ทำไมสหรัฐต้องอยู่เคียงข้างอิสราเอลอย่างเหนียวแน่น? (ภาค 1)

ผมขอสารภาพว่า ผมชอบเขียนคอลัมน์แนวคอลัมน์ที่ผ่านมาครับ ที่ผมเขียนเรื่อง “ใครคือ Hamas?” ภาค 1 และ 2 ที่ผมชอบเพราะจะได้เสริมความรู้กับเรื่องที่ผ่านตาตลอด เหมือนจะเป็นเรื่องที่เรารู้เรื่อง (หรือควรจะรู้) แต่พอเอาเข้าจริง ถ้ามีใครถามลึกไปกว่าสิ่งที่ผ่านตา เราคงไม่รู้มากกว่าสิ่งที่เห็น

    เช่นเรื่องของ Hamas เป็นชื่อที่คุ้นเคย เป็นชื่อที่เราเห็นในข่าว แต่ไม่รู้อะไรมากไปกว่านั้น ดังนั้นเวลาผมเขียนทำนองว่า “…ถือว่าเป็นการเสริมความรู้พื้นฐาน ให้กับพวกเราเวลาอ่านข่าวนั้น…” ผมมักจะอ้างแฟนคอลัมน์เสมอใช่ไหมครับ? แต่ที่แท้จริง ผมเสริมความรู้พื้นฐานให้ตัวผมเองมากกว่า

บางครั้งผมจะเจอคำถามตามสื่อต่างๆ ที่ผมเสพ ซึ่งหลายครั้ง ถ้าผ่านตาเฉยๆ ดูเหมือนเป็นคำถามที่ไม่น่าต้องถามเลย เพราะคำตอบชัดอยู่แล้ว แต่พอเอาไปคิดจริงๆ เกิดชะงัก และพูดกับตัวเอง…“เออว่ะ” คำถามที่ผมเจอมาในสัปดาห์นี้คือ “Why does the US always side with Israel?” หรือทำไมสหรัฐเลือกข้างอยู่กับฝ่ายอิสราเอลตลอด?

ถ้าไม่คิดอะไร เจอคำถามปุ๊บ ตอบปั๊บ ทุกคนก็จะบอกว่า เพราะชาวยิวในสหรัฐมีอิทธิพลและมีอำนาจการเงินสูง ทางรัฐบาลถึงต้องเกรงใจ ก็ถือว่าถูกระดับหนึ่ง หรืออีกคำตอบคือ สหรัฐต้องถือหางอิสราเอลเพื่อให้เกิดความสมดุลในประเทศตะวันออกกลาง ก็ถือว่าถูกระดับหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่มันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ความจริงมันลึกซึ้งและซับซ้อนกว่านี้เยอะ พอๆ กับเวลาใครถามว่าทำไมพรรคที่ชนะการเลือกตั้งที่ผ่านมาในไทย ถึงมีคนเลือกมากกว่าพรรคอื่น? ถ้าจะตอบห้วนๆ คือเด็กรุ่นใหม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสถาบัน ก็ถือว่าถูก…หน่อยหนึ่ง หรือโลกโซเชียลเป่าหูล้างสมองพวกเขา ก็ถือว่าถูก…หน่อยหนึ่ง คำตอบมันลึกซึ้งและซับซ้อนกว่านี้เยอะ

ถ้าเราย้อนอดีตกลับไปตอนมีการก่อตั้ง รัฐ/ย่าน/ประเทศอิสราเอลขึ้นมา อันนั้นคือช่วงหลัง สหรัฐกับพันธมิตรชนะสงครามโลกครั้งที่สอง ปั้น (และบาง) โลกใหม่ให้เป็นไปตามแนวที่จะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายชนะสงคราม (ยิ่งเฉพาะสหรัฐ) ในการสร้าง/ก่อตั้ง/มอบพื้นที่ให้ชาวยิวมีที่อยู่อาศัยนั้นเกิดจากความรู้สึกผิด หรือความรู้สึก Guilty จากฝ่ายสหรัฐที่ไม่เข้ามาหยุดยั้งการล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในยุโรป ที่ตายทั้งหมดประมาณ 6 ล้านคนจากฝีมือนาซี ทางสหรัฐจึงพยายามล้างบาปตัวเองจากการอยู่นิ่งเฉย ด้วยการสร้าง/ก่อตั้ง/มอบพื้นที่ให้ชาวยิวอยู่กันได้ (ในปี 1948) (อธิบายแบบห้วนๆ หยาบๆ ครับ)

แต่ช่วงแรกๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิสราเอล ไม่ได้ผูกพันกัน ไม่ได้รักกัน และไม่ได้เป็นพี่น้องกัน เหมือนทุกวันนี้ครับ ในช่วงแรกๆ ประเทศที่อิสราเอลพึ่งพาที่สุด ประเทศที่เป็นมิตรแท้ ประเทศที่ปกป้องถือหางอยู่เคียงข้าง คือฝรั่งเศส ระหว่างปี 1948 จนถึงช่วงหลัง 1967 เป็นฝรั่งเศสที่เหนียวแน่นกับอิสราเอล ขนาดสหรัฐยังเคยออกมาประณามอิสราเอล ในปี 1956 ตอนที่อิสราเอล (บวกกับอังกฤษกับฝรั่งเศส) เลือกบุกเข้าในประเทศอียิปต์ครับ

แต่ไม่ใช่ว่าสหรัฐจะถือว่าอิสราเอลเป็นศัตรู เพราะในซีกประเทศตะวันออกกลาง สหรัฐต้องปกป้องผลประโยชน์ตัวเอง (เรื่องน้ำมัน) เลยต้องมีอิสราเอลเป็นพันธมิตร บวกกับอียิปต์และซาอุฯ เพราะถือว่าเป็นประเทศที่สหรัฐพอพึ่งพาได้ และดูใกล้เคียงความเป็นประชาธิปไตย (ตามรูปแบบของเขา) ที่สุดในย่านนี้

แต่ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนแปลงหลังสงคราม Six-Day War ระหว่างอิสราเอลกับประเทศอาหรับ (Syria, Jordan, Iraq, Saudi Arabia, Kuwait, Lebanon, Pakistan) ระหว่างวันที่ 5-10 มิถุนายน ปี 1967 ซึ่งฝ่ายอิสราเอลชนะ และยึดพื้นที่แบ่งแยกในประเทศอิสราเอลได้ (Golan Heights ยึดจาก Syria, West Bank กับ East Jerusalem ยึดจาก Jordan และ Gaza Strip กับ Sinai Peninsula ยึดจาก Egypt) แต่สำคัญกว่านั้นคือ สร้างความประทับใจและสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาสหรัฐ เพราะอย่าลืมว่าช่วงเวลาเดียวกัน สหรัฐเองกำลังทุ่มตัวในสงครามเวียดนาม เลยไม่มีกำลังหรือพลังพอจะโยกกองทัพบางส่วนมาเสริมกองทัพอิสราเอล ที่อิสราเอลสามารถชนะสงครามนี้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาสหรัฐแม้แต่น้อย ทำให้ความสัมพันธ์อิสราเอลกับสหรัฐเปลี่ยนเป็นแน่นแฟ้นขึ้นมาทันที

อีกอย่างหนึ่งที่ต้องเข้าใจคือ ยุคนั้นเป็นยุคสงครามเย็น ระหว่างสหภาพโซเวียตกับสหรัฐ โลกทั้งใบเหมือนต้องเลือกข้าง เพราะสองประเทศมหาอำนาจเก็บเกี่ยวประเทศต่างๆ อยู่ภายใต้อารักขาของเขา ในการที่สหรัฐมุ่งมั่นในเวียดนามก็เพื่อปกป้องประเทศในแถบนี้มาเป็นคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับทำไมถึงต้องหนุนบางประเทศในซีกตะวันออกกลาง ก็เพื่อลดบทบาทของสหภาพโซเวียตที่กำลังมีอิทธิพลในประเทศต่างๆ (และรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง)

แต่ด้วยชัยชนะของฝ่ายอิสราเอลจากสงคราม Six-Day War ที่ฝ่ายอิสราเอลมีผู้เสียชีวิตน้อย และแทบไม่พึ่งพาใคร ทำให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐกับอิสราเอลเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง จากแรกๆ ฝ่ายสหรัฐเป็นฝ่ายให้และขายอาวุธ (ในราคาถูก) ให้กับอิสราเอล อนุญาตให้อิสราเอลกู้เงินจากธนาคารสหรัฐด้วยดอกเบี้ยที่ต่ำ เป็นอัตราที่เป็นมิตรสุดๆ จากนั้นในยุค 1980s-1990s เริ่มขยายความสัมพันธ์ไปในด้านร่วมกันทำเรื่อง Research and Development (R&D) และการผลิตอาวุธให้เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน และในปี 1999 ประธานาธิบดี Bill Clinton เซ็น MOU ระยะยาว 30 ปี 3 ฉบับ ฉบับละ 10 ปี ที่สัญญาว่าฝ่ายสหรัฐจะช่วยเหลืออิสราเอลด้านการเงินและอาวุธเป็นจำนวนหลายพันล้านเหรียญฯ ต่อปี (เริ่มจาก 2.8 พันล้านเหรียญฯ ต่อปี มาเป็น 3.8 ล้านเหรียญฯ ต่อปีปัจจุบัน)

เงินที่รับทุกปีมีบทบาทสำคัญที่อิสราเอลสร้างระบบ Iron Dome อย่างมากครับ สำหรับใครไม่ทราบ Iron Dome เป็นแนวป้องกันตัวที่อิสราเอลสร้างขึ้นมาเพื่อทำลายระเบิดและจรวดที่จะยิงเข้ามาจากฝ่ายศัตรู ไม่ว่าจะเป็น Hamas Hezbollah หรือใครก็ตาม เป็นระบบที่ใช้ชิ้นส่วนจากสหรัฐเยอะพอสมควร และเงินจำนวนไม่น้อยมาจากสหรัฐเช่นเดียวกัน เงินที่อิสราเอลได้รับจากสหรัฐทุกปี เป็น 16% ของประมาณกระทรวงกลาโหมเขา ถือว่าเยอะไหม? ก็ถือว่าเยอะ แต่ไม่ได้เยอะขนาดถ้าไม่มีเงินก้อนนี้ กองทัพอิสราเอลจะอยู่ไม่ได้ แต่มีไว้ก็ดีครับ

เอาล่ะครับ ถือว่าวันนี้เป็นการปูทาง เล่าที่มาของความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับสหรัฐ (แบบห้วนและกระชับ) สัปดาห์หน้าเราคุยกันเรื่อง แล้วทำไมสหรัฐจึง (ต้อง) อยู่เคียงข้างอิสราเอลอย่างเหนียวแน่น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'BRO!!!!!'

เกือบ 2 สัปดาห์กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วไป เว้นบรรดานักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมา พวกนี้ยังพูดเต็มปากเต็มคำว่า

“ถ้าไม่เลือกเรา...เขามาแน่”...ทำให้เขาชนะขาดลอย

ผมไม่แน่ใจว่ากว่าแฟนคอลัมน์จะได้อ่านบทความนี้ เรื่องที่ผมจะเขียนนั้นมันแห้งเกินไปหรือเปล่า เพราะกว่าจะถึงวันที่ได้อ่านบทความนี้ เรื่องนี้อาจจะเก่าไปแล้วก็ได้

Thank you, Fernando

โค้งสุดท้ายในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐมาถึงแล้ว ผมขอประกาศตัวว่า ผมไม่ใช่นักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมาครับ บ้านเมืองเราเต็มไปด้วยนักวิเคราะห์ที่จะฟันธงและวิเคราะห์อย่างหนึ่ง….

28 ยังแจ๋ว!!!!

ผมขออนุญาตเขียนเรื่องเบาๆ อีกสักครั้งหนึ่งครับ ไม่เขียนวันนี้ผมไม่รู้จะเขียนตอนไหน และเอาเข้าจริงผมอยากพาแฟนๆ ทั้งหลายออกจากโลกข่าวดิไอคอนกรุ๊ปครับ

8ปีที่แล้ว….ที่ไม่มีวันลืม

ในชีวิตทุกคนมักจะมีอยู่ไม่กี่เหตุการณ์ที่ทำให้เราจำบรรยากาศ จำบริบท จำความรู้สึก และจำทุกรายละเอียด เมื่อเรารำลึกถึง หรือนึกถึงอีกที