'สส.-สว.' ใครควรโละกว่ากัน?

ฮือฮากันจัง....

กับ "ตัวเลขมหัศจรรย์" ของอาจารย์ "สมศักดิ์" เจ้าสำนักยุติธรรม

พอดี พรุ่งนี้ "หวยออก"!

มีตัวเลขอยู่ ๒ ชุดให้เลือก ใครชอบชุดไหน เลือกเอานะ

ชุดแรก เป็นชุด "จำนำข้าว" มีหลายเลข เลือกเอา

-ภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ โทษคุก ๓๖ ปี ลดเหลือ ๘ ปี จะพ้นโทษ ส.ค.๖๘

-บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ โทษคุก ๔๘  ปี ลดเหลือ ๑๐ ปี จะพ้นโทษ เม.ย.๗๑

-มนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ  โทษคุก ๔๐ ปี ลดเหลือ ๘ ปี จะพ้นโทษ ก.ค.๖๙

-อภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) นักธุรกิจ คนสนิททักษิณ โทษคุก ๔๘ ปี ลดเหลือ ๖ ปี ๓ เดือน จะพ้นโทษ  ธ.ค.๖๖

ชุดที่ ๒ เป็นชุด "สินบนต่างชาติ" มีตัวเดียวเหน่งๆ

-จุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าฯ ททท. โทษคุก ๕๐ ปี ลดเหลือ ๙ ปี ๕ เดือน จะพ้นโทษ ก.ย.๖๙

เนี่ย.......

ตัวเลขมันฟ้อง ถึงความทะแม่งๆ ในมาตรฐาน "สุจริต-เที่ยงธรรม" ของกระทรวงยุติธรรม ผู้จัดทำ "บัญชีลดโทษ"

ตามกลไกประชาธิปไตยระบบรัฐสภา........

ฝ่ายค้าน ซึ่งมีหน้าที่ "ตรวจสอบ-ถ่วงดุล" ฝ่ายรัฐบาล  ตอนนี้ ผู้นำฝ่ายค้านเปลี่ยนเป็น "หมอชลน่าน" ผู้ชอบ "ชนแหลก"

หมูมาขึ้นเขียงขนาดนี้ สับรัฐบาลด้วยปังตอแน่

เบาะๆ กระทู้ถามสด ต้องมาแล้ว.....

ต้องถามรัฐมนตรีสมศักดิ์ก่อนเลยว่า "ทำไมถึงลดราคาฮวบฮาบขนาดนั้น กะหรี่ตามซ่องยุค ๒๔๗๕ ยังไม่ลดราคาขนาดนี้เลย"?!

เป็นการฉวยโอกาส ในวาระ "อภัยโทษ" ด้วยลีลา Short  Sale กับหุ้น Blue Chip บางตัว อย่างนั้น หรือเปล่า?

แล้วขุนพลปากเอก "สุทิน คลังแสง" ผู้ไม่เคยอภิปรายชนะใครเลย ต้องออกมาประกาศ "จองกฐิน" รัฐบาล

"พรรคเพื่อไทย ในฐานะฝ่ายค้าน พวกผมต้องเอาเรื่องนี้เปิด 'อภิปรายทั่วไป' รัฐบาลแน่นอน

ประชาชนยอมรับไม่ได้หรอกครับ โครงการจำนำข้าวยุคยิ่งลักษณ์ เสียหาย ๖-๗ แสนล้าน รัฐบาลประยุทธ์ต้องรับภาระเอาภาษีประชาชนไปใช้หนี้แทนถึงทุกวันนี้

ปีนี้ ต้องชำระคืน ธ.ก.ส.เขาแสนล้าน ก็ยังจ่ายเขาไม่ครบเลย แล้ว 'สำนักงบประมาณ' ยังจะต้องตั้งงบเพื่อจ่ายหนี้อีกปีละ ๑๐-๒๐% ต่อไปเรื่อยๆ

อีกไม่ต่ำกว่า ๕ ปี ถึงจะชำระหนี้โกงจำนำข้าวหมด

แล้วดูซิ พี่น้อง......

อีก ๕ ปี ก็ใช้หนี้แทนรัฐบาลเพื่อไทย 'ยุคยิ่งลักษณ์' ยังไม่หมดเลย!

แต่ไอ้พวกโกง คนเพื่อไทยทั้งนั้น ศาลตัดสินให้จำคุก คนละ ๓๐ กว่าปีบ้าง ๔๐ กว่าปีบ้าง ร่วม ๕๐ ปีบ้าง

ถลกตูดออกจากคุกหมดแล้ว!?

โกง...ติดคุกแป๊บๆ ออกไปรวยโคตรๆ แต่ชาวบ้านซวยคั่กๆ ต้องตามใช้หนี้ไปจนตาย แบบนี้ เพื่อไทยยอมไม่ได้แน่นอน"

ก็เงี่ยหูรอฟังมาหลายวัน!

ว่าพรรคที่ยกหางเป็น "ฝ่ายประชาธิปไตย" จะได้ฤกษ์ลากไส้รัฐมนตรียุติธรรมวันไหน?

ปรากฏว่า "หมาไม่กินเนื้อหมา" จริงๆ ด้วยแหละ!

ฝ่ายที่ออกมาทำหน้าที่เป็นปากเสียงแทนประชาชน กลับเป็น "ส.ว.-วุฒิสมาชิก" ที่พวก ส.ส.หยาบหยาม

ว่าไม่ได้มาจากประชาชนบ้างละ เป็นลูกมือรัฐบาลบ้างละ  เป็นติ่งระบบรัฐสภาบ้างละ ตั้งแง่รังเกียจ ขับไล่เขาในแต่ละวัน

ถ้าจำไม่ผิด ส.ว. "สมชาย แสวงการ" โวยขึ้นก่อน!

แล้วภาคประชาชน หมอวรงค์ "ไทยภักดี" มือปราบจำนำข้าว หมอเหรียญทอง และใครต่อใคร ผู้เป็นประชาธิปไตยทางปฏิบัติ ก็ออกมาช่วยกัน "โวยเพื่อชาติ"

อย่างเมื่อวาน (๑๔ ธ.ค.๖๔)

ในขณะที่เพื่อไทย-ฝ่ายค้าน จัดงานหรูหรา-หมาหอนกับงาน "หน้าเก่า-หน้าแหก" แล้วกลับมาใหม่

ผิดตำราที่บอกว่า "ม้าดีย่อมไม่กลับมากินหญ้าเก่า" นอกจากม้าหมดสภาพ ที่ต้องกลับมาและเล็มหญ้าเก่าใต้ตีนที่ย่ำจนช้ำแล้ว!

แต่ที่ประชุมวุฒิสภา บรรดาวุฒิสมาชิกกลับทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลแทน ส.ส.ฝ่ายค้าน ชนิดหน้าดำคร่ำเครียด

ผมไม่ใช่ ส.ส.เห็นแล้วยังอายแทน

ฝ่ายค้าน นั้น ทำกันอยู่ ๒ เรื่องเท่านั้นกระมัง "ล้มรัฐบาล" กับสนับสนุน "ล้มสถาบัน"?!

เมื่อวาน "แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์" อภิปรายให้ข้อมูลไว้เป็นประโยชน์ เช่น

-กรมราชทัณฑ์ไม่ได้มีกรอบหรือกฎหมายในการลดโทษในโทษที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน, โทษที่เกี่ยวกับการค้ายาเสพติด หรือโทษที่เป็นความผิดต่อเนื่อง

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ "กรมราชทัณฑ์มีกฎหมาย"

แต่กฎหมายไม่ได้มีกรอบใหญ่กำหนดชัดเจน แต่ให้เป็น "กฎกระทรวง" ที่เป็นระเบียบปฏิบัติ

ระเบียบหรือกฎเหล่านี้ จะถูกดำเนินการระหว่าง "ข้าราชการและรัฐมนตรี"

คุณหญิงพรทิพย์จึงเสนอว่า.........

"เพราะฉะนั้น ต้องคิดว่า ทำอย่างไรจะต้องมีส่วนร่วมจากภาคอื่น คือจากภาคประชาชน หรือศาล"

"การพิจารณาลดโทษ" ประกอบไปด้วย เรื่องแรก คือ                 -นโยบาย เมื่อไม่มีกรอบกฎหมายชัดเจน นโยบายจึงอาจถูกเบี่ยงเบน หรือถูกดึงให้ไปด้านใด-ด้านหนึ่ง คือแค่ผ่านคณะรัฐมนตรี ก็ยังออกมาได้

เรื่องที่สอง คือ "การมีกรรมการเป็นผู้พิจารณา"

จากกรณีที่เคยเกิดราชทัณฑ์เคยชี้แจง "ไม่เคยมีการประชุมกรรมการคัดเลือกอย่างจริงจัง" หน่วยล่างเสนอขึ้นมา ก็เซ็นผ่าน

ฉะนั้น ควรมีการตรวจสอบ และมีคนนอกเข้าร่วมด้วย

-ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาในส่วนของ Big Data ในกระบวนการยุติธรรม

สังเกตได้จากกรณีของ "สมคิด พุ่มพวง" ฆาตกรต่อเนื่องที่ได้รับการลดโทษจนออกไปสังหารผู้อื่นต่อ

โดยเมื่อมีการสอบสวน กรมราชทัณฑ์กลับไม่เคยรู้เลยว่า "สมคิดเคยทำผิดอะไรบ้าง?"

ก่อนหน้านี้ คุณหญิงพรทิพย์เคยโพสต์เสนอทางออกของเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

-การปฏิรูประบบราชทัณฑ์ ต้องมองทั้งระบบ

. -ราชทัณฑ์ต้องกำหนดภารกิจให้ชัดเจน คือกักขัง บำบัด  ฟื้นฟู มิใช่กักขังแล้ว "พื้นที่เต็ม" ก็ระบายออก

-"ระบบลดโทษของราชทัณฑ์".............

ต้องเขียนให้ชัดในกฎหมายราชทัณฑ์ ว่าความผิดประเภทใดบ้าง ไม่ใช่ให้กรมไปออกกฎระเบียบเอาเอง ซึ่งมนุษย์นี่แหละที่สร้างปัญหา แสวงประโยชน์มากกว่าสร้างความเป็นธรรม

-ระบบกรรมการที่เป็นผู้ใช้อำนาจกลั่นกรองต้องทำจริงด้วยตัวเอง มิใช่เพียงลงลายเซ็นการประชุม

-ระบบฐานข้อมูลในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานได้

ในครั้งฆาตกรต่อเนื่องที่ได้รับการลดโทษจนออกมาฆ่าคน ทางราชทัณฑ์อ้างว่า ไม่มีข้อมูลที่เคยก่อคดีก่อนหน้า อ้างว่าอยู่ในคำพิพากษา

-ระบบตรวจสอบการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้เสนอรายชื่อนักโทษที่จะได้รับการลดโทษ

เพราะมีข้อมูลเล็ดลอดมาว่า นักโทษร้ายแรงบางคน ได้รับโอกาสจากการทำผัดไทยอร่อย ประเด็นนี้ มีเรื่องส่วยซ่อนอยู่แน่นอน คงไม่มีแค่ผัดไทยอร่อย

-เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งเรื่องความเป็นธรรม เรื่องความเหลื่อมล้ำ เรื่องสิทธิ

ที่สำคัญคือ "วิสัยทัศน์ผู้นำทุกระดับ" ตั้งแต่นายกฯ ปลัดกระทรวง และอธิบดี

แต่ผู้ที่ออกมาให้ความคิดเห็นและสังคมตอบรับแนวทางกันมาก คือ

"ท่านจรัญ ภักดีธนากุล" อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ให้สัมภาษณ์ผ่าน FM 101

กรณีกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เสนอลดโทษนักโทษในคดีทุจริต คอร์รัปชัน เช่น ว่า

"เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ เพราะกว่าจะตัดสินคนที่ทำผิดต้องตรวจสอบ ไต่สวน สืบสวนนานหลายปี เพื่อไม่ให้กล่าวหาใส่ร้ายคนที่สุจริต"

-มีที่ไหนในโลก จำคุกมา ๔ ปี ๔ เดือน ขออภัยโทษให้  ๔ รอบ?

ประเด็น "ยกร่างพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ" นั้น ท่านจรัญ บอกว่า

"ไม่ต้องโทษหน่วยงาน เพราะรัฐมนตรีเป็นคนยกร่าง เสนอให้คณะรัฐมนตรีและให้ความเห็นชอบ"

แต่ท่านจรัญบอกว่า....

"ยอมรับว่า ครม.ต้องพิจารณาเป็นร้อยเรื่อง พิจารณาแบบไฟลนก้น

เมื่อพิจารณาเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ เห็นว่าเป็นเรื่องดี เพราะปล่อยคนจน คนยาก เป็นทานบารมี

แต่กรณีที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ คือ นำพระราชอำนาจมาใช้ ควรตรวจสอบรายละเอียด

ไม่ใช่ขอเป็นการทั่วไปและต้องกลั่นกรองและตรวจสอบในเหตุผลที่สมควร"

“คดีทุจริตโกงบ้านกินเมือง ที่ทำลายประเทศมากกว่าคดียาเสพติด และทำให้ประชาชนทุกข์ยากแสนเข็ญมากกว่า

ดังนั้น คดีทุจริตคอร์รัปชัน ต้องเคร่งครัดมากกว่าคดียาเสพติดที่มีเงื่อนไข อย่างคดียาเสพติด ยังมีการ 'ขอรอบ-เว้นรอบ'

แต่คดีทุจริตนี้ 'ทุกรอบ' "

คนที่โกงและจับได้ชัดๆ มีโทษจำคุก ๕๐ ปี แต่ลดเหลือ  ๖ ปี ๑๐ ปี แบบนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร?

ต้องแก้ไข ไม่ปล่อยให้เป็นแบบนี้

ไม่เช่นนั้น จะมีแต่คนแย่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกันหมด!

เรื่องการแก้ไข ท่านจรัญชี้ช่องทางไว้ ดังนี้

การแก้ไขเรื่องดังกล่าว มีช่องทางที่ทำได้ คือ ใช้ช่องทาง  "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๓๐(๑)

เพื่อส่ง "ศาลรัฐธรรมนูญ" ตีความพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ นั้น ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๐(๑๐) และมาตรา ๖๓

โดยกรณีดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับ เพราะเป็นการออกพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา ๑๗๕

และหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญจริง จะถูกตีตก

แต่กรณีดังกล่าว หากใช้ตามช่องทาง

และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอย่างไร ต้องเคารพในอิสระและความเป็นกลางของสถาบันตุลาการของชาติ

ดังนั้น ช่องทางนี้ เป็นไปได้......

ไม่กระทบกระเทือนพระองค์ เพราะไม่ใช่กระแสรับสั่ง เป็นการบริหารโทษของ "ฝ่ายบริหาร" ที่คานอำนาจของ "ฝ่ายตุลาการ"

ผมเชื่อว่า คำวินิจฉัยดังกล่าว จะกลายเป็นบรรทัดฐานเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต

แต่ผลที่เกิดขึ้นแล้วตามพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศใช้ "ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้"

เพราะตามกฎหมาย "ห้ามย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ”

................................

สรุป ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการลดโทษครั้งต่อๆ ไปในอนาคต

และ ให้ทุกคนที่ได้ลดโทษหรือออกจากคุกไปแล้ว เช่น คุณสรยุทธ เป็นต้น สบายใจได้

ลดแล้ว-ลดเลย, ออกแล้ว-ออกเลย กฎหมายไม่มีผลย้อนหลังครับ!

คนปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เรื่องนี้ 'ทักษิณ' ต้องอ่าน

ใครไม่อ่านวันนี้ ห้ามคุยเป็นแฟนคลับ "เปลว สีเงิน! เนื้อหาทั้งหมด นำมาจาก The room 44 ประทับใจหาดูได้ในช่องยูทูบ

'ให้มันรู้ไปว่าเหนือกรรม'

เข็มยาว "นาฬิกากรรม" กระดิกไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน เข็มสั้น "นาฬิกาเวร" บนข้อมือทักษิณ ริกๆ รออยู่ "แดน ๔" พื้นที่คุมขังและเรือนนอนของผู้ต้องขังชาย!

สัประยุทธ์ 'ธรรมะ-อธรรม'

"กฎหมาย" มีไว้สร้างสมดุลทาง "สังคมเป็นธรรม" แต่ทุกวันนี้ คนใน "๓ สถาบันอำนาจ" คือ อำนาจนิติบัญญัติ, อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ "บางคน"