ข่าวที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยมาจากเวียดนามหลายเรื่อง
หนึ่งในนั้น ล่าสุดมีเรื่องของโครงการข้าวคาร์บอนต่ำของเวียดนาม (Vietnam’s Low-Carbon Rice Project หรือ VLCRP)
เป็นโครงการที่พยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเพาะปลูกข้าวอย่างมีนัยสำคัญ
การปลูกข้าวของเวียดนามมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 30% ของก๊าซเรือนกระจกโดยรวมของเวียดนาม
โครงการนี้นอกจากจะแก้ปัญหาเรื่องโลดร้อนแล้วก็ยังมุ่งยกระดับความเป็นอยู่ของชาวนาข้าว
ด้วยการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตด้วย
และให้เกษตรกรมีรายได้เสริมด้วยการขายคาร์บอนเครดิต
นั่นแปลว่าไทยเรามีเรื่องต้องห่วงและลงมือแก้ไขอย่างจริงจังหลายเรื่องร้อน ๆ ทีเดียว
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศเตือนว่าเวียดนามกำลังเร่งแผนการผลิต “ข้าวคาร์บอนต่ำ” เพื่อตอบสนองแนวโน้มความต้องการของโลกอย่างจริงจัง
เป็นการปรับตัวเพื่อรับโลกร้อน และเพื่อไต่ขึ้นอยู่อันดับข้าวพรีเมี่ยมที่ขายแพงได้และโลกกกำลังต้องการ
หากเป็นจริง ตลาดส่งออกข้าวไทยต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักหน่วงแน่นอน
ดร. อัทธ์บอกว่าเวียดนามได้เร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาประเทศแบบยั่งยืนระหว่างปี 2021-2030
เป็นการปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (Mekong River Delta : MRD) ทั้งหมด 13 จังหวัดซึ่งผลิตข้าว 60% ของผลผลิตข้าวทั้งประเทศ
และเป็น 90% ของการส่งออกข้าวโดยรวมของเวียดนาม
ข่าว “คาร์บอนต่ำ” ของเวียดนามที่ว่านี้เป็นการตั้งรับกับความท้าทายใหม่อย่างน้อย 2 ข้อ
นั่นคือเวียดนามมีนโยบายชัดเจนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2050
การจะบรรลุเป้าหมายต้องเปลี่ยนวิธีผลิตข้าว
ซึ่งจะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
นั่นแปลว่าระดับผู้นำของประเทศต้องลงมาสั่งการเอง
การปรับเปลี่ยนสำคัญเช่นนี้หมายรวมถึงการจัดงบประมาณใหม่, การเปลี่ยนลำดับความสำคัญและการให้แน่ใจว่าชาวไร่ชาวนาทั่วประเทศเข้าร่วมความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างเต็มใจและกระตือรือร้น
นั่นหมายถึงการต้องมีมาตรการจูงใจเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย
ไทยเราก็รู้ เวียดนามก็ตระหนัก นั่นคือการปลูกข้าวมีส่วนสร้างปัญหาโลกร้อน
เพราะการปลูกข้าวมีการปล่อยก๊าซมีเทน 48% และมีผลต่อก๊าซเรือนกระจก (GHG) รุนแรงกว่า 28 เท่า
โจทย์ข้อต่อมาคือจะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลง
และตอบรับกับสภาพภูมิอากาศสำหรับสายพันธุ์ต่าง ๆ
เอกชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายนี้
ข้อมูลของ ดร. อัทธ์บอกว่าทุกวันนี้เวียดนามได้ปลูกข้าวคาร์บอนต่ำได้ประมาณ 7 แสนเฮกตาร์หรือประมาณ 4.3 ล้านไร่
และได้ผลผลิตออกมาแล้วประมาณ 4 ล้านตันข้าวเปลือก (ผลผลิตข้าวเวียดนามประมาณ 1 ตันหรือ 1,000 กก.ต่อไร่)
อีกทั้งยังตั้งเป้าพื้นที่ปลูกข้าวคาร์บอนต่ำไว้ที่ 1 ล้านเฮกตาร์ในปี 2030 (2573)
ซึ่งหมายความว่าเวียดนามจะปลูกข้าวคาร์บอนต่ำได้ 6.25 ล้านตันข้าวเปลือก
แสดงว่าในอีก 7 ปีข้างหน้าข้าวส่งออกของเวียดนาม 20% จะเป็นข้าวคาร์บอนต่ำ หรือประมาณ 1 ล้านตัน
หลายประเทศที่ประกาศชัดเจนว่าจะรับซื้อข้าวคาร์บอนต่ำแม้จะมีราคาสูงกว่าข้าวในท้องตลาด
เพราะค่านิยมของประชาชนในหลาย ๆ ประเทศเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา สหภาพยุโรปหรืออียู 27 ประเทศ ที่มีความตกลงการค้าเสรีหรือ FTA กับเวียดนามแล้ว
รวมถึงตลาดตะวันออกกลางซึ่งมีอำนาจซื้อสูงขึ้นตลอดเวลา
เวียดนามเขาสร้างระบบรองรับในประเทศไว้เพื่อความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างเป็นรูปธรรม
งานวิจัยและการรับรองคุณภาพทำโดย The Mekong Delta Rice Research Institute (CLRRI) ของเวียดนาม
ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรับรองฉลาก Carbon Footprint จากประเทศคู่ค้า
ด้วยเหตุนี้ ดร. อัทธ์ จึงตั้งคำถามว่าประเทศไทยเราจะแก้โจทย์นี้อย่างไร
เพราะหากไม่ลงมือทำทันทีก็จะตกอยู่ในภาวะล้าหลัง และจะสูญเสียตลาดให้กับเวียดนามอย่างรวดเร็วและรุนแรง
มีการคาดกันว่าตั้งปีหน้าเป็นต้นไป เวียดนามจะขายข้าวที่มีคุณภาพและมาตรฐานเท่านั้น
รวมถึงข้าวคาร์บอนต่ำและข้าวเพื่อสุขภาพซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของหลาย ๆ ตลาดที่มีความตื่นตัวด้านโภชนาการเพื่อสุขภาพและความยั่งยืน
ตามแผนระดับชาติ เวียดนามจะลดปริมาณการส่งออกข้าวลงเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร จากเฉลี่ยส่งออกประมาณปีละ 7 ล้านตัน (มูลค่าประมาณ 8 หมื่นล้านบาท) อาจเหลือส่งออก 4 ล้านตัน
แต่มูลค่าจะขึ้นไปถึง 1 แสนล้านบาท เทียบกับประเทศไทยในปี 2565 มีการส่งออกข้าว 7.71 ล้านตันมูลค่า 1.38 แสนล้านบาท และช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ส่งออกแล้ว 5.27 ล้านตัน มูลค่า 1 แสนล้านบาท (+20% จากราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และเงินบาทอ่อนค่า)
ถ้าไทยไม่ปรับตัวและเริ่มผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ เราจะตกเป็นเบี้ยล่าง
ที่เราเชื่อว่าข้าวเป็นสินค้าเกษตรอันดับต้น ๆ ของประเทศก็จะกลายเป็นอดีตไปโดยสิ้นเชิง
นักวิชาการท่านนี้เป็นห่วงว่าประเทศไทยเราแม้จะมีการพูดถึงเรื่องนี้ในภาพรวมและในระดับรัฐบาลหรือธุรกิจเอกชนระดับใหญ่ แต่ความตื่นตัวจริง ๆ ในระดับปฏิบัติการยังมีต่ำมาก
อีกทั้งยังขาดการบูรณาการของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องอย่างรุนแรง
ห่วงนโยบายรัฐเปลี่ยนไปมา
รัฐบาลใหม่จะตระหนักเรื่องนี้เพียงใดยังไม่ปรากฏชัดเจนเพราะส่วนใหญ่จะเน้นไปในทางนโยบาย “ประชานิยม” ที่หวังผลระยะสั้น
แต่การเปลี่ยนกระบวนทัศน์และยกเครื่องการผลิตด้านการเกษตรนั้นเป็นเรื่องใหญ่, เรื่องยาวและเรื่องชี้เป็นชี้ตายอนาคตของประเทศ
งบประมาณสำหรับวิจัยและพัฒนาเรื่องเช่นนี้มีจำกัด
และไม่แน่ชัดว่าเป็นความรับผิดชอบของกระทรวงทบวงกรมใด
เกษตรและสหกรณ์หรือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมื่อมีแต่แผนการบนกระดาษ แต่ไม่มีแผนปฏิบัติการที่จะทำให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกัน ไทยก็คงจะตกอยู่ในภาวะที่วิ่งไปข้างหน้าได้ช้า
เพื่อนบ้านและคู่แข่งของเราได้ออกวิ่งไปไกลโขแล้ว
เป็นที่รู้กันในแวดวงธุรกิจช้าวว่ารัฐบาลเวียดนามจัดสรรงบวิจัยและพัฒนาเรื่องข้าวมากกว่าไทย 10 เท่า
ถึงวันนี้ยังไม่มีนโยบายการส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำแม้ว่านายกฯเศรษฐา ทวีสิน จะไปประกาศที่สหประชาชาติว่ารัฐบาลนี้จะเอาจริงเอาจังกับ Green Economy ก็ตาม
แต่หากเทียบกับเวียดนามและประเทศอื่นที่ถือว่าเป็นคู่แข่งของไทยในด้านนี้แล้ว ไทยเราถือว่าอยู่ในฐานะที่ล้าหลังและอ่อนแอกว่าอย่างเห็นได้ชัด
นักการเมืองชอบเรื่อง quick win คืออะไรที่ทำได้เร็วและง่าย
แต่การสร้างชาตินั้นต้องมีนโยบาย long-term victory หรือชัยชนะในระยะไกลด้วยจึงจะเป็นเรื่องยั่งยืนที่แท้จริง
เราแค่ชนะวิ่ง 100 เมตรไม่พอ
การสร้างชาติต้องวิ่งมาราธอนที่ยืนระยะได้อย่างแข็งแกร่งตลอดทางด้วย
หาไม่แล้วเราจะร่วงหล่นระหว่างทาง ไปไม่ถึงไหนจริง ๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ