ด้วยเหตุเพราะอ่านหนังสือเสียหมดบ้าน!!! มานานแล้ว...เลยต้องไปคว้าเอานิยายเก่าๆ วรรณกรรมต่างประเทศเรื่อง เสรีภาพเจ้ากรรม (A feast of Freedom) ที่อภิมหานักแปลผู้วายชนม์ไปเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว คุณ เทศภักดิ์ นิยมเหตุ ท่านถอดความมาจากงานเขียนของนักเขียนชาวไอริช-อเมริกัน นาย Leonard Patrick O’Connor Wibberley ที่เคยอ่านแล้ว-อ่านเล่า ปาเข้าไปถึงเที่ยวที่ 10 เห็นจะได้
แต่ถึงแม้จะอ่านแล้ว-อ่านอีก กี่เที่ยวต่อกี่เที่ยวก็แล้วแต่...งานเขียนของนักเขียนฝรั่งเล่มนี้ ต้องเรียกว่า...เป็นอะไรที่สุดๆ ทั้งเฉียบขาด แหลมคม ไม่ว่าในแง่คิด ในแก่นสาระของเรื่อง แถมยังเต็มไปด้วย อารมณ์ขัน อันสุดแสนจะแสบๆ-คันๆ ระดับอินเตอร์
หรือระดับโลกเอาเลยก็ว่าได้ ยิ่งได้มือแปลอย่างคุณ เทศภักดิ์ นิยมเหตุ ที่สามารถสรรหาถ้อยคำและเก็บความแปลงมาเป็นภาษาไทยได้อย่างไหลลื่น ไม่รู้สึกสะดุด หยุดยั้งใดๆ เอาเลยแม้แต่น้อย ชนิดแทบลืมไปเลยว่ากำลังอ่านนิยาย อ่านวรรณกรรมต่างประเทศ เสียดายที่ท่านมาลาละไปจากโลกเมื่อช่วงอายุแค่ 56 ปีเท่านั้นเอง ไม่งั้น...คงมีผลงานการถอดคำ ถอดความ จากบรรดางานเขียนระดับ คลาสสิก ทั้งหลาย มาให้ผู้อ่านชาวไทย พอได้รับรู้ รับทราบ กันมั่ง
สำหรับนักเขียนชาวอเมริกัน-ไอริชรายนี้...ถ้าว่ากันตามประวัติความเป็นมาที่ อากู๋กูเกิล หรือที่ วิกิพีเดีย เขาได้แจกแจงเอาไว้ เห็นว่า...เป็นผู้ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ตีนยังเท่าฝาหอยเอาเลยก็ว่าได้ คือเริ่มจากการเป็นเด็กส่งต้นฉบับ หลังจากพ่อตายต้องดิ้นรนหาเงินตั้งแต่ยังเล็กๆ แต่ก็ด้วยความมุมานะ เพียรพยายามใดๆ ก็แล้วแต่ เลยค่อยๆ ยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นนักข่าว เป็นผู้ช่วย บ.ก. ในหนังสือพิมพ์ดังๆ ของอังกฤษ อย่าง Sunday Express หรือ Daily Mirror ไปจนกระทั่งเป็นถึงเจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เล็กๆ ขณะร่อนเร่ไปไกลถึงเกาะตรินิแดดโน่นเลย ก่อนจะย้ายไปปักหลักที่อเมริกา ที่นิวยอร์ก ที่แคลิฟอร์เนีย แล้วออกมาเริ่มเขียนหนังสือ เขียนนิยาย ตั้งแต่อายุได้ 37 ปี สามารถผลิตงานเขียน งานวรรณกรรม ปาเข้าไปนับร้อยๆ เล่ม เอาเลยถึงขั้นนั้น
ส่วนงานเขียนเรื่อง A Feast of Freedom หรือ เสรีภาพเจ้ากรรม ที่คุณ เทศภักดิ์ ท่านนำมาแปลเป็นภาษาไทย แม้เป็นเรื่องที่มาจาก จินตนาการ ถึงหมู่เกาะเล็กๆ 2 เกาะ คือเกาะ โอมู ลาอู และ โอโม เลวี ที่จะอยู่ในซอกไหน มุมไหน ของมหาสมุทรแปซิฟิกก็ตามที แต่อาจด้วยความเป็นนักข่าวที่รอบรู้เรื่องราวในระดับชาติ ระดับประเทศได้เป็นอย่างดี นาย Leonard Wibberley เลยสามารถนำเอาจินตนาการที่ว่านี้ มาผูกโยงกับ ความจริง โยงไปถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศ ไม่ว่าระหว่างโลกทุนนิยม-สังคมนิยม หรือโลกเสรีกับคอมมิวนิสต์ ไปจนสิ่งที่ลุ่มลึกและซับซ้อนยิ่งไปกว่าการพูดจาซ้ำๆ ซากๆ แบบนกแก้ว-นกขุนทอง นั่นก็คือสิ่งที่เรียก เสรีภาพ นั่นเอง
และก็ด้วยสิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพ ที่ผิดแผก แตกต่าง ไปตามมุมมองของใครต่อใคร ไม่ว่าจะในทัศนะของชาวอเมริกัน ชาวอังกฤษ ไปจนถึงชาวเกาะเล็กๆ ที่ถูกเสือกไสไล่ส่งให้ต้องได้รับ เสรีภาพ ได้รับเอกราช จนต้องจัดให้มีการ เลือกตั้ง ตามมาตรฐานของชาวตะวันตกทั้งหลาย ทั้งที่ มันเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ในสายตาของชาวเกาะอย่าง หัวหน้าเผ่า บางราย หรือเพราะ “เป็นที่ยอมรับกันมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ว่าหัวหน้าเผ่าเป็นคนฉลาดรอบรู้ มีความรับผิดชอบ สามารถตัดสินใจแทนผู้คนของตน และพร้อมที่จะยอมรับผิดแต่เพียงผู้เดียว ผู้สืบเชื้อสายต่อจากหัวหน้าเผ่าก็ได้รับการอบรมมาตั้งแต่เด็กๆ เพื่อให้เข้ารับหน้าที่แทนเมื่อถึงเวลาอันควร มันจึงย่อมไม่ยุติธรรม ที่จู่ๆ ก็จะเอาหน้าที่เหล่านี้ ไปโยนให้กับ (ชาวบ้าน) ผู้ที่ไม่ได้เคยผ่านการอบรมมาก่อนเช่นนั้น...”
โดยไม่ว่ามุมมองของใครผิด-ใครถูก แต่ก็ด้วย เสรีภาพเจ้ากรรม ตามจินตนาการของนักเขียน-นักข่าวรายนี้ สุดท้าย...ก็เลยส่งผลให้ รองประธานาธิบดีอเมริกา ถูกบรรดาชาวเกาะจับไปกิน ไปรับประทานเป็นอาหาร จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตระดับชาติ หรือระดับโลก ถึงขั้นเรือรบอเมริกันกับเรือรบอังกฤษ ต้องแล่นมาเผชิญหน้ากัน แถวๆ เกาะ โอโม เลวี ชนิดพร้อมจะยิงใส่กันและกันได้ทุกเมื่อ ใครที่อยากรู้รายละเอียด อยากรู้มุมจบว่าจะออกมาในแนวไหน แบบไหน อยากหัวเราะกันในระดับอุจจาระแตก-อุจจาระแตน คงต้องลองไปหามาอ่าน รับรองว่าไม่ผิดหวังโดยเด็ดขาด แม้ว่าอาจต้องถือเป็น หนังสือหายาก ในช่วงระหว่างนี้ไปแล้วก็เป็นได้
เสียดาย...ที่ไม่มีใครคิดนำมาพิมพ์เผยแพร่ให้เป็นที่รับรู้กันโดยกว้างขวาง ทั้งที่น่าจะถือเป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนไม่ว่าจะในชั้นมัธยม หรือมหาวิทยาลัยก็แล้วแต่ เพราะถ้าผู้คนในบ้านเราได้มีโอกาสใคร่ครวญ ไตร่ตรอง พิจารณาถึงสิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพ ให้ลึกซึ้งถึงแก่นยิ่งไปกว่านี้ สิ่งที่เรียกว่า ประชาธิปไตย มันคงไม่ถึงกับต้องวนไป-วนมานับเป็นเกือบๆ ศตวรรษ แต่ก็ยังไม่คิดจะไปไหนซักกะที ยิ่งได้เห็นข่าว บริษัท ซีพีออลล์ ร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ สำนักงานศึกษา กทม. และอะไรต่อมิอะไรอีกเยอะแยะ ดันหันไปยกย่อง เชิดชู มอบรางวัล เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด ครั้งที่ 20 ให้กับหนังสือของอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่ชอบ มโน ชอบโมๆ เมๆ มั่วๆ ไปตามเรื่อง ตามราว อันนี้...กลับยิ่งจะส่งผลให้พวกที่หวัง ก้าวไกล น่าจะหนักไปทาง ก้าวสะเปะสะปะ ยิ่งขึ้นไปอีกเท่านั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เด็กฝึกงาน...ไม่ผ่านโปร
ฉากทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยหลังจากรู้ผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นภาพที่สร้างความกังวลให้กับคนไทยจำนวนมากที่ไม่ได้เลือกพรรคส้มหรือพรรคแดง
'ความเป็นไทย' กับกรณีน้ำท่วมภาคเหนือ-ภาคใต้
ถึงแม้จะก่อเกิด ถือกำเนิด ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี...แต่ด้วยเหตุเพราะไปเติบโตที่ภาคใต้ ไม่ว่าเริ่มตั้งแต่อำเภอทุ่งสง จังหวัดหน่ะคอนซี้ทำหมะร่าด ไปจนอำเภอกันตัง
ได้ฤกษ์ 'นายพล' ล็อต 2
ผ่านเดดไลน์ตามคำสั่ง ผบ.ต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ให้ทุกหน่วยส่งบัญชีข้อมูลผู้เหมาะสมเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น
ช่างกล้า...ช่างมั่น รับประกันด้วยตำแหน่ง
ในขณะที่ประชาชนผู้รักชาติ รักแผ่นดิน มีความเป็นห่วงเป็นใยว่าการเจรจาแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรในท้องทะเลใต้เกาะกูดตามที่มีการลงนามความเข้าใจร่วม (MOU) 44
จาก...'ต้มยำกุ้ง' ถึง 'ต้มยำกบ'
ด้วยเหตุเพราะ ความคิดถึง อย่างสุดซึ้งถึงเพื่อนเก่า เพื่อนแก่ อย่าง เพื่อนแป๊ะ (โดย แป๊ะ รายที่ว่านี้ออกไปทาง เทพบุตร หรือคนละคนกับ แป๊ะ ปิศาจ) ที่ห่างหายไม่ได้เจอะหน้า เจอะตา
ทิศทางใหม่ 'สีกากี'
การจัดทัพปรับทิศ "กรมปทุมวัน" ในยุค ผบ.ต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ กุมบังเหียน "แม่ทัพใหญ่สีกากี" น่าสนใจ น่าติดตาม