ไฉนจาก ‘เลือกตั้งผู้ว่าฯ’ วันนี้ กลายเป็น ‘ผู้ว่าซีอีโอ’?

หนึ่งในนโยบายรัฐบาลที่กำลังได้รับการกล่าวขวัญอย่างกว้างขวางคือ “ผู้ว่าซีอีโอ”

ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลนั้นอธิบายว่าเป็นส่วนหนึ่งของการ “กระจายอำนาจ” การบริหารไปต่างจังหวัด

กลายเป็นประเด็นถกแถลงกันว่านโยบายนี้คืออะไรกันแน่

เพราะคนที่ทำเรื่องกระจายอำนาจมายาวนานกระโดดออกมาบอกทันที่ว่านี่ไม่ใช่นโยบายกระจายอำนาจเป็นแน่แท้

เพราะเท่าที่เคยนำแนวทางนี้มาใช้ในรัฐบาลยุคทักษิณ ชินวัตรนั้นเป้าหมายคือการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารมิติต่าง ๆ ของจังหวัดนั้น ๆ เพื่อไม่ต้องแบ่งสายบังคับบัญชาไปตามหน่วยงานต่าง ๆ

แต่ก็ยังไม่เคยมีการประเมินผลว่านโยบายเช่นว่านี้ประสบความสำเร็จแค่ไหนอย่างไร

หรือมีจุดอ่อนที่ทำให้ไม่มีรัฐบาลต่อ ๆ มานำมาใช้อีกเลย

คนที่เห็นแย้งกับนโยบายนี้บอกว่าการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่แบบ CEO ของเอกชนนั้นมีไม่ใช่การกระจายอำนาจเป็นแน่แท้

ตรงกันข้ามกลับจะมีผลทำให้ท้องถิ่นอ่อนแอด้วยซ้ำไป

เพราะเมื่อให้อำนาจผู้ว่าฯซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจเกือบจะเบ็ดเสร็จก็เท่ากับเป็นการตัดการมีส่วนร่วมประชาชน

พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้อย่างชัดถ้อยชัดคำว่าหากได้บริหารบ้านเมืองหนึ่งในนโยบายหลักคือการให้ท้องถิ่นมีอำนาจบริหารกิจกรรมของตนเองมากขึ้น

นั่นคือการเลือกตั้งผู้ว่าฯในจังหวัดพร้อม

แต่ไฉน พอมาเป็นแกนตั้งรัฐบาล “ข้ามขั้ว” นโยบายนี้จึงถูกแปลงเป็น “ผู้ว่าซีอีโอ”

คำว่า “ผู้ว่าซีอีโอ” ฟังดูเท่และสวยหรูแต่เจาะลึกลงไปแล้วก็จะเห็นว่าไม่มีความชัดเจนว่าจะนำมาปฏิบัติอย่างไร

ทั้ง ๆ ที่มีการผลักดันเรื่องกระจายอำนาจอย่างจริงจังมายาวนาน แต่ก็ไม่เกิดผลทางปฏิบัติ

เพราะยังมีหวงอำนาจส่วนกลางกันอย่างต่อเนื่อง

คำหวานระหว่างหาเสียงของพรรคการเมืองมักจะพูดถึงการให้คนท้องถิ่นสามารถกำหนดชะตากรรมของตนเอง

แต่พอได้อำนาจแล้ว นักการเมืองเหล่านี้กลับลืมคำมั่นสัญญา

และกลับมารวบอำนาจไว้ที่ตน

เพราะตำแหน่งผู้ว่าฯ และนายอำเภอนั้นมีความสำคัญสำหรับนักการเมืองที่จะใช้เป็นฐานเสียงการเมืองและการควบคุมกิจกรรมที่มีผลประโยชน์มหาศาล

อีกทั้งระบบเดิมนั้นยังทำให้ผู้กุมอำนาจรัฐส่วนกลางกำกับการใช้งบประมาณได้อย่างเต็มที่

ประชาชนเจ้าของประเทศและในฐานะผู้เสียภาษีเองกลับไม่มีส่วนในการบริการตนเองเลย

ผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาซึ่งประชาชนให้พรรคก้าวไกลและเพื่อไทยได้ที่นั่งสูงอันดับหนึ่งและอันดับสองนั้นน่าจะสะท้อนว่าประชาชนต้องการจะได้นโยบายการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมเสียที

เพราะสองพรรคนี้หาเสียงด้วยนโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯมาตลอด

แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลผสมแบบ “สลายขั้ว” นโยบายนี้กลับถูกบิดเบือนกลายเป็นแค่ “ผู้ว่าฯซีอีโอ” ที่ไม่รู้ว่าจะทำให้ชีวิตของชาวบ้านในแต่ละจังหวัดดีขึ้นได้อย่างไร

โดยเนื้อหาสาระแล้วนโยบายผู้ว่าซีอีโอนั้นอาจจะมาจากความสับสนของนักการเมือง หรืออาจจะเป็นการจงใจเข้าใจผิด

เพราะการกระจายอำนาจนั้นย่อมหมายถึงการลดบทบาท อำนาจ ภารกิจของรัฐส่วนกลาง รวมทั้งส่วนภูมิภาค

และเพิ่มอำนาจ งบประมาณและทรัพยากรให้ท้องถิ่นดูแลตัวเองได้

แต่นโยบายผู้ว่าซีอีโอเป็นแนวคิดบริหารงานธุรกิจเอกชนที่รวมศูนย์กลางอำนาจการจัดการไว้ที่ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทแต่เพียงคนเดียว

ยุคสมัยที่ใช้นโยบายนี้ เห็นได้ชัดว่าหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นหมดสภาพ ไร้เรี่ยวแรงและอำนาจต่อรอง

ตามมาด้วยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนถูกตัดขาด

มิหนำซ้ำในระบบนี้ยังเอื้อต่อการที่ให้ผู้ว่าซีอีโอกลายเป็นเครื่องมือของการเมือง เป็นกลไกในการรวบอำนาจ

พูดอีกนัยหนึ่งนี่คือการขยายอำนาจของรัฐส่วนกลางไปสู่รัฐภูมิภาคให้มันกว้างขึ้น

ในบางกรณีเท่ากับเป็นการให้ผู้ว่าคนเดียวบริหารชีวิตของประชากร 700,000-800,000 คน

ไม่ต้องสงสัยว่าหลายคนมองว่านี่เป็นมรดกตกทอดจากรัฐบาลทักษิณ

ซึ่งปรับบทบาทผู้ว่าฯเป็นเสมือน “ผู้จัดการของจังหวัด” แบบค่อนข้างเบ็ดเสร็จ

แต่ต้องตระหนักว่า พ.ศ. นี้ไม่เหมือนช่วงปี 2544-49 ที่นายกฯทักษิณนำมาใช้

สมัยนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียที่สามารถกระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็วฉับพลัน ข้อมูลมีท่วมท้น และการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐทำได้โดยประชาชนตลอดเวลา

ทุกวันนี้ประชาชนการศึกษาดีขึ้น ทื่สำคัญคือมีความตื่นตัวในสิทธิและหน้าที่ของตนมากขึ้น

อีกทั้งความต้องการของประชาชนก็สูงขึ้น

ในอดีตสังคมอาจต้องการแค่ปัจจัย 4 แต่ปัจจุบันเสียงเรียกร้องต้องการมีทั้งเรื่องการอยู่ดีกินดี เรื่องของสุขภาวะทั้งกายและจิตใจที่สูงขึ้น

สิ่งที่เราจะตอบการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นและหลากหลายขึ้นในปัจจุบันคือ การกระจายอำนาจ ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น ตอบสนองความต้องการของประชาชน

นโยบายที่ให้ผู้บริหารสูงสุดคนเดียวมาทำหน้าที่แบบมีอำนาจเบ็ดเสร็จย่อมย้อนแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้

โดยเฉพาะเมื่อผู้คนต้องการลดความเหลื่อมล้ำและเรียกร้องความเสมอภาคกันมากขึ้น

มิใช่ปกครองแบบข้างบนมาข้างล่างแบบเดิมอีกต่อไป

หากแต่ต้องการให้มีการบริหารในแนวระนาบมากกว่าทางดิ่ง

ซึ่งผู้ว่าซีอีโอไม่อาจจะตอบสนองความต้องการเช่นนี้ได้อีกต่อไป

ในท้ายที่สุดต้องตอบคำถามให้ได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดยึดโยงกับใคร?

จะยังถูกสั่งการจากอำนาจชั้นบนหรือจะให้ยึดโยงกับเสียงของประชาชนที่เลือกเข้ามา

แนวคิดผู้ว่าฯซีอีโอก็คือการกระจายอำนาจจากผู้มีอำนาจใหญ่กว่ากระจายลงมาให้ผู้ว่าฯ

ในขณะที่สภาพความเป็นจริงบอกเราว่าประชาชนต้องการให้มีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นมากกว่า

แม้ย้อนกลับไปสมัยนายกฯทักษิณก็มีปัญหาการกระจายงบประมาณไม่เป็นธรรม ไม่ทั่วถึง

เกิดระบบอุปถัมภ์ค้ำชูในเกือบทุกท้องที่ จังหวัดใดที่ไม่ได้เลือกพรรคที่เป็นรัฐบาลก็ถูกเพ่งเล็งและได้รับการสนับสุนล่าช้าและน้อยกว่าจังหวัดที่รัฐบาลมองว่าเป็น “พวกเรา”

วันนี้ คำถามใหญ่สำหรับนายกฯเศรษฐาก็คือทำไมตอนหาเสียงพูดถึงเลือกตั้งผู้ว่าฯ

แต่วันนี้กลายเป็น “ผู้ว่าซีอีโอ”

ไม่เพียงแต่ไม่ตรงปก แต่ยังเป็นการเดินถอยหลังครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งด้วย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ