7 ตุลาคม 2023 กองกำลังฮามาสจากฉนวนกาซาราว 2,500 นาย บุกโจมตีอิสราเอลหลายทิศทาง สังหารคนในอิสราเอลราว 1,400 ราย พร้อมจับตัวประกัน 200-250 คน นักวิชาการบางคนตีความว่าความรุนแรงกับการสูญเสียของวันนั้นไม่ด้อยกว่าเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2001 เมื่อผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินพาณิชย์พุ่งชนตึกแฝดของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ หรือที่นิยมเรียกว่า 9/11 ของสหรัฐ ครั้งนี้เป็น 9/11 ของอิสราเอล (Israel’s 9/11) บางคนตีความทันทีว่าความสัมพันธ์อิสราเอล-ฮามาสถึงจุดเปลี่ยนแล้ว
ย้อนรอยเหตุการณ์ 9/11:
เหตุวินาศกรรมก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 เครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 ลำของสหรัฐถูกผู้ก่อการร้ายจี้ ในจำนวนนี้ 2 ลำพุ่งเข้าชนตึกแฝดของเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (World Trade Center) ในนครนิวยอร์ก อีกลำพุ่งเข้าชนสำนักงานใหญ่กระทรวงกลาโหม หรือที่เรียกกันว่าตึกเพนตากอนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ส่วนลำที่สี่คาดว่าจะพุ่งชนทำเนียบขาว แต่เนื่องจากผู้โดยสารต่อสู้เครื่องจึงตกลงในพื้นที่ว่างเปล่าไม่ได้ชนถูกอะไร นักวิชาการส่วนหนึ่งเห็นว่าตึกแฝดสูง 1,300 ฟุตเป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยม การทำลายตึกเป็นการแสดงออกว่าต่อต้านทุนนิยม
ในครั้งนั้นประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) กล่าวว่า ผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีคือกลุ่มอัลกออิดะห์ (Al Qaeda) ของอุซามะห์ บินลาดิน หรือโอซามา บินลาเดน (Osama Bin Laden) จึงสั่งโจมตีอัฟกานิสถาน โค่นล้มรัฐบาลตอลิบัน (Taliban) ที่สนับสนุนและให้ที่พักพิงแก่อัลกออิดะห์ ปฏิบัติการโค่นล้มรัฐบาลตอลิบันประสบความสำเร็จด้วยดี สถาปนารัฐบาลอัฟกานิสถานใหม่ภายใต้การนำของนายฮามิด การ์ไซ (Hamid Karzai) ตามด้วยการทำสงครามโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน แห่งอิรัก
แต่หลังสงครามใหญ่น้อยทั้งในอิรัก อัฟกานิสถานและที่ต่างๆ อัลกออิดะห์กับพลพรรคที่เกี่ยวข้อง เช่นตอลิบันยังคงอยู่ พร้อมจะฟื้นคืนชีพอีกครั้ง มีข้อมูลว่าผู้ก่อการร้ายไอซิส (ISIL/ISIS/IS) พัฒนามาจากอัลกออิดะห์ ทุกวันนี้ตอลิบันยังอยู่ ซ้ำยังกลับมาปกครองอัฟกานิสถานด้วย
มีข้อสังเกตว่า ด้วยเหตุร้ายที่เกิดกับสหรัฐครั้งนั้น รัฐบาลบุชถึงกับส่งกองทัพนับแสนบุกอัฟกานิสถานกับอิรัก ผลคือรัฐบาลสหรัฐกระชับอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง กระชับระเบียบโลกอีกรอบ ประกาศว่าทุกประเทศที่ช่วยเหลือหรือไม่ร่วมต่อต้านก่อการร้ายเป็นศัตรู
ถ้าครั้งนี้คือ 9/11 ของอิสราเอล:
Zbigniew Brzezinski ที่ปรึกษาความมั่นคงของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) กล่าวในปี 1988 อย่างน่าสนใจว่า “ฮามาสคือผลิตผลของอิสราเอล” อันหมายถึง ชาวกาซาที่สุดจะอดทน ลุกขึ้นจับอาวุธเท่าที่หาได้สู้กองทัพอิสราเอลทั้งๆ ที่ไม่น่าจะชนะ ยินดีเอาชีวิตเข้าเสี่ยงแต่ไม่ขอยอมอยู่ภายใต้การกดขี่ รวมทั้งเป็นระเบิดพลีชีพมุ่งโจมตีคนไม่เลือกหน้า ด้วยเหตุนี้หลายประเทศจึงตีตราว่ากลุ่มฮามาสคือองค์กรก่อการร้าย รัฐบาลอิสราเอลกับสหรัฐปฏิบัติต่อกลุ่มดังกล่าวดังเช่นปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายอื่นๆ อย่างอัลกออิดะห์ ไอซิส (ISIL/ISIS/IS) สงครามฮามาส-อิสราเอลครั้งนี้นักวิชาการทั้งฝ่ายอิสราเอลกับตะวันตกบางคนตีความว่า ปฏิบัติการของฮามาสเทียบได้กับเหตุก่อการร้ายเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 11 กันยา.2001 (เหตุ 9/11)
ด้านนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) เปรียบเทียบฮามาสเลวร้ายกว่าพวกไอซิส ย้ำว่าต้องไม่เกิดเหตุพวกฮามาสบุกเข้าอิสราเอลอีกต่อไป อิสราเอลจะคว่ำบาตรทุกประเทศผู้ให้ที่พักพิงแก่ฮามาส สังเกต คล้ายกับ “รัฐบาลสหรัฐประกาศว่าทุกประเทศที่ช่วยเหลือหรือไม่ร่วมต่อต้านก่อการร้ายเป็นศัตรู”
ไม่ว่าจะเทียบกับผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์หรือไอซิส กำลังชี้ว่าการตอบโต้ของอิสราเอลเหมาะสมชอบธรรม พวกเขาคือผู้ก่อการร้ายที่ต้องปราบปรามให้สิ้น
ความอีกตอนหนึ่ง นายกฯ เนทันยาฮูกล่าวว่า สงครามเริ่มแล้ว อิสราเอลถูกฮามาสโจมตีโดยไม่รู้ตัว ขอให้คนอิสราเอลทั้งหมดออกจากเมืองกาซาทันที อิสราเอลจะลงมือต่อทุกจุดและด้วยกำลังทุกอย่าง รัฐบาลจะทำทุกอย่างให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก
ย้ำตั้งแต่ต้นว่าการปราบฮามาสไม่ใช่เรื่องง่ายแต่จะชนะในที่สุด
สมัยเหตุวินาศกรรม 9/11 รัฐบาลสหรัฐประกาศทำศึกระยะยาวกับผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์นานหลายปี รวมถึงการทำสงครามกับอัฟกานิสถาน ล้มล้างรัฐบาลซัดดัมแห่งอิรัก มารอบนี้อิสราเอลคงใช้ยุทธศาสตร์เดียวกัน อันหมายถึงกวาดล้างระบอบฮามาสและเล่นงานฝ่ายที่สนับสนุนฮามาสทั่วโลกด้วยวิธีการต่างๆ (ไม่จำต้องใช้กำลังทหารเสมอไป)
ข้ออ้างโจมตีฮิซบอลเลาะห์กับอิหร่าน:
ถ้ายึดแนวทางข้างต้น อิสราเอลสามารถเปิดศึกทำสงครามกับฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในประเทศเลบานอน และอาจไปไกลถึงอิหร่านผู้สนับสนุนรายใหญ่ของฮามาสกับฮิซบอลเลาะห์ ขึ้นกับว่ารัฐบาลเนทันยาฮูจะตัดสินใจอย่างไร นับจากนี้อิสราเอลสามารถโจมตีอิหร่านโดยไม่ต้องอ้างโครงการนิวเคลียร์อิหร่านอีกต่อไป
หรืออาจไม่ต้องวิเคราะห์ตีความให้มากมายหากอิหร่านโจมตีอิสราเอลหรือกองกำลังสหรัฐในตะวันออกกลางโดยตรง ข้อหลังนี้พูดกันมากแต่จนบัดนี้รัฐบาลไบเดนชี้ว่าไม่เป็นเช่นนั้น ข่าวเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม กระทรวงกลาโหมสหรัฐเผย ยังไม่พบหลักฐานผู้นำสูงสุดอิหร่านอิหม่ามคาเมเนอีออกคำสั่งให้กองกำลังต่างๆ โจมตีสหรัฐ หลังฐานที่มั่นสหรัฐหลายแห่งทั้งในอิรักกับซีเรียโดนโจมตีหลายครั้ง เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นฝีมือของกองกำลังที่อิหร่านหนุนหลัง กองกำลังเหล่านี้ก่อเหตุเป็นระยะ
ไม่ว่าความเข้าใจของทางการสหรัฐจะถูกต้องหรือไม่ ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าสหรัฐยังไม่คิดรบโดยตรงกับอิหร่านตอนนี้ อาจตีความได้ว่ารัฐบาลไบเดนยังยับยั้งชั่งใจหรืออยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม แต่ไม่อาจปฏิเสธว่ากองกำลังที่กำลังโจมตีอิสราเอลกับสหรัฐในตะวันออกกลางจำนวนมากได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน สหรัฐจะจัดการกองกำลังเหล่านี้อย่างไร
ทั้งยังเตือนอิหร่านอย่าขยายความรุนแรง ย้ำกองเรือบรรทุกเครื่องบิน 2 ชุดที่อยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนใกล้อิสราเอลพร้อมป้องกันและโจมตีโต้กลับ
ข่าวนี้ตรงกับข่าวสหรัฐติดตั้ง THAAD (Terminal High Altitude Area Defense) ระบบป้องกันขีปนาวุธชั้นเลิศใกล้อิสราเอล คาดว่าน่าจะเพื่อสกัดขีปนาวุธอิหร่านที่ยิงไกลกว่าพันกิโลถึงอิสราเอล อีกทั้งสามารถยิงโจมตีพร้อมกันหลายลูก ตอนนี้อิสราเอลเผชิญศึกรอบทิศ กองทัพอิสราเอลมีงานล้นมืออยู่แล้ว เหลือแต่อิหร่านจะเข้ารบโดยตรงเท่านั้น
ล่าสุด ทหารสหรัฐปะทะกองกำลังที่อิหร่านหนุนหลังในซีเรีย ทางการสหรัฐชี้ว่ากองกำลังนี้สัมพันธ์กับกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guards Corps: IRGC) ของอิหร่าน ได้รับการสนับสนุนทั้งอาวุธ สิ่งของ เงินทอง ทั้งนี้สหรัฐใช้วิธีโจมตีตอบโต้เฉพาะจุดเพื่อป้องกันตัวเอง ไม่หวังปะทะในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม ต้องตระหนักว่าทั้งรัฐบาลสหรัฐ อิสราเอล และอิหร่านต่างมีความยับยั้งชั่งใจ สงครามใหญ่ไม่เกิดง่ายๆ อาจเป็นเพียงสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาสและกองกำลังที่อยู่รอบประเทศอิสราเอล การโจมตีฐานที่มั่นสหรัฐในตะวันออกกลางไม่นำสู่การรบโดยตรงกับอิหร่าน
ย้อนมองภาพรวมยาวๆ นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่าเหตุ 9/11 เป็นผลดีต่อสหรัฐ เอื้อให้ขยายอิทธิพลในประเทศอื่นๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลาง อัฟกานิสถาน ถ้าหากผู้ก่อการร้ายหวังผลบั่นทอนสหรัฐ ผลที่ได้คือกลับตรงข้าม รัฐบาลบุชใช้โอกาสดังกล่าวแผ่ขยายอิทธิพลทั่วโลก ด้วยการประกาศว่าประเทศที่ให้แหล่งพักพิงมีความผิดเท่ากับผู้ก่อการร้าย จะถือว่าประเทศนั้นเป็นศัตรูหากไม่ร่วมมือต้านผู้ก่อการร้าย หลายปีในช่วงนั้นหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เครื่องบินโดรนสหรัฐโจมตีผู้ก่อการร้ายในหลายประเทศ ไม่มีใครห้ามได้
ตามแนวคิดนี้หากเทียบกับสงครามฮามาส-อิสราเอล น่าติดตามว่าเป้าหมายคงไม่ใช่แค่กวาดล้างพวกฮามาสเท่านั้น เป็นไปได้ว่าอิสราเอลอาจใช้สงครามนี้จัดระเบียบตะวันออกกลาง หรือฝ่ายสหรัฐใช้โอกาสครั้งนี้จัดระเบียบตะวันออกกลาง เพื่อรักษาอิทธิพลกับผลประโยชน์ของตนที่มากกว่าฉนวนกาซาหรือฮามาส.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21
BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)
เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู 2024 (1)
บัดนี้สถานการณ์ชี้ชัดแล้วว่าอิสราเอลกำลังจัดการฮิซบุลเลาะห์ต่อจากฮามาส ทำลายอิหร่านกับสมุนให้เสียหายหนัก
เลือกตั้งสหรัฐ2024เลือกสังคมนิยมหรือฟาสซิสต์
ทรัมป์ชี้ว่าแฮร์ริสเป็นพวกสังคมนิยม ส่วนแฮร์ริสชี้ว่าทรัมป์เป็นเผด็จการ สหรัฐกำลังเข้าสู่การเลือกระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “ฟาสซิสต์”
ทรัมป์จะเป็นเผด็จการหากชนะอีกสมัย?
หากได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยและปกครองแบบเผด็จการ ก็ต้องถือว่าเป็นเผด็จการที่มาจากความต้องการของคนอเมริกันตามระบอบประชาธิปไตยสหรัฐ
ทรัมป์คุกคามโลกเสรีประชาธิปไตย?
การที่ทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรต่อรัสเซีย จีน อาจไม่ปกป้องสมาชิกนาโต ชวนให้ตั้งคำถามว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามโลกเสรีประชาธิปไตยหรือไม่