นายกฯเศรษฐา ทวีสินถูกนักข่าวบลูมเบิร์กถามว่านักลงทุนต่างชาตไม่ค่อยจะสนใจ story ของประเทศไทยในช่วงนี้
คำว่า story ในที่นี้เข้าใจว่าหมายถึงเรื่องราวเกี่ยวกับ “จุดขาย” หรือ “จุดแข็ง” ของประเทศไทย
เหมือนจะเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่แย่งการลงทุนต่างชาติไปจากไทย เพราะเราไม่มีจุดขายใหม่ ๆ ที่แข่งกับประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศของเรา
คุณเศรษฐาตอบว่า “อาจจะเป็นเพราะเราไม่ได้ออกไปเล่าเรื่องของเราพอ...ผมขอ 6 เดือนที่จะเปลี่ยนใจนักลงทุนเหล่านั้น”
ความหมายคือนายกฯไทยจะออกตระเวนไปพูดคุยกับนานาชาติเพื่อเรียกความสนใจกลับมาประเทศไทยให้จงได้
การเดินสายไปเล่าเรื่องเมืองไทยนั้นเป็นเรื่องที่ดีแน่ แต่นายกฯคนเดียวคงทำไม่ได้ทั้งหมด
รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงจะมีความรู้ความสามารถที่จะทำอย่างนั้นได้หรือไม่ยังเป็นปัญหาอยู่
ที่สำคัญกว่าการออกไปเล่าเรื่องของเมืองไทยไทยก็คือเราจะไปเล่า story อะไร
จะเป็นแค่ออกไปประชาสัมพันธ์ พูดถึง “เสน่ห์” ของไทยเรื่องที่ตั้งภูมิศาสตร์, อาหารไทย, รอยยิ้มคนไทยและชายทะเลที่สวยงามไม่น่าจะพอแล้ว
เพราะประเทศที่กำลังมี story ที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่าไทยเรามีเนื้อหาของเรื่องราวที่ทันสมัยกว่า ที่ตอบสนองความต้องการด้านการลงทุนมากกว่า
และเขาสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมที่สร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่า
ดังนั้น การสร้าง story ของประเทศก็คือการ “ปฏิรูป” ประเทศครั้งใหญ่อย่างจริงจังในด้านต่าง ๆ
เพราะ story สำหรับคนข้างนอกนั้นต้องเริ่มที่ให้คนไทยเองเห็นว่าจะมีการสร้างประเทศไทยอย่างจริงจัง
และแก้ปัญหาที่หมักหมมมายาวนานอย่างเป็นรูปธรรม
ไม่ใช่เพียงแค่ตั้งคณะกรรมการชุดแล้วชุดเล่าเท่านั้น
อะไรคือเรื่องที่ต้องรื้อต้องสร้างกันใหม่?
ดร.วิรไท สันติประภพ, อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ได้นำเสนอ “5 โจทย์ท้าทาย รื้อใหญ่โครงสร้าง’ประเทศไทย” ที่ผมคิดว่าคือการสร้าง story ของประเทศอย่างเป็นระบบและจริงจัง
หัวใจของการสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศนั้น ดร. วิรไทยชี้ไปที่ระบบนิติรัฐ และการคอร์รัปชั่นก่อนทุกเรื่อง
เพราะดูพัฒนาการในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาสถานะของประเทศไทย ‘ไม่ได้ดีขึ้น’
และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเลยในเรื่องคอร์รัปชั่น
อีกทั้งในหลายช่วงเวลา มีหลายเหตุการณ์ที่คนแคลงใจ ‘ระบบนิติรัฐ’ ของไทยมากขึ้นด้วย
ดร.วิรไทเคยเป็นผู้ว่าแบ็งก์ชาติและวันนี้มีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
ท่านไปร่วมงานเสวนา Inclusive Green Growth Transition ในการประชุมประจำปี 2666 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา
ตอนหนึ่ง ดร. วิรไทบอกว่ามี 4-5 ประเด็นที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากๆที่จะบอกว่า
“ถ้าเราจะ Transition (การเปลี่ยนแปลง) ประเทศไทยไปให้เท่าทันกับความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นในโลก และฉวยโอกาสใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้น เราต้องสามารถจัดการความท้าทายเชิงโครงสร้างต่างๆได้”
ซึ่งตรงกับประเด็นเรื่องสร้าง story ของจริงให้กับประเทศไทย...มิใช่เพียงสำหรับข้างนอกมองเข้ามาข้างนอกเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสร้างชาติให้เกิดความยั่งยืนสำหรับคนไทยอย่างเป็นระบบอีกด้วย
ดร. วิรไทมีข้อเสนอดังนี้
ประการแรก คำที่สำคัญมาก ก็คือคำว่า Productivity (ผลิตภาพ)
ขณะนี้ Productivity ของหลายภาคการผลิตของเราอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง
เราเห็นพัฒนาการด้านผลิตภาพเกิดขึ้นเยอะมากในประเทศที่อยู่ในภูมิภาคของเรา แต่เราไม่สามารถก้าวข้ามประเด็นตรงนี้ได้
โดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่คนจำนวนมากฝากชีวิตไว้
ยกตัวอย่างภาคเกษตร
ถ้าดู Productivity ในภาคเกษตร พบว่าของเราค่อนข้างต่ำมาก
ผลผลิตต่อไร่ของเราแทบจะทุกพืชหลัก ต่ำกว่าประเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญ
ภาคบริการของเรา ก็อยู่ในบริการที่เรียกว่าเป็น ‘บริการพื้นฐานดั้งเดิม’
อย่างการท่องเที่ยว ก็มักมีบริการที่มี Productivity ต่ำ ไม่ได้เป็นบริการอย่าง e-commerce (ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) หรือโดยการที่อาศัยดิจิทัลซึ่งเป็นการให้บริการสมัยใหม่
ส่วนอุตสาหกรรมพื้นฐานหลายอย่างที่เป็นอุตสาหกรรม SME ก็ติดกับดัก Productivity
ดร. วิรไทบอกว่าเวลาที่ใครก็ตามเลือกลงทุน หรือหา destination (จุดหมายปลายทาง) ใหม่ในการลงทุน คำที่สำคัญ คือ คำว่า Productivity
เพราะ Productivity เป็นตัวตัดสินว่า การที่เขาเข้ามาลงทุนแล้ว ผลิตแล้ว หรือแม้กระทั่งเราเอง คนไทยที่ตัดสินใจลงทุน เราจะแข่งขันได้หรือเปล่า
นี่เป็นโจทย์สำคัญมากว่า ทำอย่างไร ที่จะทำให้ Productivity ของเราเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคเศรษฐกิจที่คนจำนวนมากฝากชีวิตไว้
ประการที่สองคือโครงสร้างหน้าที่-อำนาจ‘ระบบรัฐไทย’ยังอยู่ใน‘โลกแบบเดิม’
เวลาเราพูดถึงความท้าทายใหม่ๆ ความท้าทายใหม่ๆ คือ เรื่องที่จะเกิดขึ้นใหม่ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราคุ้นชิน ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแบบเดิม
แต่โครงสร้างของระบบรัฐของเรา ระบบราชการ ระบบรัฐวิสาหกิจของเรา เป็นโครงสร้างหรือกรอบอำนาจหน้าที่ต่างๆ ซึ่งอาจจะเขียนขึ้นตาม ‘โลกแบบเดิม’
ซึ่งไม่เอื้อต่อการทำงาน ที่จะตอบโจทย์โลกแบบใหม่ๆ ตอบโจทย์ใหม่ๆการทำงานของประเทศ หรือของโลก หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำงานข้ามหน่วยงาน ในลักษณะที่เป็นพันธมิตรซึ่งกับและกัน
แต่เรามักเจอตลอดเวลาว่ามี Silo เต็มไปหมดเลยในระบบราชการ
แต่วิธีการแก้ปัญหาของเรา คือ การตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งมีคณะกรรมการฯเต็มไปหมด ซึ่งจะมีแต่กิจกรรม แต่จะไม่มีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
ดังนั้น ในเรื่องของภาครัฐจะเป็นเรื่องใหญ่มาก
ถ้าใช้ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ เรามักจะพูดว่าเป็นปัญหาความล้มเหลวในการประสานงาน หรือ Coordination failure ที่ใหญ่มาก
ถ้าเราไม่สามารถแก้ปัญหา Coordination failure ของรัฐไทยได้ จะเป็นปัญหาที่เราจะขับเคลื่อนเรื่องใหม่ ซึ่งต้องอาศัยการมองจากหลากหลายมิติ มีการประสานพลังจากหลากหลายมิติ
ประการที่สาม ที่เป็นเรื่องที่ใหญ่มากเช่นกันสำหรับประเทศไทย คือ ระบบนิติรัฐ และการคอร์รัปชั่น
ถ้าดูพัฒนาการในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าสถานะของประเทศไทย ‘ไม่ได้ดีขึ้น’ และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังเลยในเรื่องคอร์รัปชั่น
หลายช่วงเวลา มีหลายเหตุการณ์ที่คนแคลงใจ ‘ระบบนิติรัฐ’ ของไทยมากขึ้นด้วย
ระบบนิติรัฐ หรือการทำเกิดคอร์รัปชั่นที่มากขึ้น ทำลายการแข่งขัน ทำลาย Productivity เพราะการแข่งขันไม่ได้ตั้งอยู่ที่ความสามารถ
แต่การแข่งขันจะตั้งอยู่กับ ‘ใครที่สามารถเข้าถึงอำนาจอะไรบางอย่างได้มากกว่า’ หรือจะสามารถมีวิธีการใต้โต๊ะที่ไปบั่นทอนการแข่งขัน
ที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ เวลามีคอร์รัปชั่นเยอะๆ ทำลายความไว้วางใจ (Trust)
เวลาที่เราจะทำเรื่องใหม่ ผจญกับความท้าทายใหม่ Trust หรือความไม่วางใจ เป็นเรื่องสำคัญมาก
ไม่ใช่ว่าพอใครจะเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ก็จะมีการตั้งโจทย์ว่าทำแบบนี้ เพื่อหวังจะได้ประโยชน์แบบนี้หรือเปล่า
นี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่มีใครกล้าทำเรื่องอะไรใหม่ๆ ในระบบราชการเองก็จะกังวล กลัวกันมากว่า ถ้าจะทำเรื่องใหม่ๆ จะถูกเป็นที่ครหา
ถ้าเราไม่จัดการเรื่องปัญหาคอร์รัปชั่นก็จะไปกระทบกับประเด็นเรื่อง Productivity กระทบการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และจะกระทบกับ Trust ความไว้วางใจ ทำให้เราทำเรื่องใหม่ๆไม่ได้
(พรุ่งนี้: โจทย์ใหญ่ท้าทายประเทศไทยอีก 2 เรื่อง)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ