ยังคงไร้ทิศทางสำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย หลังจากที่มีเหล่าคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ นำโดยอดีตผู้ว่าฯ แบงก์ชาติถึง 2 ท่านออกมาทักท้วงถึงความได้ไม่คุ้มเสียของโครงการนี้
จนนำไปสู่การที่กระทรวงการคลัง นำโดย 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง และผู้บริหารกระทรวงการคลัง ตั้งโต๊ะแถลงชี้แจงถึงความดีงามของโครงการ
แต่สุดท้ายก็เหมือนพายเรือวนในอ่าง เพราะรายละเอียดจริงๆ ยังมีแค่คอนเซปต์ไอเดียเท่านั้น แต่ที่จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงยังแทบจับต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงื่อนไข แหล่งเงินที่นำมาใช้ ซึ่งทั้งหมดจะต้องรอให้คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตสรุปออกมาให้เรียบร้อยภายในเดือน ต.ค.นี้
ประเด็นนี้ตรงกับที่ "ศิริกัญญา ตันสกุล" หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล ได้ทวีตข้อความลงบนแพลตฟอร์ม X ที่จับตาดูการแถลงข่าว ที่ระบุว่า
"ในส่วนของการแถลงข่าวความคืบหน้า digital wallet ในวันนี้นั้น... ยังไม่แน่ชัดว่ารัศมีการใช้เป็นยังไง...
ยังไม่แน่ชัดว่าจะเอาเงินจากไหน... ยังไม่แน่ชัดว่าจะแจกถ้วนหน้า หรือจะแจกเฉพาะกลุ่ม... ซึ่งหมายความว่า
ยังไม่แน่ชัดว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่! สิ่งที่ชัดอย่างเดียวก็คือ พรรคเพื่อไทยไม่ได้มีการศึกษามาก่อนล่วงหน้าว่าจะนำนโยบาย digital wallet ไปปฏิบัติยังไง ทุกอย่างคือต้องรอคณะกรรมการฯ โดยขอซื้อเวลาไปจนถึงสิ้นเดือนตุลา."
ตอนนี้ต้องยอมรับว่านโยบายนี้ทำให้สังคมเกิดแรงกระเพื่อมเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน คือ กลุ่มคนที่อยากให้รัฐผลักดันโครงการต่อ เพราะต้องการเงินมาใช้ กับอีกฝ่ายคือ กลุ่มที่คัดค้าน ที่มองเห็นว่าโครงการนี้เป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และสร้างภาระให้ลูกหลานต่อไปในอนาคต ซึ่งก็เกิดการถกเถียงทางความคิดกันไปใหญ่โตทั้งสองฝั่ง
ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องฟังทั้งสองมุม และต้องโยนเผือกร้อนไปยังคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะต้องออกแบบโครงการออกมาให้สามารถนำมาใช้ได้จริง และมีคำตอบกับสังคมในทุกมิติว่าโครงการนี้มันดีจริง ไม่ใช่แค่โครงการประชานิยมเพื่อหาเสียง
ยิ่งตอนนี้มีข้อมูลมาหลายทิศทางในเรื่องของการปรับเงื่อนไข ทั้งว่าจะไม่แจกให้ทุกคน แจกแค่คนต้องการซึ่งต้องลงทะเบียนเท่านั้น หรือการใช้จ่ายเงินก็จะขยายได้แบบครอบคลุมทั้งจังหวัด หรือแม้กระทั่งแหล่งเงินที่รัฐบาลอ้างว่าไม่มีการกู้เงิน แต่จะเป็นการเบียดงบประมาณประจำปีมาจัดใช้ในโครงการนี้ ซึ่งสุดท้ายแล้ว คำตอบจะเป็นเช่นไร คงต้องติดตามชมกัน
แต่ที่แน่ๆ หากรัฐจะผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นจริง ต้องมีคำตอบให้กับประเด็นเหล่านี้ก่อน คือ 1.เรื่องของการพัฒนาบล็อกเชนใหม่ที่ต้องรองรับคนใช้ 56 ล้านราย จะต้องใช้เงินลงทุนระบบที่ใหญ่มาก และการลงทุนก็สูงถึงระดับหมื่นล้านบาท รัฐจะเอาเงินส่วนไหนมาพัฒนา
2.เรื่องการทำธุรกรรมผ่านบล็อกเชนนั้น จะต้องมีเวลาเคลียริง ตรวจสอบข้อมูลไขว้ไปไขว้มา ซึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 นาที ตรงนี้ไม่สะดวกสำหรับการค้าขาย เพราะผู้ขายจะต้องรอเงินโอนช้ากว่า 10 นาที ซึ่งถือว่าไม่เร็วพอสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน เป็นอุปสรรคและสร้างความหงุดหงิดในการใช้งาน แถมระบบยังใช้ไฟฟ้ามหาศาล
3.ความปลอดภัยของระบบมีมากแค่ไหน สามารถถูกแฮ็กได้หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลใช้เวลาผลักดันโครงการในไม่กี่เดือน ใครจะรับประกันความปลอดภัยว่าระบบมีความสมบูรณ์แบบจริง
แค่ 3 ข้อนี้ ตอบให้ได้ก่อน แล้วค่อยคิดต่อว่าจะหาเงิน และวางเงื่อนไขแจกเงินอย่างไร
นี่ก็ฝากไว้ให้คิด.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผ่าแผนรับมือรถติดสร้างสายสีส้ม
จากการที่รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดการจราจรเพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
เปิดขุมทรัพย์จากพฤติกรรมสุดขี้เกียจ
เชื่อหรือไม่ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่กดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเดลิเวอรี ทั้งที่ร้านอยู่ใกล้แค่ใต้คอนโดฯ สั่งซื้อของจากร้านสะดวกซื้อทั้งที่ร้านอยู่แค่ฝั่งตรงข้าม หรือยอมจ่ายเงินจ้างคนไปต่อคิวเพื่อซื้อของ ทำธุระ
สงครามการค้าเวอร์ชัน 2.0
อย่างที่ทราบกันดีว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐล่าสุด ผู้ชนะก็คือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งคว้าชัยแบบทิ้งห่างคู่แข่งอย่างนางกมลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต
แห่ส่งเสริมนวัตกรรมพลิกโลก
เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์ หรือ IoT(ไอโอที) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญในยุคสมัยนี้ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะเป็นนวัตกรรมที่ทำให้การสื่อสารระหว่างมนุษย์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น
OCAแก้วิกฤตพลังงานไทย
ปัจจุบันปริมาณสำรองก๊าซของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนเข้าขั้นวิกฤต ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาที่ผันผวนเพิ่มมากขึ้น มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นของประชาชนและรายได้งบประมาณของรัฐลดลง
แอ่วเหนือ...คนละครึ่งบูมเศรษฐกิจ
จากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ทั้งในแง่ของการคมนาคม เดินทางเข้าสู่พื้นที่และความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยว