นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ชูโครงการ “แลนด์บริดจ์" (Land Bridge) ทางใต้ของไทยอย่างกระตือรือร้นระหว่างการเยือนจีนเมื่อสัปดาห์ก่อน
ขายไอเดียให้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกฯ หลี่ เฉียง ได้เห็นว่าโครงการ “สะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทยกับอันดามัน” แห่งนี้สามารถประสานกับ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” หรือ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนได้เป็นอย่างดี
อีกทั้งยังจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งระดับโลกได้เลยทีเดียว
ฟังดูน่าตื่นเต้น แม้สำหรับคนไทยที่เคยได้ยินเกี่ยวกับโครงการนี้มาบ้างแล้ว
แต่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นโครงการที่ “ขาย” ให้เป็นการเชื่อมต่อกับ BRI และยิ่งใหญ่ถึงขั้นที่ทั้งโลกจะต้องมองเห็นเป็น “ฮับ logistics” ระดับโลกขนาดนี้ได้
น่าจะเข้าใจได้ว่า คุณเศรษฐาจับโครงการนี้ขึ้นมาสร้างความโดดเด่นให้กับการเดินทางไปชักชวนนักลงทุนทั่วโลก ก็เพราะเป็นโครงการ Mega Project ที่ “ขายได้” เรื่องเดียวในขณะนี้
แม้จะมี EEC ทางตะวันออกที่เคยเป็น “นโยบายเรือธง” ของรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนคุณเศรษฐาต้องการจะมี “ของใหม่” มานำเสนอ
เพราะจะได้เป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลชุดนี้
แม้เรื่องนี้จะมีการศึกษาความเป็นไปได้มาตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม
แต่ประเด็นที่น่ากังวลคือ โครงการนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่ยังต้องหาข้อสรุปในประเทศเสียก่อน
เพราะผลการศึกษาของหน่วยงานทางการสองสามแห่งยังมีความเห็นแย้งกันอยู่
ด้านหนึ่งบอกว่า “ดีแน่” แต่อีกด้านหนึ่งบอกว่า “ไม่คุ้มค่า”
แต่ดูเหมือนนายกฯ เศรษฐาจะ “ใจร้อน” ต้องการมีเรื่องใหญ่ๆ ที่จะนำไปขายในการเดินสายทั่วโลกเพื่อชักชวนนักลงทุนต่างชาติ จึงเสนอโครงการนี้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ
โดยที่ยังอาจจะไม่สามารถตอบข้อซักถามที่ประเทศอื่นๆ ต้องการได้คำตอบเพื่อประกอบการพิจารณาของเขาในการที่จะประเมินระดับความน่าสนใจ
ประเด็นคำถามที่รัฐบาลเศรษฐาควรจะต้อง “ทำการบ้าน” ให้ชัดเจนกว่านี้ก่อนที่จะ “เร่ขายไอเดีย” นี้ มีหลายข้อที่ยังเป็นที่ถกแถลงกันในบ้าน
"แลนด์บริดจ์" เชื่อมอ่าวไทย-อันดามันที่ว่านี้ มีความจำเป็นที่ต้องศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบและความคุ้มค่าให้รอบด้าน และสรุปรายละเอียดรูปแบบของการลงทุนให้ชัดเจน
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาค้านตั้งแต่ต้น
สูตรการลงทุนที่จะเชิญต่างชาติเข้ามาก็ยังไม่มีความแน่ชัด
อีกทั้งจะต้องพิจารณาประเด็น “ภูมิรัฐศาสตร์” หรือ Geopolitics ซึ่งจะโยงถึงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศและการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาคนี้ด้วยอย่างแน่นอน
อีกทั้งเพื่อนบ้านเราที่จับตาดูความเคลื่อนไหวด้านนี้ และอาจจะถือว่าตนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากโครงการนี้ด้วยนั้น ก็ควรจะมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูลกับเรา
โดยเฉพาะเพื่อนอาเซียนที่อาจจะสนใจเข้าร่วมหรือมี “เอี่ยว” ด้วย ไม่ว่าจะทางใดทางหนึ่งก็ตาม
รัฐบาลต้องสร้างความแน่ชัดว่า EEC (Eastern Economic Corridor) ทางตะวันออกกับ SEC (Southern Economic Corridor) ที่เคยเป็นแผนใหญ่สำหรับทางใต้นั้น จะเดินคู่ขนานไปกับ Land Bridge ที่กลายเป็น “พระเอก” ตัวใหม่อย่างไร
เพราะก่อนหน้านี้เรา “ขาย” EEC ไปทั่วโลก วันนี้หากจะผลักดัน Land Bridge นี้พร้อมกันไป เราจะถูกถามว่าจัดลำดับความสำคัญอย่างไร
และต้องตอบให้ได้ด้วยว่า Land Bridge กับ SEC มีส่วนโยงใยกันอย่างไรหรือไม่
เพราะแม้แต่คนไทยเองก็ยังไม่อาจจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ด้วยซ้ำ
เว็บไซต์สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า โครงการ Land Bridge ที่ว่านี้จะ “บูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ (ท่าเรือชุมพร กับ ท่าเรือระนอง) ให้เชื่อมต่อถึงกันอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการขนส่งทางน้ำให้มีความทันสมัย”
ณ จุดนี้ต้องถือว่าโครงการที่ประมาณการว่าจะต้องลงทุนทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท (ในขั้นตอนสุดท้าย) นั้นยังอยู่ในขั้นตอนของ “การศึกษาความคุ้มค่า”
ด้านบวกคือ โอกาสที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยมากมาย
แต่อีกด้านหนึ่งคือ ข้อสงสัยถึงความคุ้มค่าในหลายๆ มิติอย่างแท้จริง
ความจริงก่อนหน้าที่นายกฯ เศรษฐาจะบินไปเยือนจีนสัปดาห์ที่แล้ว คณะรัฐมนตรีก็เพิ่งจะมีมติ “รับหลักการ" โครงการนี้
โดยตัวเลขทางการบอกว่า โครงการนี้จะมีมูลค่า 2.28 แสนล้าน เชื่อมการขนส่งอ่าวไทย-อันดามัน
โดยมีไทม์ไลน์คร่าวๆ ว่าเตรียมรับฟังความเห็นนักลงทุนต่างประเทศระหว่างพฤศจิกายนนี้ถึงมกราคมปีหน้า
อีกทั้งคาดว่าจะคัดเลือกเอกชนร่วมโครงการช่วงกลางปี 68
วางแผนตอกเสาเข็ม ก.ย. 68
และแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการ ต.ค. 73
มติคณะรัฐมนตรีวันนั้นบอกให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุนต่างประเทศ (Road Show) เพื่อนำมาประกอบในการจัดทำร่างเอกสารเชิญชวนผู้ลงทุนในการร่วมลงทุนโครงการ (RFP) ต่อไป
ตามรายงานนี้ กระทรวงคมนาคมจะดำเนินการ Road Show ในช่วง พ.ย. 2566-ม.ค. 2567 จากนั้นจะจัดทำกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ภายในปี 2567 และจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและสำนักงานนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ในช่วง ธ.ค. 2567
จากนั้นก็จะคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนใน เม.ย.-มิ.ย. 2568 ควบคู่ไปกับการดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในช่วง ม.ค. 2568-ธ.ค. 2569
โดยหลังจากนั้นจะเสนอ ครม.อนุมัติลงนามในสัญญาภายใน ก.ค.-ส.ค. 2568
และเริ่มดำเนินการก่อสร้างใช้ระยะเวลา 5 ปี หรือ ก.ย. 2568-ก.ย. 2573 และเปิดให้บริการใน ต.ค. 2573
กระทรวงคมนาคมแจ้งว่า โครงการแลนด์บริดจ์ รวมประมาณการลงทุนโครงการ วงเงิน 228,512.79 ล้านบาท
มีรูปแบบการพัฒนาโครงการโดยเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ซึ่งให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการ
จะเป็นลักษณะท่าเรือเดียวเชื่อม 2 ฝั่ง (One Port Two Sides) โดยมีองค์ประกอบ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอันดามัน ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง และการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์หลังท่า
ทั้งนี้ เป็นการให้สิทธิแก่เอกชนลงทุนในการก่อสร้างและการบริหารจัดการเป็นระยะเวลา 50 ปี
โดยภาครัฐทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเวนคืนที่ดิน ลงทุนทางรถไฟขนาด 1.0 เมตร
และกำหนดสิทธิประโยชน์ให้แก่เอกชนผู้ร่วมลงทุนในโครงการ พร้อมทั้งกำหนดให้ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งโครงการ ประกอบด้วย ท่าเรือ, ทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมระบุอีกว่า สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์นั้น มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 17.43%
มีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 8.62% ระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24
อีกทั้งการพัฒนาโครงการจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จำนวน 280,000 ตำแหน่ง แบ่งเป็น จ.ระนอง จำนวน 130,000 ตำแหน่ง และ จ.ชุมพร 150,000 ตำแหน่ง
รวมทั้งเป็นส่วนช่วยทำให้ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ประมาณการโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ 4.0% ต่อปี เป็น 5.5% ต่อปี
ความจริงย้อนกลับไปดูจะเห็นว่า มีการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์มาแล้วหลายครั้ง
และรายงานหลายฉบับก็ไม่ได้มีความเห็นสอดคล้องต้องกัน เช่น รายงานที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุ โครงการแลนด์บริดจ์ “ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และไม่เหมาะที่จะลงทุน”
ขณะที่รายงานของ สนข.กลับระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์คุ้มค่ามาก มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 16.18% คืนทุนภายในระยะเวลา 40-49 ปี…
รายงานเหล่านี้ล้วนใช้งบประมาณแผ่นดินในการศึกษา
โดยผลที่ออกมาขัดแย้งกันเกิดจากสมมุติฐานของปริมาณความต้องการที่เรือขนส่งสินค้าจะเปลี่ยนเส้นทางมาใช้แลนด์บริดจ์ แทนการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา
การศึกษาหลายสำนักก็ยังมีคำทักท้วงที่รัฐบาลควรจะนำมาร่วมพิจารณา ก่อนที่จะประโคมข่าว “ขายของ” ไปนอกบ้านจนไม่แน่ใจว่าจะตอบคำถามต่างๆ ได้หรือไม่อย่างไร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ