กลายเป็นสูตรสำเร็จ
เมื่อไหร่มีรัฐบาลพลเรือน เมื่อนั้นต้องยุบ กอ.รมน.
เหตุผลที่อยากยุบ เท่าที่รับฟังก็เพราะ กอ.รมน. เป็น "รัฐซ้อนรัฐ" เป็นเครื่องมือของรัฐบาลทหาร ที่่้ใช้เล่นงานฝั่งตรงข้าม
การมี กอ.รมน. ไร้ประโยชน์ สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน
ก่อนที่จะตัดสินใจยุบหรือไม่ยุบ ไปดูกันก่อนว่า กอ.รมน. หรือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีหน้าที่อะไร
กอ.รมน. มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
๑.ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินแนวโน้มของสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
๒.อำนวยการในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในการนี้ให้มีอำนาจหน้าที่เสนอแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานและดำเนินการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามแผนและแนวทางนั้น
๓.อำนวยการ ประสานงาน และเสริมการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามแผนและแนวทางในการปฏิบัติงานตาม (๒) ในการนี้ คณะรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ กอ.รมน.มีอำนาจในการกำกับการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดด้วยก็ได้
๔.เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและความสงบเรียบร้อยของสังคม
๕.ดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติหรือตามที่คณะรัฐมนตรี สภาความมั่นคงแห่งชาติหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
ขณะนี้มีพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวคือพรรคก้าวไกล แสดงเจตจำนงว่า ต้องยุบ กอ.รมน.ทิ้ง
ส่วนพรรคเพื่อไทย คงมีเพียง "สหายศรชัย" อดิศร เพียงเกษ ที่ยังขมขื่นกับอดีต ออกมาทุบโต๊ะ ไม่ควรมี กอ.รมน.อีกต่อไป
"...กอ.รมน. ทหารยังมีอำนาจ เหนือพลเรือน เหนือประชาชน ทำไมต้องมีรองผู้ว่าราชการ มาจากทหาร บ้านเมืองผ่านยุคคอมมิวนิสต์มาแล้ว ยกเลิก กอ.รมน.เท่ากับมอบสิทธิเสรีภาพ เสมอภาคให้แก่ประชาชน สร้างประชาธิปไตย..."
นั่นคือข้อความที่ สหายศรชัย สื่อออกมา
แต่รัฐบาลพลเรือนที่มีนายกฯ ชื่อเศรษฐา ทวีสิน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชื่อ สุทิน คลังแสง ยืนยันถึงความจำเป็นต้องมี กอ.รมน.
ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล ตามอำนาจหน้าที่และประสบการณ์ ฉะนั้นการดำรงอยู่หรือยกเลิก กอ.รมน. ยังต้องถกเถียงให้ตกฟากถึงข้อดีข้อเสีย
ในแง่ความมั่นคงของชาติถือเป็นเรื่องสำคัญ หากพลาดหมายถึงต้องแลกด้วยชีวิตของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ รวมไปถึงประชาชน
ดังเช่นรัฐบาลทักษิณหาญกล้ายกเลิก ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เมื่อปี ๒๕๔๕
หลังจากนั้นแม้จะมี กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) ขึ้นมาทดแทน แต่แทนที่ปัญหาความรุนแรง ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้จะลดลง กลับพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ตลอดช่วงรัฐบาลไทยรักไทย จึงมีการก่อความรุนแรงในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
สาเหตุหลักคือการหายไปของ ศอ.บต. มาพร้อมๆ กับการเกิดสุญญากาศในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่
ศอ.บต.จึงกลับมาอีกครั้งในรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
หาก ศอ.บต.ถูกยุบ จะเกิดอะไรขึ้น ปัญหาใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้จะคลี่คลายลงหรือไม่ หรือกลับไปรุนแรงอีกครั้ง
ฟัง "รอมฎอน ปันจอร์" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตัวตั้งตัวตี ปั้นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พ.ศ. ๒๕๕๑ แล้ว ดูเหมือนว่าทันทีที่ยกเลิก เส้นทางจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ
แต่มุมมองที่มองเข้าไปยังพรรคก้าวไกล กลับเห็นชุดความคิดที่น่าสะพรึงกลัวไม่น้อยทีเดียว
เพราะเป้าหมายของการยุบ กอ.รมน. เป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์หลักของพรรคก้าวไกล นั่้นคือการเปลี่ยนประเทศไทย
บทสัมภาษณ์ "รอมฎอน ปันจอร์" วานนี้ (๑ พฤศจิกายน) สะท้อนความคิดนี้
"...การพยายามจะเสนอให้มีการปฏิรูปกองทัพ และระบบงานความมั่นคงของประเทศนี้ หัวใจคือการพูดถึงประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตย
เราต้องการสร้างและสถาปนาหลักการประชาธิปไตย ที่รัฐบาลพลเรือนเป็นใหญ่เหนือกองทัพ และพยายามทำให้กองทัพอยู่ห่าง หรือออกจากการเมืองมากที่สุด..."
พอสรุปได้ว่า การยุบ กอ.รมน. คือการปฏิรูปกองทัพแบบเงียบๆ
แต่ความผิดพลาดของพรรคก้าวไกลคือ การมองปัญหามิติเดียว และมุมมองต่อ กอ.รมน.ที่สุดโต่งเกินไป ก็เป็นอุปสรรคในการแยกแยะปัญหา
เช่นการบอกว่า กอ.รมน.มองประชาชนเป็นศัตรู เป็นภัยคุกคามของชาติ
ขณะที่ในข้อเท็จจริงการแยกแยะว่า อะไรเป็นภัยความมั่นคงของชาติในมุมมองของพรรคก้าวไกลก็เป็นปัญหา
เช่นผู้ต้องหาคดี ม.๑๑๒ ทั้งหมด ก้าวไกลไม่เคยมองเป็นภัยความมั่นคงของชาติ กลับมองว่าเป็นผู้ต้องการเปลี่ยนประเทศไทย
หรือแม้กระทั่งการยุบ กอ.รมน. เพื่อให้รัฐบาลพลเรือนเป็นใหญ่เหนือกองทัพ ก็เป็นมุมมองที่ตื้นเขินเหลือประมาณ
รัฐบาลพลเรือนเป็นใหญ่เหนือกองทัพได้ ไม่ใช่เพราะไปตัดแขนตัดขากองทัพ การทำเช่นนั้นยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง
แต่รัฐบาลพลเรือนสามารถอยู่เหนือกองทัพ โดยกองทัพต้องสยบยอม ประชาชนต้องชื่นชม นั่นคือรัฐบาลพลเรือนต้องเป็นรัฐบาลของประชาชนอย่างแท้จริง
ไม่ใช่รัฐบาลที่เข้ามาเพื่อกอบโกย มาสร้างฐานอำนาจเพื่อโกงบ้านกินเมือง
ภารกิจหนึ่งที่จะหายไปพร้อมกับการยุบ กอ.รมน.คือ การเสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักในหน้าที่ที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ สร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ
ฉะนั้นมุมมองพรรคก้าวไกล ต้องการยุบ กอ.รมน. เพื่อสร้างประชาธิปไตย มีรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อมองเข้าไปในพรรคก้าวไกล กลับเห็นในสิ่งที่ต่างออกไป
นี่คือหนึ่งในวาระเปลี่ยนประเทศไทย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี