ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวว่าการลี้ภัยหรือหนีคดีและการกลับมาขอพระราชทานอภัยลดโทษของนักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ผู้เขียนนึกเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ในการเมืองสมัยกรีกโบราณที่นครรัฐประชาธิปไตยเอเธนส์ เพราะประชาธิปไตยเอเธนส์มีกลไกที่เรียกว่า ostracism ให้อำนาจประชาชนเนรเทศผู้ที่ไม่พึงปรารถนาออกไปจากเอเธนส์เป็นเวลา 10 ปี โดยผู้โดนเนรเทศจะไม่โดนยึดทรัพย์สินและไม่เสียสถานะความเป็นพลเมือง แต่จะได้ทรัพย์สินและกลับมาเป็นพลเมืองได้หลังจากต้องออกไปอยู่นอกเอเธนส์เป็นเวลา 10 ปีเสียก่อน แต่เมื่อบ้านเมืองมีวิกฤต ที่ประชุมสภาพลเมืองของเอเธนส์สามารถลงมติย่นระยะเวลาเนรเทศไม่ต้องครบ 10 ปี และเรียกตัวผู้ที่ถูกเนรเทศบางคนให้กลับมารับใช้บ้านเมือง
จากการที่ที่ประชุมสภาพลเมืองต้องเรียกตัวผู้ถูกเนรเทศบางคนกลับมา เพราะคนเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทความสามารถทางการเมืองและการทหารที่โดดเด่น ขณะเดียวกัน ถ้าไม่โดดเด่นก็คงไม่เป็นประเด็นให้ต้องลงมติเนรเทศ !
กลไกการเนรเทศหรือ ostracism นี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดประชาธิปไตยในเอเธนส์ในราว 508 ก่อนคริสตกาล ตามหลักฐานประวัติศาสตร์เท่าที่มี พบว่า ในปี 487 ก่อนคริสตกาลหรือราวยี่สิบปีหลังจากที่มีกลไกการเนรเทศ บุคคลที่ถูกเนรเทศเป็นคนแรกคือ ฮิปปาร์โคส (Hipparchos) ผู้ซึ่งเป็นเครือญาติของอดีตทรราชของเอเธนส์ โดยก่อนที่เอเธนส์จะเป็นประชาธิปไตย เอเธนส์อยู่ภายใต้การปกครองของทรราชมาก่อน โดยทรราชคนแรกของเอเธนส์คือ ไพซีสตราโตส (Peisistratus)
ต้องขอกล่าวไว้ด้วยว่า คำว่า ทรราชที่เราใช้กันในภาษาไทย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ได้ทรงแปลมาจาก tyrant ในภาษาอังกฤษ และ tyrant มาจาก turannos ในภาษากรีกโบราณ โดยในช่วงศตวรรษที่เจ็ดและหกก่อนคริสตกาล ได้เกิดปรากฏการณ์ turannos ในนครรัฐกรีกโบราณต่างๆเป็นจำนวนมาก และในช่วงเวลาดังกล่าว turannos ยังไม่ได้มีความหมายในแง่ลบในฐานะที่เป็นการปกครองที่ไม่ดี หรือเป็นการปกครองของผู้ปกครองที่ไม่ดี แต่ turannos เริ่มมีความหมายในแง่ลบก็ในช่วงที่เอเธนส์เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย
ในช่วงที่เอเธนส์อยู่ภายใต้การปกครองของ ไพซีสตราโตส กล่าวได้ว่า เป็นการปกครองที่ละมุนละม่อมและอยู่ในกรอบกฎหมาย มีเมตตา ให้ทุนสำรองแก่คนจนยืมเพื่อไปประกอบอาชีพ ได้จัดให้มีผู้พิพากษาท้องถิ่นขึ้น, และตัวเขาได้เดินทางหมุนเวียนไปตามชนบทเพื่อตรวจสอบและแก้ปัญหาข้อพิพาท เพื่อผู้คนจะได้ไม่ต้องละทิ้งการทำไร่ไถนาโดยต้องเดินทางเข้าในเมือง อีกทั้งยังทำการปฏิรูปที่ดินอีกด้วย แต่เหตุผลที่เขาถูกเรียกว่าเป็น turannos ก็เพราะเขาได้ทำการยึดอำนาจการปกครองมาจากชนชั้นปกครองที่สืบสานการปกครองผ่านสายโลหิต โดยตัวเขาไม่ได้มีเชื้อสายอภิชนหรือชนชั้นปกครองมาก่อน เพราะคำว่า turannos ในช่วงศตวรรษที่เจ็ดมีความหมายเพียง ผู้ที่ยึดอำนาจมาเป็นของตนโดยไม่ชอบธรรมตามประเพณีการปกครอง
แต่หลังจากที่ไพซีสตราโตสเสียชีวิต บุตรชายของเขาขึ้นมาปกครองต่อ ไม่ได้ปกครองได้อย่างบิดา ทำให้ผู้คนไม่พอใจ อีกทั้งนครรัฐสปาร์ตาก็เห็นว่าการปกครองแบบ turannos เป็นอันตรายต่อการปกครองของตน ในที่สุด ก็นำมาซึ่งการโค่นล้มการปกครองแบบ turannos และมีการสถาปนาการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้น
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น การเนรเทศที่เกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ประชาธิปไตยได้ 20 ปี ฮิปปาร์โคสและบรรดาญาติของไพซีสตราโตสต้องการปลุกระดมต่อสู้เพื่อชิงอำนาจและสถาปนาการปกครองแบบ turannos กลับคืนมาผ่านความสัมพันธ์กับเปอร์เซียที่สปาร์ตาเห็นว่าเป็นศัตรูสำคัญของชาวกรีกทั้งมวล
ดังนั้น เงื่อนไขของการใช้กลไกการเนรเทศครั้งแรกในเอเธนส์คือ จัดการกับบุคคลที่มีอำนาจอิทธิพลโดดเด่นและมีจุดยืนที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่เพิ่งสถาปนาขึ้นมาได้เพียง 20 ปี และหลังจากที่ฮิปปาร์โคสถูกเนรเทศ ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับตัวเขาอีก
ต่อมาได้มีการเนรเทศสามปีติดต่อไป นั่นคือ ในปี 486, 485 และ 484 ก่อนคริสตกาล โดยผู้ที่ถูกเนรเทศในแต่ละปี คือ เมกาคลิส (Megakles), คาลลีอัส (Callias) และแซนธิปโปส (Xanthippos) โดยเงื่อนไขการเนรเทศของสองคนแรกเหมือนกัน นั่นคือ เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของเอเธนส์โดยทั้งสามพยายามจะช่วงชิงอำนาจทางการเมืองโดยสัมพันธ์กับเปอร์เซียเพื่อสถาปนาการปกครองแบบ turannos กลับคืนมา ส่วนสาเหตุที่แซนธิปโปสถูกเนรเทศไม่เกี่ยวกับการมีสายสัมพันธ์กับ turannos หรือเปอร์เซีย หรือทำตัวเป็นอุปสรรคขัดขวางพัฒนาการประชาธิปไตย และที่สำคัญคือ เขาเป็นผู้ถูกเนรเทศคนแรกที่ถูกเรียกตัวกลับมาก่อนครบกำหนดระยะเวลาเนรเทศ 10 ปี
แม้ว่าแซนธิปโปสไม่ได้มาจากตระกูลที่มีความเชื่อมโยงกับ turannos เหมือนฮิปปาร์โคส เมกาคลิสและคาลลีอัส แต่เขามาจากตระกูลอภิชนชนชั้นสูงของเอเธนส์ ชื่อของเขาเริ่มปรากฎในหลักฐานประวัติศาสตร์จากการที่เขายื่นเรื่องฟ้อง มิลทิอาดีส (Miltiades) ผู้เป็นหนึ่งในแม่ทัพของเอเธนส์ สาเหตุที่แซนธิปโปสฟ้องมิลทิอาดีส เพราะหลังจากที่มิลทิอาดีสนำทัพเอเธนส์ชนะศึกที่เมืองมาราธอน และกลายเป็นวีรบุรุษสงคราม มิลทิอาดีสได้ขอต่อที่ประชุมสภาพลเมืองเอเธนส์ให้เขานำกองเรือ 70 ลำโดยไม่บอกว่าจะเอาไปทำอะไร บอกแต่เพียงว่า จากกองกำลังเรือดังกล่าว เขาสามารถจะทำให้เอเธนส์ได้ประโยชน์อันยิ่งใหญ่ ที่ประชุมสภาพลเมืองลงมติเห็นชอบต่อคำขอของเขาเพราะเชื่อมั่นในการเป็นวีรบุรุษสงครามของเขา แต่ผลที่เกิดขึ้นกลับตาลปัตร เขากลับมามือเปล่าพร้อมกับตัวเองยังบาดเจ็บด้วย ชาวเอเธนส์จึงเริ่มตั้งข้อสงสัยต่อมิลทิอาดีส ขณะเดียวกัน ตระกูลของมิลทิอาดิสกับตระกูลของแซนธิปโปสมีความขัดแย้งมายาวนาน แซนธิปโปสจึงใช้โอกาสนี้ร้องต่อสภาพลเมืองเพื่อให้มีการลงโทษประหารชีวิตมิลทิอาดีส มิลทิอาดีสไม่สามารถแก้ต่างให้ตัวเองได้ แต่บรรดามิตรสหายของเขาได้ช่วยกันแก้ต่างไม่ให้เขาต้องรับโทษประหารชีวิต แต่ให้เป็นการถูกปรับแทน ซึ่งที่ประชุมลงมติให้เขาต้องจ่ายค่าปรับเป็นจำนวนที่สูงกว่าที่เขาจะสามารถจ่ายได้ ทำให้เขาต้องติดคุกแทนค่าปรับ และเสียชีวิตในคุกจากพิษบาดแผล
จากผลงานการฟ้องมิลทิอาดีส ทำให้แซนธิปโปสกลายเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองโดดเด่นขึ้นมา แต่ไม่นาน หลังจากการเสียชีวิตของมิลทิอาดีส อารมณ์ของชาวเอเธนส์เริ่มเปลี่ยนมาเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับวีรบุรุษสงครามอย่างมิลทิอาดีส และจากเงื่อนไขดังกล่าวนี้เองที่เทมีสโตคลิสได้มีบทบาทขึ้นโดยการโหนกระแสอารมณ์ของประชาชนในการหาทางเล่นงานแซนธิปโปส ผู้กำลังเป็นดาวดวงใหม่ทางการเมือง เทมีสโตคลิสได้ปลุกระดมประชาชนโดยการโจมตีที่ภูมิหลังของการมาจากตระกูลอภิชนชั้นสูงของแซนธิปโปสว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ในการทัดทานเทมีสโตคลิส แม้ว่าแซนธิปโปสจะผนึกกำลังกับอาริสทีดีส (Aristides) ผู้มาจากตระกูลอภิชนเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถสู้กับกระแสประชาชนที่เทมีสโตคลิสสร้างขึ้น และในที่สุด ที่ประชุมสภาพลเมืองก็ได้ลงมติเนรเทศแซนธิปโปสออกไปจากเอเธนส์
จะเห็นได้ว่า เงื่อนไขการเนรเทศในยี่สิบปีแรกหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง จะเป็นข้อหาขัดขวางพัฒนาการประชาธิปไตยโดยการพยายามฟื้นฟู turannos โดยผ่านการเชื่อมโยงกับเปอร์เซีย แต่ตั้งแต่ปี 484 เงื่อนไขได้เปลี่ยนมาเป็นข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยเพราะมีภูมิหลังการเป็นอภิชนและทำลายวีรบุรุษสงครามของประชาชน
ในตอนต่อไปจะได้กล่าวถึงสาเหตุที่ที่ประชุมสภาพลเมืองเอเธนส์เปลี่ยนใจลงมติเรียกตัวแซนธิปโปสกลับมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ
'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง