ทำไมยิ่งนาน, ยิ่งเหลื่อมล้ำ?

คนไทยเราพูดถึงเรื่อง “เหลื่อมล้ำ” ในสังคมไทยมายาวนาน แนวทางการวิเคราะห์ปัญหาและทางออกก็นำเสนอกันมากมาย แต่ทำไมเราจึงหลุดออกจาก “กับดักความเหลื่อมล้ำ” นี้ไม่ได้สักที

วันก่อนผมตั้งวงคุยกับ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล เพื่อชวนคุยเรื่องนี้

เพราะคุณกอบศักดิ์เคยอยู่ในรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีที่ทำเรื่องความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาระบบราชการมาหลายสมัย

วันนี้แกกลับมาอยู่ในภาคเอกชน และยังมีความเป็นนักวิชาการเต็มตัว

คุณกอบศักดิ์วิเคราะห์ให้ฟังว่า

ความเหลื่อมล้ำเป็นเหมือนโรคมะเร็งร้ายที่กัดกิน-ค่อยๆ สะสมตัว แฝงเร้นไม่ค่อยเห็น รอเวลาระเบิด เมื่อดูข้อมูลยิ่งน่ากังวล

คนรวยที่สุด 20% แรก คนจนที่สุด 20% รายได้ต่างกัน 10 เท่า

แต่ในเชิงสินทรัพย์ ต่างกันยิ่งกว่านี้มาก

ที่ดินคนรวยสุด 20% กับคนจนสุด 20% ต่างกัน 320 เท่า

จากทั้งหมด 110 ล้านบัญชีในไทย บัญชีเงินฝากธนาคารแค่ 1.5 แสนบัญชี มีเงินรวมกันมากกว่าครึ่งของทั้งหมด

ไม่นับสินทรัพย์อื่นๆ ในหุ้น และจำนวนมหาเศรษฐีที่ยังคงเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่กำลังลำบาก

ผมถามว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?

คุณกอบศักดิ์บอกว่า เหตุผลข้อแรกคือเราชอบเชื่อในทฤษฎีที่ผิด

ทฤษฎีที่ผิดนั้นคุณกอบศักดิ์ว่า แกก็เคยได้รับความรู้จากอาจารย์เศรษฐศาสตร์ของแกมาก่อนเช่นกัน

นั่นคือ ทฤษฎีบนลงล่าง (Trickle down)

วันนี้แกบอกว่าอายุมากเข้า ประสบการณ์ของจริงบอกว่านั่นเป็นความเชื่อที่ผิด

จึงทำให้รัฐบาลทั้งหลายชอบแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแบบผิดๆ

คือเน้นการแจกเงิน

เน้นให้ข้าราชการเป็นผู้นำในการทำโครงการแก้จน

สิ่งที่ตามมาก็คือ คนของรัฐมองไม่เห็นกลไกที่สร้างความเหลื่อมล้ำ

อันได้แก่ ระบบการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพในชนบท

และระบบการเงินที่ประชาชนในชนบทเข้าไม่ถึง

ที่สำคัญคือในระบบปัจจุบันนั้นไม่มีคนรับผิดชอบในสงครามกับความเหลื่อมล้ำ

ผมถามต่อว่า แล้วทางออกคืออะไร?

คุณกอบศักดิ์บอกว่าต้องใช้ “ทฤษฎีใหม่”

ทฤษฎีใหม่คือการสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก นั่นคือการสร้างชุมชนเข้มแข็ง

ความเข้มแข็งต้องมาจากข้างล่าง หรือ Strength from bottom

ไม่ใช่ทฤษฎีจากบนลงไปล่างอย่างที่เคยเชื่อกัน เพราะของดีๆ จากข้างบนมันลงไม่ถึงล่างจริงๆ

ทางออกต่อมาคือการ “ปรับยา”

นั่นหมายถึงการเลิกแนวทางเดิมๆ ที่ทำแล้วไม่ได้ผล

นั่นแปลว่าจะต้องเปลี่ยนจากการเน้นการแจกเงินไปสู่การจัดให้เกิดโครงการที่ส่งเสริมพี่น้องในชุมชนให้ยืนบนขาตนเองได้

อีกทั้งต้องเลิกให้ข้าราชการพยายามสอนให้ประชาชนทำธุรกิจ เพราะข้าราชการทำธุรกิจไม่เป็น

จึงต้องเอาเอกชนมาช่วย

และต้องแก้ที่ “สาเหตุที่ซ่อนเร้น”

นั่นคือการจัดให้การศึกษาในพื้นที่ต่างๆ มีคุณภาพทัดเทียมกัน

ต้องไม่มุ่งแต่มีโรงเรียน แต่ไม่วัดคุณภาพเช่นที่เป็นมา

และต้องหาหน่วยงานมารับผิดชอบเรื่องลดความเหลื่อมล้ำให้ชัดเจน

คำถามต่อมาก็คือ : จะแบ่งงาน ช่วยกันอย่างไร จึงจะเอาชนะสงครามนี้ได้?

1.รัฐบาล-ช่วยออกมาตรการส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง สร้างผู้นำชุมชน ส่งเสริมน้องๆ ให้กลับภูมิลำเนา

รวมทั้งปลดอุปสรรคทางกฎหมาย ให้ชุมชนสามารถตั้งสถาบันการเงินเล็กๆ ของตนเอง มีสวัสดิการชุมชน วิสาหกิจชุมชน ร้านค้าชุมชน มีธนาคารต้นไม้ ธนาคารปูม้า ป่าชุมชน ตามสภาพพื้นที่

        ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมา กฎหมายมองไม่ค่อยเห็นคนตัวเล็กๆ ดังนั้นเวลาเขียนกฎหมายก็จะไม่ได้เขียนเพื่อประชาชนทั่ว ๆ ไป จึงไม่น่าแปลกใจ ชาวบ้านจะติดอุปสรรคเชิงกฎหมายเป็นประจำ ทำโน้นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้

2.เอกชน-ช่วยชุมชนหาตลาด ขายของ (แทนที่จะให้ข้าราชการที่ไม่เคยทำธุรกิจช่วยขายของสร้างอาชีพ)

ในกรณีของเมืองจีน Alibaba ช่วยสร้างหมู่บ้านเถาเป่า สี่พันกว่าแห่ง

โครงการนี้ให้ความรู้ในการขายของออนไลน์ รวมถึงช่วยในการรวมกลุ่มของร้านโชห่วย

ไม่น่าแปลกใจที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศ “ความรุ่งเรืองร่วมกัน” หรือ Common prosperity เป็นนโยบายแห่งชาติ โดยให้บริษัทเอกชนของเขาต้องมีโครงการช่วยชุมชน

เหตุก็เป็นเพราะจีนเห็นว่าถ้าเน้นแต่ระบบตลาดเสรี สุดท้ายความเหลื่อมล้ำยิ่งนานวันก็ยิ่งจะเพิ่มขึ้น จนถึงจุดที่แก้ไม่ได้

3.มหาวิทยาลัย นอกจากวิจัยเรื่องยากๆ หันกลับมาช่วยวิจัยใน “งานที่กินได้” เพื่อช่วยพี่น้องประชาชนทำมาหากิน           

เช่น เรื่องพันธุ์พืช ดิน น้ำ เครื่องจักร เทคโนโลยี 4.0

รวมทั้งส่งเสริมให้มีหลักสูตรที่ให้คนรุ่นใหม่ไปช่วยชุมชน คิดโครงการเกี่ยวกับชุมชน จะได้เห็นโอกาสที่มีอยู่

คุณกอบศักดิ์บอกว่าทั้งหมดเป็นเรื่องที่ทำได้และทุกคนช่วยกันได้ เมื่อทำแล้วจะช่วยย้อนทวนปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ดีขึ้น ก่อนที่สังคมจะเกิดความขัดแย้งหนักหน่วงกว่านี้

ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว

อองซาน ซูจี: เสียงกังวล จากลูกชายในวันเกิดที่ 79

วันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาคือวันเกิดที่ 79 ของอองซาน ซูจี...ในวันที่เธอยังถูกคุมขังเป็นปีที่ 4 หลังรัฐประหารโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2021