OFOS : หนึ่งครอบครัว หนึ่ง soft power คือความท้าทายของรัฐบาล

รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ประกาศตั้งคณะกรรมการ soft power แห่งชาติชุดใหม่ที่มีโครงสร้างและสมาชิกที่อยู่ในตำแหน่งแห่งหนที่จะสามารถผลักดันให้เคลื่อนทัพได้ไม่น้อย...หากสามารถดึงเอาคนเก่งคนมีพรสวรรค์เข้ามาร่วมได้อย่างจริงจัง

แม้พอลงรายละเอียดแล้วยังมีคำถามว่า จะทำอย่างไรจึงจะบรรลุเป้าหมายได้อย่างจริงจัง

ในคำสั่งแต่งตั้งอย่างเป็นทางการนั้นระบุว่า คณะกรรมการชุดนี้ที่มีนายกฯ เป็นประธาน

และมีคุณแพทองธาร ชินวัตร เป็นรองประธาน

คุณพันศักดิ์ วิญญรัตน์ เป็นที่ปรึกษา และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นกรรมการ

ภาพนี้คุณแพทองธารเอาขึ้นโซเชียลมีเดีย บรรยายว่าเป็นการประชุมนอกรอบของคณะกรรมการรอบแรกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

โดยมีผู้ดำเนินการประสานงานคือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล บูรณาการการดำเนินงานของส่วนราชการและภาคเอกชนให้มีประสิทธิภาพ

และมีความสอดคล้องกับการพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยไปสู่นานาประเทศ

มีอำนาจหน้าที่คือ

(1) กำหนดยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ จัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ เพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

(2) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางทางด้านการเงิน การคลัง การลงทุน รวมทั้งมาตรการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในส่วนที่เกี่ยวกับหรือเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ

(3) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มี ปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ

(4) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินงานตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ รวมทั้งมาตรการเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศในการส่งเสริมซอฟต์เพาเวอร์ทั้งในและต่างประเทศ

(5) รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและพิจารณามีมติเกี่ยวกับการดำเนินการของหน่วยงาน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์ของประเทศ

คุณแพทองธารเขียนเล่าในเพจ Facebook ของเธอว่า

ตั้งแต่ปักหมุดนโยบายซอฟต์เพาเวอร์แล้ว ที่เพื่อไทยถูกตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงใช้คำว่า ‘ซอฟต์เพาเวอร์’ เราเข้าใจคำนี้จริงหรือไม่

ขั้นแรกอยากอธิบายว่า ซอฟต์เพาเวอร์ไม่เท่ากับเศรษฐกิจสร้างสรรค์

แต่ซอฟต์เพาเวอร์ครอบคลุมทั้งการพัฒนาคนที่มีทักษะสูง เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเมืองประชาธิปไตย และการต่างประเทศที่เรียกว่า ‘การทูตเชิงวัฒนธรรม’ (Cultural Diplomacy)  

ซอฟต์เพาเวอร์จึงไม่ใช่แค่มิติเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือมิติทางการเมืองระหว่างประเทศ

แต่จะต้องทำงานอีกหลายด้านเพื่อให้เกิดการพัฒนา จนสามารถส่งออกวัฒนธรรม ความคิดสร้างสรรค์ หรือคุณค่าไปสู่นานาประเทศ และกลายเป็นผู้นำในระดับโลกต่อไป  

คุณแพทองธารอธิบายต่อว่า นั่นเป็นเหตุผลที่เราจะต้องอาศัยความร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อออกแบบนโยบายการส่งออกวัฒนธรรม ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนในด้านงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ แรงงาน กระทรวงพาณิชย์มาช่วย

สนับสนุนเรื่องการค้าการตลาด

และอีกหลายกระทรวงที่ต้องเข้ามาร่วมกัน

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากอุตสาหกรรมหลายท่านมาช่วยกันชี้เป้าอุปสรรค ปัญหา

เพื่อนำไปสู่การปลดล็อก และช่วยกันออกแบบนโยบายสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเติบโต เพื่อขยายตลาดค้าขายสินค้าทางวัฒนธรรมไปสู่ตลาดโลก

โดยหัวใจของการพัฒนาซอฟต์เพาเวอร์ในครั้งนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

คือ อุตสาหกรรม และศักยภาพของคน

สำหรับการพัฒนาศักยภาพของคนเราจะอยู่ในนโยบาย

OFOS - one family one soft power : นโยบายพัฒนาศักยภาพคน พัฒนาคนให้มีสกิลสร้างสรรค์ ขยับทักษะแรงงานไทยให้มีทักษะแรงงานขั้นสูง

เรื่อง “หนึ่งครอบครัว หรือ soft power” นี่แหละที่จะเป็นกิจกรรมที่ท้าทายที่สุดของโครงการนี้

เพราะต้องลงรายละเอียดที่จับต้องได้ ต้องสื่อสารให้ทุกครัวเรือนเข้าใจว่า soft power คืออะไร และแต่ละบ้านจะเสาะแสวงหา “พรสวรรค์” และ “พรแสวง” ของตนอย่างไร

รัฐบาลทำฝ่ายเดียวไม่สำเร็จแน่นอน

เอกชนเองก็ยังต้องการความชัดเจนว่าจะเดินหน้าให้มีความชัดเจน, คล่องตัวและกระจายให้กว้างขวาง ไม่เหลื่อมล้ำ ไม่เลือกปฏิบัติอย่างไร

คุณแพทองธารบอกว่า ในด้านอุตสาหกรรมจะตั้ง

THACCA : องค์กรพัฒนาอุตสาหกรรม

โมเดลเดียวกับ KOCCA ในเกาหลีใต้ หรือ TAICCA ไต้หวัน

เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จด้าน soft power จนเราต้องเอามาเป็นตัวอย่าง

ล่าสุดก็คงจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง Parasite และบอยแบนด์ BTS

อะไรคือ soft power?

ผู้รู้ที่เกาหลีใต้บอกว่า มันคือความสามารถของประเทศในการโน้มน้าวการตัดสินใจของผู้อื่น โดยการชักจูงหรือร่วมเลือกมากกว่าการบีบบังคับ

แทนที่จะใช้วิธีการเสนอแลกเปลี่ยน soft power อาศัยความสัมพันธ์เชิงบวกกับวัฒนธรรมของประเทศ นโยบายต่างประเทศ และคุณธรรมทางการเมืองเพื่อดึงดูดผู้อื่นให้กลายมาเป็น “แฟนคลับ” อย่างสมัครใจ

จนกลายเป็นผู้สนับสนุนและกระจายข้อดีทั้งหลายทั้งปวงออกไปอย่างกว้างขวาง

ผู้คนที่ทำเรื่อง soft power ในประเทศที่ประสบความสำเร็จเน้นว่าความสำเร็จของการสร้าง “พลังดึงดูด” ที่ว่านี้จะต้องทำอะไรสำคัญหลายๆ ประการ เช่น

ลงทุนด้านการศึกษา : พัฒนาระบบการศึกษาระดับโลกที่ดึงดูดนักศึกษาต่างชาติและส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวิชาการและความร่วมมือกับสถาบันทั่วโลก

ส่งเสริมภาษาและสื่อ : ส่งออกสื่อทั้งข่าว บันเทิง และวารสารศาสตร์ ที่สะท้อนถึงค่านิยมและมุมมองของประเทศ ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาของประเทศเพื่อเพิ่มการสื่อสาร

สนับสนุนศิลปะและการกีฬา : ส่งเสริมวงการศิลปะและการกีฬาที่เจริญรุ่งเรือง การจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ การสนับสนุนนักกีฬา และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมและการกีฬาสามารถส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศได้

มีส่วนร่วมในการทูตสาธารณะ : ใช้การทูตอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความสัมพันธ์เชิงบวกกับประเทศอื่นๆ มีส่วนร่วมในการเจรจา และความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาระดับโลก

ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ : รักษาเศรษฐกิจให้แข็งแกร่งและมีส่วนร่วมในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ความสำเร็จทางเศรษฐกิจสามารถเพิ่มอิทธิพลและความน่าดึงดูดของประเทศได้

ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการพัฒนา : ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและความช่วยเหลือด้านการพัฒนาแก่ประเทศที่ต้องการ สิ่งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมไมตรีจิตและความร่วมมืออีกด้วย

การดูแลสิ่งแวดล้อม : แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ความเป็นผู้นำในการจัดการกับความท้าทายระดับโลกสามารถเพิ่มชื่อเสียงของประเทศได้

เน้นจุดแข็งและค่านิยมที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแล นวัตกรรม นโยบายทางสังคม หรือด้านอื่นๆ

สร้างและรักษาพันธมิตร : สร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่งและความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ที่มีคุณค่าและเป้าหมายคล้ายคลึงกัน ความร่วมมือสามารถขยายอำนาจอ่อนของประเทศได้

มีส่วนร่วมกับประชาคมโลก : เป็นผู้มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในองค์กร ฟอรัม และข้อตกลงระหว่างประเทศ การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในการกำกับดูแลระดับโลกแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาความท้าทายระดับโลก

การทูตทางวัฒนธรรม : ใช้กิจกรรมทางวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยน และความคิดริเริ่มเพื่อส่งเสริมความเข้าใจและการรับรู้เชิงบวกของประเทศ สนับสนุนโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและศิลปินเพื่อแสดงวัฒนธรรมของประเทศในต่างประเทศ

ส่งเสริม Soft Power ในพื้นที่ดิจิทัล : ใช้โซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มดิจิทัล และตัวตนออนไลน์เพื่อมีส่วนร่วมกับผู้ชมทั่วโลก มีส่วนร่วมในการทูตดิจิทัลเพื่อแบ่งปันความคิดและมุมมอง

ภาพใหญ่ดูเหมือนสวยงาม แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ เป็นอย่างไร พรุ่งนี้ว่าต่อครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ