การประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่เจ็ด (๖๖): การกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ลงมติเห็นสมควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเสียง 127 ต่อ 2 เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หรือรัชกาลที่แปดยังทรงเป็นยุวกษัตริย์มีพระชันษาเพียง 10 ชันษา   อีกทั้งยังประทับอยู่นอกราชอาณาจักรด้วย

สมาชิกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการยกกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า จะใช้อะไรเป็นตัวตั้ง จนในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้แต่งตั้งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีจำนวนสามท่าน  ต่อมาได้มีการลงมติเลือกคณะผู้สำเร็จราชการทั้งสามท่าน ได้แก่  พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ  (๑๑๒ คะแนน)   กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ (๙๗ คะแนน) และ ๓. เจ้าพระยายมราช (๗๖ คะแนน)

ต่อมา ที่ประชุมได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการดำรงตำแหน่งของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีผู้เสนอว่าให้คณะผู้สำเร็จราชการฯมีอายุเท่ากับสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น และก็มีผู้เห็นว่า ไม่ควรจะให้มีอายุเท่ากับสภาผู้แทนราษฎร แต่สภาผู้แทนราษฎรควรจะกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะผู้สำเร็จราชการฯให้ชัดเจนแน่นอน

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทรงเห็นว่า ถ้าไม่มีการตั้งสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็จะมีอายุไปจนกระทั่งพระมหากษัตริย์บรรลุนิติภาวะ และจากการที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามรัฐธรรมนูญ สภาฯก็มีสิทธิที่จะถอดและตั้งใหม่ ที่จะตั้งใหม่หมายความว่า เมื่อชุดเก่าล้มไป ก็ชอบที่จะตั้งใหม่ได้ เทียบได้กับข้าราชการที่ได้รับตั้ง ถ้ารัฐมนตรีที่มีอำนาจตั้งนั้นเปลี่ยนแปลง แต่ข้าราชการนั้นยังรับตำแหน่งอยู่ การตั้งคณะผู้สำเร็จราชการฯนั้น ยังมีผลไปจนกว่า หรือเว้นไว้แต่สภาฯจะตั้งใหม่ เหมือนกับทางฝ่ายข้าราชการนั่นคือ  เมื่อรัฐมนตรีผู้หนึ่งได้ตั้งแล้ว ถึงแม้รัฐมนตรีผู้นั้นจะออกจากตำแหน่ง แต่ได้ตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎรในที่นี้ก็ตั้งโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ได้รับตั้งก็ยังคงอยู่ต่อไป แต่รัฐมนตรีที่เข้ามาใหม่ อาจจะให้ออก ให้ปลดฐานหย่อนยานความสามารถได้ฉันใด สภาผู้แทนราษฎรก็อาจจะตั้งใหม่ได้

ต่อจากนั้น นายมนูญ บริสุทธิ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า “ที่ข้าพเจ้าได้บอกว่าเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจตั้งได้ สภาผู้แทนราษฎรก็มีอำนาจถอดได้ และมีสมาชิกบางท่านยังสงสัยนั้น (นายทองม้วน อัตถากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม/ผู้เขียน) ข้าพเจ้าจะขอยกตัวอย่างเรื่องที่เป็นมาแล้วให้ฟัง คือเรื่องตั้งรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ เราบอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงตั้ง แต่ในการที่เอาออกนั้น ไม่ปรากฏเลยว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเอารัฐมนตรีออกได้ เท่าที่เป็นมาแล้วก็คือ เรื่องพระยาปรีชาชลยุทธ์ รัฐมนตรี พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเอาออก และตั้งพระยาวิชิตชลธีแทนนั้น นี่ไม่ใช่รัฐธรรมนูญบอกว่าให้มีอำนาจเอาออกได้ แต่เมื่อท่านมีอำนาจตั้งได้แล้ว เพราะฉะนั้น ท่านก็มีอำนาจเอาออกได้เหมือนกัน”

ขุนเสนาสัสดี ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอเรียนถามสักหน่อยว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่สมาชิกหรือ ข้าพเจ้าไม่มีสิทธิหรือ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอให้ตัดสินสักหน่อย ข้าพเจ้าได้เสนอให้ลงมติแล้ว และมีผู้รับรองแล้ว ขอได้โปรดให้ลงมติ ถ้าหากว่าข้าพเจ้าไม่มีสิทธิแล้ว ข้าพเจ้าก็ยินดีลาออก”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “สิทธิของท่านนั้นสมบูรณ์อยู่เสมอ ที่ท่านตั้งปัญหามานั้น ข้าพเจ้ามีอำนาจที่จะให้ลงมติได้ แต่ข้าพเจ้าเห็นว่า ยังมีผู้อื่นอธิบาย และท่านไม่ได้คัดค้านเวลานั้น ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่า ท่านนั้นยอมด้วยในการฟังคำอภิปรายนั้น ไม่ใช่จะตัดสิทธิของท่าน ท่านอย่าเข้าใจผิด”

ขุนเสนาสัสดี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอประทานกราบเรียนสักหน่อยว่า ท่านประธานเคยให้ลงมติเสมอว่าจะคัดค้านหรือไม่คัดค้าน  แต่คนอื่นพูดแล้ว ท่านประธานปล่อยเรื่อยไปทีเดียว ทำไมไม่เหลียวแลถึงข้าพเจ้า ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรบ้างเลย ทีคนอื่นขอให้ลงมติ ข้าพเจ้าจะพูดบ้าง ท่านประธานก็ไม่อนุญาต”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ในกรณีนั้น เพื่อความสะดวก ข้าพเจ้าจึงได้ฟัง  ไม่ใช่ข้าพเจ้าจะเห็นว่า ท่านดีกว่าคนอื่นหรือเลวกว่าคนอื่น ไม่ใช่อย่างนั้น  อยากจะให้เสมอกันหมด ขอท่านได้เสนอญัตติของท่านใหม่”

ขุนเสนาสัสดี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้เสนอไปแล้วว่า ให้ลงมติว่า ผู้สำเร็จราชการนี้จะขีดอายุลงตามมติของสภาฯที่ตั้งนี้ หรือจะให้มีอายุต่อไป   ตลอดถึงอายุของผู้สำเร็จราชการนั้น มี ๒ ข้อเท่านั้น คือ ๑. จะขีดอายุให้เท่ากับสมาชิกของสภาฯนี้หรือไม่  ๒. หรือว่าจะปล่อยให้สิ้นอายุของผู้สำเร็จราชการนั้นเอง ก็แล้วแต่ มีผู้รับรองถูกต้องแล้ว ขอให้ลงมติ”

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “ปัญหายังคลุมเครือกันอยู่ว่าจะสมควรประการใด และการโต้เถียงก็ยังพัลวันกันอยู่  ยังไม่ได้ความแจ่มแจ้งนัก  เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอให้เปิดอภิปรายต่อไป”

นายสรอย ณ ลำปาง รับรอง

มีสมาชิกเห็นด้วยให้อภิปรายต่อไป ๒๑ นาย และมีสมาชิกที่ต้องการให้ลงมติ ๔๖ นาย

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “บัดนี้ ก็มีอยู่ว่า คณะผู้สำเร็จราชการนี้จะหมดอายุไปพร้อมกับสภาฯนี้ หรือว่าจะมีอายุไปจนหมดเองตามเหตุการณ์ ใช่ไหม เช่นนี้ ญัตติของท่าน” 

ขุนเสนาสัสดี กล่าวว่า “ถูกแล้ว”

มีสมาชิกเห็นควรให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หมดอายุไปพร้อมกับสภาผู้แทนราษฎรชุดขณะนั้นจำนวน ๑๒ นาย  และมีสมาชิกที่เห็นควรให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หมดอายุไปตามเหตุการณ์จำนวน ๗๖ นาย

จากนั้น ด. ยู่เกียง ทองลงยา ผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า “บัดนี้การตั้งผู้สำเร็จราชการหรือการตั้งผู้ที่จะสืบราชสมบัติ ก็สิ้นสุดลงแล้ว ปัญหาเวลานี้มีอยู่ว่า.....” 

นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กล่าวว่า “ขอให้ตัดสินเสียก่อนว่ามติเป็นอย่างไร บอกแต่คะแนนเท่านั้น”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “หมายความว่า คณะผู้สำเร็จราชการที่สภาฯตั้งขึ้นนี้จะหมดอายุไปพร้อมกับเหตุการณ์”

ด. ยู่เกียง ทองลงยา กล่าวว่า “บัดนี้ ปัญหาซึ่งจะเกิดขึ้นมีอยู่ว่า คณะรัฐมนตรีชุดนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ พระปกเกล้าฯ ได้สละราชสมบัติไปแล้ว รัฐบาลคณะนี้จะต้องออกจากตำแหน่ง คือออกจากคณะรัฐมนตรีตามนิตินัยหรือพฤตินัยอย่างไรบ้าง”

นายกรัฐมนตรี (พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) กล่าวว่า “ในเรื่องนี้ รัฐบาลก็เตรียมตัวไว้แล้ว อยากจะให้โวตไว้วางใจ”

หลวงวรนิติปรีชา กล่าวว่า “เมื่อสภาฯลงมติแล้ว คณะผู้สำเร็จราชการนั้นจะหมดอายุต่อเมื่อเงื่อนไขตามที่มีอยู่ได้หมดไป เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอญัตติต่อไปว่า เมื่อสภาฯนี้ได้เป็นผู้ตั้งแล้ว สภาฯนี้จะมีสิทธิถอดถอนผู้สำเร็จราชการนี้หรือไม่”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ไม่มีใครรับรอง ตกไป”

นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าอยากจะเรียนถามรัฐบาลสักหน่อยหนึ่งว่า ตามที่รัฐบาลเสนอรายนามผู้สำเร็จราชการ ๓ คนนั้น ถ้าหากว่าใน ๓ ท่านนั้น มีบางท่านไม่รับจะเข้ามาเป็นผู้สำเร็จราชการนั้นแล้ว รัฐบาลดำริอย่างไรบ้าง หรือว่าเราจะเอาคะแนนคนที่ ๔ ขึ้นเป็นแทนต่อไป”

(คนที่ได้คะแนนเป็นอันดับที่ ๔ คือ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ/ผู้เขียน)

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ถ้าเผื่อว่า ไม่มีใครรับก็ต้องตั้งกันใหม่”

นายสวัสดิ์ ยูวะเวส ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า “ในปัญหาที่ว่ารัฐบาลจะอยู่ได้ต่อไปหรือไม่นั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่าไม่ควรจะเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เพราะเหตุว่า รัฐบาลสำหรับราษฎร และตั้งขึ้นโดยราษฎร ไม่ใช่รัฐบาลสำหรับพระเจ้าอยู่หัว ไม่ควรจะหมดไปตามพระเจ้าอยู่หัว”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)                

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490