เพื่อความกระจ่างรัฐบาลควรจัด ‘ดีเบต’ ว่าด้วยการแจกหมื่นบาท!

นายกฯเศรษฐา ทวีสินบอกว่านักวิชาการที่ออกมาคัดค้านนโยบายแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิตัลวอลเล็ตนั้นเป็นแค่ “เสียงเดียว” ขณะที่ประชาชนหลายสิบล้านคนกำลังรอเงินแจกนี้อยู่

ท่านบอกด้วยว่านักวิชาการที่เห็นด้วยกับโครงการก็มี ขอให้ออกมาพูด เพราะท่านพร้อมจะฟังเพื่อเอาไป “ปรับปรุงแต่งเติม”

แต่ยังไง ๆ ก็จะไม่มีการยกเลิกโครงการนี้เพราะจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนของคนส่วนใหญ่

ท่านพูดเหมือนกับว่ากลุ่มนักวิชาการที่ออกมาค้านนั้นไม่เข้าใจปัญหาของชาวบ้าน

ฟังดูเหมือนท่านบอกว่าท่านเข้าใจประชาชนมากกว่า

แต่คุณเศรษฐาไม่ได้ตอบประเด็นต่าง ๆ ที่นักวิชาการคณะนี้ได้นำเสนอซึ่งหลายส่วนก็สอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่แน่ ๆ ก็คือนโยบายนี้มาจากข้อเสนอของคณะนักวิชาการของพรรคเพื่อไทยเอง

คงไม่ได้มาจากชาวบ้านที่ท่านอ้างถึงว่าอยากได้เงินก้อนนี้

เพราะถ้าหากท่านถามประชาชนทั่วไปว่าอยากได้เงินแจกไหม คำตอบส่วนใหญ่ก็คงจะยินดีปรีดา ยิ่งแจกเยอะยิ่งดีเป็นแน่แท้

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านจะต้องเปิดกว้างให้นักวิชาการและคนสาขาวิชาชีพต่าง ๆ มาถกแถลงโต้แย้งเห็นผลทั้งที่เห็นด้วยและเห็นต่าง

เพราะนี่คือนโยบายที่ต้องใช้เงินภาษีประชาชนจำนวนมหาศาล มีคนแสดงความกังวลอย่างกว้างขวาง

นายกฯจึงควรจะต้องจัดให้มีการ “ดีเบต” ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับฟังเหตุผลและแนววิเคราะห์ทั้งจากฝ่ายของรัฐบาลและฝ่ายที่มีความเห็นต่าง

อันจะเป็นตัวอย่างของการ “รับฟัง” ที่ท่านนายกฯย้ำมาตลอดว่าจะเป็นวิธีการบริหารบ้านเมืองของท่าน

เริ่มด้วยการที่ท่านนายกฯต้องออกมาตอบข้อสังเกต 7 ข้อของคณะนักวิชาการที่รวมตัวกันเพื่อขอให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายนี้

นายกฯต้องตอบทีละประเด็นเพื่อความกระจ่างสำหรับประชาชน มิใช่อ้างว่ารัฐบาลรู้ดีว่าประชาชนต้องการอะไรและจะเดินหน้าทำนโยบายที่กำลังถูกตั้งคำถามทั้งบ้านทั้งเมือง

จึงขอนำเอา 7 ประเด็นที่คณะนักวิชาการยกขึ้นมาคัดค้านนโยบายของท่าน

เพื่อนายกฯจะได้ให้ทีมงานไปทำการบ้านมาตอบทีละข้อให้ประชาชนได้รับทราบความเห็นกันให้ครบทุกมิติ

ซึ่งจะยุติธรรมสำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

อันจะนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส, เปิดกว้างและ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ประเด็นมีดังนี้

  1. 1. เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะฟื้นตัว สำนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 2.8% ในปีนี้ และ 3.5% ในปี 67 จึงไม่จำเป็นที่รัฐต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมามี การบริโภคส่วนบุคคล เป็นตัวจักรสําคัญ ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ การบริโภคขยายตัวถึงร้อยละ 7.8 ซึ่งสูงที่สุด ใน 20 ปี คิดเป็นกว่า 2 เท่าของค่าเฉลี่ย 10 ปี คาดว่าปีนี้ทั้งปี การบริโภคจะขยายตัวร้อยละ 6.1 และร้อยละ 4.6 ในปีหน้า จึงไม่มีความจําเป็นที่รัฐจะกระตุ้นการบริโภคส่วนบุคคล แต่ควรจะเน้นการใช้จ่ายของภาครัฐในการสร้างศักยภาพในการลงทุน และการส่งออกมากกว่า

นอกจากนี้ การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากที่เงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.9 ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะหลัง การกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลานี้ จะทําให้เงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) สูงขึ้น และอาจนําไปสู่ภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

2.เงินงบประมาณของรัฐที่มีจํากัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจํานวนมากถึงประมาณ 560,000 ล้านบาทนี้ ทําให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง Digital Infrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาว แทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผล ต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป “ค่าเสียโอกาสสำคัญ” คือ การใช้เงินสร้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน

  1. 3. การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัว โดยรัฐแจกเงินจํานวน 560,000 ล้านบาท เข้าไปในระบบ เป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะปัจจุบัน ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัย ทําให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ เชื่อว่าตัวทวีคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอน หรือการแจกเงิน มีค่าต่ำกว่า 1 และต่ำกว่าตัวทวีคูณทางการคลังสําหรับการใช้จ่ายโดยตรง และการลงทุนของภาครัฐ การที่ผู้กําหนดนโยบายหวังว่า นโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย

ไม่มีใครเสกเงินได้ ไม่มีเงินที่งอกจากต้นไม้ ไม่มีเงินที่ลอยมาจากฟ้า ไม่ว่าจะแอบซ่อนมาในรูปแบบใดก็ตาม สุดท้ายแล้วประชาชนจะต้องจ่ายคืนเสมอ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะจ่ายภาษีเพิ่มขึ้น และ/หรือราคาสินค้าแพงขึ้นเพราะเงินเฟ้อ อันเนื่องจากการเพิ่มปริมาณเงิน

  1. เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น มาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จํานวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจ หรือกู้จากสถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทําให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศ ต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น

หนี้สาธารณะของรัฐที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) จะต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องจ่ายคืนหรือกู้ใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี ยังไม่นับ จํานวนเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงิน Digital คนละ 10,000 บาทนี้ด้วย

5.ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด และภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างก็จําเป็นที่จะต้องมีการขาดดุลการคลัง และสร้างหนี้จำนวนมาก เพื่อใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข กระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่หลังจากวิกฤติโรคระบาด และภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ที่ฉลาด รอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (Fiscal Consolidation)

ทั้งนี้ เพื่อสร้าง “ที่ว่างทางการคลัง” (Fiscal Space) ไว้รองรับวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคต นโยบายแจกเงิน Digital 10,000 บาทนี้ ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับจากภาษี เพียงร้อยละ 13.7 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ มาก

การทํานโยบายการคลังโดยไม่รอบคอบระมัดระวัง และไม่คํานึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ยังจะส่งผลต่ออันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศ ซึ่งจะทําให้ต้นทุนการกู้เงินของทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทย สูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นด้วย

  1. 6. การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐี ที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจําเป็น

7.สําหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลัง เป็นสิ่งจําเป็น ขณะที่จํานวนคนในวัยทํางานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุข จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองการณ์ไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า รักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก นโยบายแจกเงิน Digital 10,000 บาท แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับนั้นน้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจก เงิน เพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้น ๆ โดยไม่คํานึงถึงวินัย และเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว

นักวิชาการกลุ่มนี้ก็ช่วยพาดบันไดให้รัฐบาลแล้วด้วยการสรุปว่า

“แม้รัฐบาลทุกรัฐบาลจะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ทําลายความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว หากจําเป็นที่จะต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มคนรายได้น้อย ก็ควรทําแบบเฉพาะเจาะจงแทนการเหวี่ยงแหครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เพราะเสถียรภาพทางการคลังของไทย และความสามารถในการจัดเก็บภาษี ไม่เอื้อให้ประเทศทําเช่นนั้น”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ