เมื่อเกิดสงครามอิสราเอล-ฮามาสรอบใหม่นี้ คนที่น่าจะมีความกังวลไม่น้อยไปกว่าผู้นำตะวันตกและตะวันออกกลางน่าจะเป็นประธานาธิบดีเซเลนสกีแห่งยูเครน
ขณะที่ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียย่อมมองเห็นโอกาสที่จะกดดันให้ตะวันตกและยูเครนต้องถอยจากสงครามข้างบ้านของตน
เซเลนสกีกลัวโลกจะลืมยูเครน
ขณะที่ปูตินเห็นโอกาสที่จะทำให้คนลดความสนใจยูเครน
และอาจจะนำไปสู่การที่โลกตะวันตกลดความช่วยเหลือเซเลนสกี เพราะต้องหันไปสนับสนุนอิสราเอล
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน สหรัฐ รีบออกแถลงการณ์ทันทีว่าวอชิงตันพร้อมจะสนับสนุนยูเครนและอิสราเอลไปพร้อมๆ กัน ไม่มีปัญหา
ตามมาด้วยการเสนองบประมาณก้อนใหญ่ก้อนใหม่ที่รวบเอาเงินช่วยเหลือยูเครนและอิสราเอลไว้ในร่างเดียวกัน
เพื่อตอกย้ำว่าอเมริกาไม่เสียสมาธิจากสงครามยูเครนไปมุ่งให้ความสำคัญกับอิสราเอลเท่านั้น
และพอสหรัฐส่งกองเรือรบไปลาดตระเวนทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเพื่อช่วยอิสราเอล ปูตินก็ต้องส่งฝูงบิน MiG-31 ขึ้นเหนือน่านฟ้าทะเลดำเพื่อแสดงแสนยานุภาพเช่นกัน
นี่ย่อมแปลว่ามอสโกก็ต้องเพิ่มทรัพยากรทางทหารเพื่อร่วมการสร้างความพร้อมรบตะวันออกกลางด้วยเช่นกัน
ตอนที่เซเลนสกีบุกสำนักงานใหญ่ของนาโตที่กรุง บรัสเซลส์เมื่อต้นเดือนนี้ ก็ได้ยินผู้นำตะวันตกถกเรื่องสงครามกันอย่างร้อนแรง
แต่หัวข้อร้อนเรื่องใหม่ไม่ใช่สงครามยูเครน
เพราะไม่กี่วันก่อนหน้านั้น กลุ่มติดอาวุธฮามาสได้เปิดฉากการโจมตีอิสราเอลอย่างไม่คาดคิด
ทำให้โลกตะวันตกต้องระดมทรัพยากรอีกครั้งเพื่อตั้งรับความขัดแย้งครั้งใหม่ที่ทำให้ตะวันออกกลางเข้าสู่ภาวะวิกฤตอีกรอบ
จังหวะนั้นสังเกตได้ว่าเซเลนสกีพยายามไม่พูดหรือทำอะไรที่จะทำให้เห็นว่าเขาไม่ต้องการให้ผู้นำตะวันตกสนใจสงครามอิสรเอลมากกว่าสงครามยูเครน
ผู้นำยูเครนออกมาแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อชาวอิสราเอลที่ถูกโจมตี
และวาดภาพให้เห็นสถานการณ์ที่มีความละม้ายกันระหว่างปูตินกับฮามาส
เขาบอกว่า “ปูตินกับฮามาสมีความเหมือนกันตรงที่พยายามจับประเทศที่มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยเป็นตัวประกัน นั่นหมายความว่าเราต้องชนะ เราต้องใช้ความอดทน และเราต้องการการสนับสนุนที่มั่นคงและต่อเนื่องจากพันธมิตร”
พอจะจับความได้ว่าเซเลนสกีกำลังส่งสัญญาณถึงผู้นำตะวันตกว่าอย่าลืมว่าจะต้องเดินหน้าส่งความช่วยเหลือให้ยูเครน แม้จะต้องควักกระเป๋าหนักขึ้นสำหรับอิสราเอลด้วย
ว่าแล้วเขาก็เรียกร้องให้ “ผู้นำทุกคนไปเยือนอิสราเอลและแสดงการสนับสนุนต่อประชาชน”
เพราะเซเลนสกีรู้ดีถึงความสำคัญของการที่ผู้นำต่างชาติจะไปปรากฏตัวที่ประเทศที่ตนสนับสนุนเพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ข่าวบอกว่าในช่วงนั้นเซเลนสกีได้บอกนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ว่าเขาพร้อมจะไปเยือนอิสราเอลพร้อมกับผู้นำคนอื่นๆ เพื่อแสดงความสามัคคี
แต่คำตอบจากกรุงเยรูซาเลมค่อนข้างจะเย็นชา: “ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา”
เป็นการบอกปัดที่ทำให้ผู้นำยูเครนต้องคิดหนัก...ว่าอิสราเอลอาจจะไม่ต้องให้เซเลนสกีไปปรากฏตัวที่เทลอาวีฟเพื่อตอกย้ำถึงสงครามที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
เป็นไปได้ว่าเนทันยาฮูอาจต้องการให้ทั้งโลกพุ่งความสนใจมาที่อิสราเอล...ไม่วอกแวกกับยูเครนในเวลาเดียวกัน
นั่นคือสิ่งที่เซเลนสกีต้องการ แต่สำหรับผู้นำขวาจัดของอิสราเอลคนนี้ เขาคงไม่ต้องการให้ยูเครนมา “แย่งซีน” ในจังหวะที่มีความสำคัญต่ออิสราเอลเลยแม้แต่น้อย
ปัญหาของเซเลนสกีคือสงครามยูเครนยังไม่มีการ “เผด็จศึก” ในสมรภูมิใดโดยเฉพาะ
การรุกตอบโต้ขยับไปอย่างช้าๆ และรัสเซียไม่มีทีท่าว่าจะยอมแพ้
ยูเครนกำลังเผชิญกับสงครามที่ยืดเยื้อ แต่ยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรในระยะยาว
สงครามอิสราเอล-ฮามาสเกิดขึ้นท่ามกลางความสับสนวุ่นวายในรัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา
ทำให้เริ่มมองเห็นปัญหาของความเป็นเอกภาพของสหรัฐกับสหภาพยุโรปต่อการยืนหยัดอุ้มยูเครน
สิ่งที่เซเลนสกีหวั่นที่สุดน่าจะเป็นความวิตกว่าโลกอาจจะกำลังแสดงอาการ “เหนื่อยล้าสงคราม”
เพราะการสู้รบยืดเยื้อและงบประมาณที่ต้องจ่ายยังไม่มีทีท่าจะลดน้อยลงได้เมื่อไหร่อย่างไร
พอรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรปจัดการประชุมตามปกติในเวลาต่อมา ยูเครนจะไม่ใช่หัวข้ออันดับหนึ่งในวาระการประชุม
ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 ที่วาระอันดับหนึ่งถูกแทนที่โดยความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส
จะไม่ให้เซเลนสกีกลับบ้านแล้วนอนไม่หลับได้อย่างไร
ต่อมาประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติแพ็กเกจงบประมาณทางทหารก้อนใหม่ให้ทั้งยูเครนและอิสราเอล
“เราไม่สามารถปล่อยให้ผู้ก่อการร้าย เช่น ฮามาสและทรราช เช่น ปูตินได้รับชัยชนะ ผมจะไม่ยอมให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเป็นอันขาด” ไบเดนแถลง
เท่ากับเป็นการบอกกล่าวกับคนอเมริกันและชาวโลกว่า วอชิงตันกำลังต้องแบกรับภาระของทั้งสงครามพร้อมๆ กัน
สงครามยูเครนเข้าสู่วันที่ 608 วันนี้ และชาวยูเครนอาจจะกลัวว่ามันกำลังจะจบลงแบบที่พวกเขาไม่ต้องการเห็น
นั่นคือการลดความช่วยเหลือจากตะวันตกและการลดความสนใจของโลกต่อยูเครน
ในความเห็นของคีรีโล บูดานอฟ หัวหน้าหน่วยข่าวกรองทางทหารของยูเครน สงครามระยะสั้นระหว่างอิสราเอลและฮามาสไม่น่าจะยืดเยื้อ และไม่น่าจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อการสนับสนุนของตะวันตกต่อยูเครน
แต่เขาก็ยอมรับว่า ถ้าสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปก็ค่อนข้างชัดเจนว่าจะมีปัญหาสำหรับยูเครน เพราะมีความจำเป็นต้องจัดหาอาวุธและกระสุนเพื่อเดินหน้าสู้รบต่อไป
ปฏิเสธไม่ได้ว่านักวิเคราะห์หลายสำนักเชื่อว่าสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาสกำลังเบี่ยงเบนความสนใจของชาติตะวันตกจากการช่วยเหลือยูเครน
อีกทั้งความสนใจของสื่อนานาชาติต่อสงครามยูเครนอาจจะลดน้อยถอยลง
ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดลำดับความสำคัญของความสนใจทางการเมือง
ซึ่งอาจจะหมายถึงการจัดสรรทรัพยากรให้กับยูเครนน้อยลงอย่างปฏิเสธไม่ได้
ความท้าทายสำหรับเซเลนสกีคือ การยังเดินหน้าตีฆ้องร้องป่าวเรื่องสงครามยูเครนให้ต่อเนื่องและไม่แผ่ว
ขณะที่พยายามจะเชียร์ให้มีการเจรจาสงบศึกที่ตะวันออกกลาง...แม้ว่าจะไม่เห็นโอกาสนี้ระหว่างยูเครนกับรัสเซียเลยก็ตาม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ