แม้ว่า ประเทศไทยจะไม่มีการเนรเทศอย่างเป็นทางการ แต่การหลบลี้หนีออกไปเพราะต้องคดีหรือโดนกดดันจากกระแสภัยการเมือง ก็น่าจะเข้าข่ายเป็นการถูกเนรเทศกลายๆได้
กรณีที่คุณทักษิณ ชินวัตรเดินทางออกจากประเทศไทยไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็น่าจะเข้าข่ายถูกเนรเทศ ในช่วงเวลาที่คุณทักษิณจะเดินทางออกไปนั้น คือปี พ.ศ. 2551 รัฐบาลขณะนั้นคือ รัฐบาลพลังประชาชน ซึ่งก็เป็นพรรคของคุณทักษิณ และในช่วงเวลาที่คุณทักษิณตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ คุณทักษิณได้ขออนุญาตศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่า ต้องการไปชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่ปักกิ่ง ประเทศจีนระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 10 สิงหาคม 2551 หลังจากนั้น คุณทักษิณก็ไม่ได้กลับมาอีกเลยจนวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2566
ถ้าย้อนประวัติศาสตร์ จะพบว่าประเทศที่มีการเนรเทศอย่างเป็นทางการเป็นประเทศแรก คือ เอเธนส์ สมัยที่เป็นนครรัฐกรีกโบราณ โดยการเนรเทศจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องได้มีการลงคะแนนของประชาชน ดังนั้น กลไกการเนรเทศของเอเธนส์จึงถือได้ว่าเป็นการเนรเทศบนฐานของเสียงข้างมากของประชาชน ในขณะที่การลี้ภัย-หลบหนีในรัฐสมัยใหม่ อาจจะเป็นการเนรเทศบนฐานของพลังผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่เกี่ยวกับเจตจำนงของประชาชนเลยก็ได้
ในกรณีการเนรเทศคุณทักษิณนั้น จะว่าเป็นเพราะผู้กุมอำนาจรัฐกดดันหรือสร้างภัยคุกคามให้ต้องหนี ก็คงพูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำนัก เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้ว ขณะนั้น รัฐบาลคือรัฐบาลพลังประชาชน แต่พลังอำนาจที่ทำให้คุณทักษิณต้องอ้างเหตุไปชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและไม่กลับมาตามคำสัญญา คือ อำนาจศาลหรืออำนาจตุลาการ ซึ่งถ้าตัดสินลงโทษให้คุณทักษิณต้องติดคุกแล้ว แต่สมมุติคุณทักษิณไม่ยอมติด ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เป็นรัฐบาลพรรคของคุณทักษิณ การขับเคลื่อนมวลชนออกมาสนับสนุนการไม่ยอมเข้าคุก ไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลของคุณทักษิณ จึงมีความเป็นไปได้สูง หรือแม้ว่า คุณทักษิณยอมติดคุก แต่มวลชนคนรักทักษิณไม่ยอม ก็จะมีการลงถนนอยู่ดี เมื่อฝ่ายหนึ่งลงถนน อีกฝ่ายหนึ่งก็ย่อมลงด้วย วังวันของมวลชนปะทะมวลชนที่เพิ่งจะยุติไปจากการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ก็จะเวียนกลับมาอีก และการทำรัฐประหารก็อาจจะกลับมาอีก ถามว่า สมการนี้ ใครเสียประโยชน์มากที่สุด ?
ปกติ การทำรัฐประหาร---------หากไม่ใช่ทำรัฐประหารตัวเอง แบบที่จอมพล ป. พิบูลสงครามทำในปี พ.ศ. 2494 หรือจอมพลสฤษดิ์ในปี พ.ศ. 2501 หรือจอมพลถนอมในปี พ.ศ. 2514 ที่สามจอมพลทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของตัวเองและตั้งตัวเองขึ้นมาเป็นรัฐบาลอีก------ผู้เสียประโยชน์มากที่สุด คือ รัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ ดังนั้น หากคุณทักษิณยังอยู่ในประเทศ และเกิดรัฐประหารขึ้นจากการปะทะกันระหว่างมวลชนสองฝ่าย ผู้เสียประโยชน์ที่สุดก็คือ รัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่มีคุณสมัคร สุนทรเวชเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งรัฐมนตรีพรรคพลังประชาชนที่จะต้องเสียตำแหน่งไปให้คณะรัฐประหาร ขณะเดียวกัน กว่าทหารจะตัดสินใจทำรัฐประหาร ก็น่าจะต้องปล่อยให้มวลชนสองฝ่ายออกมาแสดงพลังจนสถานการณ์สุกงอม ซึ่งภายใต้เงื่อนไขแบบนั้น เศรษฐกิจก็ย่ำแย่ไปด้วย บ้านเมืองจะต้องปั่นป่วนสับสนวุ่นวายพอสมควร
ดังนั้น ฝ่ายที่ไม่อยากให้คุณทักษิณอยู่เป็นปัญหาในประเทศ ก็น่าจะได้แก่ รัฐบาลพลังประชาชนเอง รวมทั้งนายทุนพ่อค้าแม่ขายโดยทั่วไป ไม่นับพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของตามที่ชุมนุม มวลชนที่ต่อต้านคุณทักษิณคงไม่อยากให้คุณทักษิณออกนอกประเทศ แต่อยากให้อยู่จนมีคำพิพากษาตัดสิน และถ้าตัดสินให้ติดคุก ก็คงอยากให้คุณทักษิณติดคุกมากกว่าจะเห็นคุณทักษิณหลบหนีไปใช้ชีวิตชิลๆในต่างประเทศ ส่วนมวลชนคนรักทักษิณก็ไม่อยากให้คุณทักษิณต้องระหกระเหินไปต่างประเทศ แต่อยากให้คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งจะขัดกับคุณสมัครที่เพิ่งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกได้เพียงไม่กี่เดือน และกำลังเป็นอยู่ และก็จะเป็นต่อ
เรื่องคุณสมัครนี่ถือเป็นนิทานสอนใจให้คุณที่หวงพรรคอย่างคุณทักษิณได้อย่างดี ที่จำเป็นต้องทดลองให้คนอื่นมาเป็นหัวหน้าพรรคและเป็นนายกรัฐมนตรีแทนตัวเอง นิทานเรื่องนี้สอนว่า “อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคนนอกครอบครัว”
เมื่อรัฐบาลพลังประชาชนไม่อยากให้เกิดรัฐประหารเพราะตนเพิ่งได้เป็นรัฐบาล ก็ย่อมไม่อยากให้มวลชนเสื้อแดงออกมาสำแดงพลังมากเกินไป แต่คนที่คิดต่างจากรัฐบาล แต่เป็นฝั่งเดียวกับรัฐบาลคือ แกนนำม็อบ ตามคติ “ม็อบมี ตัวพี่ก็ต้องมา ถ้าม็อบไม่มา ตัวพี่ก็ไม่มี.....”
ดังนั้น เมื่อพิจารณาโดยรวมๆแล้ว ฝ่ายที่อยากให้คุณทักษิณอยู่น่าจะมีพลังน้อยกว่าฝ่ายที่อยากให้คุณทักษิณออกไป คุณทักษิณจึงเสมือนถูกเนรเทศจากคนฝ่ายต่างๆที่กล่าวไปข้างต้น รวมความคือ เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
เพราะหากอยู่แล้ว โอกาสม็อบชนม็อบมีสูงมาก และรัฐบาลพลังประชาชนจะเสียประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ในการเมืองเอเธนส์เมื่อสองพันห้ากว่ามาแล้วก็เช่นกัน คนที่ประชาชนลงคะแนนเสียงเนรเทศคือ คนที่มีบทบาททางการเมืองสูง และมีคู่แข่งหรือศัตรูทางการเมืองที่พยายามหาทางกำจัดโดยการปลุกปั่นให้ข้อมูลแก่ประชาชนถึงข้อเสียต่างๆ แต่ละคนล้วนมีสถานะเป็น “อินฟูลเอนเซอร์” ทั้งนั้น เพราะถ้าไม่เป็น “อินฟูลเอนเซอร์” ก็ไม่รู้จะต้องเนรเทศทำไม อยู่ไปก็ไม่ได้สร้างผลกระทบอะไรได้อยู่แล้ว
ในการเมืองเอเธนส์ ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ เกณฑ์จำนวนคะแนนเสียงประชาชนที่จะทำให้คนๆหนึ่งถูกเนรเทศมีสองแหล่งข้อมูล แหล่งแรกกล่าวว่า จะต้องมีคนมาลงคะแนนเสียงอย่างน้อย 6,000 คน และในจำนวนเสียง 6,000 นั้น ใครที่ได้รับคะแนนมากที่สุด คือผู้ที่ต้องถูกเนรเทศ ส่วนอีกแหล่งหนึ่งกล่าวว่า คนที่จะถูกเนรเทศจะต้องได้รับคะแนนเสียงขับไล่ 6,000 เสียงเป็นอย่างน้อย
ไม่ว่าจะเกณฑ์จะเป็นแบบไหนก็ตาม แต่บ้านเมืองมีป่วนแน่ หากคนๆนั้นไม่ยอมรับการเนรเทศโดยการเดินทางออกนอกเอเธนส์ เพราะหากคนหกพันคนลงคะแนนให้เนรเทศ แต่คนที่เหลือเกิดไม่ต้องการเนรเทศ แต่ไม่ได้มาลงคะแนน สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็คือ คนหกพันจะปะทะกับคนที่เหลือที่มีจำนวนถึงสามหมื่นกว่าคน หรือแม้ไม่ถึงสามหมื่น เอาแค่หกพันปะทะหกพัน นครรัฐโบราณอย่างเอเธนส์ก็ย่ำแย่แล้ว หากคนที่เป็นคู่แข่งทางการเมืองหรือ “อินฟลูเอนเซอร์” แต่ละคนปั่นม็อบออกมาให้ตีกัน ซึ่งไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างไร ใครจะแพ้ ใครจะชนะ
ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงถึงสูญเสียทุกอย่างรวมทั้งชีวิต คนที่ถูกเนรเทศในเอเธนส์จึงยอมรับการเนรเทศมากกว่าจะฝืนมติมหาชน แม้ว่าจะไม่ใช่มหาชนจริงๆก็ตาม เพราะกฎการเนรเทศของเอเธนส์คือ ให้ออกจากเอเธนส์ไป 10 ปีโดยไม่มีการยึดทรัพย์หรือถอนสถานการณ์เป็นพลเมือง เมื่อครบ 10 ปี กลับมาทุกอย่างก็เหมือนเดิม ถ้าโชคดี ที่ประชุมสภาประชาชนเอเธนส์เปลี่ยนใจ ก็สามารถลงมติเรียกตัวกลับและอภัยโทษให้ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ
'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง