Hard skills, Soft skills ไม่ใช่ Soft power

พอรัฐบาลเศรษฐาประกาศนโยบาย One Family One Soft Power (OFOS) หรือ “หนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์เพาเวอร์” คนในหลายๆ วงการก็มีคำถามว่า

มันคืออะไรหรือ?

หลายคนบอกว่าเข้าขั้น mega-project หรือมหาโครงการเลยทีเดียว

เพราะจะสร้างทักษะใหม่ (reskill) คน 20 ล้านคนด้วยงบเริ่มต้น 7,000 ล้านบาท

คำถามต่อมาก็คือว่า จะสร้าง soft power ระดับชาติจะต้องทำถึงระดับครอบครัวเลยหรือ ทั้งๆ ที่การ “ฝึกวิชาชีพ” นั้นอาจจะไม่เกี่ยวอะไรกับ soft power เท่าไหร่

แต่เมื่อต้องมีทั้งเรื่องที่สร้างความฮือฮาระดับโลกคือ soft power และต้องมีการฝึกทักษะใหม่กันขนานใหญ่ ก็เลยเหมารวมเรียกมันว่า OFOS เสียเลย

ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว

เหมือนโครงการแจกเงิน 10,000 บาทผ่าน digital wallet นั่นแหละ

จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย จะสร้างโครงสร้างด้านดิจิทัลเพื่อดึงคนให้เข้าระบบภาษีด้วย

คิดอะไรใหญ่โตไม่ผิด แต่คิดไม่ทะลุให้รอบด้านก่อนนี่ซิมันยุ่ง

เพราะหาคนอธิบายไม่ได้ว่าในทางปฏิบัติจะทำกันอย่างไร

เอาเงินมาจากไหน, ตัวชี้วัดคืออะไร เป็นต้น

เริ่มด้วยแต่ละครอบครัวต้องประชุมกันก่อนว่า “บ้านนี้จะสร้าง soft power อะไรบ้าง?”

เริ่มต้นก็อาจจะทำให้เครียดทั้งบ้านแล้ว

แต่ถ้าบอกว่าอยากเปิดร้านกาแฟ หรือขายของออนไลน์ หรือจะเป็นนักร้อง รัฐบาลบอกว่ามีเงินให้

แต่จะต้องเก่งขนาดไหนจึงจะเป็น soft power

หรือมันก็คือการ “ฝึกอาชีพ” หรือ “ยกระดับทักษะ” เดิมเท่านั้น

ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ใช่ soft power

แล้วแต่ละครอบครัวจะได้งบเท่าไหร่ จะให้ทั้งพ่อแม่ลูกหรือเปล่า หรือมันจะอย่างไร

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ soft power แห่งชาติที่ตั้งขึ้นมาล้วนแต่เป็นมือฉมังในด้านต่างๆ

แต่จะเชื่อมภาพที่สร้างความฮือฮาระดับโลกกับการให้ 20 ล้านครอบครัวเสนอมาฝึกทักษะ นี่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ยังไม่ชัดเจน

บางคนบอกว่าเขาเรียกใหม่ว่า “หนึ่งครอบครัว หนึ่งศักยภาพ” ไม่ใช่ soft power แล้ว

ก็ยิ่งทำให้เกิดความงุนงงว่า ตกลงที่เรียกว่า “ศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์” นั้นมันคืออะไร?

หรือมันเป็นชื่อสวยๆ ของ “ศูนย์ฝึกอาชีพ” เท่านั้น

เพราะศูนย์บ่มเพาะมาจากคำว่า incubator ซึ่งเป็นศํพท์เท่ๆ ของวงการ startups

เป็นจุดให้ตั้งไข่เพื่อเติบโตไปแข่งกับข้างนอกได้

แต่หากจะเป็นเรื่อง reskill, upskill ก็ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกับเรื่อง “บ่มเพาะ” นัก

นโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้บอกว่า เมื่อฝึก 20 ล้านครอบครัวแล้ว เป้าหมายคือจะให้มีรายได้อย่างน้อยปีละ 2 แสนบาท

เป็นตัวเลขที่น่าตื่นตาตื่นใจ

แต่คำถามคือใครคือนายจ้าง? และมีตลาดสำหรับทักษะที่จะฝึกหรือไม่อย่างไร?

รัฐบาลอาจบอกว่าก็จะให้เอกชนเข้ามาร่วมในคณะกรรมการเพื่อที่จะดูเรื่องการตลาด

แต่คนที่ได้รับเชิญมาเป็นกรรมการเขาเข้าใจว่าจะมาทำงาน soft power ระดับโลก

แต่ต้องมาหางานให้กับ 20 ล้านคนทำในแต่ละสาขาวิชาชีพ ก็อาจจะผิดไปจากความคาดหวังของทุกๆ ฝ่าย

ตรงนี้แหละที่บอกว่ารัฐบาลได้ “คิดทะลุ” หรือยัง

หรือเป็นการรวบหัวรวบหางสองสามเป้าหมายมาใส่ในคณะกรรมการชุดนี้

ถึงขนาดให้นายกฯ เศรษฐานั่งหัวโต๊ะ และคุณแพทองธาร ชินวัตร นั่งเก้าอี้รองประธาน

อีกทั้งคุณ “อุ๊งอิ๊ง” ก็ยังจะนั่งเป็นหัวหน้าใหญ่ของคณะกรรมการบริหารเรื่องนี้ด้วย

คนส่วนใหญ่ก็ต้องเชื่อว่า ถ้าลูกคุณทักษิณมามีบทบาทตรงนี้ก็แปลว่าเป็นทีมงานที่มีความสำคัญมาก

เผลอๆ จะมีความสำคัญกว่าหลายกระทรวงด้วยซ้ำไป

จึงเกิดคำถามต่อว่า กระทรวงไหนมีส่วนเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการชุดนี้บ้าง

ถ้าฟังที่แถลงข่าวแล้วก็ต้องเรียกว่า เกือบทุกกระทรวงต้องมาเชื่อมประสานกับเรื่อง soft power

ไม่ว่าเจ้ากระทรวงและข้าราชการในหน่วยงานนั้นๆ จะเข้าใจเรื่อง soft power หรือไม่

หรือมีความซาบซึ้งเพียงใดกับความแตกต่างระหว่าง soft power กับ reskill, upskill

อีกทั้งจะมีเกณฑ์วัดความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร

และงานประจำของกระทรวงกับงานของคณะกรรมการชุดนี้จะมีความโยงใยกันอย่างไร

การแบ่งงบประมาณใช้ให้ตรงกับเป้าหมายทั้งของ soft power และภารกิจของตน จะใช้หลักอะไรมาเป็นเครื่องกำหนดให้เกิดความแน่ชัด

ไปๆ มาๆ ถ้าดูตามเนื้องานที่ได้ออกข่าวมาแล้ว กระทรวงที่เกี่ยวกับเรื่อง reskill, upskill ก็ไม่น่าจะเกี่ยวกับกระทรวงวัฒนธรรม

ยิ่งกระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ยิ่งห่างไปอีกด้วยซ้ำ

เอาเข้าจริงๆ ถ้าเป็นการยกระดับทักษะสำหรับ 20 ล้านครอบครัว แล้วโยนให้กระทรวงแรงงานเป็นคนทำก็คงจะเป็นภาระหนักเกินกว่าจะรับได้

เพราะคณะกรรมการชุดที่ว่านี้ไม่ได้มีหน้าที่ลงมือฝึกทักษะเอง เป็นเพียงผู้วางนโยบายและนำเสนอแผนงานให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติ

ซึ่งก็ต้องมอบหมายงานที่เป็นด้านปฏิบัติไปให้กระทรวงที่เกี่ยวกับเรื่องการฝึกรับผิดชอบ

ไม่ว่าจะระดับอาชีวะหรือมหาวิทยาลัย

ซึ่งก็ต้องไปทำการบ้านกับฝ่ายเอกชนว่ากำลังต้องการทักษะแบบไหน

จากนั้นก็ต้องปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนครั้งใหญ่

แต่ผลที่ได้มาจะไม่เกี่ยวกับ soft power แต่อย่างใด

เพราะเป็นเรื่องฝึกอาชีพ สร้างงาน และเติมเต็มในความต้องการของเอกชน

ซึ่งก็อาจจะไม่เกี่ยวกับ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” เพื่อยกระดับเป็น soft power ที่จะไปสร้างชื่อเสียงระดับโลกได้

หากแต่เป็นเรื่อง hard skill, soft skill มากกว่า

ก่อนที่จะมีความสับสนเกี่ยวกับนโยบายนี้ของรัฐบาล ก็สมควรจะต้องสร้างความกระจ่างเกี่ยวกับนิยาม เป้าหมายและวิธีการให้ชัดเจน

เพราะหากผู้คนยังงงๆ กันอยู่อย่างนี้ ก็จะไม่ต่างอะไรกับโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ที่มีคำถามมากกว่าคำตอบมากมายอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ