ผลคือล้างคดี ม.๑๑๒

เป็นอีกวาระที่ต้องระลึกถึง คือเหตุการณ์ ๖ ตุลา

วานนี้ (๖ ตุลาคม) ๔๗ ปีผ่านมาแล้ว ถ้าเป็นคนก็ปาเข้าไปครึ่งชีวิต มีการถอดบทเรียนมากมาย นำมาปรับใช้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

 ที่ไม่ได้เลยคือความขัดแย้งทางการเมืองยังคงดำรงอยู่  ด้วยสาเหตุที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่เหตุการณ์เดือนตุลาคมในอดีต

ประชาธิปไตย เผด็จการ

ฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ฝ่ายอนุรักษนิยม

ที่สำคัญความเข้าใจสถานการณ์โดยไม่แยกบริบท อดีต-ปัจจุบัน ว่ามีความต่างอยู่มาก เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งไม่รู้จบ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ยังมีผู้ที่เรียกตัวเองว่านักประชาธิปไตย ยังแยกไม่ออกระหว่าง ถนอม ณรงค์ ประภาส กับ ประยุทธ์ ประวิตร อนุพงษ์

ยังมีความเชื่อว่า ทหารคือทหาร

ทหารคือเผด็จการเบ็ดเสร็จ

และยังคงมีความเชื่้อว่า ประชาชนในปัจจุบันไร้เสรีภาพ ถูกกดขี่ กดทับ เหมือนเช่นในอดีต ในขณะที่ประชาชนไม่ชอบ ๓ ป. ใช้โซเชียลด่า ๓ ป. เป็นหมูเป็นหมาได้ทุกวัน

ความเชื่อบางส่วนนี้ถูกถ่ายทอดลงในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล

มันก็คือประเด็นที่ซ่อนไว้นั่นแหละครับ

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ตั้งใจนิรโทษกรรม ผู้ทำผิด ม.๑๑๒ เป็นหลัก 

และผู้ต้องหา จำเลย หรือนักโทษคดี ม.๑๑๒ ทั้งหมดคือกลุ่มที่ต่อต้านต่อการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน  

มีข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็น สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา ๑๑๒ ตั้งแต่วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ - ๕ ตุลาคม ๒๕๖๖ 

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่เริ่มมีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา ๑๑๒ แล้วอย่างน้อย ๒๕๘ คน ใน ๒๘๐ คดี

ในจำนวนคดีทั้งหมด แยกเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน ๑๓๖ คดี

คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน ๑๑ คดี

คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ๙ คดี

คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ๑ คดี

ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา

พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน ๕๒ คดี

คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติกเกอร์ เป็นต้น จำนวน ๖๙ คดี

คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน ๑๕๑ คดี

คดีลักษณะแอบอ้าง ๑ คดี

และไม่ทราบสาเหตุ ๗ คดี

ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน ๑๘ ปี จำนวน ๒๐ ราย ในจำนวน ๒๓ คดี

ศาลมีการออกหมายจับ อย่างน้อย ๑๐๑ หมายจับ    (กรณี “เดฟ ชยพล” นักศึกษา มธ. ถูกศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับ แต่ต่อมาตำรวจไปขอยกเลิกหมายจับ และไม่ได้ดำเนินคดี) และยังมีการจับตามหมายจับเก่าตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๕๙ อย่างน้อย ๒ หมายจับ

คดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว จำนวน ๑๙๖ คดี ยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี

แกนนำการชุมนุมถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนทั้งหมด ดังนี้

พริษฐ์ ชิวารักษ์ ๒๔ คดี

อานนท์ นำภา ๑๔ คดี

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ๑๐ คดี

ภาณุพงศ์ จาดนอก ๙ คดี

เบนจา อะปัญ ๘ คดี

ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ๗ คดี

พรหมศร วีระธรรมจารี ๕ คดี

ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ชูเกียรติ แสงวงค์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ ๔ คดี

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ๓ คดี

สมพล (นามสมมติ) ๖ คดี

ทำไมเริ่มนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓?

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้เหตุผลว่า

"....พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยประกาศว่าจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ

โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตาม 'กระบวนการยุติธรรมของประเทศ'

จากนั้นก็ปรากฏรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะเริ่มกลับมาบังคับใช้ข้อหา 'หมิ่นประมาทกษัตริย์' ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ อีกครั้ง หลังจากมีการเปลี่ยนแนวทางการบังคับใช้มาตั้งแต่ช่วงปี ๒๕๖๑ เป็นต้นมา...."

การพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลประยุทธ์ ก็ไม่มีอะไรพิเศษ เพราะก่อนหน้าเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ มีการเคลื่อนไหวโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์บ่อยครั้ง

และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้ายรัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมาย

ย้อนกลับไปที่มาตรา ๓ ในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคก้าวไกล

มีท่อนหนึ่งที่ระบุว่า

"...การกระทำใดๆ ของบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมประท้วงทางการเมือง ที่ได้กระทำขึ้นระหว่างวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๙ จนถึงวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ...หากการกระทำดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกายภาพหรือการแสดงความคิดเห็นเป็นความผิดตามกฎหมายอันผู้กระทำได้กระทำไปโดยมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง..."

ก็คือคดีที่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวบรวมมา ระบุว่าคือการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย  เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติกเกอร์ เป็นต้น จำนวน ๖๙ คดี

คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน ๑๕๑ คดี

รวมทั้งสิ้น ๒๒๐ คดี

หากร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา จะมีคนได้ประโยชน์ไม่น้อยเลยทีเดียว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าปล่อยให้เหลิง

นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง