'จริยธรรม' สะกดยังไง

ยังคาใจกันอยู่...

จากกรณี "ช่อ พรรณิการ์ วานิช" ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จนถูกศาลฎีกาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต

มีคำถามว่า เกินไปหรือไม่?

"ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" ขวัญใจแม่ยกด้อมส้ม ข้องใจว่า เหตุเกิดจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ หรือเป็นปัญหาการใช้การตีความรัฐธรรมนูญ?

"ปริญญา" ยกมา ๓ ข้อ

๑.รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ล้วนแต่กำหนดให้การตัดสิทธิเลือกตั้ง หรือตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะต้องเป็นเรื่อง การฝ่าฝืนกฎหมาย และหากเป็นการฝ่าฝืนหรือกระทำผิดกฎหมายอาญาจนถูกศาลพิพากษาให้จำคุก จะต้องพ้นโทษมาแล้วเกิน ๕ ปี จึงจะสมัครรับเลือกตั้งได้ ว่าง่ายๆ คือ ต่อให้ทำผิดกฎหมายอาญาถึงขนาดติดคุก ก็ถูกตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต่อไปอีก ๕ ปีหลังพ้นโทษเท่านั้น  แต่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๒๓๕ ให้ตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต หากฝ่าฝืน มาตรฐานทางจริยธรรม ปัญหาคือมาตรฐานจริยธรรมนี้ #มิใช่กฎหมาย ทำไมจึงมีโทษหรือมีผลของการฝ่าฝืนร้ายแรงถึงขนาดถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตได้? ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ทำผิดกฎหมายอาญาจนติดคุกยังถูกตัดสิทธิต่ออีก ๕ ปีเท่านั้น

๒.แล้ว “มาตรฐานทางจริยธรรม” ที่ศาลฎีกาใช้ในการพิพากษาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต มาจากไหน ใครเป็นคนเขียน? คำตอบคือ รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๒๑๙ บัญญัติให้ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นผู้กำหนด มาตรฐานทางจริยธรรมนี้จึงมิใช่กฎหมายดังที่ได้กล่าวข้างต้น มิใช่ทั้งกฎหมายที่มาจากฝ่ายนิติบัญญัติ และมิใช่กฎหมายลำดับรองที่มาจากฝ่ายบริหาร แต่เป็นสิ่งที่มาจากศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มีที่มายึดโยงกับผู้ทำรัฐประหารในปี ๒๕๕๗ มาตรฐานทางจริยธรรมนี้จึงมีปัญหามาก และจึงเท่ากับเป็นเครื่องมืออีกอันหนึ่งที่ใช้ในการควบคุมผู้ที่มาจากการเลือกตั้ง

๓.การโพสต์ในเฟซบุ๊กของพรรณิการ์ ผู้ถูกฟ้อง เป็นเรื่องความไม่เหมาะสมหรือเหมาะควรหรือไม่ แต่ยังไม่ใช่การกระทำที่ผิดกฎหมาย ศาลฎีกาเองก็วินิจฉัยว่า “ฟังไม่ได้ว่าเป็นการไม่ยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และที่สำคัญคือเป็นการโพสต์ ก่อนที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ และมาตรฐานทางจริยธรรมจะประกาศใช้หลายปี จะเรียกว่าเป็นการกระทำที่ “ฝ่าฝืน” มาตรฐานทางจริยธรรมที่มาทีหลังได้อย่างไร

"ปริญญา" สรุปว่า ที่ศาลฎีกาตัดสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๓๕ กำหนดไว้เช่นนั้น ไม่ใช่ศาลกำหนดเองว่าให้ตัดสิทธิตลอดชีวิต แต่ทว่าเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เท่านั้น หากเป็นเรื่องการใช้การตีความรัฐธรรมนูญของผู้มีอำนาจหน้าที่ด้วย เพราะการกระทำของผู้ถูกฟ้องเกิดขึ้นก่อน ไม่ใช่เกิดขึ้นหลังมาตรฐานจริยธรรมประกาศใช้ จึงสามารถถือว่าผู้ถูกฟ้องมิได้ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมที่มาในภายหลัง ประเด็นสำคัญที่สุดของเรื่องนี้คือ ความเป็นธรรม การกระทำที่เป็นเพียงเรื่องเหมาะควรหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องการทำผิดกฎหมาย ทั้งยังเป็นการกระทำที่ทำมาก่อนมาตรฐานทางจริยธรรมจะประกาศใช้ ไม่ควรนำมาตัดสิทธิบุคคลถึงขนาดตัดสิทธิตลอดชีวิตเช่นนี้ครับ....

ก็ถูกของแม่ยกด้อมส้มครับ แต่ไม่ทั้งหมด

การตั้งคำถามเรื่องใครเป็นเขียน ดูจะเล่นบทงอแงมากไปหน่อย

เพราะหากยึดว่าใครเป็นคนเขียนกฎหมาย หรือระเบียบต่างๆ เพื่อดูว่าจะต้องปฏิบัติตามหรือไม่ สังคมนี้มันอยู่กันไม่ได้หรอกครับ

มีคำสั่งคณะปฏิวัติจากในอดีตบังคับใช้มาถึงปัจจุบัน บางฉบับถูกแก้ไขแค่ชื่อ เพราะแสลงใจกับคำว่า "คณะปฏิวัติ"

หรือถ้ายึดเอาว่า ชนชั้นใดเขียนกฎหมายเพื่อชนชั้นนั้น มันก็ขัดแย้งกันไม่รู้จบ

เพราะผู้คนจะเลือกเคารพเฉพาะกฎหมายที่ตัวเองอยากเคารพ และไม่เคารพกฎหมายที่ตราโดยกลุ่มคน สภา ที่ตัวเองไม่เคารพ

จะมีแต่ฉิบหายครับ!

ก่อนที่จะกล่าวโทษว่า กฎหมาย บกพร่อง หรือไม่ดี หรือไม่ตอบสนองความต้องการของใครบาง ก็ต้องไปทำความเข้าใจก่อนว่า กฎหมาย หรือระเบียบ คำสั่ง นั้นๆ มีที่มาอย่างไร

ทำไมต้องตราขึ้นมา

"ปริญญา" เองก็เคยพูดไม่ใช่หรือว่า นักการเมืองบางคนแม้มิได้ทำผิดกฎหมาย แต่ในแง่จริยธรรมถือว่าไม่ผ่าน  
ประเทศไทยมีปัญหา การทำผิดจริยธรรม แต่ยังลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมได้มากมาย เพราะการกระทำนั้นมิได้ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักวิชาการ มีแทบทุกสังคม

ต้องทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของ "กฎหมาย" กับ "จริยธรรม" ให้ได้ก่อน

ความแตกต่างระหว่าง กฎหมาย กับ จริยธรรม ถูกกำหนดให้เห็นชัดเจน และเป็นข้อมูลพื้นฐานที่หาได้โดยทั่วไป

จริยธรรม   

๑.เป็นเครื่องมือควบคุมพฤติกรรมระดับสูงของมนุษย์

๒.ไม่มีการลงโทษตามกฎหมายแต่ลงโทษโดยสังคม

๓.เป็นการควบคุมพฤติกรรมจากภายใน

๔.เป็นข้อบังคับจากสังคมที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

๕.เป็นเรื่องของจิตสำนึก ทำเพราะเห็นว่าถูกต้องและภูมิใจที่ได้ทำ

กฎหมาย

๑.เป็นเครื่องมือควบคุมพฤติกรรมระดับต่ำของมนุษย์

๒.มีบทลงโทษที่ชัดเจน

๓.เป็นการควบคุมพฤติกรรมจากภายนอก

๔.เป็นข้อบังคับจากรัฐที่เป็นลายลักษณ์อักษร

๕.เป็นบทบัญญัติว่าต้องทำหรือต้องละเว้น ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ฉะนั้นพูดได้ว่า จริยธรรม อยู่ในระดับที่เหนือกว่ากฎหมาย

บางคราวเราได้ยินด้วยซ้ำไปว่า จริยธรรมของการบังคับใช้กฎหมาย

เมื่อประเทศไทยมีการตราจริยธรรมขึ้นมาเป็นกฎหมาย ซึ่งก็คือ พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ ก็ถือเป็นการพัฒนาระบบกฎหมายไปอีกขั้น

แต่ถ้าจะงอแงว่า กฎหมายนี้ออกโดยมีความเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๕๗ เป็นกฎหมายที่ไม่น่าเชื่อถือ

"ปริญญา" คิดหรือว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สภาที่มักอ้างว่ามาจากประชาชน จะตรากฎหมายลักษณะนี้ขึ้นมา

ต่อให้ พรรคก้าวไกล คุมเสียงในสภาเกือบทั้งหมดแบบสิงคโปร์ ที่ "รองอ๋อง หมูกระทะ" จะไปดูงาน ก็ไม่มีทางครับที่จะมีกฎหมายแบบนี้ขึ้นมา

ก็ดูพฤติกรรมซิครับ สส.ตั้งพ่อตัวเองเป็นผู้ช่วย สส. กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน

ตามกฎหมายตั้งได้ครับ

แต่โดยจริยธรรม ถือว่าไม่ผ่าน ควรงดเว้น

ต่อให้พ่อเก่งมีรอยหยักในสมองเท่า "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" ก็ไม่ควร

มันจะถูกตั้งคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นมาทันที

"เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร" ควรรับรู้ ในยามปกติพ่ออาจทำงานหรือให้คำปรึกษาโดยไม่เข้าข้างลูก แต่เมื่อไหร่ก็ตามในยามวิกฤต พ่อต้องยืนข้างลูกเสมอ

ไม่ว่าจุดยืนนั้นจะผิดหรือไม่ก็ตาม!

นี่้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ นักการเมืองจะต้องมีจริยธรรม

และการกำหนด "มาตรฐานทางจริยธรรม" ขึ้นมาเป็นกฎหมาย แน่นอนว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบคือ ข้าราชการประจำ และข้าราชการการเมือง

มิได้บังคับใช้กับ "ช่อ" คนเดียว

ถ้า "ช่อ" โพสต์ข้อความด่า "พ่อ" ปริญญา ตั้งแต่ "ช่อ" ยังเรียนชั้นประถม และไม่มีการลบข้อความใดๆ ทั้งสิ้น อยู่มาวันหนึ่งมีการแชร์ข้อความนั้นไปทั่วโซเชียล โดยที่ "ช่อ" มีท่าทีเฉยเมย ไม่สนใจจะลบทิ้ง

"ปริญญา" จะว่าไง?

ค่อยๆ คิดครับ ไม่ต้องรีบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าปล่อยให้เหลิง

นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง