เวียดนามกับยุทธศาสตร์ ถ่วงดุล 2 มหาอำนาจ

ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เวียดนามใช้นโยบาย “ถ่วงดุล” จีนกับสหรัฐอย่างระมัดระวังยิ่ง

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งสหรัฐกับจีนต่างก็พบปะกับนายกฯ เวียดนาม Pham Minh Chinh (ฝั่ม มินจิ๊น)

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน บินไปเยือนเวียดนามในจังหวะที่จะไปประชุม G-20 ที่อินเดียเมื่อเร็วๆ นี้

ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะไบเดนบินข้ามหัวหลายประเทศในอาเซียน มุ่งตรงไปฮานอยเฉยเลย

สะท้อนว่าวอชิงตันให้ความสำคัญกับเวียดนามเป็นพิเศษ

ชัดเจนว่าเป็นเพราะอเมริกาต้องการจะขยับเข้าใกล้เวียดนามเพื่อสกัดอิทธิพลจีนในย่านนี้

เวียดนามได้ประโยชน์จากการเพิ่มกิจกรรมการค้าขายกับทั้งวอชิงตันและปักกิ่ง

อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากที่สองยักษ์ใหญ่มีความระหองระแหงต่อกัน

พอสองประเทศมหาอำนาจใช้นโยบาย decouple หรือแยกค่ายแบ่งข้างในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ เวียดนามก็ได้ประโยชน์ด้วยการ “เสียบ” เข้าไปในช่องว่างที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

แต่การใช้นโยบาย “ไต่ลวด” อย่างนี้ บางทีก็ถูกมองว่าเป็น “นกสองหัว” ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่เพิ่มสูงขึ้น

เหมือนจะเล่นบท “เสี้ยม” ทั้งสองฝ่ายให้เพิ่มความเป็นศัตรูมากขึ้นกว่าเดิม

เมื่อเร็วๆ นี้ ฮานอยประกาศยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐไปสู่ “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ครอบคลุม” หรือ Comprehensive strategic partnership ในช่วงที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ไปเยือนอย่างเป็นทางการ

ถือเป็นครั้งแรกที่ไบเดนไปเยือนเวียดนามที่ครั้งหนึ่งเคยทำสงครามกับสหรัฐอย่างดุเดือดเข้มข้น

การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับเวียดนามเท่ากับยกขึ้นไปในระดับเดียวกับจีน

ขากลับจากไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ นายกฯ เวียดนามพบรัฐมนตรีคลังสหรัฐ จาเน็ท เยเลน และขอให้อเมริกาให้สถานะ “ประเทศเศรษฐกิจการตลาด (market economy country status)

และขอให้ลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าขายระหว่างกัน เช่น ภาษีทุ่มตลาด (anti-dumping duties) ต่อประเทศคู่ค้า

แต่ก่อนจะไปสหรัฐคราวนี้ นายกฯ เวียดนามไปเมืองหนานหนิงของจีนก่อน เพื่อร่วม China-Asean Expo และนัดพบนายกฯ หลี่ เฉียง ของจีน

ทั้งสองพูดจาเรื่องความสำคัญของการทูตระหว่างเพื่อนบ้าน รวมถึงการขยายความร่วมมือทางการค้า

อีกทั้งยังปรึกษาหารือเรื่อง “การเชื่อมต่อ” ด้านโครงสร้างพื้นฐานและห่วงโซ่อุปทาน

ยุทธศาสตร์ของเวียดนามในกรณีนี้น่าจะตีความได้ว่า คือการคบหายักษ์ใหญ่ทั้งสองค่ายในกรณีที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน...แต่ต้องให้แน่ใจว่าจะไม่กระโดดไปอยู่ค่ายใดค่ายหนึ่งอย่างชัดแจ้งเกินไป

เวียดนามคงจะประเมินแล้วว่า การดึงเอาสหรัฐเข้ามาใกล้ชิดมากขึ้นทางด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์จะเป็นการสร้างอำนาจต่อรองกับจีน

ยังไงๆ เวียดนามก็มองว่าจีนซึ่งเป็นเพื่อนบ้านยักษ์ของตน และมีประวัติศาสตร์ที่ขมขื่นมายาวนานนั้นยังคงเป็น “ภัยคุกคาม” ในระยะยาว

ที่ต้องมีการ “บริหารจัดการ” อย่างระมัดระวัง

แต่ครั้นจะไม่คบมังกรยักษ์ก็ไม่ได้ เพราะผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจนั้นชัดเจนมาก

จีนมีเงินและอิทธิพลบารมีในย่านนี้อย่างไม่ต้องสงสัย

เวียดนามจึงต้องฝังอดีตเอาไว้ สร้างสัมพันธ์กับจีนที่เน้นทางด้านเศรษฐกิจและคบหาทางการเมืองและการทูตอย่างระมัดระวัง

เพราะทั้งเศรษฐกิจและการเมืองย่อมนำไปสู่มิติด้านความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จีนก็ย่อมจะมองเวียดนามด้วยความระแวงและความจำเป็นเช่นกัน

ด้านหนึ่ง จีนต้องไม่ทำให้เวียดนามรู้สึกกลัวตัวเองจนต้องวิ่งเข้าหาสหรัฐเต็มตัว

อีกด้านหนึ่ง ปักกิ่งย่อมจะเห็นประโยชน์ของความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับเวียดนาม

เพราะเวียดนามมีประชากรประมาณ 90 ล้านคน มีทรัพยากรธรรมชาติและศักยภาพด้านการลงทุนสำหรับจีนมาก

ยังไงๆ ก็ต้องผูกพันกับเวียดนามเอาไว้ด้วยเหตุผลทั้งด้านบวกและด้านลบ

วันนี้เวียดนามกลายเป็น “ฐานการลงทุนทางเลือก” ในภูมิภาคนี้

เพราะเมื่อจีนกับสหรัฐเผชิญหน้ากัน เพิ่มความเสี่ยงให้กับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น หลายๆ บริษัทที่ต้องการจะลดความเสี่ยงก็มองหาฐานการผลิตและการค้าแทนจีน

เวียดนามเป็นทางเลือกที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุด (นอกเหนือจากอินโดฯ และไทย)

ระหว่างเยือนเวียดนามเมื่อเดือนกรกฎาคม รัฐมนตรีคลังสหรัฐบอกว่าเวียดนามเป็น “หุ้นส่วนสำคัญ” ในความพยายามลดการพึ่งพาจีน

นั่นหมายถึงการที่จะกระจายความเสี่ยงเรื่องห่วงโซ่อุปทาน (supply chains) เพื่อ “เป็นการลดความเสี่ยงจากช็อกระดับโลกและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ หรือการกระจุกตัวของอุตสาหกรรมสำคัญๆ”

นั่นแปลว่าเวียดนามเป็นตัวละครสำคัญสำหรับการเป็นกันชนในกรณีที่วอชิงตันกับปักกิ่งเกิดปะทะกันขึ้นจนไม่อาจจะไปมาหาสู่กันได้ตามช่องทางปัจจุบัน

การค้าระหว่างเวียดนามกับสหรัฐปรับขึ้นไปที่ 139 พันล้านเหรียญฯ เมื่อปีที่แล้ว

เป็นรองก็เฉพาะการค้าระหว่างเวียดนามกับจีน ซึ่งเท่ากับ 230 พันล้านเหรียญฯ เมื่อปี 2022

วันนี้สหรัฐเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับเวียดนามในการส่งออกเสื้อผ้า, รองเท้าและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ขณะเดียวกัน ในช่วงหลังนี้ นักลงทุนจีนก็มองเห็นเวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการตั้งโรงงานผลิตสินค้า

เหตุผลส่วนหนึ่งคือหลบหลีกมาตรการภาษีที่เพิ่มขึ้นหลังจากสหรัฐกับจีนเปิดฉากทำสงครามการค้าในปี 2018

แต่เวียดนามก็ยังมีจุดอ่อนในหลายเรื่อง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน, การขนส่ง (logistics), อุตสาหกรรมหนุนเนื่องและทรัพยากรมนุษย์

ความจริง จีนกับเวียดนามมีระบบการเมืองที่ละม้ายกัน เป็นคอมมิวนิสต์ที่มีระบอบการปกครองภายใต้พรรคเดียว

แต่เอาเข้าจริงๆ ในโลกทุกวันนี้ ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจย่อมอยู่เหนือความผูกพันด้านอุดมการณ์ทางการเมือง

ในแง่หนึ่ง เวียดนามต้องพึ่งพาทั้งสองมหาอำนาจ และทั้งสองยักษ์ใหญ่ก็ต้องการเวียดนามเพื่อรักษาดุลแห่งความมั่นคงและเศรษฐกิจ

เวียดนามกำลังเจรจาขอซื้อเครื่องบินรบ F-16 จากสหรัฐ

หากตกลงกันได้ จะเป็นข้อตกลงซื้อขายอาวุธที่ใหญ่ที่สุดของสองประเทศที่เคยทำสงครามกันมาก่อนในช่วงสงครามเย็น

สหรัฐก็ต้องการจะดึงเวียดนามเข้ามาในอ้อมกอดทางการทหาร เพื่อดึงให้ฮานอยออกจากรัสเซียอันเป็นแหล่งป้อนอาวุธยุทโธปกรณ์มายาวนาน

จีนย่อมจะมองการซื้อขายอาวุธระหว่างเวียดนามกับสหรัฐด้วยความระแวงคลางแคลง

อยู่ที่ฮานอยจะสามารถทำให้ปักกิ่งเชื่อได้ไหมว่าการซื้อขายอาวุธกับสหรัฐจะไม่กระทบความมั่นใจของจีนต่อเวียดนาม

สื่อจีนออกมาขวางลำทันที Global Times ออกบทวิเคราะห์ว่า การที่สหรัฐจะขายอาวุธให้เวียดนามนั้นเป็นการแสดงออกถึงเป้าหมายของวอชิงตันที่จะปิดล้อมจีน และบ่อนทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้

“...ซึ่งเวียดนามจะไม่ยอมรับง่ายๆ”

เป็นภาษาของฝ่ายจีนที่ยังไม่สร้างความร้าวฉานกับเวียดนามในตอนนี้

นักสังเกตการณ์บอกว่า เวียดนามคงจะยืนยันกับจีนว่า แม้จะซื้ออาวุธจากอเมริกาก็จะไม่เป็นภัยต่อจีน

เวียดนามยืนยันนโยบาย “4 ไม่” กับจีนมาตลอดนั่นคือ

ไม่มีพันธมิตรทางทหาร

ไม่เข้าข้างประเทศใดเพื่อต่อต้านอีกประเทศหนึ่ง

ไม่มีฐานทัพต่างชาติ

และไม่ใช้หรือขู่จะใช้กำลังกับประเทศอื่น

เชื่อกันว่าแม้จะไม่ซื้ออาวุธจากอเมริกา เวียดนามก็คงจะหันไปคุยกับฝรั่งเศส, อิสราเอลหรือเกาหลีใต้

เพราะเวียดนามกำลังต้องการจะพัฒนากองทัพให้ทันสมัยกว่าเดิมอยู่แล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ