การประชุมสภาผู้แทนราษฎรหลังการสละราชสมบัติของรัชกาลที่เจ็ด (๖๓): การแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

 

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้ลงมติเห็นสมควรให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเป็นพระมหากษัตริย์ด้วยเสียง 127 ต่อ 2 เสียง ต่อจากนั้น ได้มีการประชุมเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่หรือรัชกาลที่แปดยังทรงเป็นยุวกษัตริย์มีพระชันษาเพียง 10 ชันษา อีกทั้งยังประทับอยู่นอกราชอาณาจักรด้วย

สมาชิกในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการอภิปรายถกเถียงเกี่ยวกับเกณฑ์การตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีการยกกฎมณเฑียรบาลและรัฐธรรมนูญขึ้นมาว่า จะใช้อะไรเป็นตัวตั้ง จนในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้แต่งตั้งเป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีจำนวนสามท่าน และนายกรัฐมนตรี พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เสนอรายชื่อต่อที่ประชุมสภาฯดังต่อไปนี้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์, พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา,   เจ้าพระยายมราช

ต่อมา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสนออีก 4 ท่าน คือ

กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย, เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน, เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ, เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี

สมาชิกสภาฯต่างได้อภิปรายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรายชื่อต่างๆที่เสนอมา

จนพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า

“ที่รัฐบาลได้เสนอไป ๓ คนแล้ว ก็ชี้แจงนิสัยใจคอให้สมาชิกฟัง ไม่ใช่ว่าข้าพเจ้าจะไปปรักปรำหรือว่ากล่าวคนนั้น แต่ครั้นจะเสนอคุณความดีทั้งนั้น เราจะเห็นว่ารัฐบาลพูดเท็จ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงต้องชี้แจงคุณลักษณะทั้งดีและทางชั่วให้ชัดเจน ข้าพเจ้าเอง เมื่อพูดอะไรลงไปแล้ว ก็ต้องให้มีน้ำหนักให้แลเห็นขาวชัดทีเดียว ข้าพเจ้าจึงไม่กลัวอยางใด คือ พูดจริง ทำจริง และว่าไปจริงๆ ที่จริง ทุกๆคน เช่นอย่างข้าพเจ้า ก็ย่อมมีบกพร่อง เจ้าพระยายมราชก็เช่นเดียวกัน เมื่อข้าพเจ้าได้ข่าวมานั้น ก็ต้องพูดให้สมาชิกแลเห็นว่าดีหรือชั่วอย่างไร ความดีมีมากกว่าความบกพร่อง ก็ลบล้างไป นี่ข้าพเจ้าพูดโดยจริงใจ ถึงทางกรมหมื่นอนุวัตน์ฯ ข้าพเจ้าก็บอกแล้วว่า ท่านผู้นี้ซื่อตรง แต่วิชาความรู้ไม่วิเศษอะไร  คือสอบไล่ได้แต่ชั้นนายทหารเท่านั้น พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯก็ย่อมมีบกพร่องอยู่บ้างเช่นเดียวกัน  ข้าพเจ้าไม่ได้ปรักปรำใคร เพราะฉะนั้น ท่านผู้ใดจะว่าข้าพเจ้าว่าเจ้าพระยายมราชเช่นนั้นเช่นนี้ไม่ได้ ข้าพเจ้าต้องชี้แจงโดยความจริง เพราะข้าพเจ้าเสนอท่านทั้ง ๓ ที่กล่าวนั้น”

ขุนชำนาญภาษา ผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “สำหรับเจ้าคุณยมราชนั้น ข้าพเจ้าขอสนับสนุน ค่าที่ข้าพเจ้ารู้จักท่านมานานนักหนา เคยเป็นเทศาภิบาลนครศรีธรรมราช และเคยรู้เหตุการณ์ทั่วๆไปในเมืองแขก นี่สำคัญที่สุด ข้าพเจ้าถือว่าเมืองแขกสำคัญเหมือนกัน มีคนนับล้านซึ่งรู้นิสัยใจคอ ซึ่งเอาท่านเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ชอบหนักหนา ซึ่งผู้แทนพระนครรับรองด้วยนั้น (นายไต๋ ปาณิกบุต ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร/ผู้เขียน) ข้าพเจ้าเห็นว่าควรอย่างยิ่ง จึงข้าพเจ้าขอให้ลงมติในเรื่องนี้”

มีสมาชิกรับรอง

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “มีผู้ขอให้ลงมติ และมีผู้รับรองถูกต้องแล้ว เลขาธิการจะได้อ่านชื่อให้ท่านฟัง”

เลขาธิการสภาฯ อ่านว่า “๑. กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์  ๒. พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ๓. เจ้าพระยายมราช ๔. กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย  ๕. เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน  ๖. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ   ๗. เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ขอให้เขียนชื่อ ๓ ชื่อในจำนวนเหล่านี้”

เลขาธิการสภาฯ ได้เชิญท่านสมาชิกผู้มีนามเหล่านี้เป็นผู้ตรวจและนับคะแนนเสียง

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “โปรดฟังผลของการเลือกตั้ง”

เลขาธิการสภาฯ อ่านว่า

“๑. ได้แก่ พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ  ๑๑๒ คะแนน ๒. ได้แก่ กรมหมื่นอนุวัตน์ฯ ได้ ๙๗ คะแนน ๓. ได้แก่ เจ้าพระยายมราช ได้ ๗๖ คะแนน ๔. ได้แก่ เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ ได้ ๔๐ คะแนน ๕. ได้แก่ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ได้ ๑๘ คะแนน  ๖. ได้แก่ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้ ๑๓ คะแนน ๗. ได้แก่ เจ้าพระยาพิชเยนทร์ ได้ ๗ คะแนน”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “เป็นอันตกลงว่า ที่ ๑, ๒, ๓ ที่ประชุมนี้ได้ตั้งให้เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า“

ตามที่สภาฯนี้ได้ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการนั้น ยังหาได้มีกำหนดเวลาไม่ และตามรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ปรากฏว่ากำหนดเวลาไว้เป็นสถานใด เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอว่า สภาฯนี้ควรจะกำหนดเวลา เพื่อว่าคณะผู้สำเร็จราชการนี้จะได้ไม่เป็นอยู่ตลอดชั่วอายุขัย  คณะนี้ควรจะอยู่ในเวลาพอสมควร แล้วเราจะได้เปลี่ยนคนอื่นซึ่งสามารถจะเป็นผู้สำเร็จราชการได้อีก  สภาฯเราอาจจะมีบุคคลที่สามารถ จะได้เข้าเป็นผู้สำเร็จราชการอีกในภายหน้า เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอเสนอญัตติว่า ขอให้สภาฯนี้กำหนดเวลาสำหรับตำแหน่งคณะผู้สำเร็จราชการนี้มีอายุตามกำหนดอายุของสภาฯ คือกำหนดเวลา ๔ ปี ถ้าท่านผู้ใดเห็นด้วย โปรดรับรอง”

ขุนอินทรภักดี นายสว่าง ศรีวิโรจน์ รับรอง

นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า

“ปัญหาในเรื่องการกำหนดอายุนั้น ข้าพเจ้าคิดว่า น่าจะไม่มีปัญหา โดยที่คณะผู้สำเร็จราชการคณะนี้ สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ตั้งขึ้น ฉะนั้น เมื่อสภาฯนี้หมดอายุไปเมื่อใด คณะผู้สำเร็จราชการจำเป็นต้องล้มไปด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อพ้น ๔ ปีนี้ไปแล้ว คือเมื่อพ้นสมัยที่พวกเข้าพเจ้านี้จะต้องออกจากผู้แทนราษฎรแล้ว คณะผู้สำเร็จราชการก็จำเป็นจะต้องออกไปด้วย และเมื่อมีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ก็ต้องตั้งใหม่ นั่นเป็นของธรรมดา”

ขุนเสนาสัสดี ผู้แทนราษฎรจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นพ้องด้วยผู้แทนจังหวัดอุบลฯที่กล่าวเมื่อกี้นี้  ความจริง รัฐธรรมนูญของเราไม่ได้กำหนดไว้ว่า ผู้สำเร็จราชการนี้จะต้องมีอายุเท่าไร ทางทีดีแล้ว ควรที่สภาฯจะได้กำหนดให้ทราบว่า ผู้สำเร็จราชการจะมีอายุเท่าไร และควรเป็นไปตามที่ผู้แทนสกลนครกล่าวเมื่อกี้นี้ ข้าพเจ้าขอเสนอด้วยว่า ให้ลงมติว่าจะควรกำหนดอายุเท่าไรหรือไม่กำหนด”

นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ รับรอง

ขุนวรสิษฐ์ดรุณเวทย์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า

“ก่อนลงมติ ข้าพเจ้าขอเสนอมาตรา ๑๐ แห่งรัฐธรรมนูญให้ที่ประชุมฟังเสียก่อน ‘มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันตั้งขึ้น  และในระหว่างที่ผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว’  ตามมาตรานี้ ตามความเห็นของข้าพเจ้าเห็นว่า ในชั้นแรก ท่านให้พระมหากษัตริย์ทรงตั้งขึ้นด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร แล้วก็ หากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้ง ก็ให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันตั้งขึ้น บัดนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้ปรึกษากันตั้งขึ้นตามมาตรา ๑๐ นี้ เพราะพระมหากษัตริย์ไม่สามารถจะทรงตั้งได้โดยเหตุที่ทรงอยู่ต่างประเทศ เพราะฉะนั้น ปัญหามีว่าจะมีอายุเท่าใด ในมาตรานี้ก็ไม่ได้บัญญัติไว้ ทางที่ถูกที่ควรเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาแล้ว สภาฯนี้ควรจะกำหนดไว้ให้แน่ชัดเสียดีกว่าที่จะให้เป็นปัญหาต่อไป แต่ถ้าสภาฯจะรับรองว่าสภาฯนี้เป็นผู้ตั้ง ก็มีสิทธิถอดถอนได้ ถ้าสภาฯนี้รับร้องเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็ไม่ขัดข้องเลย”

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า

“ข้าพเจ้าเคยสังเกตมานัก ไม่เคยมีประเทศใดที่มีกำหนดเวลา อย่างบาเวาเรีย (Bavaria) ข้าพเจ้าทราบว่า พระเจ้าแผ่นดินเป็นโรคจิต แล้วเขาก็ตั้งปรินซ์ รีเยนต์ (Prince Regent) แกเป็นปรินซ์ รีเยนต์ (Prince Regent) จนตาย  ก็ไม่มีกำหนดอายุอย่างไร อย่างเจ้าโยฮันที่มาประเทศสยาม ก็เป็นผู้สำเร็จราชการจนกระทั่งเขาตั้งพระเจ้าแผ่นดินยของบรันสวิก (Brunswick) ขึ้น”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490