ตกลงคนไทยเป็นโรคหัวใจ หรือเบาหวานกันแน่?

นายกฯ เศรษฐาบอกว่าเศรษฐกิจไทยแย่มาก แค่ “หยอดน้ำข้าวต้ม” เอาไม่อยู่

ต้อง “ปั๊มหัวใจ” ด้วยการฉีดเงิน 560,000 ล้านบาทเพื่อให้ลุกขึ้นมาทำมาหากินได้ต่อ

แต่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติบอกว่า ถ้าเปรียบคนไทยเป็นคนไข้ก็ไม่ต้องนอนเตียงที่โรงพยาบาลแล้ว สามารถกลับไปฟื้นฟูสุขภาพที่บ้าน แต่ยังต้องระมัดระวัง ไม่หักโหมเกินไป

คนไทยฟังแล้วคงจะงงไม่น้อย

เพราะไม่รู้จะเชื่อนายกฯ หรือผู้ว่าแบงก์ชาติดี

ฟังนายกฯ ก็กลัวว่าท่านคิดและพูดอย่างนักการเมืองแบบ “ประชานิยม” หวังได้คะแนนเสียง (ซึ่งท่านก็ปฏิเสธแล้ว)

ฟังผู้ว่าฯ แบงก์ชาติก็หวั่นๆ ว่าท่านจะติดยึดกับ “วิชาการ” มากเกินไป อาจจะไม่เข้าใจชาวบ้าน (อย่างที่นายกฯ สื่อความหมายตอนที่คณะนักวิชาการออกมาคัดค้านนโยบายแจกเงิน 10,000 บาท)

หรือคนไทยเป็นทั้งสองโรค?

ในยามที่เราต้องทำความเข้าใจกับความผันผวนปรวนแปรของเศรษฐกิจโลกและของไทย จึงต้องพยายามย่อยข้อมูลและแนวทางวิเคราะห์ของทุกฝ่าย

ถ้านักการเมืองมาแนวประชานิยม เอาภาษีเราไปใช้ทำโครงการที่ยังไม่มีรายละเอียด ไม่รู้เอาเงินมาจากไหน ไม่รู้ว่าคุ้มค่าหรือเปล่า เราก็ต้องให้ฝ่ายวิชาการออกมาช่วยวิเคราะห์ให้เราฟัง

ถ้าเราคิดว่านักวิชาการตีความตามตำรามากเกินไป ไม่สันทัดเรื่องจริงของชีวิต เราก็ต้องให้รัฐบาลบอกเราว่า จะทำอย่างไรเพื่อที่จะพิสูจน์ได้ว่าบรรดาอาจารย์เศรษฐศาสตร์เข้าใจอะไรถูกต้องหรือเปล่า

จึงควรจะให้มีการ "ดีเบต" ให้สาธารณชนได้ฟังความรอบด้าน เพื่อเราจะได้ประเมินถูกว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อใครอย่างไร

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ บอกว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี และฟื้นตัวต่อเนื่อง

ซึ่งสนับสนุนให้การบริโภคเติบโตได้ดี และมีเรื่องนักท่องเที่ยวที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย

 “พาดหัวข่าวที่ท่านได้เห็นว่า มีการปรับประมาณการอะไรต่างๆ เป็นการปรับประมาณการตัวเลขในปีนี้ แต่จริงๆ แล้วในปีหน้า ธปท.ปรับประมาณการขึ้น เพื่อสะท้อนมาตรการที่ออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ และสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มส่งอานิสงส์ทำให้การส่งออกดีขึ้น ดังนั้นในภาพการฟื้นตัวแล้ว เศรษฐกิจยังฟื้นตัวต่อเนื่อง และเรามั่นใจว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไปอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่จะเห็นการ ‘ตกวูบ’ ในแง่การเติบโตมีน้อยมาก” นายเศรษฐพุฒิกล่าว

การบริโภคดีแต่การลงทุนยังไม่ดี

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติบอกว่า การลงทุนของเอกชนในช่วงที่ผ่านมาเติบโตแบบแผ่วๆ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต และเติบโตต่ำกว่าประเทศอื่น ซึ่งเป็นอาการที่อยู่กับเศรษฐกิจไทยมานานแล้ว

เป็นที่มาของการเปรียบเทียบว่าคนไทยไม่ต้องนอนเตียงโรงพยาบาลแล้ว

 “ถ้าเทียบเคียงเศรษฐกิจเป็นสุขภาพของคน เราคงไม่ใช่คนไข้ที่ยังนอนอยู่บนเตียงโรงพยาบาล แต่คนไข้คนนี้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ฟื้นจากไข้แล้ว กลับไปอยู่ที่บ้านได้แล้ว การฟื้นตัวมาได้ดี แม้ว่าการฟื้นตัวจะต้องใช้เวลาบ้าง หมออาจจะบอกว่าช่วงนี้อย่าไปวิ่งมาราธอน อย่าไปทำอะไรที่หักโหมเกินไป แต่การฟื้นตัวก็ยังไปได้ต่อเนื่อง และจะค่อยๆ ฟื้นกลับมาได้โอเค ส่วนโอกาสที่จะเกิดโรคฉับพลัน หัวใจจะวาย ไตจะวาย ล้มฟุบ ก็ไม่เยอะ”

แต่ปัญหาที่เรามีคือเป็นโรคเรื้อรัง เป็นโรคที่อยู่กับเรามายาวนาน

 “ถ้าเทียบเคียงก็เหมือนกับการเป็นเบาหวาน ถ้าไม่ปรับอะไรก็จะอยู่กับคุณนาน กระทบสุขภาพ กระทบศักยภาพในระยะยาว ตัวนี้จึงเป็นตัวที่เป็นปัญหาจริงๆ ซึ่งวิธีการรักษาก็ต้องตรงกับอาการ หรือสภาพร่างกายของคน ซึ่งก็คือเศรษฐกิจตัวนี้ และเมื่อการฟื้นตัว (เศรษฐกิจ) ก็มาแล้ว ความจำเป็นในการพยายามเหยียบคันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อาจไม่ได้จำเป็นนัก”

ย้ำคำว่าไม่ต้อง “เหยียบคันเร่ง”

เพราะอาการของโรคจริงๆ เป็นเรื่องระยะยาว เป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้าง

ซึ่งในส่วน ธปท.ได้ปรับการรักษาให้ตรงกับบริบทของคนไข้ โดยในช่วงแรกคนไข้เจอโควิดน็อก ต้องอยู่ในโรงพยาบาล

ตอนนั้นเราต้องจัดยาแบบจัดเต็ม เหยียบคันเร่งเต็ม ดอกเบี้ยต่ำ เอาให้ต่ำ เรื่องสภาพคล่องก็ออกซอฟต์โลน ออก พ.ร.ก.ฟื้นฟู ลูกหนี้ไม่มีรายได้ก็พักหนี้

แต่เวลาผ่านไปแล้ว คนไข้เริ่มฟื้นแล้ว ถ้ารักษาแบบเดิม ใช้ยาแบบแรงๆ คงไม่เหมาะกับบริบท เพราะยาก็มีผลข้างเคียงทั้งนั้น

ดังนั้น สิ่งที่ ธปท.ทำคือ เริ่มถอนคันเร่ง

ดอกเบี้ยที่เคยต่ำ 0.5% ก็ค่อยๆ ทยอยขึ้น

แต่ด้วยความที่คนไข้อ่อนแอ และต้องใช้เวลาพักฟื้น เราก็ค่อยๆ ขึ้น (ดอกเบี้ย) ซึ่งไม่เหมือนกับประเทศอื่นที่เขาขึ้นเร็วขึ้นแรง

ส่วนเรื่องฝั่งหนี้สิน ที่เคยพักในวงกว้าง ธปท.ก็ถอด เพราะไม่ชอบเลย เนื่องจากผลข้างเคียงแรงมาก แล้วก็ออกมาเป็นมาตรการที่ตรงจุด โดยเน้นมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงกับอาการของคนไข้แต่ละคน

มาถึงจุดนี้ สิ่งที่เน้นคือ เมื่อเป็นโรคเชิงโครงสร้าง...ไม่ใช่ปัญหาการฟื้นตัว และเสถียรภาพยังโอเค ส่วนตัวที่เป็นปัญหาจริงๆ คือเรื่องศักยภาพ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง

ถามว่าที่ผ่านมา การรักษาของเราคืออะไร ก็จะพบว่าเราเน้นเรื่องเงิน ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณของเราเพิ่มขึ้นอย่างมีนัย ขณะที่งบประมาณ 75% เป็นงบประจำ และในงบประจำเองพบว่ากว่า 70% เป็นงบที่เหมือนตัดยาก เช่น เงินเดือนข้าราชการ สวัสดิการ ซึ่งถอยยาก

จึงเหลือ room (ช่องว่าง) ที่จะใช้สำหรับอย่างอื่น  เช่น การลงทุน ก็น้อย

และการลงทุนที่ผ่านมา เราจะไปเน้นโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ (Hard Infrastructure) ซึ่งก็ดี ไม่เถียง

แต่จุดที่อ่อนแอจริงๆ ของเราคือ เรื่องคุณภาพแรงงาน เรื่องการศึกษา ทักษะ นวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา

ดังนั้น วิธีที่จะรักษาตัวนี้ได้ต้องไปดูที่ปัญหาในเชิงโครงสร้าง ยกตัวอย่างเช่น อินโดนีเซียที่เขาออกกฎหมาย Omnibus Law ในปี 2563 ซึ่งโจทย์ของเขาชัด เขาต้องการปลดล็อกกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่เป็นอุปสรรค เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและการลงทุนของเขา เช่นเดียวกับที่เราพูดเรื่อง One Stop Service และการลดขั้นตอนที่สร้างภาระแก่ธุรกิจ

โดยสิ่งเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาเชิงศักยภาพและเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยได้ ขณะที่ยาที่มีผลข้างเคียงน้อย ต้นทุนต่ำ น่าใช้ และเหมาะสม

ที่ควรนำมาใช้ก็คือ Regulatory Guillotine หรือการลด ละ เลิกอะไรที่เป็นอุปสรรค เพื่อช่วยให้การทำธุรกิจในไทยง่ายขึ้น

นี่คือการนำเสนอเรื่อง “โรคเบาหวาน” ของแบงก์ชาติ เรากำลังรอให้นายกฯ เศรษฐาวินิจฉัย “โรคหัวใจ” ที่ต้องรักษาด้วยการ “ปั๊ม” อย่างร้อนแรง

ถ้าทั้งสองท่านออกมาตอบคำถามประชาชนพร้อมๆ กัน น่าจะเป็นปรากฏการณ์ของ “ประเทศไทยยุค 4.0” ได้จริงๆ!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ