หลุมดำแห่งความฉิบหาย

เผาหลอกเสร็จแล้ว...

ได้เวลาเผาจริง!

อย่าเพิ่งว้าวุ่นครับ ก็แค่กระตุ้นให้รัฐบาลได้รู้ตัวว่า บางนโยบายที่รัฐบาลแถลงออกไปนั้น อาจสร้างหายนะทางเศรษฐกิจหลังจากนี้

ก็อย่างที่ฝ่ายค้านและวุฒิสมาชิกหลายๆ คนได้ออกปากเตือนไป

เงินดิจิทัล มูลค่า ๑๐,๐๐๐ บาท แจก ๕๖ ล้านคน ใช้งบประมาณ ๕.๖ แสนล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือเปล่า

หรือจะก่อวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่

ที่จริงมีเสียงเตือนมาต่อเนื่องตั้งแต่พรรคเพื่อไทยยังจับแพะชนแกะนโยบายตัวเอง จินตนาการกันไปสารพัด ถึงขั้นจะออกเหรียญดิจิทัลสกุลเพื่อไทย

จนมาถึงวันนี้จะล้วงเงินรัฐวิสาหกิจ

หลังจากนี้คงจะด้นกันต่อว่าจะไปในทิศทางไหน

พรรคไทยรักไทยเคยประสบความสำเร็จจากนโยบายประชานิยม บวกกับการควบรวมพรรคการเมือง ทำให้ความนิยมในตัว "ทักษิณ ชินวัตร" พุ่งขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน

นำไปสู่ปรากฏการณ์ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ไทยรักไทย ได้คะแนนพรรคมากถึง ๑๙ ล้านเสียง มี สส. ๓๗๗ คน สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้

ความสำเร็จนั้นยังหอมหวนครับ พรรคเพื่อไทย ยุค "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ใช้นโยบายประชานิยมต่อยอด ชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์อีกรอบ ได้คะแนนพรรคเกือบ ๑๖ ล้านเสียง มี สส. ๒๖๕  คน

แต่สุดท้ายนโยบายประชานิยมก็หันมาฆ่าระบอบทักษิณ พาประเทศเป็นหนี้มหาศาล โดยเฉพาะจากนโยบายรับจำนำข้าว

คราวนี้ พรรคเพื่อไทย ตั้งอกตั้งใจอย่างมากที่จะฟื้นนโยบายต้นฉบับขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการแจก เงินดิจิทัล หัวละ ๑๐,๐๐๐  บาท

ถ้าสำเร็จ จะส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า

หากหายนะประชาชนเชิญรับกรรมต่อไป

ช่วงไม่กี่วันมานี้ มีการพูดถึงคำเตือนของ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กันเยอะครับ เพราะอดีตเคยเป็นที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยมาก่อน

แต่ช่วงหลังไม่เห็นด้วยกับหลายนโยบายของพรรคเพื่อไทย 

ดร.ศุภวุฒิ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่านโยบายแจกเงินดิจิทัล ไม่สร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน จีดีพีโตไม่ยั่งยืน

ใจความสำคัญๆ ดังนี้ครับ

"...ที่รัฐบาลบอกว่าต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจพลิกฟื้นขึ้นมา ในหลักการอาจจะพูดว่ากระตุ้นแรงมาก เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาทันที ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมาเลยมาก ๆ อันนี้ก็ไม่ว่ากัน

แต่ต้องกลับไปดูว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจมหภาคเอื้ออำนวยต่อการทำนโยบายแบบนั้นหรือเปล่า เพราะถ้าไม่เอื้ออำนวย คุณจะมีปัญหาว่าที่คาดหวังว่าจะกระตุ้นแรง ๆ แต่ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนก็จะเกิดปัญหาได้

โดยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะที่เรียกว่าเคนเซียนอีโคโนมิกส์ จะบอกว่าเป็นไปได้ที่ในระยะสั้นที่เศรษฐกิจจะเกิดการขาดความมั่นใจทั้งนักลงทุนและทั้งผู้บริโภค ทำให้ไม่บริโภคและไม่ลงทุน ซึ่งทำให้เกิดการว่างงานเยอะ จากการไม่กล้าลงทุน..."

"...วิธีดูอันนึงสำหรับผมคือ การไปดูดุลบัญชีเดินสะพัด ที่บอกว่าประเทศไทยส่งออกสินค้าและบริการมากกว่านำเข้าสินค้าและบริการหรือเปล่า ถ้าเกินดุลบัญชีเดินสะพัด แปลว่าส่งออกเกินการนำเข้า อันนี้จะสะท้อนว่าภายในเศรษฐกิจมีกำลังการผลิตเหลือ เราถึงส่งออกมากกว่านำเข้า

ถ้าเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ใช้กระตุ้นกำลังซื้อได้ เพราะว่ากระตุ้นไปเดี๋ยวก็จะมาผลิตในประเทศได้ หรือกระตุ้นแล้วนำเข้าสินค้าทุนเพื่อให้ฟื้นการลงทุนในประเทศ เพราะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด มันสะท้อนว่าเศรษฐกิจเรามีรายได้เหลือ แต่ถ้าขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งแปลว่าประเทศใช้จ่ายเกินตัว แล้วยังกระตุ้น จะยิ่งทำให้ขาดดุลมากขึ้น..."

มีประเด็นที่รัฐบาลต้องฟัง ดร.ศุภวุฒิ บ้าง นั่นคือ หากกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย เงินดิจิทัล หัวละ ๑๐,๐๐๐ บาท อาจนำไปสู่สภาวะ “ขาดดุลแฝด”

 “...อันนี้มีความเสี่ยง ถ้าไปกระตุ้นมากๆ จะมีปัญหา เพราะว่าในการบริโภคของคนไทยจะมีสัดส่วนของการนำเข้าถึง ๕๐% ของจีดีพี ถ้าใส่เงินเข้าไป เป็นไปได้มากเลยว่า ถ้าเอาไปบริโภค เงินจะไหลออกไปครึ่งหนึ่ง แม้กระทั่งปุ๋ยการเกษตรก็เป็นการนำเข้า ๙๐% ถ้ากระตุ้นแบบนี้ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น รวมถึงนโยบายที่บอกว่าจะลดภาษี ทำให้น้ำมันดีเซลราคาลดลง ก็จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น...

ฉะนั้นต้องกระตุ้นซัพพลาย ไม่ใช่กระตุ้นดีมานด์ เพราะการกระตุ้นดีมานด์ จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากขึ้น แล้วก็จะทำให้เกิดขาดดุลแฝด เหมือนในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง คือขาดดุลงบประมาณ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกัน..."

"...เนื่องจากนโยบายแจกเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้ประชาชนอายุ ๑๖ ปีขึ้นไปทุกคน ต้องใช้เงินก้อนใหญ่มาก คือกว่า ๕ แสนล้านบาท เพิ่มความเสี่ยงเรื่องสัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศ โดยรัฐบาลจะต้องทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำเงินไปใช้ทำนโยบาย และอีกส่วนก็ต้องเป็นการหมุนเงินจากสถาบันการเงินของรัฐ โดยขยายกรอบวงเงินใช้มาตรา ๒๘ ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง"

 “ถ้านโยบายนี้สำเร็จก็จะทำให้จีดีพีเติบโต มีรายได้เงินภาษีเพิ่มขึ้น แต่ถ้านโยบายไม่สำเร็จ คือไม่สามารถทำให้จีดีพีขยายตัวได้ตามคาดหวัง ก็จะทำให้รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณมากขึ้น และสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็จะสูงขึ้น เพราะจีดีพีไม่ได้ขยายตัว”

ครับ...เสียงเตือนนี้รัฐบาลคงจะมองข้าม เพราะไม่มีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะถอย แต่กลับเดินหน้าแบบตาบอดคลำช้าง คนในรัฐบาลส่วนใหญ่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า การแจกเงินดิจิทัล หัวละ ๑๐,๐๐๐ บาท เอาเงินมาจากไหน แจกอย่างไร

หลายคนน่าจะคุ้นเสียงเตือนจาก "ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร" อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถึงหายนะจากโครงการรับจำนำข้าว

"...นี่คือ การฉ้อราษฎร์บังหลวงหรือคอร์รัปชันจากโครงการจำนำสินค้าเกษตรรอบสอง รัฐบาลเสียเงินขาดทุนมากมาย ส่วนเกษตรกรไม่ได้อะไรเลย ขายของได้ในราคาตลาดเท่านั้นเอง ที่ประชาธิปัตย์ทำไว้โดยการประกันรายได้นั้นดีแล้ว จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาตลาดกับราคาประกันตรงให้ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนเลย ถ้าชาวนา ผู้ใหญ่บ้าน กำนันจะโกง ก็ยังดีกว่าโรงสีผู้ส่งออก รัฐมนตรีโกง..."

โครงการรับจำนำข้าวคือหลุมดำที่กลืนกิน เงินงบประมาณแผ่นดินไปจำนวนมหาศาล โดยที่ประชาชนแทบไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย  

แต่ก็ยังดีที่สามารถจับรัฐมนตรีติดคุกได้บ้าง

นับจากวันนี้เป็นต้นไปต้องจับตาดู โคตรแห่งนโยบายประชานิยมแจกเงินดิจิทัลหัวละหมื่น จะเกิดหลุมดำซ้ำอีกหรือไม่

แจกเร็ว หากฉิบหาย ก็ฉิบหายเร็ว

ไม่นานเกินรอหรอกครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าปล่อยให้เหลิง

นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง