หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ลงมติเห็นสมควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเสียง 127 ต่อ 2 เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หรือรัชกาลที่แปดยังทรงเป็นยุวกษัตริย์มีพระชันษาเพียง 10 ชันษา อีกทั้งยังประทับอยู่นอกราชอาณาจักรด้วย
สมาชิกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการยกกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า จะใช้อะไรเป็นตัวตั้ง จนในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้แต่งตั้งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีจำนวนสามท่าน ต่อมาได้มีการลงมติเลือกคณะผู้สำเร็จราชการทั้งสามท่าน ได้แก่ พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ (๑๑๒ คะแนน) กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ (๙๗ คะแนน) และ ๓. เจ้าพระยายมราช (๗๖ คะแนน)
ต่อมา ที่ประชุมได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการดำรงตำแหน่งของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีผู้เสนอว่าให้คณะผู้สำเร็จราชการฯมีอายุเท่ากับสภาผู้แทนราษฎรขณะนั้น และก็มีผู้เห็นว่า ไม่ควรจะให้มีอายุเท่ากับสภาผู้แทนราษฎร แต่สภาผู้แทนราษฎรควรจะกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของคณะผู้สำเร็จราชการฯให้ชัดเจนแน่นอน
นายมนูญ บริสุทธิ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี เสนอว่า การตั้งผู้สำเร็จราชการนี้ก็เท่ากับตั้งตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ หนึ่ง ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สอง เพราะอยู่ต่างประเทศ เมื่อความจำเป็นที่จะต้องตั้งผู้สำเร็จราชการนี้หมดไป ผู้สำเร็จราชการก็จะต้องหมดอำนาจไปในตัวเอง
นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า
“บางที เราอาจจะมีอะไรเข้าใจกันผิดอยู่บ้างในบางกรณี ปัญหาในเรื่องที่สภาฯนี้มีอำนาจตั้งแล้วจะมีอำนาจถอดถอนได้เพียงหรือไม่ และถ้าสภาฯนี้หมดอายุไปแล้ว สภาฯไม่มีนั้น เราจะมีอำนาจถอดถอนได้หรือไม่ ข้อนั้น ข้าพเจ้าได้พะวงถึงอยู่แล้ว ปัญหามีว่า ถ้าเราปรึกษากันตั้งแล้ว ในรัฐธรรมนูญก็ดี ในกฎมณเฑียรบาลก็ดี หาได้มีข้อความที่จะให้อำนาจแก่สภาฯนี้เป็นผู้มีอำนาจที่จะถอดถอนตำแหน่งผู้สำเร็จราชการได้ไม่ เพราะฉะนั้น จึงมีปัญหาในเรื่องที่ว่า มาถึงปัญหาเรื่องตัวการตัวแทนที่ผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี (นายมนูญ บริสุทธิ์/ผู้เขียน) เสนอนั้น ปัญหาในเรื่องนี้หาได้เกี่ยวกับตัวการตัวแทนในลักษณะการเช่นนั้นไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐ นั้น ในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งผู้สำเร็จราชการนั้น เป็นปัญหาตัวการและตัวแทน แต่ปัญหาที่มาเฉพาะหน้าตั้งนั้นอยู่ที่ผู้แทนราษฎร เมื่อำนาจอยู่ที่ผู้แทนราษฎรแล้ว ปัญหาจึงมีว่า เมื่อผู้มีอำนาจเช่นนั้นตายไป คือ สภาฯนี้หมดอายุ ก็เรียกว่าตายไป ผู้สำเร็จราชการนั้น จะคงอยู่หรือไม่ ปัญหามีเท่านี้
ทีนี้ ถ้าเราจะให้สืบกันเป็นสันตติอย่างที่ท่านที่ปรึกษา (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร/ผู้เขียน) ว่านั้น ถึงแม้สภาฯในรุ่นที่ ๒ ไม่พอใจ ก็หามีสิทธิที่จะถอดถอนประการใดไม่ ถ้าเราจะถือมติไว้วางใจอย่างเช่นคณะรัฐมนตรีเช่นนั้นแล้ว เมื่อสภาฯเราหมดอายุไป คณะรัฐมนตรีก็ต้องออกไปด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ตั้งหมดอายุ ก็ต้องสิ้นไปเหมือนกัน นี่เราถือหลักไว้วางใจ เพราะฉะนั้นจะต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อเราถือว่า สภาฯมีอำนาจถอดถอนได้ ถ้าสภาฯนั้นตายไป ผู้สำเร็จราชการก็ต้องศูนย์ไปด้วย ถ้าเราจะถืออย่างสันตติแล้ว ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเป็นองค์ที่จะต้องสืบเนื่องกันไปนั้น สภาฯไม่ว่าสมัยใดย่อมไม่มีอำนาจถอดถอนได้ เพราะในรัฐธรรมนูญไม่มี เราจะตีความหมายเอาแต่อย่างหนึ่ง แล้วทิ้งความหมายอย่างหนึ่งเช่นนั้นหาชอบไม่
ถ้าเราจะเอาอย่างหนึ่งอย่างใด ก็ตองเอามาให้เป็นคู่กัน ในกรณีนี้เป็นของคู่กันอยู่ว่า ถ้าสภาฯเราจะถอดถอนได้อย่างท่านผู้แทนกาญจนบุรี (ด. ยู่เกียง ทองลงยา/ผู้เขียน) ว่า หรือท่านที่ปรึกษาสนับสนุนเช่นนั้นแล้ว ปัญหาเช่นนั้นเกี่ยวกับความไว้วางใจ เมื่อเกี่ยวกับความไว้วางใจเช่นนั้น จึงโยงมาถึงปัญหาว่า สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตั้ง ก็เมื่อสภาผู้แทนราษฎรหมดอายุไป คณะผู้สำเร็จราชการก็ย่อมหมดไป แต่เมื่อถือเรื่องสันตติเช่นนั้นแล้ว สภาผู้แทนราษฎรไม่ว่าในกรณีใดๆจะไม่มีอำนาจถอดถอนได้
ทีนี้ เราหวนไปถึงกฎมณเฑียรบาลจะมีได้เฉพาะการแทนกันเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงเกิดเป็นปัญหาขึ้น ซึ่งเราจะผ่านไปโดยเร็วว่าอย่างนั้นอย่างนี้หาได้ไม่ ปัญหามันมีอยู่ ๒ แง่ที่ข้าพเจ้าได้กราบเรียนโดยบริสุทธิ์ใจเช่นนั้น
ถ้าเราจะถือว่าเป็นสัญญา ข้าพเจ้าจะไม่ขัดข้องอย่างใดเลยว่า สภาผู้แทนราษฎรจะเปลี่ยนแปลงมติของสภาฯ ในคืนวันนี้หาได้มี
แต่ถ้าเราจะถือว่าสภาผู้แทนราษฎรทรงสิทธิที่จะถอดถอนผู้สำเร็จราชการได้ เช่นนี้ ข้อนี้โยงมาถึงปัญหานอนคอนฟิเดนซ์ (Non confidence) ซึ่งจะต้องเกี่ยวโยงถึงคณะรัฐมนตรี เมื่อถึงปัญหาข้อนี้แล้ว เมื่อสภาฯเราซึ่งข้าพเจ้าเป็นสมาชิกอยู่ผู้หนึ่ง เช่นนี้ ย่อมหมดอายุไปตามระบอบรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น เราจะต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่าเอาอันหนึ่ง ทิ้งอันหนึ่ง เมื่อจะเอา ก็ต้องเอามาเป็นของสำคัญ ข้าพเจ้าขอเสนอดังนี้”
นายกรัฐมนตรี ขอให้หม่อมเจ้าวรวรรณฯ ทรงแถลง
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ อนุมัติ
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงกล่าวว่า
“ที่ข้าพเจ้าว่า สันตตินั้น ไม่ใช่ว่า สืบต่อเนื่องกันตามกฎหมาย ข้อนั้นเกี่ยวกับข้อนโยบายหรือข้อที่จะพึงพิจารณาในทางการเมือง คือว่า ไม่ควรจะมีช่องโหว่ไว้ แต่ปัญหาทางกฎหมายนั้นจะเทียบกับคณะรัฐมนตรีและมติไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้ เพราะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีนั้น ใครเป็นผู้ตั้ง พระมหากษัตริย์เป็นผู้ตั้ง ไม่ใช่สภาผู้แทนราษฎร แต่หากว่าดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ โดยไม่ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะฉะนั้น ถ้าพูดกันตามกฎหมายแล้ว ถึงแม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ยังไม่ขาดจากตำแหน่ง ต้องแล้วแต่ผู้ตั้ง แต่ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญมีบังคับไว้ว่า ถ้าสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจแล้ว บริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ ก็ต้องออก คือผู้ตั้งให้ออกเป็นธรรมดา คราวนี้ถ้าจะว่า เมื่อำนาจตั้งมาจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสภาผู้แทนราษฎที่ตั้งนั้นหมดอายุไป ผู้ที่รับตั้งต้องหมดอายุไปด้วยนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่ายังไม่ชอบด้วยหลักการ เพราะว่าไม่ใช่เป็นการเลือกตั้งอย่างที่ข้าพเจ้าแถลงแล้ว และขอให้นึกว่าเหมือนอย่างประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเดี๋ยวนี้ และซึ่งยังสังกัดอยู่กับคณะรัฐมนตรี แต่ต่อไปในภายหน้า อาจจะขึ้นต่อสภาฯ คือ แปลว่าแทนที่ประธานคณะกรรมการตรวจเงินนั้นได้รับตั้งทางฝ่ายบริหาร แต่ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร อาจจะมีกรณีเกิดขึ้นในภายหน้าที่สภาผู้แทนราษฎรจะตั้ง คือ มีอำนาจตั้งผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ข้าพเจ้าไม่ได้ว่าจะเป็นหรือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าชักเป็นตัวอย่างว่า อาจจะทำเช่นนั้นได้ ถ้าเช่นนั้นแล้ว ท่านนึกหรือว่าอำนาจของผู้ตรวจเงินแผ่นดินนั้นควรจะตกไปพร้อมกับอายุของสภาฯ และมีช่องโหว่อยู่ในระหว่างอายุของสภาฯ ที่ผู้ตรวจเงินแผ่นดินไม่สามารถจะไปตรวจบัญชีเขา เพราะขาดอำนาจหรือขาดจากตำแหน่ง ไม่ใช่เช่นนั้น อำนาจที่ตั้งนั้นเมื่อตั้งแล้ว ก็ยังเป็นตำแหน่งต่อไป แต่ที่ข้าพเจ้าว่าสภาฯตั้งแล้ว สภาฯถอดได้นั้น อาศัยหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้ตั้งแล้วผู้ตั้งก็ย่อมถอดได้ ไม่ใช่เกี่ยวกับมติไว้วางใจ เหมือนกับคณะรัฐมนตรี เพราะคณะรัฐมนตรีนั้น ประมุขเป็นผู้ตั้ง”
นายทองม้วน อัตถากร ผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า “ข้าพเจ้ายังสงสัยใคร่อยากจะให้ท่านที่ปรึกษาทรงอธิบายเพิ่มเติมอีกคือ การสืบราชสันตติวงศ์ให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ส่วนการอื่นๆนั้น เราจะนำกฎมณเฑียรบาลมาใช้อีกหรือไม่”
นายกรัฐมนตรี ขอให้หม่อมเจ้าวรรณฯทรงแถลง
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯอนุมัติ
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงกล่าวว่า
“นำมาใช้ได้ คือโดยปกติ แปลว่าถ้าสภาฯไม่ตั้งใหม่ ก็มีอายุไปจนกระทั่งพระมหากษัตริย์บรรลุนิติภาวะ นั่นถูกแล้ว ตามที่ท่านสมาชิกประจำจังหวัดสุพรรณบุรีได้ชี้แจง คราวนี้ พูดกันถึงเรื่องสิทธิของสภาฯ ข้าพเจ้าถือว่าโดยที่สภาฯเป็นผู้ตั้งตามรัฐธรรมนูญ นั่นสภาฯก็มีสิทธิที่จะถอดและตั้งใหม่ ที่จะตั้งใหม่คือ แปลว่า ชุดเก่าล้มไป ก็ชอบที่จะตั้งใหม่ได้ ที่ข้าพเจ้าเสนอนั้นว่าอย่างนั้น และอีกประการหนึ่ง ข้าพเจ้าอยากจะขอชี้แจงเทียบกับข้าราชการที่ได้รับตั้ง ถ้าผู้ที่ตั้งนั้นเปลี่ยนแปลงไป รัฐมนตรีที่มีอำนาจตั้งนั้นเปลี่ยนแปลง คือเขาออกกัน แต่ข้าราชการนั้นยังรับตำแหน่งอยู่ เทียบกันอย่างนั้นฉันใด สภาฯก็เข้าออกไปได้ได้ฉันนั้น
แต่การตั้งนั้น ก็ยังมีผลไปจนกว่า หรือเว้นไว้แต่สภาฯจะตั้งใหม่ เหมือนกับทางฝ่ายข้าราชการเหมือนกัน เมื่อรัฐมนตรีผู้หนึ่งได้ตั้งแล้ว ถึงแม้รัฐมนตรีผู้นั้นจะออกจากตำแหน่ง แต่ได้ตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎรในที่นี้ก็ตั้งโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ได้รับตั้งก็ยังคงอยู่ต่อไป แต่รัฐมนตรีที่เข้ามาใหม่ อาจจะให้ออก ให้ปลดฐานหย่อนยานความสามารถได้ฉันใด สภาผู้แทนราษฎรก็อาจจะตั้งใหม่ได้ฉันนั้น”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490