บลิงเคนมาไทยกับความหมาย เชิงยุทธศาสตร์ของวอชิงตัน

วันนี้รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการหลังจากประกาศจุดยืนวอชิงตันต่อภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อประทับตรา “สหรัฐฯ กลับมาแล้ว” ให้เป็นที่รับรู้กันไปทั่ว

มาพร้อมกับ “กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก” หรือ Indo-Pacific Economic Framework ที่อเมริกาตั้งขึ้นใหม่

เพราะอเมริกาประกาศแล้วว่าจะไม่กลับไป CPTPP แต่จะสร้างกลไกความร่วมมือที่มีลักษณะที่แปลกแตกต่างออกไปจาก “ข้อตกลงการค้า” ปกติ

แต่เป็นการตกลงแบบหลวมๆ ที่เขาจะชวนให้ไทยเข้าร่วมด้วยพร้อมๆ กับ มาเลเซียและเวียดนาม

รัฐมนตรีพาณิชย์ของสหรัฐฯ จีนา ไรมอนโด บอกว่า 3 ประเทศอาเซียนนี้เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ emerging economies ซึ่งจะเข้าร่วมในข้อตกลงใหม่นี้กับญี่ปุ่น, สิงคโปร์, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยอาจจะมีการทำพิธีลงนามกันอย่างเป็นทางการในไตรมาสแรกของปีหน้า

เป็นจังหวะเวลาใกล้ๆ กับช่วงที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประชุมสุดยอดกับผู้นำอาเซียนเช่นกัน

ครั้งนี้เขาไม่ลืมประเทศไทย เพราะคงได้รับรู้ถึงเสียงรำพึงรำพันน้อยใจจากไทยในหลายกรณี เช่น ไทยไม่ได้รับเชิญเข้าร่วม 111 ประเทศ ในการประชุมสุดยอดประชาธิปไตย 9-10 ธันวาคมที่ผ่านมา และรัฐมนตรีพาณิชย์คนนี้มาเยือนเอเชียเดือนที่แล้วก็ไม่ได้แวะไทย ไปญี่ปุ่น สิงคโปร์และมาเลเซีย

“กรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก” ที่ว่านี้จะไม่ใช่เรื่องค้าขายเป็นหลัก แต่จะเน้นเรื่องการประสานเรื่อง supply chains หรือห่วงโซ่อุปทานที่ถูกกระทบจากโควิด-19 กับเรื่อง export controls หรือการควบคุมการส่งออก

ประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจนนักว่าหมายถึงอะไร เพราะคนอื่นเขาพูดถึงเรื่องส่งเสริมการส่งออกด้วยการลดภาษีให้เหลือศูนย์

แต่กรอบความร่วมมือใหม่จะ “ควบคุมการส่งออก” ให้เกิดประโยชน์ระหว่างกันอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องติดตามรายละเอียดกัน

ที่น่าสนใจสำหรับผมคือ อีกหัวข้อหนึ่งที่จะอยู่ในกรอบนี้นั่นคือ “มาตรฐานของปัญญาประดิษฐ์” หรือ standards for artificial intelligence

สังเกตไหมว่าสหรัฐฯ มีความกังวลที่จีนมีการพัฒนา AI ไปได้รวดเร็วจนสามารถท้าทายความเป็นเบอร์ 1 ของสหรัฐฯ ในเรื่องนี้แล้ว จึงเห็นได้ชัดว่าเขาต้องการจะยกเอาเรื่องนี้เป็นหนึ่งในมาตรการของความร่วมมือกับมิตรประเทศ

หากไทยเราเกาะติดเรื่องนี้ให้ดี เราจะได้ปรับตัวให้ทันกับสิ่งที่จีนและสหรัฐฯ กำลังแข่งกันอยู่อย่างร้อนแรง

ส่วน รมต.บลิงเคนที่มาถึงไทยวันนี้ไปที่เมืองลิเวอร์พูลของอังกฤษมาก่อน

ที่นั่นเขาร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกกลุ่ม G-7 ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังอินโดนีเซีย มาเลเซีย และมาไทย ก่อนจะจบลงด้วยการเยือนรัฐฮาวายในวันที่ 17 ธันวาคม

ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม G-7 ที่อังกฤษนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมอาเซียนได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมด้วยเป็นครั้งแรก

บลิงเคนได้พบหารือกับรัฐมนตรีของอาเซียนเป็นรายประเทศ ก่อนที่จะเดินทางเยือน 3 ประเทศอาเซียน

ไม่ต้องสงสัยว่าหัวข้อของการหารือในประเทศไทยก็ต้องมีประเด็นความท้าทายต่างๆ ร่วมกัน เช่น การระบาดของโควิด-19 ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลก วิกฤตภาวะโลกร้อน และการสนับสนุนเสรีภาพในด้านต่างๆ ของภูมิภาคนี้

บลิงเคนจะได้เข้าพบนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ กับรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย รวมถึงมีกำหนดรับประทานอาหารกับภาคเอกชนของไทยด้วย

เพราะเขาเห็นความสำคัญของเอกชนในการให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมในหลายๆ มิติของความร่วมมือมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ นายโฮเซ เฟอร์นันเดซ รองรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายการเติบโตทางเศรษฐกิจ พลังงานและสิ่งแวดล้อม บอกว่า ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก คือส่วนสำคัญของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เพราะไม่ใช่แค่ภูมิภาคนี้มีประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก และมีสัดส่วนของจีดีพีราว 60% ของจีดีพีโลกเท่านั้น

แต่ยังเป็นตลาดใหญ่ที่สุด 7 แห่งใน 15 แห่งสำหรับสินค้าส่งออกจากสหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าการซื้อขายสินค้าระหว่างอเมริกากับอินโด-แปซิฟิก อยู่ที่ระดับมากกว่า 1.75 ล้านล้านดอลลาร์

ที่สหรัฐฯ ต้องออกแบบความร่วมมือเรื่องนี้ใหม่ เพราะภูมิภาคนี้มีข้อตกลง RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) และ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership)

อเมริกาไม่อยู่ใน 2 กลุ่มเขตการค้าเสรีระดับโลก และเมื่อไม่กลับเข้ามาใน CPTPP แล้ว วอชิงตันก็ต้องคิดหาทางสร้างกลไกใหม่เพื่อรักษาอิทธิพลของตนในการคานอำนาจกับปักกิ่ง

น่าสังเกตเช่นกันว่า การเยือนอาเซียนของ รมต.บลิงเคน มีขึ้นในโอกาสครบรอบ 30 ปี การเจรจาอาเซียน-จีน (ASEAN-China dialogue)

อาเซียนและจีนมีแถลงการณ์ร่วมกัน ประกาศความเป็น "พันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์แบบครอบคลุม" หรือ comprehensive strategic partnership ทั้งทางด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม

นอกจากนี้ยังจะร่วมกันทำให้ภูมิภาคอาเซียน "ปลอดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธอำนาจทำลายล้างสูงอื่นๆ" ภายใต้ยุทธศาสตร์ Southeast Asia Nuclear Weapons Free Zone (SEANWFZ) อีกด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการรวมตัวของ SEANWFZ คือการตอบโต้ต่อข้อตกลงความร่วมมือไตรภาคีด้านการทหารระหว่างออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐฯ หรือ AUKUS ซึ่งมีเป้าหมายต้านทานอำนาจจีนในภูมิภาคนี้อย่างชัดเจน

ดังนั้นการมาเยือนของบลิงเคนจึงมีความหมายมากกว่าแค่เรื่อง “ต่างประเทศ” แต่เป็นการมาสำทับว่าอเมริกาจะกลับมาคึกคักในย่านนี้อย่างแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ