นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กับ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีความเป็นนักเศรษฐศาสตร์และนักบริหารที่มาจากพื้นภูมิที่แตกต่างกัน
แต่เป้าหมายสำหรับประเทศชาติน่าจะตรงกัน
หากแต่ว่า “วิธีการ” ที่จะบรรลุเป้าหมายให้เศรษฐกิจของประเทศมีทั้งอัตราเติบโตและมีเสถียรภาพพร้อมๆ กันนั้นย่อมไม่เหมือนกัน
ประชาชนคาดหวังว่าทั้ง 2 ท่านทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเพื่อประโยชน์ของชาติ
โดยการบอกกล่าวกับประชาชนอย่างสม่ำเสมอว่า แนวทางของรัฐบาลและของธนาคารกลางนั้นมี “จุดร่วม” และ “จุดต่าง” กันอย่างไร
ดร.เศรษฐพุฒิบอกกับผู้สื่อข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ทาง ธปท.ได้มีการพูดคุยกับนายกฯ เศรษฐา ซึ่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย
มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกัน โดยที่นายกฯ บอกว่าได้มีการรับฟัง “ข้อกังวลและข้อควรระมัดระวัง” จาก ธปท.
ในประเด็นที่รัฐบาลจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ดร.เศรษฐพุฒิบอกว่า ตนเคยพูดมาก่อนหน้านี้ว่า เศรษฐกิจตอนนี้มีการฟื้นตัวอยู่แล้ว และแม้ว่าจะช้ากว่าที่อื่น แต่ภาพการฟื้นตัวก็ยังเห็นได้อยู่
ดังนั้นโจทย์สำคัญในฝั่งนโยบาย จึงเป็นเรื่องการทำนโยบายให้กลับสู่ “สภาวะปกติ”
ในฐานะผู้ว่าฯ ธปท. “ยังไง เราก็ต้องให้ความสำคัญในเรื่องเสถียรภาพ เพราะเป็นเรื่องที่หลายที่จับตามอง”
เสถียรภาพที่ว่านี้มีหลายมิติ แต่ที่ธนาคารกลางมีความกังวลเป็นพิเศษในช่วงนี้คือ เสถียรภาพในฝั่งการคลัง
“เราเห็นตัวอย่างแล้ว ขนาดประเทศอเมริกายังโดนเครดิตเรตติง เขาดาวน์เกรด เพราะไม่ได้ใส่ใจเพียงพอกับเรื่องเสถียรภาพทางการคลัง และเรื่องเสถียรภาพการคลังก็เป็นโจทย์สำคัญของเรา” คุณเศรษฐพุฒิกล่าว
หลังจากที่ได้พูดคุยกันแล้ว รัฐบาลก็รับฟังข้อห่วงใยของ ธปท.
แต่ท้ายที่สุดแล้ว การดำเนินนโยบายของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องการตัดสินใจของรัฐบาล
ข้อกังวลหลักคือการทำนโยบายเอาใจประชาชนแบบ “เหวี่ยงแห”
เช่น นโยบาย ‘พักหนี้เกษตรกรทั้งต้นทั้งดอก 3 ปี’ ไม่ควรทำเป็นวงกว้าง
มีคำถามว่านโยบายพักหนี้จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินการคลังหรือไม่
คุณเศรษฐพุฒิบอกว่า ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะทำว่าจะเป็นอย่างไร
ธปท.เห็นว่า เรื่องการพักหนี้ควรเป็นหนึ่งในนโยบายที่อยู่ใน Tool Kit (ชุดเครื่องมือ) แต่ไม่ควรเป็น ‘เครื่องมือเอก’ ใน Tool Kit
และเห็นว่าการพักหนี้ในวงกว้างไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม เรื่องนี้ ธปท.ได้แจ้งข้อกังวลไปยังรัฐบาล
ผู้ว่าแบงก์ชาติอธิบายเพิ่มเติมว่า
“ถามว่าทำไมเรื่องการพักหนี้ในวงกว้าง เราคิดว่าไม่ค่อยเหมาะสม เหตุผลคือ การพักหนี้มันมีจังหวะที่อาจจำเป็น และเหมาะกับอะไรที่เป็นเรื่องชั่วคราว ซึ่งถ้าผ่านตรงนี้ไปแล้วลูกหนี้จะฟื้น
“เช่น ช่วงโควิดที่ทุกอย่างถูกล็อกดาวน์ก็อาจจะเหมาะ แล้วทำในวงกว้าง เพราะทุกคนถูกกระทบ แต่หลังจากทำแบบนั้น เราพยายามถอย ไม่อยากทำนาน เพราะไม่ดี และแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราจะไปพักแบบทุกคนคงไม่เหมาะ...”
และเสริมว่า การพักหนี้อาจจะเหมาะกับคนที่มีศักยภาพ แต่เจออะไรชั่วคราวที่ทำให้เขามีปัญหา และถ้าพักไปแล้ว เขากลับมาได้ มันอาจจะเหมาะ
แต่การทำโดยปริยาย ทำในวงกว้าง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะ เพราะมีผลข้างเคียงมาก
“ถ้าเราดูตัวอย่างหนี้เกษตรกร มีบางกลุ่มที่มีศักยภาพ ก็ควรหาวิธีให้เขาปิดจบหนี้ได้ หรือมีแรงจูงใจให้เขาชำระต่อ ส่วนบางกลุ่ม ซึ่งมีไม่น้อยที่เป็นหนี้เรื้อรัง ดูแล้วปิดจบยาก คือ อายุเยอะแล้วก็ยังปิดไม่ได้...”
ผู้ว่าฯ บอกว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ถ้าพักหนี้ให้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเขา เพราะปิดจบไม่ได้
ธปท.จึงออกมาตรการให้ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการดูแลกลุ่มหนี้เรื้อรัง
โดยมาตรการลักษณะนี้จะทำให้คนปิดจบหนี้ได้ และการพักหนี้ก็เห็นจากประสบการณ์ที่ผ่านมาแล้วว่า 14 ครั้งในรอบ 8 ปีผลไม่ชัด และไม่ค่อยได้ผลดี
โดย 70% ที่พักหนี้ มีหนี้มากขึ้นกว่าเดิม
คนที่เข้าโครงการพักหนี้มีโอกาสเป็น NPL สูงขึ้น จึงเห็นได้ว่าผลข้างเคียงค่อนข้างมาก
ในความเห็นของธนาคารกลาง, ประเด็นเรื่องแจกเงิน 10,000 บาทผ่าน digital wallet ก็ควรจะทำแบบ “พุ่งเป้า” (targeting)
เริ่มต้น ดร.เศรษฐพุฒิบอกว่า ต้องขึ้นอยู่กับรูปแบบที่จะออกมาว่าจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน ดังนั้นจึงต้องรอดูก่อน
แต่นโยบายเรื่องนี้ ธปท.มีความกังวลและได้พูดคุยกับนายกฯ เศรษฐาว่า แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในตอนนี้ออกไม่สวยนัก โดยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/2566 ออกมาต่ำกว่าคาดไว้
แต่หากไปดูที่มาของการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเห็นว่าภาคการบริโภคมีการฟื้นตัวและเติบโตได้ค่อนข้างดี ทั้งไตรมาส 1/2566 และไตรมาส 2/2566
ดังนั้นตัวที่ขาดจริงๆ จึงไม่ใช่เรื่องการบริโภค แต่เป็นหมวดอื่น โดยเฉพาะตัวที่บ้านเราสิ่งที่ขาดมานานคือ การลงทุน
และเมื่อพิจารณาภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเปรียบเทียบระหว่างการกระตุ้นการบริโภคกับการกระตุ้นภาคอื่นๆ โดยเฉพาะการลงทุน จะเห็นว่าการกระตุ้นตัวอื่นน่าจะสำคัญกว่าการกระตุ้นการบริโภค
หากการแจกเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ทำในรูปแบบ targeting (พุ่งเป้า) หรือทำเฉพาะกลุ่ม น่าจะช่วยประหยัดงบประมาณได้มาก และไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการเงิน 1 หมื่นบาท
คุณเศรษฐพุฒิเสริมว่า
“การทำนโยบายต่างๆ ต้องฉายภาพระยะปานกลางให้ชัดว่า ถ้าทำมาตรการอย่างนี้ๆ ภาพรวมของรายจ่าย ภาพรวมของหนี้ การขาดดุลอะไรต่างๆ จะเป็นอย่างไร
“ผมคิดว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่า ในเรื่องวินัยการคลังนั้น รัฐบาลและนายกฯ มีความห่วงใย และจะมีมาตรการต่างๆ ที่จะทำอย่างนี้
“เมื่อทำไปแล้วจะมีการบริหารให้ภาพรวมทางการคลังยังอยู่ในกรอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาระหนี้ต่องบประมาณ หนี้ต่อ GDP ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ”
และย้ำว่า ก่อนหน้านี้ ธปท.เคยพูดมาตลอดว่า ไม่สนับสนุนให้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็น digital payment เพราะการทำอย่างนั้นจะเป็นการไม่เอื้อต่อเสถียรภาพในระบบ การชำระเงินที่ควรมีเพียง 1 ระบบ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตจะเป็นอย่างไร
คำเตือนออกมาแล้วจากบางขุนพรหม ส่วนทำเนียบรัฐบาลจะฟังแค่ไหนก็ประเมินได้จากก้าวต่อไปของรัฐบาลเศรษฐาแน่นอน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ