ชะตากรรมที่เหี้ยมโหดของ ดินแดนที่ชื่อ ‘ฉนวนกาซา’

ข่าวคราวเรื่องสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสเอ่ยถึง “ฉนวนกาซา” ตลอดเวลา เพราะนี่คือดินแดนที่กลายเป็นสมรภูมิที่กำลังร้อนแรงที่สุด

แต่น้อยคนจะสนใจที่มาที่ไปของดินแดนเล็กๆ ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่มีพื้นที่เพียง 365 ตารางกิโลเมตร

แต่มีประชากร 2.4 ล้านคน จนกลายเป็นจุดที่มีผู้คนหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เพราะมีถึง 6,507 ชีวิตต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร ซึ่งแออัดพอๆ กับเกาะฮ่องกงโดยเฉลี่ย และวิถีชีวิตต่างกันคนละโลก

เทียบกับของประเทศไทย มีความหนาแน่นของประชากรอยู่ที่เพียง 128 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตรเท่านั้น

หรือ 3,502 คนต่อตารางกิโลเมตรใน กทม.

ฉนวนกาซาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ปาเลสไตน์ก่อนที่รัฐอิสราเอลจะถูกสร้างขึ้นในปี 2491

มีการบันทึกว่าเป็นกระบวนการกวาดล้างชาติพันธุ์อย่างรุนแรง โดยขับไล่ชาวปาเลสไตน์หลายแสนคนออกจากที่อยู่อาศัยเดิม

ฉนวนกาซาถูกยึดโดยอียิปต์ในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอล พ.ศ.2491

และยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของอียิปต์จนถึงปี พ.ศ.2510 เป็นปีที่อิสราเอลยึดดินแดนปาเลสไตน์ที่เหลืออยู่ในการทำสงครามกับประเทศอาหรับใกล้เคียง

ฉนวนกาซาเป็นจุดศูนย์กลางแห่งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มาตลอด

แม้ว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่อิสราเอลยึดครอง แต่ฉนวนกาซาก็ถูกตัดขาดจากเวสต์แบงก์และเยรูซาเล็มตะวันออก เมื่ออิสราเอลถูกสถาปนาเป็นรัฐในปี พ.ศ.2491

การปิดล้อมฉนวนกาซา (Blockade) ของอิสราเอลในรูปแบบปัจจุบัน เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2550 เมื่ออิสราเอลกำหนดการปิดล้อมทางบก ทางน้ำ และทางอากาศของดินแดนแห่งนี้

อิสราเอลควบคุมน่านฟ้าและน่านน้ำของฉนวนกาซา รวมถึงจุดผ่านแดนสองในสามจุด จุดที่สามอยู่ภายใต้การควบคุมของอียิปต์

การเคลื่อนย้ายผู้คนเข้าและออกจากฉนวนกาซาเกิดขึ้นผ่านทาง Beit Hanoun (ที่ชาวอิสราเอลรู้จักกันในชื่อเอเรซ) ไปอิสราเอล และ Rafah กับอียิปต์

ทั้งอิสราเอลและอียิปต์ยังคงปิดพรมแดนของตนเป็นส่วนใหญ่

เป็นเหตุผลที่ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและมนุษยธรรมที่มีปัญหาอยู่แล้วย่ำแย่ลงไปอีก

อิสราเอลอนุญาตให้ผ่านจุดข้าม Beit Hanoun ได้เฉพาะใน “กรณีพิเศษด้านมนุษยธรรม โดยเน้นที่กรณีทางการแพทย์เร่งด่วน” เท่านั้น

จำนวนชาวปาเลสไตน์ที่เดินทางออกได้ในช่วงทศวรรษปี 2553-2562 อยู่ที่ 287 คนโดยเฉลี่ยต่อวัน ทั้งนี้ตามสถิติทางการของสหประชาชาติ

อิสราเอลได้จำกัดการเคลื่อนไหวของชาวปาเลสไตน์เข้าและออกจากฉนวนกาซาเป็นเวลานานกว่า 15 ปีที่ผ่านมา

เริ่มต้นในช่วงปลายทศวรรษ 1980 อันเป็นช่วงการลุกฮือของชาวปาเลสไตน์ครั้งแรก หรืออินติฟาดา

อิสราเอลเริ่มกำหนดข้อจำกัดโดยออกกฎกำหนดให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาต้องได้รับใบอนุญาต (ซึ่งได้มาด้วยความยากลำบาก) เพื่อทำงานหรือเดินทางผ่านอิสราเอล หรือเข้าถึงฝั่งตะวันตกและเยรูซาเล็มตะวันออก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2536 อิสราเอลได้ใช้กลยุทธ์ "ปิด" ดินแดนปาเลสไตน์เป็นเรื่องปกติ

โดยบางครั้งก็ห้ามชาวปาเลสไตน์ทุกคนในบางพื้นที่หลบหนีออกไป แต่ละครั้งก็ยาวนานหลายเดือน

ในปี 2538 อิสราเอลสร้างรั้วอิเล็กทรอนิกส์และกำแพงคอนกรีตรอบๆ ฉนวนกาซา

ทำให้การไปมาหาสู่ระหว่างดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกแยกกันอยู่ยิ่งลำบากมากขึ้น

ในปี 2543 เมื่ออินติฟาดาครั้งที่ 2 ปะทุ อิสราเอลได้ยกเลิกใบอนุญาตการเดินทางและทำงานที่มีอยู่ในฉนวนกาซาจำนวนมาก และลดจำนวนใบอนุญาตใหม่ลงอย่างมากเช่นกัน

ปีต่อมา อิสราเอลทิ้งระเบิดและทำลายสนามบินฉนวนกาซา เพียงสามปีหลังจากเปิดทำการ

สี่ปีต่อมา อิสราเอลเริ่มปฏิบัติการที่เรียกว่า "การแยกตัว" จากฉนวนกาซา

นั่นคือการประกาศถอนตัวชาวยิวอิสราเอลประมาณ 8,000 คนที่อาศัยอยู่ในถิ่นฐานที่ผิดกฎหมายออกจากฉนวนกาซา

อิสราเอลอ้างว่าการยึดครองฉนวนกาซายุติลงนับตั้งแต่ถอนทหารและผู้ตั้งถิ่นฐานออกจากดินแดนดังกล่าว

แต่กฎหมายระหว่างประเทศมองว่าฉนวนกาซาเป็นดินแดนที่ถูกยึดครอง เนื่องจากอิสราเอลควบคุมพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างเต็มที่

ในปี 2549 ขบวนการฮามาสชนะการเลือกตั้งทั่วไปและยึดอำนาจทางการได้

หลังจากเกิดความขัดแย้งที่รุนแรงกับฟาตาห์ ซึ่งเป็นคู่แข่งกัน

เพราะฝ่ายหลังประกาศไม่ยอมรับผลการลงคะแนนเสียง

นับตั้งแต่กลุ่มฮามาสขึ้นสู่อำนาจในปี 2550 อิสราเอลก็เพิ่มการปิดล้อมฉนวนกาซาหนักหน่วงขึ้นอีก

การปิดล้อมหมายถึงการตัดชาวปาเลสไตน์ออกจากศูนย์กลางเมืองหลักอย่างกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลเฉพาะทาง สถานกงสุลต่างประเทศ ธนาคาร และบริการที่สำคัญอื่นๆ

แม้ว่าข้อกำหนดของสนธิสัญญาออสโลปี 2536 ระบุว่า อิสราเอลจะต้องปฏิบัติต่อดินแดนปาเลสไตน์ในฐานะองค์กรทางการเมืองหน่วยเดียว แย่งแบ่งแยก แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ฟังเสียง

ยังตัดชาวปาเลสไตน์ที่เป็นคริสเตียนและมุสลิมในฉนวนกาซาออกจากการเข้าถึงศูนย์กลางของชีวิตทางศาสนาอีกต่างหาก

นั่นหมายถึงปัญหาที่ตามมาคือครอบครัวแตกแยก เยาวชนถูกปฏิเสธไม่ให้มีโอกาสศึกษาและทำงานนอกฉนวนกาซา และหลายคนถูกปฏิเสธสิทธิ์ในการรับการรักษาพยาบาลที่จำเป็น

ความจริงการปิดล้อมเช่นว่านี้ถือว่าขัดต่อมาตรา 33 ของอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 4 ซึ่งห้ามมิให้มีการลงโทษโดยรวม

แต่อิสราเอลก็อ้างความมั่นคงของตนเป็นหลักปฏิบัติที่สร้างความโกรธแค้นชิงชังให้กับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายที่เห็นใจปาเลสไตน์กล่าวหาว่าการที่อิสราเอลปิดล้อมฉนวนกาซาได้ทำลายล้างเศรษฐกิจ และนำไปสู่สิ่งที่สหประชาชาติเรียกว่า "การด้อยพัฒนา" ของดินแดนแห่งนี้

ชาวปาเลสไตน์ประมาณร้อยละ 56 ในฉนวนกาซาต้องทนทุกข์ทรมานจากความยากจน และการว่างงานของเยาวชนอยู่ที่ร้อยละ 63

ชาวปาเลสไตน์มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ในฉนวนกาซาเป็นผู้ลี้ภัยที่ถูกไล่ออกจากบ้านในส่วนอื่นๆ ของปาเลสไตน์ในปี 2491

การปิดล้อมได้นำไปสู่การขาดแคลนสิ่งของพื้นฐาน เช่น อาหารและเชื้อเพลิง

นอกจากนี้ยังเป็นอุปสรรคต่อศักยภาพของกาซาในการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว

ปัญหาเรื้อรัง เช่น การเข้าถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพ และน้ำสะอาด ได้กลายเป็นปัญหาที่เด่นชัดมากขึ้นทุกที

นับตั้งแต่เริ่มการปิดล้อม อิสราเอลได้เปิดฉากการโจมตีทางทหารที่ยืดเยื้อในฉนวนกาซาสี่ครั้ง: ในปี 2551, 2555, 2557 และ 2564

การโจมตีแต่ละครั้งทำให้สถานการณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้วของฉนวนกาซารุนแรงขึ้น

ชาวปาเลสไตน์กล่าวหาว่าชาวบ้านหลายพันคนถูกสังหาร รวมถึงเด็กจำนวนมาก บ้านเรือน โรงเรียน และอาคารสำนักงานหลายหมื่นหลังถูกทำลาย

การสร้างใหม่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากการปิดล้อมทำให้วัสดุก่อสร้าง เช่น เหล็กและซีเมนต์ เข้าถึงฉนวนกาซาไม่ได้

การโจมตีด้วยขีปนาวุธของอิสราเอลและการบุกรุกภาคพื้นดินได้สร้างความเสียหายให้กับท่อส่งก๊าซ และโครงสร้างพื้นฐานด้านการบำบัดน้ำเสียของฉนวนกาซาด้วย เป็นผลให้น้ำเสียมักจะซึมเข้าไปในน้ำดื่ม ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคทางน้ำเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

องค์การสหประชาชาติระบุว่า น้ำในกาซามากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ไม่ปลอดภัยสำหรับการดื่ม

นี่คือสถานภาพของฉนวนกาซาที่ผ่านมา...ยิ่งเมื่อเกิดสงครามรอบใหม่คราวนี้ อะไรที่ย่ำแย่อยู่แล้วก็เสื่อมทรุดลงไปต่อหน้าต่อตา

และมองไม่เห็นอนาคตเลยแม้แต่น้อย!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ