว่าผู้นำอาหรับคนอื่นๆ

จะว่าไปแล้ว “ท่านอัลธานี” อยู่ในฐานะที่น่าจะทลายกำแพงระหว่างสองฝ่ายของสงคราม เพื่อนำไปสู่การปล่อยตัวประกันมากกว่า 200 คนให้ปลอดภัยได้มากที่สุด

ผู้นำกาตาร์คนนี้อยู่ในจุดที่ได้เปรียบผู้นำเพื่อนบ้านในภูมิภาค ตรงที่ว่าเขาไม่กังวลเกี่ยวกับการลุกฮือหรือการท้าทายต่อการปกครองของเขาจากกลุ่มอิสลามิสต์ทางการเมือง

เพราะ “ท่านอัลธานี” พร้อมจะยื่นมือแห่งมิตรภาพให้กับทุกกลุ่มที่มีข้อพิพาทระหว่างกัน

เช่น เขาต้อนรับกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ รวมถึงฮามาส ควบคู่ไปกับสำนักงานการค้าสำหรับอิสราเอล และกองทหารอเมริกันหลายพันนายที่ฐานทัพอากาศอัลอูเดอิด

อันเป็นฐานทัพอากาศที่สหรัฐฯ ใช้เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารในตะวันออกกลางเป็นประจำ

เกือบไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตัวเขาเองนั้นมีความเห็นอกเห็นใจต่อชาวปาเลสไตน์เป็นหลัก

แต่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะรับฟังจุดยืนของฝั่งอิสราเอล

กระทรวงการต่างประเทศกาตาร์ไม่ลังเลที่จะออกแถลงการณ์ตำหนิอิสราเอลสำหรับการเปิดศึกกับกลุ่มฮามาส

แต่ก็ไม่ออกมาประณามความโหดร้ายในสงครามครั้งนี้ของทั้งสองฝ่าย

แต่การที่กาตาร์มีความใกล้ชิดกับกลุ่มฮามาส อาจเป็นความหวังเดียวสำหรับครอบครัวอิสราเอลที่สิ้นหวังที่จะได้พบกับลูกชาย ลูกสาว ปู่ย่า ตายาย และคนที่รักคนอื่นๆ ที่ถูกลักพาตัวไป

ในปี 2012 ขณะที่สงครามโหมกระหน่ำในซีเรีย และผู้นำของกลุ่มฮามาสต่อต้านรัฐบาลซีเรีย กาตาร์ก็จัดหาที่พักพิงให้กลุ่มผู้นำฮามาส

โดยชี้แจงว่า การตัดสินใจเช่นนั้นเกิดจากความร่วมมือกับสหรัฐฯ และได้รับความเห็นชอบจากสหรัฐฯ ที่อยู่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ฮามาสเป็นหนี้บุญคุณกาตาร์ไม่เพียงแต่กรณีการให้ที่หลบภัยแก่ผู้นำของกลุ่มตน และจัดหาฐานในการวางแผนและเจรจากับผู้อุปถัมภ์ชาวอิหร่านเท่านั้น               

แต่กาตาร์ยังเป็น “ผู้ใหญ่ใจดี” ที่ควักกระเป๋าหลายล้านดอลลาร์เป็นเงินช่วยเหลือต่างประเทศประจำปี เพื่อช่วยคนยากจนในฉนวนกาซา เช่น ช่วยจ่ายค่าไฟฟ้า

และมีคนเชื่อว่า เงินช่วยเหลือที่ว่านี้อีกก้อนหนึ่งก็ยังเจียดเอาไปช่วยจ่ายเงินเดือนให้เจ้าหน้าที่ประจำของฮามาสด้วย

กาตาร์สามารถโน้มน้าวกลุ่มฮามาสให้ปล่อยตัวนักโทษ 4 คนซึ่งเป็นผู้หญิงทั้งหมด

 “เรายังคงมีความหวังเกี่ยวกับสถานการณ์ตัวประกัน" มาเจด อัล อันซารี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของกาตาร์บอก

และเชื่อว่าการเจรจามีความคืบหน้าพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเปรียบเทียบกับตอนเริ่มต้นของสงครามที่ต่างฝ่ายต่างถล่มใส่กันอย่างไม่ยั้งมือ

ในกระบวนการเจรจาให้ปล่อยตัวก็ใช่จะราบรื่นเสียทั้งหมด

เพราะเป็นกระบวนการที่ค่อยๆ คืบคลานไปและช้ากว่าที่ฝ่ายกาตาร์คาดไว้ล่วงหน้า

สาเหตุเป็นเพราะมีการวางระเบิดในโรงพยาบาล ซึ่งทำให้ทุกอย่างต้องชะงักไป

แต่ก็มีสัญญาณเชิงบวกพอสมควร

ตอนแรกกลุ่มฮามาสต้องการแลกเปลี่ยนเชลยศึกแบบสมบูรณ์ซึ่งรวมถึงพลเรือนด้วย

แต่ต่อมาก็ยอมปล่อยทีละกลุ่มเพื่อทดสอบความจริงใจของกันและกัน

เท่ากับเป็นการให้คะแนนความสามารถในการปรับศิลปะในการเจรจาต่อรองของ “คนกลาง” อย่างกาตาร์เหมือนกัน

อิสราเอลและพันธมิตรตะวันตกจำนวนมากเชื่อว่า “ท่านอัลธานี” เป็นที่เกรงอกเกรงใจของฮามาสมากกว่าที่ปรากฏภาพข้างนอก

เป็นไปได้ว่า ผู้นำกาตาร์อาจจะเพิ่มแรงกดดันต่อผู้นำฮามาสให้ปล่อยตัวประกันมากขึ้นได้อีก

“ประชาคมระหว่างประเทศควรเรียกร้องให้กาตาร์ ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มฮามาส บอกให้ฮามาสปล่อยตัวประกันที่จับไว้ทันที” เอลี โคเฮน รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล กล่าวในการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ก่อน

 “เรารู้ว่ากาตาร์สามารถใช้อิทธิพลเหนือกลุ่มฮามาสได้ และเราไม่มีเหตุผลที่จะเชื่อว่ากลุ่มฮามาสจะไม่ทำตาม” ปีเตอร์ สตาโน โฆษกหัวหน้าฝ่ายกิจการภายนอกของสหภาพยุโรปบอกกับนักข่าว

กลุ่มฮามาสตั้งเงื่อนไขให้อิสราเอลหยุดทิ้งระเบิด เพื่อรวบรวมเชลยมากกว่า 200 คนที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วฉนวนกาซา ก่อนจะปล่อยตัวได้ตามคำเรียกร้องของกาตาร์

สันนิษฐานว่า ตัวประกันบางส่วนอยู่ภายใต้การควบคุมของญิฮาดอิสลาม ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง และบางส่วนซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัยของพลเรือนชาวปาเลสไตน์

เมื่อพลเรือนได้รับการปล่อยตัว กลุ่มฮามาสหวังที่จะเจรจาแลกเปลี่ยนนักโทษ หมายถึงนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่อิสราเอลจับไว้ในระยะเวลาที่ผ่านมา เพื่อแลกกับทหารอิสราเอลติดอาวุธที่ฮามาสจับไป

ผู้นำของกลุ่มฮามาสออกข่าวว่า ทางกลุ่มมีตัวประกันของฝั่งอิสราเอลมากพอที่จะขอแลกให้อิสราเอลปล่อย “นักโทษทั้งหมดของเรา”

กาตาร์กังวลว่า หากอิสราเอลยังเดินหน้าทิ้งระเบิดต่อไป และกลุ่มฮามาสรู้สึกว่าใกล้จะถึงจุดพ่ายแพ้ การเจรจาก็อาจล้มเหลว

ยอดผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นในฉนวนกาซา และความกลัวว่าตัวประกันอาจเสียชีวิตยังนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการประกาศ “หยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม” ดังขึ้นตลอด

ดังนั้น เราพอจะเห็นว่าวันนี้ “กาตาร์” เล่นบทเป็น “พระเอก” ที่คุยกับทุกฝ่ายได้...ถ้าทุกฝ่ายที่ว่านี้เชื่อว่า การยอมฟังเสียงชักชวนให้สงบศึกของกาตาร์จะเป็นประโยชน์แก่ตนในวันข้างหน้า!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ