เมื่อวานได้เขียนถึงข้อเสนอตอบ 5 โจทย์ใหญ่ที่ท้าทายการสร้างอนาคตประเทศไทยของ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ซึ่งในวันนี้มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
เป็นเนื้อหาที่ท่านไปร่วมงานเสวนา Inclusive Green Growth Transition ในการประชุมประจำปี 2666 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา
ซึ่งผมคิดว่าสามารถตอบคำถามที่ว่า เราจะสร้าง story ของประเทศไทยให้ทั้งคนไทยและต่างชาติได้เห็นอนาคตของประเทศนี้อย่างชัดเจน ด้วยการแก้โจทย์ใหญ่ 5 ประการอย่างไรบ้าง
3 ประการแรกได้กล่าวไว้เมื่อวาน คือเรื่องผลภาพ หรือ productivity, นิติรัฐและการปราบคอร์รัปชันอย่างจริงจัง
ดร.วิรไทชี้ว่า โจทย์ประการที่ 4 คือการที่เราเป็นสังคมผู้สูงอายุ
ไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบแล้ว
แต่เราไม่มีความพร้อมในหลากหลายด้าน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการของภาครัฐที่ไม่สามารถดูแลผู้สูงอายุได้
และเวลาที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตลาดจะเล็กลงเรื่อยๆ เมื่อตลาดเล็กลง ความสามารถในการแข่งขันของประเทศก็จะลดลง
ถ้ากลับไปเรื่อง Productivity ในอีก 10 ปีข้างหน้า คนทำงาน 1 คน เขาต้องทำงานได้เก่งขึ้นมาก ถึงจะหารายได้มาเลี้ยงดูผู้สูงอายุ ทั้งผู้สูงอายุในครอบครัวที่เป็นทางตรง
และต้องเสียภาษีเพื่อให้รัฐมาจัดสวัสดิการให้ผู้สูงอายุอื่นๆ ของประเทศ
ถ้าเราไม่สามารถเพิ่ม Productivity ได้อย่างจริงจัง ปัญหาสังคมผู้สูงอายุจะเป็นปัญหาใหญ่มากๆ
ประการที่ 5 การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เวลาที่เรามองว่าจะรับมืออย่างไร คนจะคิดถึงอันแรกคือ ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือหากลไกที่จะมา Offset (ชดเชย) ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกไป ให้เกิดผลกระทบน้อย
แต่ที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยมากๆ และเรายังขาด คือ adaptation (การปรับตัว) หรือการวางแผน รับมือ ปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ
ซึ่งจะมีปัญหาใหม่ๆ ที่จะกระทบต่อชีวิตของพวกเราทุกคน กระทบต่อวิถีการทำธุรกิจของทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากๆ คือเรื่องน้ำ
ปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดจะเป็นเรื่องใหญ่มากๆ และถ้าน้ำไม่มาตามฤดูกาล ภาคเกษตรก็จะถูกกระทบอย่างรุนแรง
ปัญหาเรื่องน้ำใต้ดินก็จะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล หรือมีภัยแล้งยาวมากขึ้น น้ำในบางภูมิภาคก็มีแนวโน้มจะเป็นน้ำกร่อย เพราะมีความเค็มในดินสูง ซึ่งจะส่งผลต่อการทำเกษตรของคนจำนวนมาก
เรื่อง adaptation จะเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าเราไม่มีแผนการปรับตัวให้ดี คนที่เดือดร้อนมากที่สุดคือ คนที่อยู่ฐานล่างของสังคม
ซึ่งเขามีภูมิคุ้มกันค่อนข้างน้อย ไม่สามารถลงทุนในการปรับตัวได้
และในหลายภูมิภาคของโลกนั้น การแย่งน้ำถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสงคราม และเกิดขึ้นแล้วด้วย
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นเรื่อง geopolitics (ภูมิรัฐศาสตร์) ที่ใกล้ตัวมาก คือเรื่องพลังงาน
อย่าลืมว่าประเทศไทยเราพึ่งพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก และมีสัดส่วนที่มาก
ซึ่งประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นแหล่งพลังงานของเรา ก็เป็นพื้นที่ที่ประเด็นเรื่อง geopolitics กำลังเข้ามามีบทบาท ดังนั้น เรื่องเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่เราต้องบริหารจัดการ
เมื่อตั้งโจทย์ 5 ข้อแล้ว ดร.วิรไทก็เสนอต่อว่า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องให้มุ่งเน้น 4 คำสำคัญ
คำแรกคือ คำว่า Productivity (ผลิตภาพ) เราจะต้องแข่งขันด้วยผลิตภาพสูง
ยิ่งถ้าเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ เราจะเล่นเกมที่แข่งด้วยปริมาณไม่ได้ เราต้องเล่นเกมที่แข่งด้วยคุณภาพ ซึ่งเรื่องคุณภาพนั้น การทำอะไรก็ตาม ทุกอย่างที่เราทำ ทุกกิจกรรมเศรษฐกิจที่เราทำ ต้องให้ premium ต้องให้ value (คุณค่า) กลับมาสูงกว่าแบบเดิม
คำที่สองคือ คำว่า Inclusivity หรือการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนา
จากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่เป็นปัญหาใหญ่มาก คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ และความเหลื่อมล้ำก็จะมีหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์ ความเหลื่อมล้ำด้านด้านรายได้ และความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส
คำที่สามคือ คำว่า Immunity หรือภูมิคุ้มกัน ภูมิคุ้มกันเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเรากำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนรูปแบบใหม่ๆ
ภูมิคุ้มกันจะมาจากหลายระดับ ในภาพใหญ่ของเศรษฐกิจมหภาค ก็ต้องคำนึงถึงเสถียรภาพของระบบการเงิน ระบบการคลังของประเทศ
ในระดับครัวเรือน เราก็พูดถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งบั่นทอนภูมิคุ้มกันของระดับครัวเรือนไป และเชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดความเครียดในสังคม อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นในช่วงโควิด
คำที่สี่ อีกคำที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ Adaptability เราต้องมีความสามารถในการปรับตัว ระบบเศรษฐกิจจะต้องสามารถปรับตัวได้เร็ว
เพราะถ้าเราเจอปัญหา เจอการเปลี่ยนแปลงจากข้างนอก แล้วเราไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเท่าทัน เราจะงง เราจะไปต่อไม่ถูก และจะเกิดผลกระทบตามมาเต็มไปหมด
แต่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ต้องมีการปฏิรูปภาครัฐอย่างจริงจัง
การออกแบบเศรษฐกิจที่จะก้าวต่อไปในอนาคต จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Productivity, Inclusivity, Immunity และ Adaptability
ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราต้องทำ อย่างเช่นในเรื่องของภาครัฐ จะเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ถ้าเกิดภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพ จะดึงผลิตภาพของทั้งเศรษฐกิจและสังคมไทยลง ซึ่งภาครัฐนั้นจะรวมไปถึงรัฐวิสาหกิจด้วย
ถ้ารัฐวิสาหกิจไม่มีประสิทธิภาพดี จะเป็นต้นทุนของพวกเราทุกคนในการใช้ชีวิต เป็นต้นทุนของพวกเราทุกคนในการทำธุรกิจในประเทศไทย
ภาครัฐจึงเป็นต้นตออันหนึ่งของ Productivity หรือบริการต่างๆ ของภาครัฐ
การขออนุญาตง่ายๆ ถ้าใช้เวลานานก็จะกลับมากระทบ Productivity ของเอกชน และต้นทุนการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคน
ถ้าภาครัฐไม่สามารถทำเรื่องใหม่ๆ ได้อย่างเท่าทัน ก็อย่าไปหวังว่าเราจะมี Adaptability เราจะไม่สามารถปรับตัวได้ กฎหมายก็จะเป็นกฎหมายแบบเดิม ไม่สามารถทำให้เกิดการลงทุนรูปแบบใหม่ได้ หรือไม่เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
หลายหน่วยงานมีปัญหาเรื่องการซื้ออุปกรณ์และเทคโนโลยีใหม่ๆ จะใช้ cloud computing แต่ละที ก็ไม่รู้ว่าจะไปตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างอย่างไร ไม่รู้จะเขียนสเปกแบบไหน
ดังนั้น การปฏิรูปภาครัฐถือเป็นหัวใจสำคัญ และภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับ Demand (ความต้องการ) หรือผู้ใช้บริการของภาครัฐมากขึ้น
ทำอย่างไรก็ได้ที่จะทำให้ผู้ใช้บริการภาครัฐมีทางเลือก และมีสิทธิ์ในการกำหนดรูปแบบที่จะได้รับบริการจากภาครัฐเพิ่มมากขึ้น
เช่น การจัดทำงบประมาณของภาครัฐที่เราเผชิญอยู่ มักมีลักษณะที่เป็นการ Supply-Driven หรือการกำหนดโดยอุปทาน
คือทุกหน่วยงานจะมีว่า แต่ละปีจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ ในภาคการศึกษาเห็นชัดเจนมากกว่า
เรามีโรงเรียนเล็กๆ เต็มไปหมด เด็กเกิดน้อยลง แต่ยุบโรงเรียนไม่ได้ ครูก็มีปัญหา เพราะตำแหน่งมีน้อยลงตามจำนวนเด็ก
คุณภาพก็เลยแย่ เพราะครูคณิตศาสตร์ 1 คน อาจจะสอนคณิตศาสตร์หลายชั้น
แทนที่รัฐบาลจะไปสนับสนุนโรงเรียน งบประมาณในเรื่องเงินเดือนครู ค่าบริหารจัดการ แต่เอางบประมาณเหมือนกันนี้มาให้ผู้ปกครอง และผู้ปกครองจะเป็นคนเลือกเองว่าจะส่งลูกไปโรงเรียนไหม
อันนี้เป็นการใช้งบประมาณเพื่อให้ผู้ใช้บริการตัดสินใจได้
ถ้าโรงเรียนไหนที่ไม่พัฒนาหรือแข่งขันไม่ได้ ก็จะค่อยๆ ฝ่อตัวลง เพราะเขาไม่มีเงินเดือน ไม่มีค่าตอบแทนเพียงพอที่จะไปบริหารได้
ผู้ปกครองเองจะสามารถเลือกโรงเรียนที่คิดว่า ตรงกับคุณภาพการศึกษาที่เขาต้องการให้ลูกหลานของเขาได้รับได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันในระบบ
ดังนั้น ในด้านของภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปฏิรูปภาครัฐ รวมไปถึงการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ และต้องรับฟังคนที่เป็นฝั่งผู้ใช้บริการให้มากขึ้น
บางครั้งเราต้องมานั่งคิดว่า paradigm (กระบวนทัศน์) ของการพัฒนา paradigm ในการทำนโยบายของเราควรจะต้องปรับอย่างไร เพื่อให้เห็นว่าเป็นการปรับใหญ่
ถ้ามีการคิดเรื่องที่เป็นสาระหลักๆ เพื่อปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง เราก็อาจจะพอยังมีความหวังสำหรับคนรุ่นต่อไปได้บ้าง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ